xs
xsm
sm
md
lg

Review : Asus Padfone ลูกผสม 3 สายพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




การมาของ Padfone ถือว่าเป็นไฮไลท์สำคัญของกลุ่มผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และโน้ตบุ๊ก ที่จะกลายมาเป็นคอนเซปต์ดีไวส์ที่ออกมาตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าในทุกๆกลุ่มภายใต้ดีไวส์เดียวที่สามารถผสานร่างกลายเป็น 3 รูปแบบการใช้งาน บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0

จุดเด่นของ Padfone อย่างที่รู้กันเลยคือเป็นสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนท์ของเอซุส ที่สามารถเชื่อมต่อกับหน้าจอขนาด 10 นิ้ว เพื่อให้กลายเป็นแท็บเล็ต และยังสามารถต่อกับฐานคีย์บอร์ดเพื่อให้กลายเป็นโน้ตบุ๊ก ซึ่งอุปกรณ์เสริมแต่ละชิ้นจะมีแบตเตอรีในตัว ทำให้เมื่อใช้งานร่วมกันจะสามารถใช้งานได้ต่อเนื่องกว่า 100 ชั่วโมง

ถ้าพูดถึงคอนเซปต์ไฮบริดจ์ดีไวส์ เริ่มจะมีเข้ามาให้เห็นเมื่อทางกูเกิล ออกระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 เข้ามาในตลาด จากการเพิ่มความสามารถในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมที่หลากหลายขึ้น ทำให้ผู้ผลิตหลายๆราย เริ่มนำแนวคิดดังกล่าวเข้ามาใช ้ และเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นเมื่อระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 8 เข้ามาทำตลาดในช่วงปลายปีนี้

การออกแบบ



เริ่มกันที่ตัวสมาร์ทโฟนถือว่าเอซุสออกแบบมาได้ค่อนข้างดีจากวัสดุที่เป็นพลาสติกผสมกับอะลูมิเนียมในบริเวณขอบเครื่อง ทำให้ดูค่อนข้างแข็งแรง โดยมีขนาดรอบตัวอยู่ที่ 128 x 65.4 x 9.2 มิลลิเมตร น้ำหนัก 129 กรัม และดูละม้ายคล้ายกับแบรนด์ผลไม้ก็ตาม

ด้านหน้า - มีหน้าจอ Super AMOLED ขนาด 4.3 นิ้ว ความละเอียด qHD (960 x 540 พิกเซล) ที่ใช้จอกอลิลากลาส อยู่ตรงกลาง โดยมีลำโพงสนทนาพาดอยู่กึ่งกลางบน ใกล้ๆกับกล้องหน้า และเซ็นเซอร์ตรวจวัดแสงต่างๆ

ที่แปลกไปจากแอนดรอยด์โฟนรุ่นอื่นๆคือ ตัวเครื่องจะไม่มีปุ่มซอฟต์คีย์ใดๆมาให้เลย มีเพียงแต่ 3 ปุ่มสัมผัส ย้อนกลับ โฮม และเรียกดูแอปฯที่ใช้งานก่อนหน้า ผสมผสานไปกับหน้าจอแสดงผล โดยมีโลโก้เอซุสพาดอยู่ตรงกลางขอบล่าง



ด้านหลัง - แม้ว่าฝาหลังจะเป็นพลาสติก แต่ให้ผิวสัมผัสที่ค่อนข้างจับง่ายถนัดมือ โดยมีกล้องความละเอียด 8 ล้านพิกเซล ไฟแฟลช และลำโพงอยู่ส่วนบน ส่วนลางจะมีตัวอักษรระบุชื่อรุ่น Padfone สึเงินอยู่ เมื่อเปิดฝาหลังออกมาจะพบกับแบตเตอรีภายในขนาด 1,520 mAh อยู่ส่วนล่าง โดยมีช่องใส่ซิมการ์ดขนาดปกติ และไมโครเอสดีการ์ด สำหรับเพิ่มหน่วยความจำ






