จะว่าไปแล้วตลาดเน็ตบุ๊กระยะหลังมานี้ไม่ค่อยจะคึกคัก ดุดันเหมือนกับช่วงที่เข้ามาทำตลาดใหม่ๆ ซึ่งอาจจะด้วยข้อจำกัดบางประการที่เน็ตบุ๊กจำเป็นต้องตัดออกไปเพื่อลดต้นทุนในการผลิต ทำให้โน้ตบุ๊กรุ่นประหยัดเบียดเข้ามาแย่งพื้นที่ในส่วนนี้ไปแทน เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจึงเห็นเน็ตบุ๊กถูกส่งลงตลาดบางตาลง และถ้าสังเกตให้ดีเน็ตบุ๊กระยะหลังถ้าไม่มีอะไรเด่นจริงจะไม่ค่อยมีการเปิดตัวต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการเท่าไรนัก
เช่นเดียวกับเน็ตบุ๊ก "Eee PC" ของอัสซุสที่ทางทีมงานนำมารีวิวให้ชมกันวันนี้ ภายใต้ชื่อรุ่นว่า "1101HA" ที่ชูจุดเด่นหน้าจอ 11.6 นิ้ว ซึ่งขยายขึ้นจากเดิมอีกนิดนึง ถ้าลองย้อนไปดูตั้งแต่เริ่มแรกจะเห็นการพัฒนาของจอภาพที่ขยับขยายขึ้นทีละนิด เริ่มจากรุ่นหน้าเป็นจอ 7 นิ้ว ไล่มาเป็น 8.9, 10.1, 10.2 และ11.6 นิ้ว(ตามลำดับ) นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการใช้งานที่ยาวนานของแบตเตอรีแบบ 6 เซลล์ ซึ่งการันตีไว้ว่าสามารถใช้งานได้กว่า 11 ชั่วโมงในโหมด 'Power-Saving'
Design of Asus Eee PC 1101HA
Asus Eee PC 1101HA ถูกดีไซน์แบบเรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยความหรูหรา ซึ่งตัวเครื่องมีความมันวาวถึงร้อยละ 80 จากพื้นที่ทั้งหมด แต่อย่าลืมว่าคราบสกปรกก็จะตามมาได้เช่นเดียวกัน ใช้วัสดุทำจากแมกนีเซียมอัลลอยด์ ผสมกับพลาสติกคุณภาพสูงเป็นส่วนประกอบเสียส่วนใหญ่ ยังคงขนาดกะทัดรัดพอเหมาะสำหรับการพกพาไปยังสถานที่ต่างๆ โดยมีขนาดรอบตัวจะอยู่ที่ 286 x 196 x 21.8-36.2 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 1.38 กิโลกรัม มี 4 สีให้เลือก ได้แก่ สีดำ, ขาว, ฟ้าสด และชมพู
เริ่มจาก ด้านหน้าฝาหลัง ลักษณะของพื้นผิวทางด้านนี้เรียบเนียนมันวาว แน่นอนสิ่งที่ตามมาคือทำให้เกิดรอยนิ้วมือได้ง่ายนั่นเอง กวาดสายตาไปทั่วทุกส่วนทางด้านนี้ก็ไม่พบสัญลักษณ์ 'Eee' ที่เคยชินตาเหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา แต่กลับพบโลโก้ 'ASUS' สีเงินวางพาดอยู่ตรงกึ่งกลางค่อนไปทางด้านบนแทน
เมื่อเปิดหน้าจอขึ้นมาบริเวณตรงกลางจะพบกับเลนส์กล้องเว็บแคมความละเอียด 1.3 ล้านพิกเซล ใกล้กันฝั่งขวาจะพบกับรูไมโครโฟนภายใน ถัดมาทางมีสัญลักษณ์ 'Eee Pc' สีขาววางไว้อยู่ตรงมุมบรเวณนี้ ถัดลงมาเป็นส่วนของหน้าจอ WXGA แบบ LED ขนาด 11.6 นิ้ว ให้ความละเอียดสูงสุด 1366x768 พิกเซล แสดงผลแบบไวด์สกรีนในอัตราส่วน 16:9 พื้นผิวขอบจอมีความมันวาวแบบเดียวกับด้านหน้าฝาหลัง
