xs
xsm
sm
md
lg

Review : Motorola RAZR Maxx ชื่อนี้แบตฯอึด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




สมาร์ทโฟนดูอัลคอร์ที่มีแบตเตอรีใช้งานได้ยาวนานที่สุดตอนนี้ คงยังไม่มีรายใดมาลบชื่อชั้นของ Razr Maxx ซึ่งถือเป็นรุ่นที่ต่อยอดจากความสำเร็จในรุ่น Razr มือถือที่ในขณะเปิดตัวเรียกได้ว่าบางที่สุดในโลก

สิ่งที่ Razr Maxx แตกต่างจาก Razr ธรรมดาคือในเรื่องของขนาดแบตเตอรี ที่เพิ่มขึ้นมาเป็น 3,300 mAh กับความหนาของตัวเครื่องที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ส่วนอื่นนั้นแทบไม่มีความแตกต่างใดๆอีกเลย

ดังนั้นผู้ที่สนใจรายละเอียดความสามารถของ Razr Maxx สามารถย้อนกลับไปอ่านได้จาก Review : Motorola RAZR คืนชีพสู่ตลาดสมาร์ทโฟน ที่เคยเขียนถึงไปก่อนหน้านี้ แต่ทั้งนี้ในบทความชิ้นนี้จะมาอัปเดตถึงสิ่งที่เพิ่มขึ้นเมื่อมีการอัปเกรดระบบปฏิบัติการไปเป็น ICS ของ Razr Maxx (แน่นอนว่ารวมถึง Razr รุ่นธรรมดาด้วยเพราะใช้เฟิร์มแวร์ตัวเดียวกัน)

การออกแบบและสเปก



อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า Razr Maxx เป็นรุ่นที่นำ Razr มาขยายขนาดแบตฯ ดังนั้นการดีไซน์ของรุ่นนี้จึงไม่แตกต่างจากรุ่นเดิม โดยวัสดุหลักที่ใช้ยังคงเป็นอะลูมิเนียม ผสมกับส่วนของฝาหลังที่เป็นยางลายเคฟล่า ที่ช่วยป้องกันรอยขีดข่วน และช่วยให้จับถนัดมือมากขึ้น

ขณะที่ขนาดรอบตัวของ Razr Maxx จะอยู่ที่ 130.7 x 98.9 x 8.99 มิลลิเมตร เพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิมราว 1 มม. น้ำหนักอยู่ที่ 145 กรัม ซึ่งจากความที่ตัวเครื่องหนาขึ้น ทำให้ด้านหลังเครื่องเรียบเสมอไปกับตัวเลนส์กล้องจากรุ่นเดิมที่ตัวเลนส์จะยื่นออกมา

ด้านหน้า - ยังมากับหน้าจอกอลิล่า กลาส ขนาด 4.3 นิ้ว แบบ Super AMOLED Advance ความละเอียดหน้าจอ qHD (540 x 960 พิกเซล) โดยมีลำโพงสนทนาอยู่ใต้โลโก้โมโตโรล่าสีขาวที่ขอบบน ถัดลงมาเป็นกล้องหน้าความละเอียด 1.3 ล้านพิกเซล เซ็นเซอร์ตรวจวัดแสง และไฟแสดงสถานะะอยู่ใกล้ๆกัน

ล่างหน้าจอมีปุ่มคำสั่งแบบสัมผัสอยู่ 4 ปุ่มไล่ตั้งแต่เมนู โฮม ย้อนกลับ และค้นหา โดยมีจุดไมโครโฟนสนทนาอยู่บริเวณนี้ด้วย ทั้งนี้ปุ่มค้นหาสามารถกดข้างเพื่อเข้าสู่การใช้งานคำสั่งเสียง (Voice Command) ได้ด้วย



หลังเครื่องอย่างที่บอกไปว่ามีการนำเคฟล่า ไฟเบอร์มาใช้ทำให้ได้สัมผัสการจับที่มั่นคงและป้องกันรอยขีดข่วนไปในตัว โดยมีตราสัญลักษณ์ 'M' อยู่ตรงกึ่งกลาง ส่วนขอบบนเป็นที่อยู่ของกล้องความละเอียด 8 ล้านพิกเซล ไฟแฟลช และลำโพง โดยมีไมโครโฟนตัวที่ 2 อยู่ในส่วนล่างช่วยตัดเสียงรบกวนด้วย




ด้านซ้าย - มีบริเวณที่เป็นฝาเปิด-ปิด สำหรับใส่ไมโครเอสดีการ์ด และไมโครซิมการ์ด ซึ่งในจุดนี้จะมีรหัสเลขอีมี่ของเครื่องอยู่ด้วย ด้านขวา - มีปุ่มเปิดเครื่อง และปุ่มปรับระดับเสียง (สามารถใช้เป็นชัตเตอร์กล้องได้)



ด้านบน - ประกอบไปด้วยพอร์ต HDMI สำหรับเชื่อมต่อกับหน้าจอ พอร์ตไมโครยูเอสบี ในการชาร์จและเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ รวมถึงต่ออุปกรณ์เสริมต่างๆ และช่องหูฟังขนาด 3.5 มม.

