เป็นอีกหนึ่งรุ่นในตระกูลสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ของ Sony Xperia ที่นำสเปกเดิมจากรุ่น Xperia S มาปรุงแต่งให้มีขนาดหน้าจอใหญ่ขึ้น และใส่หน่วยความจำเพิ่มได้ พร้อมกับเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ให้ดูเรียบแต่แฝงความหรูหรามากขึ้น
โดย Xperia Ion เริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่ช่วงปลายเดือนที่ผ่านมาในระดับราคาเดียวกับ Xperia Arco S ที่ 17,990 บาท ซึ่งมีประสิทธิภาพเท่าๆกัน เพียงแต่ทั้ง 2 รุ่นมีจุดเด่นไปคนละแบบคือ Ion จอใหญ่ ส่วน Arco S จะกันน้ำได้
การออกแบบ
รูปลักษณ์ของ Xperia Ion นั้นจริงๆก็ไม่ได้แตกต่างจาก Xperia S มากนัก เพียงแต่มีการเปลี่ยนวัสดุหลักมาเป็นอะลูมิเนียมแทน ผสมกับการตัดแถบรับสัญญาณโปร่งใส่ออกไป กับตัวเครื่องมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 132 x 68 x 10.6 มิลลิเมตร น้ำหนัก 144 กรัม
ด้านหน้า - ด้วยหน้าจอที่ใหญ่เพิ่มขึ้นมาเป็น Capacitive ขนาด 4.55 นิ้ว มีความละเอียดหน้าจออยู่ที่ 1,280 x 720 พิกเซล 323ppi โดยส่วนบนหน้าจอนอกจากจะมีสัญลักษณ์ Sony แล้ว ก็ยังมีกล้องหน้าความละเอียด 1.3 ล้านพิกเซล และเซ็นเซอร์ตรวจจับใบหน้า และปรับความสว่างหน้าจออัตโนมัติ
ส่วนล่างหน้าจอมีปุ่มสัมผัสใช้สั่งงานไล่ตั้งแต่ เรียกเมนู ปุ่มโฮม ย้อนกลับ และค้นหา ซึ่งที่น่าสังเกตคือในรุ่นนี้กลายเป็น 4 ปุ่ม ไม่ใช่มาตรฐานของ กูเกิลที่กำหนดให้เหลือเพียง 3 ปุ่มก็เพียงพอ และล่างสุดจะมีตรา Xperia สีขาดพาดอยู่ตรงกึ่งกลางเช่นเดียวกัน
ด้านหลัง - ด้วยความที่เปลี่ยนตัวเครื่องเป็นอะลูมิเนียม ทำให้ตัวเครื่องไม่สามารถถอดฝาหลังได้ ผิวสัมผัสของส่วนหลังเครื่องจึงเรียบๆ โดยมีกล้องความละเอียด 12 ล้านพิกเซล พร้อมไฟแฟลช และลำโพง ไล่มาจนสัญลักษณ์โซนี และ Xperia อยู่กึ่งกลางทั้งหมด
และเนื่องจากไม่สามารถถอดฝาหลังได้ จึงทำให้เดียวถอดพลาสติกที่ครอบส่วนบนของเครื่องออกเพื่อใช้สำหรับใส่ซิมการ์ด (มีถาดไมโครซิมมาให้ แต่สามารถใช้ซิมปกติใส่ได้โดยเอาถาดซิมออก) และไมโครเอสดีการ์ด ส่วนแบตเตอรีที่ให้มามีขนาด 1,900 mAh
ด้านซ้าย - จะมีฝาที่มีข้อความระบุว่า HDMI ไว้ เมื่อเปิดออกมาจะพบช่องเสียบสายไมโครยูเอสบี สำหรับเสียบสายชาร์จ และเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ กับพอร์ต MicroHDMI สำหรับต่อกับจอภาพขนาดใหญ่