ส่วนของข้อพับมีลักษณะเป็นบานพับยึดระหว่างหน้าจอเข้ากับตัวเครื่องทั้งฝั่งซ้ายและขวา ขนาดของข้อพับอาจจะดูเล็กไปสักนิดแต่หลังจากลองขยับเปิด-ปิดหน้าจอพบว่าดูแน่นหนาพอสมควรเลยทีเดียว สามารถล็อกจับหน้าจอไม่ให้ไหลปิดลงมาได้ ทำให้ความแข็งแรงข้อพับของเครื่องรุ่นนี้จัดอยู่ในระดับปกติ
ถัดลงมาดูที่ตัวเครื่องกันบ้าง พื้นผิวของบริเวณนี้ยังคงมีลักษณะเช่นเดียวกับฝาหน้า ไล่จากส่วนบนสุดไม่มีปุ่มฟังก์ชันคีย์ลัดใดๆ เว้นแต่ปุ่มเปิด-ปิดเครื่องอยู่ทางด้านขวา และปุ่มเปิด-ปิดทัชแพดทางด้านซ้ายเท่านั้น(ยังสามารถใช้ฟังก์ชันลัด Fn+F3 ได้เหมือนเดิม)
ตัวคีย์บอร์ดปุ่มกดมีลักษณะเรียบด้าน พื้นผิวใช้สีดำสกรีนตัวอักษรสีขาว ซึ่งเมื่อดูโดยรวมแล้วถือว่ามีการพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่เป็นข้อบกพร่องจากรุ่นก่อนๆ แต่ก็ยังทำได้ไม่สุดเท่าที่ควรเช่นเดียวกัน ที่เห็นได้ชัดๆ คือ ปุ่ม Shift ด้านขวาที่ก่อนหน้านี้เคยนำไปอยู่ด้านนอกสุดถัดออกไปจากปุ่มลูกศรขึ้น มาในรุ่นนี้นำเข้ามาวางไว้ด้านในแต่ก็ยังมีขนาดเล็กจนใช้งานไม่ถนัดอยู่ดี ส่วนขนาดของปุ่มกดอื่นๆอยู่ในขนาดกำลังพอเหมาะ การใช้งานอยู่ในระดับปกติการตอบสนองของปุ่มทำได้ไวดี
***หมายเหตุ เนื่องจากเครื่องที่นำมารีวิวเป็นเครื่องทดลอง ดังนั้นแป้นพิมพ์จึงยังไม่ได้สกรีนภาษาไทย แต่เครื่องที่วางจำหน่ายจริงมีมาให้ใช้งานแน่นอน
ด้านล่างใต้คีย์บอร์ดมี "ทัชแพด" อยู่ตรงกึ่งกลางค่อนไปทางซ้าย ลักษณะของทัชแพดถูกออกแบบอย่างเก๋ไก๋ กล่าวคือ ไม่มีส่วนเว้าเหมือนกับทัชแพดทั่วๆไป แต่ใช้ปุ่มจิ๋วลักษณะคล้ายๆกับเม็ดทรายเป็นตัวบอกขอบเขตทัชแพดแทน และเนื่องด้วยพื้นผิวของทัชแพดใช้พื้นผิวเดียวกับตัวเครื่อง สิ่งที่ตามมาคือคราบรอยนิ้วมือที่ติดบรเวณนี้จะมากกว่าที่อื่นๆ นอกจากนี้ ทัชแพดของ 'Eee PC 1101HA' ยังสามารถใช้ขยายภาพได้ง่ายๆโดยใช้ 2 นิ้วจีบถ่าง(ขยายภาพออก) และจีบหุบ(ย่อภาพลง) ส่วนปุ่มกดซ้าย-ขวาอยู่ถัดลงมาทางด้านล่าง ถูกออกแบบให้เป็นแถบอะลูมิเนียมสีเงินเงาผืนเดียว
ถัดลงมาทางด้านล่างขวาสุดของเครื่องจะพบกับ ไฟแสดงสถาานะพร้อมสัญลักษณ์บอกวางเรียงรายอยู่ ประกอบไปด้วย ไฟแสดงสถานะเปิดใช้งานเครื่อง, ไฟแสดงสถานะเตือนเมื่อแบตฯใกล้หมด, ไฟแสดงสถานะการอ่านของฮาร์ดดิสก์, ไฟแสดงสถานะการใช้งานไวเลสแลน, ไฟแสดงสถานะเมื่อกดใช้ 'Caps Lock' ซึ่งทั้งหมดจะแสดงเป็นไฟสีน้ำเงิน