ทั้งนี้ตัวเครื่อง Razr Maxx ไม่สามารถถอดเปลี่ยนแบตเตอรีได้ แต่ในขณะเดียวกันก็แลกมาด้วยความสามารถในการป้องกันละออกน้ำ เพราะตามขอบต่างๆของเครื่องมีการซีลกันด้วยยางเป็นอย่างดี (ไม่สามารถนำไปแช่น้ำได้เหมือน Defy นะ)



สำหรับสเปกภายใน Razr Maxx มาพร้อมกับหน่วยประมวลผลดูอัลคอร์ 1.2 GHz RAM คู่ 1 GB ROM 16 GB โดยแบ่งเป็นพื้นที่สำหรับลงแอปพลิเคชัน 4 GB เก็บข้อมูล 8 GB และอีก 4 GB ถูกนำไปใช้สำหรับ Webtop หน่วยประมวลผลภาพ PowerVR SGX 540 ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0.4 (ICS)

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ



เริ่มแรกที่เปลี่ยนไปในการอัปเดตขึ้นมาเป็น ICS คงหนีไม่พ้นหน้าจอหลักที่มีการวางเลย์เอาท์ไอค่อนลัดด้านล่างใหม่ เพิ่มเป็น 5 ไอค่อน โดย 2 อันฝั่งซ้ายและขวาผู้ใช้สามารถเลือกเปลี่ยน หรือนำไอค่อนมาใส่เพิ่มเพื่อรวมกลุ่มกันได้ ขณะที่ตรงกลางใช้เข้าสู่หน้าโปรแกรมทั้งหมด

ถัดมาในส่วนของการปลดล็อกหน้าจอ ที่เพิ่มวงแหวนเป็นไอค่อนลัดสำหรับเรียกใช้งานแอปพลิเคชัน (สามารถตั้งได้เอง) รวมถึงมีการแสดงผลวัน เวลา ตั้งเปิดเสียง หรือระบบสั่น รวมถึงควบคุมแถบเครื่องเล่นเพลงได้จากหน้าจอส่วนนี้

แต่ทั้งนี้ผู้ใช้สามารถปรับรูปแบบการล็อกหน้าจอให้กลายเป็นแบบใส่รหัส หรือรูปแบบการลากนิ้ว รวมถึงใช้ใบหน้าในการปลดล็อกเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้มากขึ้นตามความสามารถของ ICS ได้เช่นเดียวกัน

อีกจุดหนึ่งที่มีการปรับแก้คือแถบการแจ้งเตือน ที่มีปุ่มฟันเฟืองสำหรับเข้าสู่หน้าจอการตั้งค่าเพิ่มขึ้นมา กับปุ่มกากบาทสำหรับลบการแจ้งเตือนทั้งหมด เพราะตามมาตรฐานของเครื่อง ICS จะลดปุ่มเมนูออกไป ทำให้ต้องมีการเพิ่มไอค่อนพวกนี้ขึ้นมาแทน

ในการจับภาพหน้าจอของ ICS สามารถทำได้โดยการกดปุ่มเปิดเครื่องพร้อมกับปุ่มปรับลดระดับเสียงได้ หลังจากนั้นสามารถกดดูรูป หรือส่งรูปต่อให้เพื่อนๆผ่านการแชร์ได้ทันที เพิ่มความสะดวกในการแชร์ภาพหน้าจอได้ง่ายขึ้น



สำหรับโปรแกรมที่ให้มาภายในเครื่องจะประกอบไปด้วย แอปพลิเคชันที่ใช้จัดกาบัญชีผู้ใช้ เกมบีจีเวล2 ซีทริกซ์ เอเวอร์โน้ต เฟซบุ๊ก จีเมล กูเกิลพลัส ตัวจัดการตารางนัดหมาย ละติจูด แผนที่ ตัวจัดการไฟล์ สโตร์ ควิกิิฟฟิศ สมาร์ทแอคชัน โซเชียลโลเคชัน กูเกิลทอล์ก ข้อความ ทวิตเตอร์ คำสั่งเสียง ยูทูป กล้องถ่ายรูป รูปภาพ เครื่องคิดเลข ตารางงาน โทรศัพท์ นาฬิกา รายชื่อ เว็บเบราว์เซอร์ ปฏิทิน เพลง และตัวปล่อยไวไฟฮ็อตสปอต



