xs
xsm
sm
md
lg

Review : Samsung NC10 อีกหนึ่งเน็ตบุ๊กที่น่าสนใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




เน็ตบุ๊ก ซัมซุง NC10 ถือเป็นเน็ตบุ๊กรุ่นแรกที่ซัมซุงนำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย พร้อมกับโน้ตบุ๊กในตระกูลอีกหลายๆรุ่น ซึ่งเป็นการเติมเต็มไลน์สินค้าของซัมซุงให้ครอบคลุมมากขึ้น สิ่งที่ซัมซุงได้เปรียบผู้เล่นอื่นๆในแง่ของการพัฒนาคือ การใส่แอปพลิเคชันพิเศษ มาช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งาน รวมไปถึงดีไซน์ของตัวเครื่องที่ดูเรียบง่ายแต่สวยงาม

ในเรื่องของการรับประกัน ทางซัมซุงติดสติ้กเกอร์ การรับประกันแบบทั่วโลกมาให้ที่ตัวเครื่อง ซึ่งหมายความว่าผู้ใช้สามารถนำไปซ่อมในประเทศที่มีสินค้าของซัมซุงจำหน่ายได้ทันที ซึ่งระยะประกันเบื้องต้นอยู่ที่ 1 ปี แม้ว่าจะเป็นผู้เล่นน้องใหม่ในตลาดนี้ ทำให้ต้องดูกันต่อไปว่าบริการหลังการขายจะเป็นอย่างไร

Design Of Samsung NC10



ดีไซน์ของซัมซุงแม้เมื่อแรกเห็นต้องยอมรับว่าสวยงามไม่แพ้เน็ตบุ๊กรุ่นอื่นๆในตลาด อาจจะเป็นเพราะด้วยตัวเครื่องสีขาวตัดกับขอบสีเงิน ช่วยส่งให้ตัวเครื่องดูหรูหราขึ้นมา ด้วยความที่ไม่ได้เป็นผิวมันทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องรอยนิ้วมือบนตัวเครื่อง

แต่อย่างไรก็ตามสีขาวย่อมมากับความสกปรกทำให้ดูแลยากพอสมควร (มีสีน้ำเงินวางจำหน่ายด้วย) ฝาของตัวเครื่องมีเพียงตัวอักษร "SAMSUNG" สีเงินติดอยู่บริเวณกึ่งกลางเท่านั้น สำหรับขนาดของตัวเครื่องอยู่ที่ 261 x 185.5 x 30.3 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 1.33 กิโลกรัม (แบตฯ 6 เซลล์)



เปิดหน้าจอขึ้นมาพบกับหน้าจอ LED Back Light ขนาด 10.2 นิ้ว แบบ WSVGA (ความละเอียด 1024 x 600 พิกเซล) โดยเป็นหน้าจอ Non-Gloss ช่วยให้หน้าจอไม่สะท้อนแสง ด้านบนมีกล้องเว็บแคมความละเอียด 1.3 ล้านพิกเซล ด้านล่างมีสัญลักษณ์ "Samsung" อยู่ตรงกลาง มุมขวาล่างมีตัวอักษรบอกชื่อรุ่นว่า "NC10" สีเงิน



ส่วนของข้อต่อจะถูกยึดอยู่บริเวณมุมซ้ายและขวา โดยใช้อะลูมีเนียมสีเงินเป็นตัวยึดระหว่างพลาสติกที่ตัวเครื่อง ความข็งแรงเมื่อทดลองเปิด-ปิดอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่หลวมหรือแน่นจนเกินไป



ถัดลงมาในส่วนของคีย์บอร์ดที่ถือเป็นจุดเด่นที่ทีมงานให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ เนื่องจากขนาดของแป้นพิมพ์ทำออกมาได้ค่อนข้างดีไม่เล็กจนเกินไป รวมไปถึงเลย์เอาท์แทบไม่แตกต่างจากคีย์บอร์ดปกติเลยทีเดียว การรับสัมผัสอยู่ในระดับมาตรฐาน ทำให้สามารถใช้ในการพิมพ์เอกสารได้อย่างสบายๆ นอกจากนี้เครื่องรุ่นนี้ยังมีการเคลือบสาร นาโนซิลเวอร์ ช่วยป้องกันแบคทีเรียที่คีย์บอร์ดอีกด้วย