เมื่อพลิกดูใต้เครื่องจะพบช่องใส่แบตเตอรี่ขนาด 6 เซลล์ อยู่ด้านบนสุด ส่วนทางด้านล่างปิดมิดชิดไปกับตัวเครื่องทั้งหมด โดยมีช่องสำหรับเปลี่ยนแรมแทรกอยู่ตรงกึ่งกลาง และช่องระบายอากาศเป็นแถบยาวอยู่ทางด้านล่าง ซึ่งภายในมีลำโพงเสียงแบบสเตอริโออยู่ภายในด้วย
Input and Output Ports
เริ่มจากด้านซ้าย ไล่จากริมในสุดฝั่งซ้าย ประกอบไปด้วย ช่องเสียบสายชาร์จ, พอร์ต VGA, พอร์ต USB 1 พอร์ต, ช่องสำหรับล็อกเน็ตบุ๊ก และช่องพัดลมระบายอากาศ(ลมแรงดี)
ทางด้านขวาเริ่มจากริมในฝั่งขวา ประกอบไปด้วย ช่องเสียบสายแลน, พอร์ตยูเอสบี อีก 2 พอร์ต, ช่องเสียบไมโครโฟน, ช่องเสียบหูฟัง และช่องอ่านการ์ดรีดเดอร์ (รองรับ SD, SDHC, MMC)
ด้านหน้า ไม่มีปุ่ม หรือช่องต่อใดๆอยู่ในส่วนนี้
ด้านหลัง เช่นเดียวกับด้านหน้า ที่ไม่มีช่องต่อใดๆทางด้านนี้
สำหรับการเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สายจะมีทั้งไวเลส ที่รองรับมาตรฐาน 802.11b/g/n และบลูทูธ 2.1+EDR
สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพจะอยู่ในหน้าถัดไปนะครับ
Performance And Benchmark
ในส่วนของประสิทธิภาพ "Eee Pc1101HA" คงไม่ต่างจากเน็ตบุ๊กทั่วๆไปในตลาดเท่าไรนัก เนื่องจากแพลตฟอร์มของซีพียูยังคงใช้ Atom อยู่เหมือนเดิม ถ้าจะแตกต่างกันคงอยู่ที่รุ่น และสปีดของซีพียู ฮาร์ดดิสก์และแรม ในบางรุ่นเท่านั้น ว่าแล้วเราไปดูทีละสเต็ปพร้อมกันเลยว่าประสิทธิภาพของเครื่องรุ่นนี้แท้จริงแล้วเป็นเช่นไรบ้าง
เริ่มจากประสิทธิภาพของซีพียู โดยทดสอบสเปกภายในผ่านโปรแกรม CPU-Z พบว่า "Eee Pc1101HA" ใช้ซีพียู Intel Atom 220 (Z520) @ 1.33 GHz ที่ใช้เทคโนโลยี 45 นาโนเมตร, คอร์สปีดสูงสุดอยู่ที่ 1535.6 MHz ในโหมด 'Super Performance' ซึ่งจะบอกว่าทำงานได้เกินประสิทธิภาพก็ว่าได้ ส่วน FSB อยู่ที่ 614.2.1MHz, L1 D-Cache 24KB, L1 I-Cache 32KB และ L2 Cache ขนาด 512KB
ด้านเมนบอร์ดจะเห็นได้ว่าเป็นของทาง 'ASUSTeK' ผลิตขึ้นเอง ชื่อโมเดล 1101HA ใช้ชิปเซ็ต Intel ID8100/ID8119 ในส่วนของหน่วยความจำใส่ให้มาเป็นแบบ DDR2 SO-DIMM ขนาด 1 GB สามารถอัปได้สูงสุด 2 GB