ด้านซ้าย - จะมีช่องเสียบสายชาร์จ พอร์ต MicroHDMI และตัวเซ็นเซอร์รับสัมผัสในกรณีที่มีการเชื่อมต่อกับ Dock Station ด้านขวา - เป็นปุ่มปรับระดับเสียงเท่านั้น ด้านบน - เป็นปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง และช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. ด้านล่าง - เป็นช่องไมโครโฟนสนทนา และร่องสำหรับแงะฝาหลัง



ทีนี้มาถึงการเชื่อมต่อกับฐาน PadFone Station ที่จะแปลงร่าง PadFone ให้กลายเป็นแท็บเล็ตขนาดหน้าจอ 10.1 นิ้ว ความละเอียด WXGA (1,280 x 800 พิกเซล) ที่เป็นจอกอลิล่ากลาสเช่นเดียวกัน



โดยผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อกันได้ด้วยการเปิดฝาหลังของ Station เพื่อนำ PadFone ที่หันหน้าจอเข้าหาตัวเครื่องเสียบลงไปรับกับพอร์ต และเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งไว้ เมื่อเสียบเรียบร้อยแล้วตัวเครื่องจะมีการสั่นตอบรับว่าพร้อมใช้งานแล้ว



ซึ่งที่ตัว Sation จะมีช่องลำโพงที่ขนาดใหญ่ขึ้น พร้อมกับปุ่มเปิด-ปิดเครื่องที่มุมซ้ายบน ส่วนทางซ้ายจะมีช่องเสียบหูฟัง และปุ่มปรับระดับเสียงเท่านั้น ส่วนการถอดตัว PadFone ออกจาก Station ก็ทำง่ายๆ แค่เพียงดันฝาหลังของ Station ไปจากที่เปิดออกปกติเล็กน้อย ตัวเครื่องสมาร์ทโฟนก็จะเลื่อนออกมาจากช่องที่ล็อกไว้



อุปกรณ์ที่แถมมากับหน้าจอ PadFone Station ด้วยก็คือปากกาที่เป็นหูฟังบลูทูธไปในตัว กล่าวคือผู้ใช้สามารถนำปากกามาเชื่อมต่อกับตัวเครื่อง เพื่อให้กลายเป็นลำโพงและไมโครโฟนของโทรศัพท์ได้ ช่วยอำนวยความสะดวกกรณีที่ เชื่อมต่อสมาร์ทโฟน เข้ากับแท็บเล็ตแล้วมีสายเข้า หรือจำเป็นต้องใช้งานโทรศัพท์นั่นเอง



อีกอุปกรณ์หนึ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาเพื่อช่วยให้ PadFone กลายเป็นโน้ตบุ๊กคือฐานคีย์บอร์ด (Keyboard dock) ที่สามารถนำ PadFone Station เข้ามาเชื่อมต่อกับตัวล็อก และใช้งานเป็นคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ ที่แม้จะไม่มีการสกรีนภาษาไทย แต่ถ้าคนที่ใช้พิมพ์สัมผัสเป็น ก็สามารถใช้งานภาษาไทยได้ทันที




ซึ่งที่ตัวฐานคีย์บอร์ดที่นอกจากจะมีคีย์บอร์ดขนาดเน็ตบุ๊กแล้ว ยังมีเมาส์แพด และพอร์ตสำหรับเสียบสายชาร์จแบบ 30 pin เช่นเดียวกับตัว Station พร้อมกับการเพิ่มพอร์ตยูเอสบีทางฝั่งซ้ายขวา และการ์ดรีดเดอร์ขนาดมาตรฐานเข้ามา ทั้งนี้ในการใช้งานถ้าต้องการสลับภาษาสามารถกดปุ่ม Ctrl+Shift เพื่อเปลี่ยนได้