ลงมาถึงส่วนของทัชแพด ที่เรียกว่าเป็นจุดบอดของเครื่องรุ่นนี้ก็ว่าได้ เพราะมีขนาดเล็กมาก ยิ่งถ้ารวมกับแถบ Scroll ทางด้านขวาแล้วด้วยนั้น ทำให้พื้นที่ในการควบคุมเมาส์ลดลงไปเหลืออยู่เพียงนิดเดียว ในส่วนของปุ่มกดซ้าย-ขวาเป็นแถบยาวการกดใช้งานด้วยนิ้วโป้งขณะควบคุมทัชแพดอาจจะยากสักเล็กน้อย เนื่องจากมีขนาดเล็ก ทางทีดีพกเมาส์ไร้สายมาใช้งานด้วยจะดีกว่า



ด้านหลังเครื่องประกอบไปด้วยรูระบายอากาศมากมาย ทำให้ไม่น่าเป็นห่วงเรื่องความร้อนขณะใช้งานเท่าใด ซึ่งถ้าสังเกตดีๆจะพบว่ามีช่องลำโพงสเตอริโอ (ที่เหมือนรูระบายอากาศแต่มีลักษณะกลม) อยู่ริมซ้ายและขวา ทำให้ถ้าวางเครื่องแนบไปกับพื้นผิว เสียงที่ออกมาจึงไม่ดังเท่าที่ควร

Input and Output Ports



ด้านซ้าย ไล่จากริมบนประกอบไปด้วยช่องเสียบสายชาร์จ ช่องเสียบสายแลน พัดลมระบายอากาศและ พอร์ตยูเอสบี 2 พอร์ต



ด้านขวาประกอบไปด้วย ปุ่มเปิดเครื่อง ช่องล็อกเครื่อง Kensington VGA-Out พอร์ตยูเอสบีอีก 1 พอร์ต และช่องเสียบไมโครโฟนและหูฟัง



ด้านหน้า ฝั่งซ้ายมีไฟแสดงสถานะการทำงานต่างๆ เช่น เปิดเครื่อง เปิดไวเลส การทำงานของฮาร์ดดิสก์ ปุ่มCapslock สถานะแบตเตอรี่ ส่วนฝั่งขวามีช่องการ์ดรีดเดอร์แบบ 3-1 ทางด้านหลังมีเพียงที่ใส่แบตเตอรี่ขนาด 6 เซลล์เท่านั้น

สำหรับการเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สายจะมีทั้งไวเลส ที่รองรับมาตรฐาน 802.11b/g และบลูทูธ 2.0+EDR

สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพจะอยู่ในหน้าถัดไปนะครับ












Performance And Benchmark

ในเรื่องของประสิทธิภาพการทำงาน ถึงอย่างไรเน็ตบุ๊กก็ไม่หนีห่างกันมาก ดังนั้นจุดสำคัญที่มีการแข่งขันกันหลักๆคือระยะเวลาการใช้งาน เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว รวมไปถึงดีไซน์ที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ในการใช้งานให้กับผู้ใช้ ซึ่งซัมซุงตอบโจทย์เหล่านี้มาได้ค่อยข้างดี จากการใช้งานแบตเตอรี่ 6 เซลล์ ทำให้สามารถใช้งานได้ไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง*



เมื่อทดสอบผ่านโปรแกรม CPU-Z พบว่าใช้ซีพียู Intel Atom N270 @ 1.6GHz ที่ใช้เทคโนโลยี 45 นาโนเมตร, คอร์สปีดสูงสุดอยู่ที่ 1596.2MHz ส่วน FSB อยู่ที่ 532.1MHz, L1 D-Cache 24KB, L1 I-Cache 32KB และ L2 Cache ขนาด 512KB