สำหรับการทดสอบคะแนนผ่านโปรแกรม PCMark05 คะแนนออกมาอยู่ที่ 1199 คะแนน ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติของเน็ตบุ๊กทั่วไป ที่มีกำลังซีพียูเพียงเท่านี้ หลังจากลองใช้งานรันโปรแกรมมาตรฐานทั่วไปสามารถใช้งานได้ไม่สะดุด
ในส่วนของหน่วยประมวลผลภาพหรือการ์ดจอ โดยดูจากโปรแกรม GPU-Z พบว่าใช้การ์ดจอของ Intel GMA 500 หน่วยความจำของการ์ดจออยู่ที่ 8MB ซึ่งในการใช้งานจริงจะไปแบ่งมาจากหน่วยความจำหลัก(แชร์แรม)
เมื่อทดสอบจากโปรแกรม 3DMark06 ที่ความละเอียด 1024 x 768 ผลออกมาอยู่ที่ 101 ซึ่งค่าที่ได้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีสำหรับการใช้งานในกลุ่มเน็ตบุ๊ก สามารถรองรับการใช้งานทั่วๆไป ไม่รวมทำกราฟิกหนักๆสามารถทำได้สบายๆ เล่นภาพยนตร์ความละเอียดสูง (HD ที่ 720p) ได้อย่างไม่มีปัญหา
มาดูกันที่อัตราการเข้าถึงข้อมูลกันบ้าง ซึ่งฮาร์ดดิสก์ที่ให้มามีขนาด 160 GB ความเร็วสูงสุดในการอ่านข้อมูลอยู่ที่ 62.7 MB/s ส่วนอัตราการเข้าถึงข้อมูลอยู่ที่ประมาณ 24.8 ms ถือว่าเป็นอัตราการเข้าถึงข้อมูลค่อนข้างช้าอยู่เหมือนกัน นอกจากนี้ "Eee Pc1101HA" ยังมีพื้นที่ให้เก็บข้อมูลบนออนไลน์ได้อีกกว่า 10 GB
ด้านการเชื่อมต่อผ่านไวเลสนั้น ใช้การ์ดไวเลสจาก Atheros AR9285 Wireless Network Adapter ที่รองรับมาตรฐาน 802.11 b/g/n เมื่อทดสอบการใช้งานโดยการเชื่อมต่อห่างจาก Access Point ระยะประมาณ 10 เมตร พบว่า กราฟแสดงสัญญาณที่ระดับ 65-75% มีสัญญาณแกว่งให้เห็นเป็นบางช่วง ซึ่งดูแล้วอาจจะบอกว่าประสิทธิภาพไม่ค่อยเวิร์กเท่าที่ควร แต่เมื่อทดลองใช้จริงแล้วไม่มีปัญหาในการเชื่อมต่อแต่อย่างไร
Speaker
สำหรับ'ลำโพง'รุ่นนี้ถูกออกแบบให้อยู่ภายในตัวเครื่องที่ให้มาซึ่งเป็นลำโพงแบบสเตอริโอ และแน่นอนว่าเครื่องรุ่นนี้ใช้ระบบเสียงจาก Realtek HD Audio เช่นเดียวกับเครื่องหลายๆรุ่นก่อนหน้านี้ ทำให้มาตรฐานของเสียงที่ได้จากการต่อผ่านลำโพงอยู่ในระดับมาตรฐาน
ส่วนลำโพงภายในที่อยู่ด้านใต้เครื่องนั้นหลังจากทดลองเปิดฟังพบว่า ความดังของเสียงค่อนข้างดังเลยทีเดียว เสียงไม่ถูกบีบเนื่องจากทางอัซซุสออกแบบให้ตัวเครื่องยกขึ้นเหนือพื้นเล็กน้อย ทำให้เสียงรอดผ่านออกมาได้ดี โทนเสียงออกแหลมกว้างไม่ค่อยมีมิติเท่าไร นอกจากนี้ ยังมีลูกเล่นในส่วนของซอฟต์แวร์ให้ปรับใช้ตามความเหมาะสมแต่ละงานด้วย ซึ่งรายละเอียดจะกล่าวในส่วนของฟีเจอร์(หน้าถัดไปครับ)
Battery and Heat