ตัวของ Smart Actions ซึ่งเป็นเหมือนแอปพลิเคชันที่ช่วยจัดการปรับตั้งค่าของเครื่องให้เหมาะสมกับการใช้งานนั้น จะมีการอัปเดตการตั้งค่าอัตโนมัติให้เลือกใช้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีค่าตัวแปรให้เลือกตั้งโจทย์มากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงถือเป็นระบบที่ละเอียดขึ้นพอตัวเลยทีเดียว



การจัดการบัญชี เป็นส่วนที่เอาไว้ตั้งค่าการซิงค์ข้อมูลอย่าง รายชื่อ อีเมล เพลง ภาพพื้นหลัง และเสียงเรียกเข้า จากบัญชีผู้ใช้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก กูเกิล และระบบของโมโตโรลาเองอย่างโมโตแคส

ตัวจัดการไฟล์สามารถเข้าถึงได้ทั้งไฟล์ในตัวเครื่อง ในหน่วยความจำ โฟลเดอร์ที่ถูกแชร์ไว้ในเครือข่ายที่ทำการเชื่อมต่ออยู่ รวมถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีการลงทะเบียนผู้ใช้เดียวกับรหัสโมโตแคสของเครื่อง ซึ่งจะกล่าวถึงรายละเอียดเชิงลึกต่อไป

คำสั่งเสียงถือว่าตอบรับการสั่งงานได้ดี โดยเบื้องต้นผู้ใช้สามารถสั่งให้โทรออก ส่งข้อความ เรียกใช้งานแอปพลิเคชัน ตรวจสอบสถานะต่างๆอย่าง วัน เวลา แบตเตอรีเหลือกี่เปอเซนต์ เรียกดูรายชื่อ สั่งโทรซ้ำ เล่นเพลงในลิสต์ที่เลือกไว้เป็นต้น



ในการใช้งาน MotoCast ผู้ใช้จำเป็นต้องมีการลงทะเบียนบัญชีผู้ใช้ก่อน หรือจะเลือกผูกเข้ากับบัญชีของกูเกิลก็ได้ หลังจากนั้นก็จะมีให้เลือกตั้งว่าจะอัปโหลดภาพและวิดีโออัตโนมัติไปยังเครื่องลูกข่ายเครื่องอื่นทันทีเลยหรือไม่



ซึ่งในการอัปโหลดไฟล์ สามารถเข้าไปตั้งค่าได้ว่าจะให้อัปโหลดเมื่อใด ผ่านการเชื่อมต่อแบบไหน อัปโหลดไปยังคอมพิวเตอร์เครื่องใด หรือตั้งให้มีการอัปเฉาพะเวลาเสียบสายชาร์จก็สามารถเลือกได้



ในฝั่งของคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้สามารถเข้าหน้าเว็บเบราว์เซอร์ของ www.mymotocast.com เพื่อล็อกอินเข้าสู่ข้อมูลในเครื่องสมาร์ทโฟนเพื่อฟังเพลง ดูคลิปวิดีโอ หรือเปิดไฟล์ต่างๆได้ทันที หรือจะเลือกดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาติดตั้งไว้บนพีซีก็ได้เช่นเดียวกัน



เมื่อดาวน์โหลด MotoCast USB มาใช้แล้ว สามารถเลือกได้เช่นเดียวกันว่าจะให้ซิงค์ เพลง รูปภาพ พอดคาสต์ วิดีโอ และรายชื่อผู้ติดต่อมาเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์หรือไม่ โดยในการซิงค์เพลงก็สามารถเลือกจากลิสต์ที่ตั้งไว้ได้ทันที (ตัวอย่างในภาพเป็นของเวอร์ชันในแมค)



ความสามารถของ MotoCast ยังไม่หมดแค่นี้ เพราะเมื่อมีการซิงค์ข้อมูลกับคอมพิวเตอร์เรียบร้อย และเปิดใช้งานอยู่ ยังสามารถเลือกกดเข้าแอปฯเพลง เพื่อเรียกฟังจากในคอมพิวเตอร์โดยไม่ต้องดาวน์โหลดมาไว้ในเครื่องได้เช่นเดียวกัน แน่นอนว่าความสามารถอย่างการซิงค์เนื้อเพลงยังตามมาอยู่ในรุ่นนี้