ด้านขวา - เป็นที่อยู่ของปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง ปุ่มปรับระดับเสียง และปุ่มชัตเตอร์กล้อง (ใช้กดค้างเพื่อเข้าโหมดถ่ายภาพได้ทันที) ด้านบน - มีช่องเสียบสายหูฟังขนาด 3.5 มม. ด้านล่าง - มีเพียงรูไมโครโฟนเท่านั้น
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ และสเปก
ในส่วนของอินเตอร์เฟสการใช้งาน Xperia Ion นั้นแทบไม่แตกต่างจากในรุ่น Xperia S หรือ Xperia Arco S เลย เนื่องจากใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 ICS เหมือนกัน ยูสเซอร์อินเตอร์เฟสแบบเดียวกัน
โดยมี 5 หน้าให้ผู้ใช้ได้เลือกนำวิตเจ็ตมาใส่ตามความต้องการ โดยส่วนล่างหน้าจอจะมี 4 ไอค่อนลัด ที่สามารถลากไอคอนจากหน้ารวมแอปฯมาวางรวมกันเป็นโฟลเดอร์ หรือวางเดี่ยวๆก็ได้ ซึ่งสามารถกดรูปสี่เหลี่ยมเล็กๆเรียงกันตรงกลางเพื่อเข้าสู่หน้ารวมแอปฯได้
หน้าจอการแจ้งเตือนจะมีวันเดือนปีแสดงผลอยู่ พร้อมกับปุ่มเข้าสู่หน้าการตั้งค่า และปุ่มกากบาทสำหรับล้างการแจ้งเตือนทั้งหมด ส่วนระบบสลับการใช้งานระหว่างแอปฯก็ยังสามารถใช้ได้จากการกดปุ่มโฮมค้างไว้ ซึ่งสามารถปิดได้โดยการลากแอปฯนั้นๆออกไปทางซ้ายหรือขวา
ซึ่งวิตเจ็ตที่ให้มากับเครื่องจะมีทั้งปุ่มลัด เฟซบุ๊ก โฟร์สแควร์ จีเมล เสิร์ช แมปส์ รายชื่อผู้ติดต่อ สภาพอากาศ เครื่องมือตั้งค่า เพลง ไทม์สแคป์ วอล์กแมน ยูทูป นาฬิกา บันทึก บุ๊กมาร์ค อีเมล ฯลฯ ให้เลือกใช้กัน
สำหรับแอปพลิเคชันภายในตัวเครื่องที่ให้มาจะมีรายชื่อ โทรศัพท์ ข้อความ เบราว์เซอร์ ตั้งค่า เครื่องเล่นเพลง อัลบั้มภาพ นาฬิกา กล้อง อีเมล เพลยสโตร์ เฟซบุ๊ก ปฏิทิน แผนที่ จีเมล ทอล์ก นำทาง ค้นหาสถานที่ใกล้เคียง
ละติจูด เครื่องคิดเลข ยูทูป ระบบ DLNA ระบบสำรองข้อมูล บันทึกย่อ ตัวจัดการไฟล์ เครื่องเล่นไฟล์วิดีโอ โหมดประหยัดพลังงาน ตัวอ่าน QRcode กูเกิลพลัส Liveware วิทยุ โฟร์สแควร์ วอทแอป โปรแกรมจัดการเอกสาร แอปฯค้นหารายละเอียเพลง ระบบนำทาง เป็นต้น
ทั้งนี้ในส่วนของหน้าแสดงผลแอปฯ ผู้ใข้สามารถกดตรงปุ่มรูปสี่เหลี่ยมเรียงกัน 4 ช่องที่มุมขวาบน เพื่อเรียงลำดับ หรือจะใช้ลบแอปฯออกจากเครื่องเลยก็ได้ นอกจากนี้ยังเลือกวิธีเรียงแอปฯ ได้ทั้งกำหนดเอง ตามตัวอักษร จำนวนครั้งที่ใช้มากที่สุด และติดตั้งล่าสุดด้วย
จุดที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคงหนีไม่พ้นระบบ Liveware (อัปเดตนี้ใช้ได้กับเครื่องตระกูล Xperia รุ่นอื่นได้ด้วย) โดยระบบดังกล่าวจะทำการตรวจสอบการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสารไมโครยูเอสบีในการเสียบชาร์จ สายหูฟัง สายHDMI กรณีที่ต่อออกจอ การเชื่อมต่อบลูทูธ และอื่นๆ