ในส่วนของ'แบตเตอรี่'นั้นเป็นแบบ Li-ion ขนาด 6 เซลล์ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของเน็ตบุ๊กรุ่นนี้เลยก็ว่าได้ เนื่องจากทางอัสซุสการันตีว่าสามารถใช้งานได้ยาวนานถึง 11 ชั่วโมงเลยทีเดียว ทั้งนี้ระยะเวลาของแบตฯขึ้นอยู่กับการใช้งานแต่ละประเภทด้วย โดยรุ่นนี้มีฟังก์ชัน "Super Hybrid Engine"(Fn+Spacebar) ให้เลือกใช้งานตามความเหมาะสม ซึ่งรายละเอียดจะกล่าวในส่วนของฟีเจอร์(หน้าถัดไปครับ)
เมื่อทดลองโดยการใช้งานแบบปกติ คือ เล่นอินเทอร์เน็ต พิมพ์งานไปด้วย เปิดเพลงฟัง ใช้ความสว่างหน้าจอ 50% ความดังเสียง 50% โดยใช้จนแบตเตอรี่เหลือประมาณ 5% ในโหมด 'Super Performance' พบว่าสามารถใช้งานได้ประมาณ 6 ชั่วโมง 7 นาที ส่วนเวลาในการชาร์จใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 40 นาที สำหรับการชาร์จ 1 - 95%
ส่วนการดูภาพยนตร์ผ่านไฟล์ DVD โดยเปิดความสว่างหน้าจอสูงสุด 100% ความดังเสียงสูงสุด 100% โดยใช้จนแบตเตอรี่เหลือประมาณ 5% ในโหมด 'Super Performance' เช่นเดียวกัน ปรากฏว่าสามารถใช้งานได้ประมาณ 5 ชั่วโมง 50 นาที
ดังนั้นข้อความที่การันตีไว้ว่าใช้งานได้ถึง 11 ชั่วโมงนั้น คาดว่าจะเกิดจากการใช้งานในโหมด 'Power Saving' และตัวเครื่องใช้งานไม่หนักมาก เช่น ไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ไม่เปิดเพลงฟังขณะใช้งาน หรืออีกนัยหนึ่งคือเปิดเครื่องทิ้งไว้เฉยๆ ซึ่งแน่นอนว่าสามารถใช้งานได้ถึงตามที่อัสซุสการันตีมาได้แน่ อย่างไรก็ดี ผลลัพธ์หลังการทดสอบเปิดใช้งานแบบเต็มประสิทธิภาพถือว่าทำได้น่าประทับใจทีเดียว
มาดูกันในส่วนของความร้อนถ้าใช้งานปกติความร้อนของเครื่องจะอยู่ประมาณ 61-64 องศาเซลเซียส ซีพียูที่ประมาณ 74-76 องศาเซลเซียส และความร้อนของฮาร์ดดิสก์ที่ประมาณ 40 องศาเซลเซียส
เมื่อลองรันซีพียู 100% ให้เครื่องทำงานเต็มประสิทธิภาพเป็นเวลานาน 1 ชั่วโมง ปรากฏผลอุณหภูมิดังนี้ ความร้อนของเครื่อง 74 องศาเซลเซียส ความร้อนซีพียู 84 องศาเซลเซียสและฮาร์ดดิสก์ 38 องศาเซลเซียส
สำหรับฟีเจอร์ที่มี และบทสรุปจะอยู่ในหน้าถัดไปนะครับ
Feature of Asus Eee PC 1101HA
คราวนี้มาดูในส่วนของฟีเจอร์กันบ้างครับ ซึ่งเครื่องรุ่นนี้มีฟีเจอร์อยู่ด้วยกัน 2 ส่วนหลัก คือ ฟีเจอร์ "Super Hybrid Engine" ที่ช่วยควบคุมการทำงานของซีพียูให้สอดรับกับการใช้งานต่างๆของผู้ใช้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้ใช้พลังงานแบตฯได้เต็มประสิทธิภาพนั่นเอง ส่วนอีกฟีเจอร์เป็น "Docking" ที่ใส่เข้ามาอำนวยความสะดวกซึ่งภายในมีให้ใช้งาน 4 หมวดหลักด้วยกัน