ด้านเมนบอร์ดที่ใช้เป็นชิปเซ็ต Intel i945GSE (ICH7-M/U) ที่ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ผลิตขึ้นเอง ส่วนหน่วยความจำที่ให้มาเป็นแบบ DDR2 Bus 800MHz ขนาด 1024MB ที่ใส่มาเพียงช่องเดียว ทำให้ผู้ใช้สามารถใส่เพิ่มได้อีก 1 ช่อง



ทดสอบผ่านโปรแกรม PCMark05 ไม่สามารถคำนวนคะแนนรวมออกมาได้เนื่องจากความละเอียดหน้าจอไม่พอ คะแนนด้านกราฟิกจึงไม่สามารถประมวลผลได้ ส่วนคะแนนของซีพียู อยู่ที่ 1,472 คะแนน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของเน็ตบุ๊กทั่วๆไป คะแนนของหน่วยความจำและฮาร์ดดิสก์อยู่ที่ 2,391 และ 4,250 คะแนนตามลำดับ



สำหรับหน่วยประมวลผลภาพทีใช้ตรวจสอบจาก GPU-Z พบว่าเป็นการ์ดจอออนบอร์ด i945GME ที่มีหน่วยความจำขนาด 8MB แน่นอนว่าถ้าใช้งานจริงจะไปดึงหน่วยความจำหลักมาช่วยในการประมวลผลด้วย



ทดสอบการประมวลผลภาพผ่านโปรแกรม 3DMark06 ที่ความละเอียดหน้าจอ 1024 x 600 พิกเซล คะแนนออกมาอยู่ที่ 89 คะแนน ซึ่งคะแนนที่ออกมาไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับเน็ตบุ๊กทั่วไปในตลาดที่เฉลี่ยอยู่ประมาณ 100 คะแนน ดังนั้นการใช้งานด้านมัลติมีเดีย ที่ใช้การประมวลผลภาพสูงอย่าง การใช้รับชมภาพยนตร์ความละเอียดสูงคงต้องผ่านไป เนื่องจากทดลองใช้งานที่ความละเอียด 720p การแสดงผลยังมีการกระตุกให้เห็น



ส่วนอัตราการเข้าถึงข้อมูลกันบ้าง ซึ่งฮาร์ดดิสก์ที่ให้มาใช้ของ ฮิตาชิ ขนาด 160GB ความเร็วสูงสุดในการอ่านข้อมูลอยู่ที่ 50.1 MB/s ส่วนอัตราการเข้าถึงข้อมูลอยู่ที่ประมาณ 18.1 ms มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปที่อยู่ประมาณ 17 เท่านั้น



ด้านการเชื่อมต่อผ่านไวเลส ใช้การ์ดไวเลสจาก Atheros AR5007EG ที่รองรับมาตรฐาน 802.11 a/b/g/ เมื่อทดสอบการใช้งานโดยการเชื่อมต่อห่างจาก Access Point ระยะประมาณ 10 เมตร พบว่า การจับสัญญาณอยู่ในช่วง 70 - 80% แต่ก็สามารถใช้งานได้อย่างไม่มีปัญหา

Speaker



ในส่วนของลำโพงจะมีฟีเจอร์ "Samsung EDS Controller"มาให้ผู้ใช้เลือกปรับได้ว่า ให้เป็นโหมดฟังเพลง หรือ โหมดดูหนัง ซึ่งเสียงที่ได้ออกมาแตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน แต่ที่น่าแปลกใจคือ ลำโพงถูกวางตำแหน่งมาให้อยู่ใต้ตัวเครื่อง ทำให้เสียงที่ได้ไม่ดังเท่าที่ควร

เรื่องของคุณภาพเสียง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานแยกซ้าย-ขวา ชัดเจนดี ซึ่งในการใช้งานถ้าผู้ใช้มีพัดลมระบายอากาศด้านล่าง จะทำให้เสียงที่ออกมาดังขึ้นกว่าเดิมอย่างรู้สึกได้ ทางที่ดีถ้าต้องการให้เสียงออกมาดังกว่าปกติ ควรหาอะไรมารองใต้เครื่อง เพื่อให้ส่วนของลำโพงยกสูงขึ้นมานั่นเอง