หลังจากนั้นผู้ใช้จะสามารถเลือกตั้งค่าแบบอัตโนมัติได้ว่า ถ้าเสียบสายชาร์จ ในช่วงเวลาใด ให้เปิดแอปฯ หรือปรับการตั้งค่าเป็นแบบใดได้ตามต้องการ อย่างในรูปตั้งไว้ว่าเมื่อเสียบสายชาร์จช่วงเวลา 0.16 - 1.16 ให้เครื่องทำการเปิดไวไฟฮ็อตสป็อต เมื่อถอดสายให้ปิดฮ็อตสป็อตเป็นต้น
ระบบการทำงานหลังมีการเชื่อมต่อใดๆจะตั้งได้ทั้ง บลูทูธ ไวไฟ โทรศัพท์ ดาต้า ระบบเสียงผ่านบลูทูธ เปิดเว็บ อ่านข้อความขาเข้า พูดเวลาปัจจุบัน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ปรับระดับเสียง เรียกใช้งานแอปฯ เล่นเพลง ส่งข้อความตัวอักษร ปรับโหมดเสียง
ถัดมาเป็นแอปฯไว้แสดงรายละเอียดทั้งสินค้า โปรโมชัน วิดีโอแนะนำสินค้า ข่าวสาร ศูนย์บริการ และรายการสินค้าที่ต้องการให้ผู้ใช้สาวกโซนีเข้าไปค้นหาข้อมูลกัน
ซึ่งจุดที่น่าสนใจคงหนีไม่พ้นกรณีที่เครื่องหรืออุปกรณ์ใดๆของโซนีมีปัญหาก็สามารถเข้าไปค้นหาศูนย์บริการตามพื้นที่ต่างๆได้เลย รวมถึงมีเวลาเปิด-ปิด เบอร์ติดต่อให้พร้อมกดโทรได้ทันที
ทีนี้มาถึงแอปฯทั่วไปที่มีมากับเครื่องอย่างเว็บเบราว์เซอร์ แม้หน้าจอจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 4.55 นิ้ว แต่ความสามารถในการประมวลผล ยังทำได้ลื่นไหลดี และแน่นอนว่ากรณีที่ผู้ใช้มีการล็อกอินบัญชีของกูเกิล ก็สามารถเรียกหน้าบุ๊กมาร์คในคอมพิวเตอร์มาใช้งานบนมือถือได้ทันที
ระบบเล่นเพลง Walkman ของโซนี ถือว่ามีรูปลักษณ์ที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ มีการแสดงผลหน้าปกอัลบั้ม (กรณีที่ไม่มีก็มีโหมดค้นหารายละเอียดเพลง และดาวน์โหลดมาเก็บไว้ได้) สามารถใช้งานได้ทั้งแนวตั้ง และแนวนอน สำหรับการเลือกดูเพลง ดูได้ทั้งชื่อเพลง ชื่ออัลบั้ม ศิลปิน รายการเพลงที่บันทึกไว้ ยังไม่นับรวมการซิงค์กับเฟซบุ๊กเพื่อดูเพลงที่ถูกโพสต์จากเพื่อนๆได้ด้วย
Playnow ถือเป็นแอปฯสำหรับใช้แนะนำ แอปฯ เกม ภาพพื้นหลัง เสียงเรียกเข้า จากโซนี ซึ่งจะคล้ายๆกับในแอปฯ Recommender ส่วนความสามารถของโหมดประหยัดพลังงาน ผู้ที่สนใจสามารถย้อนกลับไปอ่านได้ที่ Xperia S
ความสามารในการซิงค์ข้อมูลกับเครือข่ายสังคมใน Xperia Ion ทำให้ผู้ใข้เข้าไปดูตารางนัดหมาย วันเกิด รวมถึงกิจกรรมที่ถูกเชิญผ่านเฟซบุ๊กได้ทันทีจากภายในปฏิทินของตัวเครื่อง แน่นอนว่าตารางงานที่ผูกกับจีเมลไว้ก็จะถูกนำมาแสดงผลด้วยเช่นเดียวกัน