Super Hybrid Engine
Super Hybrid Engine ถือเป็นเทคโนโลยีที่อัสซุสนำมาช่วยในการจัดการระบบการทำงานของเครื่อง ให้สอดคล้องกับการใช้งาน โดยจะมีให้เลือกใช้งาน 5 โหมดด้วยกัน คือ 1. Power Saving สำหรับโหมดประหยัดพลังงาน เพื่อให้สามารถใช้งานได้ยาวนานขึ้น 2. Auto Power-Saving ในกรณีที่ต้องการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพและต้องการประหยัดพลังงาน โหมดนี้จะช่วยปรับการทำงานต่างๆของเครื่อง เช่นถ้ามีการเรียกใช้การประมวลผลสูงๆก็จะเข้าสู่โหมดปกติ ถ้าไม่มีการใช้งานก็จะกลับเข้าสู่โหมดประหยัดพลังงาน 3. Auto High Performance จะทำงานตรงกันข้ามกับโหมด Auto Power-Saving
4. High Performance สำหรับการใช้งานในระดับเต็มประสิทธิภาพของเครื่อง 5. Super Performance เป็นการนำเทคโนโลยี 'Super Hybrid Engine' เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน (Over Clock) โดยจะเป็นการเพิ่มความเร็วของซีพียู รวมไปถึง FSB ให้สูงสุดเท่าที่เครื่องสามารถทำได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อการใช้งาน แน่นอนว่าถ้าปรับการใช้งานเป็นโหมดนี้จะใช้ไฟในการทำงานมากกว่าปกติ ทำให้เวลาในการใช้งานก็จะลดลงตามไปด้วย
***หมายเหตุ โหมด Auto High Performance และAuto Power-Saving จะปรับการทำงานเองอัตโนมัติ เมื่อผู้ใช้งานถอด-ใส่ปลั๊กชาร็จแบตฯเข้าบตัวเครื่อง
Eee Docking
เน็ตบุ๊กรุ่นนี้ยังมีแถบ 'Dock' มาให้ใช้งานด้วย ซึ่งภายในแถบประกอบด้วย 4 หมวดการใช้งานหลัก ได้แก่ Eee @Vibe, Eee Sharing, Eee Xperience และEee Tools
Eee @Vibe เป็นฟังก์ชันให้เลือกการใช้งานด้านมัลติมีเดียแบบออนไลน์ ประกอบไปด้วยหมวดย่อย 3 หมวด ได้แก่ 1. Eee @Vibe มีให้เลือกใช้งานสถานีวิทยุออนไลน์, ทีวีออนไลน์, เกมส์ เพลง และอื่นๆอีกมากมาย 2. 'Game Park' เป็นแหล่งรวมเกมให้ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดลงมาเล่นบนคอมพ์ หรือจะเล่นบนออนไลน์ก็สามารถทำได้เช่นกัน 3. Eee Download เป็นหนทางที่จะนำพาผู้ใช้งานไปสู่แหล่งรวมซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชัน และมัลติมีเดียต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานดาวน์โหลดมาใช้งานได้อย่างสะดวก