โดยขนาดรอบตัวของ Station อยู่ที่ 273 x 176.9 x 13.55 มิลลิเมตร น้ำหนัก 724 กรัม และ ฐานคีย์บอร์ดมีขนาด 271 x 185 x 28 มิลลิเมตร น้ำหนัก 640 กรัม ที่สำคัญคืออุปกรณ์แต่ละตัวก็จะมีแบตเตอรีแยกจากกัน ซึ่งรวมๆกันแล้ว 3 ชิ้น จะมีแบตฯรวมกัน 14,720 mAh บนน้ำหนักเกือบ 1.5 กิโลกรัม

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ



ฟีเจอร์ส่วนใหญ่ที่ให้มาก็เป็นไปตามมาตรฐานของแอนดรอยด์ กล่าวคือมีหน้าจออินเตอร์เฟสการใช้งานที่ผู้ใช้สามารถนำวิตเจ็ตเข้ามาวางได้ตามที่ต้องการ โดยมีแถวล่างของหน้าจอเป็นไอค่อนลัดที่ปกติจะมีทางลัดเข้าสู่โหมดโทรศัพท์ รายชื่อ แอปฯทั้งหมด ข้อความ และเว็บเบราว์เซอร์ แต่ในจุดนี้สามารถลากไอค่อนอื่นมารวมกันให้กลายเป็นโฟลเดอร์ขึ้นมาก็ได้



ในส่วนของแถบการแจ้งเตือน (Notification) แถวบนจะมีแสดงผลว่าเชื่อมต่อกับไวไฟอยู่ ปุ่มตั้งค่า และกดล้างการแจ้งเตือน ถัดลงมาเป็นแถบปุ่มการตั้งค่าต่างๆของเครื่องไม่ว่าจะเป็นการเปิดปิดไวไฟ ดาต้า ฮ็อตสปอต โหมดประหยัดพลังงาน เสียง บลูทูธ จีพีเอส และระบบหมุนหน้าจออัตโนมัติ ส่วนเมื่อกดปุ่มแสดงแอปฯที่ใช้ก่อนหน้าก็จะมีเป็นลิสต์ขึ้นมา สามารถลากไปทางซ้าย-ขวาเพื่อปิดแอปฯได้



สำหรับแอปพลิเคชันที่ให้มาในเครื่องนอกเหนือจากที่ติดกับตัวแอนดรอยด์ จะประกอบไปด้วย @vibe แหล่งรวมแอปฯที่ทางเอซุสคัดสรรมาให้ Amazon Kindle แอปฯอ่านอีบุ๊กจากอเมซอน App Backup โปรแกรมสำรองข้อมูลแอปฯในเครื่อง App Locker ใส่รหัสสำหรับเรียกใช้งานแอปฯ Block List ไว้บล็อกหมายเลขที่ไม่ต้องการให้ติดต่อ My Cloud เป็นระบบคลาวด์ของเอซุส MyNet หรือการนำระบบ DLNA มาใช้งาน และ WebStorage พื้นที่เก็บข้อมูลบนคลาวด์ที่เพิ่มให้แก่ลูกค้า



นอกจากนี้ยังมีในส่วนของโหมด Tutorial สำหรับสอนการใช้งาน PadFone ที่จะบอกรายละเอียดตั้งแต่การเชื่อมต่อกับ Pad Station จะช่วยเพิ่มระยะเวลาการใช้งานเป็นสูงสุดที่ 64 ชั่วโมง เมื่อเสียบต่อกับฐานคีย์บอร์ด ระยะเวลาใช้งานสูงสุดอยู่ที่ 102 ชั่วโมงเป็นต้น และยังมีการสอนเชื่อมต่อปากกาบลูทูธ เข้ากับตัวเครื่อง รวมถึงการตั้งค่าแอปฯให้ใช้งานบนแท็บเล็ตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น