ในส่วนของการแสดงภาพ Xperia Ion มีฟังก์ชันที่จะดึงรูปจากเฟซบุ๊กมาแสดงด้วยเช่นกัน (แต่แนะนำให้ปิดเพราะจะค่อนข้างเปลืองดาต้า) ผู้ใช้สามารถใช้นิ้วพินช์เข้าออกเพื่อเรียงรูปให้มีขนาดใหญ่เล็กได้ ช่วยอำนวยความสะดวกในการหาภาพย้อนหลัง
ส่วนในโหมดวิดีโอ นอกจากการแสดงหน้าปกภาพยนตร์ ชื่อแล้ว ยังมีระบบสำหรับการค้นหารายละเอียดด้วย (แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยขึ้น) ขณะที่หน้าจอเล่นภาพยนตร์จะมีแถบเวลาให้สามารถกดเลื่อนไปยังจุดที่ต้องการได้ พร้อมกับปุ่มหยุดแค่นั้น
หน้าตาและฟีเจอร์ของโหมดกล้องแทบไม่มีความแตกต่างจากในรุ่น Xperia S และ Xperia Arco S เลย โดยภาพนิ่งสามารถถ่ายในสัดส่วน 16:9 ได้สูงสุด 12 ล้านพิกเซล ถ้าสัดส่วน 4:3 จะลดขนาดภาพลงมาเหลือ 8 ล้านพิกเซล ขณะที่ภาพเคลื่อนไหวถ่ายได้ที่ความละเอียดสูงสุด 1080p
สำหรับคีย์บอร์ดของ Xperia Ion แม้ว่าเลย์เอาท์ภาษาไทยจะไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐาน เนื่องจากนำสระบางตัวไปรวมกันไว้ที่ปุ่มมุมขวาล่างดังที่โชว์ในภาพ แต่ยังมีความพิเศษซ่อนอยู่ตรงที่สามารถใช้นิ้วลากแบบ Swype เพื่อพิมพ์ข้อความได้ทันที ส่วนคีย์บอร์ดภาษาอังกฤษจะใช้เลย์เอาท์แบบมาตรฐานทั่วไป
แน่นอนว่าถ้าอยากได้คีย์บอร์ดขนาดใหญ่ให้ใช้นิ้วโป้งพิมพ์ได้แบบสบายๆก็แค่เอียงเครื่อแล้วพิมพ์ ก็จะได้เลย์เอาท์คีย์บอร์ดขนาดใหญ่มาให้ใช้งานกัน
ในส่วนของการตั้งค่าแทบไม่แตกต่างจากแอนดรอยด์ที่เป็น ICS รุ่นอื่นๆ ที่เพิ่มมาก็คือหมวดของ Xperia ที่ใช้ตั้งการซิงค์กับเฟซบุ๊ก ฟังก์ชันตั้ง APN ให้เชื่อมต่อเน็ตกับทุกเครือข่าย และตั้งค่าจัดการเชื่อมต่อผ่านสาย และ Liveware ต่างๆ
ระบบการเชื่อมต่ออย่าง NFC ก็ยังมีมาให้ รวมถึงระบบสำรองข้อมูลไปยังกูเกิล ขณะที่สามารถเลือกการแจ้งเตือนในตอนที่ล็อกหน้าจอได้ ว่าจะแสดงสายที่ไม่ได้รับ ข้อความใหม่ อีเมล และปฏิทิน
สำหรับสเปกภายในของ Sony Xperia Ion มาพร้อมกับหน่วยประมวลผล Qualcomm MSM8260 Snapdragon ดูอัลคอร์ 1.5 GHz หน่วยประมวลผลภาพ Adreno 220 RAM 1 GB หน่วยความจำภายใน 16 GB (ใส่ไมโครเอสดีเพิ่มได้) ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชัน 4.0.4
ขณะที่การเชื่อมต่อรองรับทั้งไวไฟ 802.11 b/g/n บลูทูธ 2.1 ระบบระบุพิกัด GPS รองรับ การเชื่อมต่อแบบ HSPA+ 3G ทุกเครือข่าย ความเร็วในการดาวน์โหลดสูงสุด 42.2 Mbps อัปโหลดสูงสุด 5.76 Mbps