Eee Sharing เป็นฟังก์ชันแชร์ ฝากข้อมูลต่างๆไปยังเซิร์ฟเวอร์ตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งภายในมีให้เลือกใช้งานอยู่ 3 หมวดย่อยด้วยกัน ได้แก่ 1. Data Sync เป็นการแชร์ข้อมูลไปยังเครื่องคอมพ์ต่างๆที่อยู่ภายใต้ระบบเน็ตเวิร์กเดียวกัน 2. EzMessenger เป็นการสนทนา และแชร์ข้อมูลไปยังเครื่องที่เป็น Eee Pc เหมือนกัน และ3. Eee Storage เป็นการฝากข้อมูลขึ้นไปยังฐานข้อมูลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของ Eee Pc ซึ่งมีพื้นที่ให้ 10GB ต่อเครื่อง สามารถอัปโหลดฝากไฟล์ข้อมูลได้ไม่จำกัด แต่จำกัดการดาวน์โหลดที่ 50MB ต่อวันเท่านั้น
Eee Xperience เป็นฟังก์ชันปรับเสียงให้เหมาะสมกับการใช้งาน ซึ่งเมื่อเลือกหมวดย่อย 'SRS Premium Sound' ที่มีมาใช้เพียงหมวดเดียว จะพบรายละเอียดให้ปรับค่ามากมาย ทั้งให้เลือกปรับระกับความดังของเสียง รวมถึงปรับเสียงด้านซ้าย-ขวาด้วย นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งหมวดย่อยให้เลือกปรับตามความเหมาะสมของการเปิดรับชมสื่อ ได้แก่ ฟังเพลง, ดูภาพยนตร์ และเล่นเกม ส่วนช่องทางกการออกของเสียงให้เลือก ได้แก่ ฟังผ่านหูฟัง, ลำโพงภายนอก และลำโพงภายในตัวเครื่อง
Eee Tools เป็นฟังก์ชันเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการอัปเดตซอฟต์แวร์ ควบคุม ตั้งค่า ปรับแต่งต่างๆให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด ซึ่งมีให้เลือกใช้งานอยู่ 4 หมวดย่อย ได้แก่ 1. Live Update ฟังก์ชันที่ช่วยให้สามารถเข้าสู่กระบวนการอัปเดตซอฟต์แวร์ต่างๆได้สะดวกยิ่งขึ้น 2. Parental Control เป็นฟังก์ชันที่ไว้สำหรับให้ผู้ปกครองใช้ควบคุมการใช้งานของบุตรหลาน สามารถตรวจสอบการใช้งานและป้องกันการใช้งานในสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเว็บไซต์ หรือการใช้งานโปรแกรมต่างๆที่ไม่เหมาะสม
3. Font Resizer เป็นฟังก์ชันที่ไว้ใช้สำหรับปรับขนาดตัวอักษรให้ขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งมีให้เลือกใช้งาน 3 ขนาด ได้แก่ ปกติ ใหญ่ และใหญ่พิเศษ 4. Settings เป็นการตั้งค่าในส่วนของ 'Dock' โดยมีให้เลือกปรับอยู่ 3 ส่วน ประกอบไปด้วย 1. ปรับความโปร่งใสของ 'Dock' (ปรับได้ตั้งแต่ 10 - 100%) 2. ปรับตำแหน่งของ 'Dock' ว่าจะให้ไปอยู่ส่วนไหนของหน้าจอ มีให้เลือก 4 ทิศ (บน, ล่าง, ซ้าย, ขวา) และส่วนสุดท้าย เป็นการตั้งค่าว่าจะให้หมวดหลักแต่ละหมวดแสดงหมวดย่อยอะไรบ้าง