โดยในการเชื่อมต่ออุปกรณ์เสริมทั้ง 2 ส่วนเข้ากับตัวสมาร์ทโฟนนั้น ผู้ใช้สามารถกำหนดการจ่ายกระแสไฟได้ว่า จะให้เป็นโหมดชาร์จจากฐานคีย์บอร์ด ไปยังหน้าจอแท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน หรือแยกใช้ไฟกันในแต่ละส่วน รวมถึงตั้งค่าการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในการเช็คอีเมล หรือกรณีที่มีสายเข้าจะให้ทำการเชื่อมต่อกับปากกาบลูทูธหรือไม่เป็นต้น

ซึ่งในการใช้งานจริง ทีมงานได้ทดลองใช้งานไปเรื่อยๆจนแบตฯที่ฐานคีย์บอร์ดหมด ตัวคีย์บอร์ดก็ยังสามารถใช้งานได้อยู่ เช่นเดียวกันในกรณีที่ไฟตัวแท็บเล็ตหมด เมื่อมีการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน ก็ยังสามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง จนกว่าแบตฯที่ตัวสมาร์ทโฟนจะหมดนั่นเอง



ทั้งนี้ เอซุส ก็มีแอปฯสำหรับการนำปากกามาจดโน้ตในชื่อว่า Super Note โดยผู้ใช้สามารถใช้ทั้งปากกา เขียนลงบนหน้าจอ เลือกขนาดตัวอักษร ลายเส้น หรือจะป้อนข้อมูลผ่านคีย์บอร์ดปกติ หรือเวอร์ชวลคีย์บอร์ดบนหน้าจอก็ได้ ในแอปฯยังมีความสามารถในการแทรกรูปภาพ จัดเรียงข้อมูลได้ พร้อมกับแชร์ข้อมูลผ่านอีเมลได้ทันที



ในส่วนของ App Locker มีไว้สำหรับป้องกันไม่ให้ผู้ใช้รายอื่น เข้าถึงแอปฯที่มีข้อมูลส่วนตัวไว้ หรือจะประยุกต์ใช้กับลูกหลายในการป้องกันไม่ให้เล่นเกม หรือใช้งานแอปฯใดๆก็สามารถทำได้ โดยเริ่มโปรแกรมจะให้ทำการใส่รหัส หลังจากนั้นเลือกว่าจะทำการล็อกแอปฯใดบ้าง เมื่อทำการเปิดแอปฯที่เลือกไว้ก็จะมีขึ้นให้ใส่รหัสตามที่ตั้งไว้ ถ้าใส่ไม่ถูกต้องก็จะไม่สามารถเข้าแอปฯได้



Web Storage ถือเป็นพื้นที่เก็บข้อมูลสำรองบนอินเทอร์เน็ต ที่ทางเอซุสให้พื้นที่มาถึง 32GB ซึ่งความสามารถที่สำคัญคือผู้ใช้สามารถล็อกอิน ผ่านหน้าเว็บเบราว์เซอร์บนพีซี เพื่อเข้าถึงไฟล์ที่เก็บไว้ได้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อแท็บเล็ตเข้ากับเครื่อง หรือโอนย้ายข้อมูลผ่านสายให้ยุ่งยากอีกต่อไป



อีกโปรแกรมที่น่าสนใจคือ My Desktop ที่เป็นการนำแอปฯ Splash มาใช้เพื่อควบคุมเครื่องพีซีผ่านอินเทอร์เน็ตระยะไกล เพียงแต่เครื่องพีซีจำเป็นต้องมีการลงโปรแกรมเสริม และเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอยู่ วิธีใช้ก็แค่ล็อกอินเข้าไปยังไอดีที่ตั้งไว้ หลังจากนั้นก็จะสามารถควบคุมเครื่องพีซีได้ทันที ดังในภาพตัวอย่างได้ทดลองเรียกเว็บเบราว์เซอร์ขึ้นมาเปิดเว็บ พร้อมกับเรียกไฟล์โน้ตแพดขึ้นมาเขียนข้อความ