Battery and Heat



แบตเตอรี่ที่ให้มานั้นเป็นแบบ Li-ion ขนาด 5200 mAh ทดลองเปิดใช้งานฟังเพลง เล่นอินเทอร์เน็ตด้วยความสว่างหน้าจอ 50% ความดังเสียง 50% ใช้งานได้ประมาณ 4 ชั่วโมง 10 นาที จนแบจเจตอรี่เหลือ 5% ซึ่งเชื่อว่า *ในกรณีที่ไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตรวมไปถึงเปิดเพลงฟังจะสามารถใช้งานได้นานกว่า 5 ชั่วโมงแน่นอน

ส่วนเมื่อทดลองใช้งานในการรับชมภาพยนตร์ดีวีดี เปิดความสว่างหน้าจอสูงสุด เสียงดังสุด สามารถใช้งานได้ประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง สามารถดูหนังเรื่องหนึ่งจบได้อย่างสบายๆ ส่วนเวลาในการชาร์จจนเต็มใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง



ความร้อนของเครื่องหลังจากเปิดใช้งานแบบเต็มประสิทธิภาพความร้อนของเครื่องขึ้นไปอยู่สูงสุดที่ 61 องศาเซลเซียส ส่วนค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 56 องศาเซลเซียส ความร้อนของซีพียูบางช่วงขึ้นไปถึง 80 องศาเซลเซียส ด้านฮาร์ดดิสก์อยู่ที่ประมาณ 45 องศาเซลเซียส

สำหรับฟีเจอร์และบทสรุปจะอยู่ในหน้าถัดไปนะครับ
Feature of Samsung NC10

แม้ว่าจะเพิ่งเริ่มเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย แต่อย่าลืมว่าซัมซุงได้ทำตลาดโน้ตบุ๊กในประเทศเกาหลีมาพอสมควรแล้ว ทำให้มีฟีเจอร์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานได้ไม่แพ้แบรนด์อื่นๆในตลาดเลยก็ว่าได้



เริ่มต้นกันที่โหมดใช้งาน แบ่งออกเป็น 3 โหมดด้วยกันคือ Silent Mode ที่จะจำกัดการทำงานของซีพียูอยู่ที่ 800Mhz รวมไปถึงความเร็วของพัดลมในการทำงานเพื่อที่ให้เครื่องเงียบและเป็นการประหยัดแบตฯไปในตัว ถัดมาคือ Normal Mode ที่ซีพียูจะทำงานตามที่โปรแกรมเรียกใช้งาน รวมไปถึงความเร็วของพัดลมในระดับปกติ สุดท้ายคือ Speed Mode ที่จะเร่งความเร็วของซีพียูให้อยู่ที่ 1600MHz เพื่อให้เครื่องสามารถทำงานได้เต็มที่นั่นเอง



ถัดมาเป็น "Samsung Battery Manager" ช่วยควบคุมการใช้พลังงานจากเครื่อง โดยในส่วนนี้จะเน้นไปที่ความสว่างของหน้าจอ ปิดหน้าจอเมื่อถึงเวลาที่กำหนด เป็นต้น โดยแบ่งออกเป็น 4 โหมดด้วยกันคืน Max Batterry Life ที่จะช่วยยืดระยะเวลาการใช้งานบนแบตเตอรี่ ด้วยการลดความสว่างหน้าจอลงมา รวมไปถึงปรับระยะเวลาในการสแตนบาย

ส่วนโหมด Normal คือการใช้งานตามปกติทั่วไป ความสว่างจะอยู่ที่ปานกลาง Max Performance ใช้ในกรณีที่เสียบปลั๊กไฟขณะใช้งาน โดยจะปรับความสว่างหน้าจอสูงสุด สุดท้ายคือ Customized สำหรับให้ผู้ใช้งานเลือกปรับค่าต่างๆเอง ตั้งแต่ความสว่างหน้าจอ ปรับลดความสว่างเมื่อไม่ใช้งาน ความเร็วซีพียู รวมถึงค่าในการสแตนบาย และ Hibernates