บทสรุป
สำหรับเน็ตบุ๊ก Eee PC 1101HA ของอัสซุสรุ่นนี้ ถือว่าทำออกมาได้น่าประทับใจไม่น้อย ตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอกที่ดีไซน์ออกมาได้หรูหราขึ้นกว่ารุ่นก่อน หน้าจอที่ขยายกว้างขึ้นเป็น 11.6 นิ้ว และแบตเตอรี่ทีให้มาขนาด 6 เซลล์ รวมไปถึงฟังก์ชันที่ติดมาเพื่อให้การใช้งานภายในสะดวกมากยิ่งขึ้น และสามารถประหยัดพลังงานได้มากเช่นกัน
แป้นพิมพ์ที่ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญของเน็ตบุ๊กขนาดเล็ก ถูกดีไซน์ออกมาได้พอเหมาะพอดีมือซึ่งทางอัสซุสได้ทำการบ้านมาพอสมควร เนื่องจากมีการนำไปปรับปรุงการวางตำแหน่งปุ่ม Shift ด้านขวาที่ก่อนหน้านี้เคยนำไปอยู่ด้านนอกสุดถัดออกไปจากปุ่มลูกศรขึ้น ให้เข้ามาอยู่ด้านในแทนแต่ก็ยังถือว่าแก้ได้ไม่สุดเพราะปุ่มยังมีขนาดเล็กอยู่ดี
ระยะเวลาการใช้งานจากแบตฯ 6 เซลล์ทีให้มา ต้องบอกว่ามากล้นเหลือการใช้งานเสียด้วยซ้ำ ซึ่งตรงกับข้อความที่ทางอัสซุสการันตีมาว่าใช้งานได้นาน 11 ชั่วโมง หากเปิดใช้ในโหมด 'Power-Saving' และ 8 ชั่วโมงในการใช้งานโหมดปกติทั่วไป ซึ่งภายหลังทีมงานได้ลองใช้งานแบบเต็มประสิทธิภาพในโหมด 'Super Performance' ยังสามารถรองรับการทำงานได้ถึง 6 ชั่วโมง ถ้าหากปรับมาใช้โหมดปกติทั่วไปตามการใช้งานเชื่อว่า 8 ชั่วโมงที่การันตีมานั้นทำได้อย่างแน่นอน
ส่วนอุณหภูมิของเครื่องรุ่นนี้ก็ทำออกมาได้น่าประทับใจเช่นกัน สามารถวางอุ้งมือพิมพ์งานบนเครื่องได้อย่างสบายแม้จะเปิดใช้งานนานกว่า 4 ชั่วโมงไปแล้วก็ตาม ซึ่งตรงจุดนี้มีพัดลมระบายอากาศช่วยเป่าความร้อนออกทางด้านข้างของเครื่อง ที่ทำงานได้ค่อนข้างแรงดีทีเดียว โดยรวมทั้งหมดแล้วเทียบกับค่าตัว 17,900 บาท ถือว่าเป็นอีกหนึ่งรุ่นที่น่าสนใจเลยทีเดียว หากยอมรับข้อบกพร่องบางประการได้
ขอชม
- ดีไซน์ดูหรูหราขึ้นกว่าเดิม น้ำหนักเบาเหมาะแก่การพกพา
- พัดลมระบายอากาศทำงานได้แรงดี ทำให้ตัวเครื่องมีอุณหถูมิกำลังพอเหมาะ
- แบตฯอึดใช้ต่อเนื่องได้ยาวนานสมกับราคาคุย
ขอติ
- พื้นผิวตัวเครื่องส่วนใหญ่จะมีลักษณะมันวาว ทำให้เกิดคราบสกปรกได้ง่าย
- บริเวณทัชแพดถูกดีไซน์ให้ดูหรูหราก็จริง แต่การใช้งานอาจจะไม่สะดวกสำหรับบางคน
สำหรับราคาเปิดตัว Eee PC 1101HA อยู่ที่ประมาณ 17,900 บาท
Company Relate Link :
Asus