ซึ่งเพื่อให้เหมาะสมกับระบบทัชสกรีน ตัวโปรแกรมก็จะมีการสอนใช้งานอย่างเช่น สัมผัสด้วยนิ้วเดียว แทนการคลิกซ้าย กดค้างแทนการคลิกขวา กด 2 ครั้งแทนดับเบิ้ลคลิก ใช้สองนิ้วลากแทนการสกอลบาร์ การใช้พินช์แทนการซูม และใช้ 3 นิ้วลากแทนการเลื่อนทั้งหน้าจอ



ในส่วนของโหมดโทรศัพท์บน PadFone มีระบบเดารายชื่อจากหมายเลขที่กดขึ้นต้น ตัวปุ่มกดมีขนาดใหญ่แสดงผลชัดเจนดี ในหน้าจอการสนทนาก็มีปุ่มพักสาย เพิ่มสาย เปิดเสียงผ่านลำโพง ปิดเสียงไมโครโฟน พร้อมระบุชื่อ หมายเลข และระยะเวลาสนทนาตามปกติ



การใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ทั้งบน PadFone และหน้าจอแท็บเล็ต ถือว่าทำมาได้ค่อนข้างสมบุรณ์แบบ รองรับการใช้งาน HTML 5 อย่างสมบูรณ์แบบ ความเร็วในการตอบสนองถือว่าทำได้ดี อาจะเป็นเพราะจากหน่วยประมวลผลที่ประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วย




โหมดกล้องที่ให้มาถือว่ามีลูกเล่นในการปรับแต่งพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเวลาถ่ายภาพ เลือกเอฟเฟกต์ภาพ ปรับโหมดถ่ายภาพ เลือกสมดุลแสงขาว ตั้งสัดส่วนภาพ จุดโฟกัส ความละเอียดภาพ ระบบตรวจจับใบหน้า บันทึกพิกัดภาพถ่าย รวมถึงการถ่ายภาพวิดีโอความละเอียดสูง




ทีนี้มาถึงในส่วนของการตั้งค่าที่ให้มาก็เป็นไปตามปกติของแอนดรอยด์ 4..0 กล่าวคือมีการแบ่งส่วนออกเป็นการเชื่อมต่อ ตั้งค่าตัวเครื่อง ตั้งค่าข้อมูลส่วนบุคคล และตั้งค่าระบบ



ที่แตกต่างจากการตั้งค่าทั่วไปคือในส่วนของ ASUS Customized Setting ไว้สำหรับเลือกตั้งค่าการใช้งานเสริมต่างๆ เช่น เข้าสู่โหมดแอปฯบนแท็บเล็ตเท่านั้น การคงสถานะของแอปฯเมื่อเชื่อมต่อกับแท็บเล็ต เพิ่มความสว่างเมื่อออกสู่ที่แสงจัด การบันทึกภาพหน้าจอด้วยการกดปุ่มแอปฯล่าสุดค้าง ตั้งภาพพักหนาจอ ตั้งรูปแบบเคอร์เซอร์เมื่อใช้งานเมาส์ การรับสายกรณีสายเข้า ตั้งรูปแบบการชาร์จไฟ และการกดปุ่มคีย์บอร์ดเพื่อเรียกใช้งาน



ในส่วนของปากกาบลูทูธ อย่างที่บอกไว้คือจะมีระบบการเชื่อมต่อกับตัวเครื่องอัตโนมัติ รวมถึงการแจ้งเตือนกรณีที่ลืมปากกาทิ้งไว้ ห่างจากเครื่องเกินระยะที่กำหนดก็จะมีเสียงร้องเตือนขึ้นมา อีกส่วนหนึ่งคือระบบประหยัดพลังงานที่สามารถเลือกช่วงเวลาที่ต้องการใช้ได้ โดยโปรแกรมจะทำการปิดการเชื่อมต่อต่างๆ ตั้งเวลาปิดหน้าจอให้ประหยัดไฟมากที่สุดนั่นเอง

สเปกและการทดสอบ



สำหรับสเปกของ Asus PadFone มาพร้อมกับหน่วยประมวลผล Qualcomm 8260A Snapdragon S4 ดูอัลคอร์ความเร็ว 1.5 Ghz ใช้หน่วยประมวลผลภาพ Adreno 225 RAM 1 GB หน่วยความจำภายใน 16 GB (ใส่ไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มได้) ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0.4