สำหรับอัลบั้มภาพ นอกจากการเข้าไปดูภาพที่ถ่ายในเครื่องแล้ว ยังสามารถใช้ดูภาพจากเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กได้อีกด้วย โดยตัวเครื่องจะพรีโหลดรายชื่ออัลบั้มที่ได้ลงไว้มาก่อน หลังจากนั้นก็สามารถกดเข้าไปดูได้ทันที ทั้งนี้ถ้าคิดว่าจะเปลืองดาต้าก็สามารถเลือกปิดบริการดังกล่าวได้



การใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ เมื่อมีการอัปเดตเป็น ICS ทำให้ความสามารถในการประมวลผลได้รวดเร็วขึ้น ยังคงใช้งานเว็บที่มีแฟลชได้อยู่ รวมกับ HTML5 ถือว่าค่อนข้างสมบูรณ์ การตอบสนองรวดเร็วดี



โหมดการใช้งานโทรศัพท์ มีระบบเดาหมายเลขให้ ปุ่มกดถือว่าตัวใหญ่พอสมควร ขณะที่หน้าจอสนทนา มีแสดงชื่อ หมายเลข รูปภาพ โดยมีปุ่มสิ้นสุด(วางสาย)สีแดงงโดดเด่นอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยการเพิ่มสาย ปุ่มหมายเลข บลูทูธ ปิดเสียง และเปิดลำโพง ส่วนกรณีมีสายเข้าจะเป็นวงแหวนให้เลือกรับสาย ตัดสาย และส่งข้อความกลับ



กล้องที่มาพร้อมกับการอัปเดต ICS ถือว่ามีความสามารถเพิ่มขึ้นพอสมควร โดยมีปุ่มชัตเตอร์อยู่ฝั่งขวา พร้อมคำสั่งสลับกล้องหน้าหลัง และเปลี่ยนโหมดเป็นบันทึกวิดีโอ ซึ่งที่มุมซ้ายล่างจะมีฟันเฟืองสำหรับเข้าโหมดตั้งค่าต่างๆ

โดยแบ่งเป็นการตั้งค่าทั่วไป ความละเอียด ตั้งให้อัปโหลดอัตโนมัติ เลือกใช้งานปุ่มปรับระดับเสียงในการซูมภาพ หรือเป็นชัตเตอร์กล้อง ขณะที่โหมดการถ่ายภาพมีหลากหลายรูปแบบทั้งซีน และฉาก ปรับสมดุลแสงขาว ปรับความสว่าง และไฟแฟลช



ในส่วนของโหมดกล้องถ่ายวิดีโอ นอกจากความสามารถหลักที่ถ่ายภาพความละเอียดสูง Full HD 1080p ได้แล้วนั้น ยังสามารถเลือกโหมดเสียงที่บันทึก ให้เป็นสเตอริโอ ลดเสียงลม เสียงในคอนเสิร์ต เสียงสมดุล และเฉพาะเสียงด้านหน้าได้ และยังมีโหมดให้เลือกถ่ายเป็นวิดีโอปกติ ข้อความmms และตั้งเวลาคลิป โดยเลือกปรับสมดุลแสง และเปิดไฟได้ตามปกติ



อีกจุดเด่นที่น่าสนใจของสมาร์ทโฟนจากโมโตโรลาคือระบบ WebTop ยิ่งเมื่อนำมาใช้คู่กับ ICS แล้วช่วยเสริมความสมบูรณ์ในการใช้งานได้มากขึ้น ใกล้เคียงกับคอมพิวเตอร์เลยทีเดียว เพียงแค่ต่อจอภาพผ่านสาย HDMI และหายูเอสบีฮับเชื่อมต่อกับพอร์ตไมโครยูเอสบีในการต่อเมาส์ และคีย์บอร์ด เท่านี้ก็เหมือนได้พีซีระบบแอนดรอยด์มาใช้งานเครื่องหนึ่งแล้ว



โดยในการใช้งาน WebTop อินเตอร์เฟสจะถูกเปลี่ยนไปให้เหมาะกับหน้าจอแนวนอน คล้ายๆการแสดผลในแท็บเล็ต สามารถเรียกใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ พิมพ์งาน ใช้งานมัลติมีเดียอย่างดูรูป ดูภาพยนร์ ฟังเพลงได้ตามปกติ