ในส่วนของผลการทดสอบ ผ่านโปรแกรมทดสอบประสิทธิภาพบนแอนดรอยด์อย่าง Quadrant Standart และ Antutu ได้คะแนน 3,160 คะแนน และ 6,701 คะแนน ตามลำดับ หน้าจอรองรับการสัมผัส 10 จุดพร้อมกัน ทดสอบกราฟิกผ่าน Neocore fps Nenamark1 ได้ 56.7 fps Nenamark1 37.4 fps An3dBench 7,222 คะแนน และ An3dBenchXL 32,648 คะแนน
ขณะที่การทดสอบด้วยโปรแกรม Passmark PerformanceTest Mobile ได้คะแนน System 1,823 คะแนน CPU 3,945 คะแนน Disk 1,699 คะแนน Memory 1,862 คะแนน 2D Graphics 1,963 คะแนน และ 3D Graphics 743 คะแนน
ส่วนการทดสอบ CF-Bench ดูรายละเอียดได้จากรูปด้านล่าง
จุดขาย
- หน้าจอความละเอียดสูง 720p ขนาด 4.55 นิ้ว
- วัสดุตัวเครื่องดูแข็งแรง การดีไซน์ได้รางวัลจาก reddot 2012
- นำเทคโนโลยีอย่าง Mobile Bravia Engine มาช่วยแสดงผลให้ภาพสวยงามขึ้น
- กล้องความละเอียด 12.1 ล้านพิกเซล F/2.4 ที่มีเทคโนโลยี Exmor R ช่วยถ่ายภาพในที่แสงน้อย
- รองรับการเชื่อมต่อ HDMI
ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่
- ไม่สามารถถอดแบตเตอรีเปลี่ยนได้
- ด้วยหน้าจอขนาดใหญ่ ทำให้ค่อนข้างเปลืองแบตฯ
- วางจำหน่ายในประเทศไทย ช้าไปเล็กน้อย เนื่องจากมีรุ่นใหม่อย่าง Xperia T / Xperia V ออกมาในต่างประเทศแล้ว
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป
Sony Xperia Ion ถือเป็นอีกหนึ่งสมาร์ทโฟนที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการสมาร์ทโฟนหน้าจอใหญ่หน่อย แต่ไม่เน้นสเปกที่แรงเว่อ อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการใช้งาน แต่ถ้าต้องการเครื่องสเปกสูงๆ ตอบสนองนิ้วแบบเร็วจัดก็คงต้องเพิ่มเงินอีกสัก 2-3,000 บาทไปเล่นในรุ่นใหญ่อย่าง Galaxy S3 หรือ Note 2 แทน
เพราะสเปกอย่างดูอัลคอร์ 1.5 GHz RAM 1 GB ที่ให้มาเชื่อว่ายังสามารถเล่นเกมสเปกเทพๆในแอนดรอยด์ตอนนี้ได้อย่างสบายๆ รวมถึงการใช้งานด้านมัลติมีเดียดูหนัง ฟังเพลงที่เป็นเอกลักษณ์ของโซนีอย่างชัดเจน
แต่ถ้าไม่ต้องการหน้าจอใหญ่ขนาด 4.55 นิ้ว Xperia S ที่มีสเปกเดียวกันในขนาดหน้าจอ 4.3 นิ้ว ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจเพราะจะสามารถประหยัดงบลงไปได้ราว 3,000 บาทเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วละว่าต้องการขนาดหน้าจอเท่านี้หรือไม่ และสเปกเท่านี้เพียงพอต่อการใช้งานท่านมั้ย
Company Related Links :
Sony Mobile