ในส่วนของผลการทดสอบ ผ่านโปรแกรมทดสอบประสิทธิภาพบนแอนดรอยด์อย่าง Quadrant Standart และ Antutu ได้คะแนน 4,170 คะแนน และ 6,251 คะแนน ตามลำดับ หน้าจอรองรับการสัมผัส 10 จุดพร้อมกัน ทดสอบกราฟิกผ่าน Neocore 59.3 fps Nenamark1 ได้ 59.6 fps Nenamark2 48.3 fps An3dBench 7,271 คะแนน และ An3dBenchXL 35,793 คะแนน



ขณะที่การทดสอบด้วยโปรแกรม Passmark PerformanceTest Mobile ได้คะแนน System 1,937 คะแนน CPU 4,474 คะแนน Disk 2,359 คะแนน Memory 2,631 คะแนน 2D Graphics 2,293 คะแนน และ 3D Graphics 623 คะแนน

ส่วนการทดสอบ CF-Bench ดูรายละเอียดได้จากรูปด้านล่าง



จุดขาย

- สมาร์ทโฟนที่สามารถกลายร่างเป็นแท็บเล็ตและโน้ตบุ๊กได้
- หน่วยประมวลผล Snapdragon S4 ดูอัลคอร์ที่ตอบโจทย์การใช้งานได้ครอบคลุม
- วัสดุที่ตัวเครื่องที่ใช้แข็งแรงตามสไตลของเอซุส
- แบตเตอรี่ใช้งานได้ยาวนานเมื่อเชื่อมต่อกับ Pad Station และ Keyborad Dock

ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่

- ราคาอุปกรณ์ทั้งชุดที่ค่อนข้างแพง ถ้าซื้อทั้งชุดอยู่ที่ 29,990 บาท หรือถ้าตัวเครื่องพร้อมแท็บเล็ตและปากกาที่ 24,900 บาท
- ระบบการใช้งานแอนดรอยด์ยังไม่สามารถทดแทนการทำงานได้ทั้งหมด
- น้ำหนักเมื่อใช้งานเป็นแท็บเล็ตที่ 724 กรัม เวลาถือใช้นานๆแล้วจะรู้สึกเมื่อยมือ
- มีรุ่นใหม่เปิดตัวในต่างประเทศแล้ว

ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป

ถ้าคุณต้องการสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวที่เก็บข้อมูลทุกอย่างไว้ และสามารถแปลงการใช้งานเป็นแท็บเล็ต และเชื่อมต่อกับฐานคีย์บอร์ดแบบเครื่องเดียวครบ PadFone สามารถตอบโจทย์นั้นได้อย่างครบเครื่อง หรือถ้าจะมองแค่ในส่วนของสมาร์ทโฟนที่ราคา 17,900 บาท ก็ถือว่าค่อนข้างคุ้มค่ากับประสิทธิภาพที่ได้ เพียงแต่ในระดับราคาดังกล่าวก็มีอีกหลายรุ่นให้เลือกกัน

อย่างไรก็ตามแม้ว่าทางเอซุสจะเพิ่งส่ง PadFone มาให้ทีมงานได้ทดสอบ และแนะนำให้แก่ผู้อ่านได้รับชมกันนั้น ล่าสุดทางเอซุสก็ได้มีการเปิดตัว PadFone 2 ออกมาแล้วในต่างประเทศ ซึ่งความสามารถส่วนใหญ่นั้นดีกว่ารุ่นแรกแทบทั้งหมด ดังนั้นถ้าผู้ใช้ท่านใดสนใจคอนเซปต์การใช้งานแบบนี้ แนะนำให้รอซื้อ Padfone 2 ไปเลยดีกว่า

Company Related Links :
ASUS

CyberBiz Social



Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket

















กำลังโหลดความคิดเห็น