มาถึงในส่วนของการตั้งค่า เป็นไปตามมาตรฐานของ ICS เพียงแต่ใน Razr Maxx จะมีการเพิ่มสีสันของแต่ละไอค่อนให้ดูน่าใช้งานมากขึ้น โดยแบ่งการตั้งค่าออกเป็น 4 หมวดคือ การเชื่อมต่อต่างๆ ตัวเครื่อง เกี่ยวกับผู้ใช้ และตั้งค่าระบบ

โดยฟีเจอร์ที่น่าสนใจที่มาพร้อมกับ ICS คงหนีไม่พ้น Data Usage ที่ใช้คำนวนปริมาณการใช้งานดาต้าของเครื่อง ช่วยให้ผู้ใช้สามารถกำหนดปริมาณดาต้าให้สอดคล้องกับแพกเกจที่เลือกใช้ได้



และอย่างที่รู้กันว่าจุดเด่นของเครื่องรุ่นนี้คือแบตเตอรี ทีมงานทดลองใช้งานด้วยการเปิดเชื่อมต่อไวไฟ เปิดสแตนบาย ใช้งานโทรศัพท์ รวมถึงเปิดหน้าจอเล่นเกมต่อเนื่องกว่า 6 ชั่วโมง รวมๆแล้วได้นานถึง 14 ชั่วโมง เมื่อแบตเตอรีเหลือ 10% ดังนั้นถ้าใช้งานปกติๆเชื่อว่าใช้งานได้สบายๆ วันกว่าๆ ผิดกับสมาร์ทโฟนไฮเอนด์รุ่นอื่นที่ใช้งานได้ไม่ถึงวัน



ในส่วนของผลการทดสอบ ผ่านโปรแกรมทดสอบประสิทธิภาพบนแอนดรอยด์อย่าง Antutu และ Quadrant Standart ได้คะแนน 6,247 และ 2,837 คะแนน ตามลำดับ หน้าจอรองรับการสัมผัส 10 จุดพร้อมกัน ทดสอบกราฟิกผ่าน Neocore Nenamark1 และ Nenamark2 ได้ 59, 56.7 และ 37 FPS ตามลำดับ ส่วน An3Dbench An3DbenchXL ได้ 7,458 และ 38,898 คะแนน



ขณะที่การทดสอบด้วยโปรแกรม Passmark PerformanceTest Mobile ได้คะแนน System 1,424 คะแนน CPU 4,414 คะแนน Disk 1,622 คะแนน Memory 1,027 คะแนน 2D Graphics 1,920 คะแนน และ 3D Graphics 498 คะแนน

ส่วนการทดสอบ CF-Bench ดูรายละเอียดได้จากรูปด้านล่าง



จุดขาย

- แบตเตอรีอึดที่สุดในผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟนขณะนี้
- หน้าจอ Super AMOLED ให้สีสันสดใส กับขนาดหน้าจอใหญ่ 4.3 นิ้ว
- โหมดการใช้งาน WebTop ที่เมื่อใช้งานร่วมกับคีย์บอร์ดและเมาส์ แทบไม่ต่างจากใช้คอมพิวเตอร์
- ระบบ MotoCast ช่วยอำนวยความสะดวกในการซิงค์ข้อมูล

ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่

- ตัวเครื่องแทบไม่แตกต่างจาก Razr มีเพียงเรื่องของแบตฯเท่านั้น
- ขนาดตัวเครื่องค่อนข้างใหญ่ เมื่อเทียบกับรุ่น 4.3 นิ้วด้วยกัน
- ความละเอียดหน้าจอยังเป็น qHD เมื่อเทียบกับรุ่นอื่นในระดับราคาเดียวกันได้จอ HD

ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป

กับราคาล่าสุดของ Razr Maxx ที่ลดลงมาเหลือ 15,900 บาท ทำให้เชื่อว่า Razr Maxx น่าจะกลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจในระดับราคาดังกล่าว ถ้าต้องการสมาร์ทโฟนที่ตอบโจทย์การใช้งานทั่วๆไปได้ บนดีไซน์ที่ดูแข็งแกร็งตามสไตล์โมโตฯ กับจุดเด่นที่สุดคือแบตเตอรีอึด จากความสามารถเหล่านี้น่าจะช่วยตัดสินใจให้แก่ผู้ที่รอซื้อได้ไม่ยาก

ตัวเลือกอื่น
- HTC One S
- Sony Xperia S
- Samsung Galaxy S2
- LG Optimus 4X

Company Related Links :
Motorola

CyberBiz Social

Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket














กำลังโหลดความคิดเห็น