สำหรับด้านการเชื่อมต่อก็มีฟีเจอร์ "Easy Network Manager" มาช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถตั้งค่าการเชื่อมต่อในแต่ละสถานที่ได้ไม่ยากนัก เช่นการกำหนดว่าที่ทำงานให้ทำการเชื่อมต่อกับเครือข่ายแบบหนึ่ง กลับมาใช้ที่บ้านก็ใช้เครือข่ายอีกแบบหนึ่ง

ซึ่งในหน้าจอตั้งค่าจะมีให้เลือกหลากหลายสถานที่ เมื่อเลือกสถานที่เสร็จแล้วก็มาเลือกถึงประเภทของเครือช่ายที่เชื่อมต่อ เช่น เชื่อมต่อโดยตรง เชื่อมต่อผ่านเซิร์ฟเวอร์ และเชื่อมต่อผ่านลูกข่าย เมื่อเลือกเสร็จเรียบร้อย ก็จะมีให้ตั้งค่าไอพี ในกรณีที่ต้องระบุไอพีสำหรับการเชื่อมต่อ สุดท้ายคือเลือกที่จะใช้งานแชร์พรินเตอร์ด้วยหรือไม่ เป็นอันเสร็จในส่วนของการตั้งค่าการเชื่อมต่อ



อีกฟีเจอร์หนึ่งที่น่าสนใจคือ "Samsung Update Plus" ซึ่งเป็นโปรแกรมที่จะคอยตรวจสอบการอัปเดตของไดร์ฟเวอร์ภายในเครื่องผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งเมื่อตัวโปรแกรมตรวจพบก็จะมีขึ้นมาให้ผู้ใช้กดอัปเดคได้ทันที ช่วยให้ผู้ใช้สบายใจได้ว่าไดร์ฟเวอร์ในเครื่องได้รับการอัปเดตอยู่ตลอดเวลา

บทสรุป

อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นว่าด้านประสิทธิภาพของเน็ตบุ๊กที่มีอยู่ในตลาดที่มีอยู่ขณะนี้ แทบไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ จากปัจจัยทางด้านการผลิตรวมไปถึงวัสดุที่ใช้งานจากราคาจำหน่ายที่ไม่สูงจนเกินไป ดังนั้นจุดแตกต่างจึงขึ้นอยู่กับดีไซน์ของตัวเครื่อง รวมไปถึงระยะเวลาการใช้งานเป็นหลัก

ดังนั้น Samsung NC10 จึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้บริโภคในการเลือกสินเน็ตบุ๊ก ที่เหมาะกับความต้องการของผู้ใช้งานอย่างแท้จริง แต่ทั้งนี้ควรคำนึงถึงเรื่องบริการหลังการขายด้วย เนื่องจากแบรนด์ซัมซุงยังถือเป็นแบรนด์น้องใหม่ของตลาดโน้ตบุ๊กในประเทศไทยอย่างแท้จริง

ผู้ซื้อควรสอบถามถึงเรื่องการรับประกันต่างๆ รวมไปถึงศูนย์บริการหลังการขายให้ดี โดยราคาล่าสุดที่ทีมงานสำรวจพบนั้น เครื่องรุ่นนี้ราคาอยู่ที่ 14,900 บาท แถม External Drive มีให้เลือก 2 สี คือ ขาวกับน้ำเงิน ด้วยช่วงราคารวมกับของแถมที่ได้มานั้นถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าสนใจเลยทีเดียว

ขอชม
- คีย์บอร์ดขนาดใหญ่ช่วยให้ใช้งานได้สบายๆ
- พอร์ตยูเอสบี 3 พอร์ต

ขอติ
- ทัชแพดขนาดเล็ก
- ดีไซน์ไม่แตกต่างจากรุ่นอื่นๆในตลาด

Company Relate Link :
Samsung
กำลังโหลดความคิดเห็น