คราวนี้ลองไปดูมินิโน้ต หรือเน็ตบุ๊กกันบ้าง หลังจากได้ชมรีวิวโน้ตบุ๊กไปในครั้งที่แล้ว ซึ่งเกตเวย์ก็ทำออกมาตอบสนองกับเขาเหมือนกัน โดยของ Gateway จะใช้รหัสชื่อรุ่นนำหน้าว่า "LT" ใช้หน้าจอขนาด 11.6 นิ้วเป็นตัวตั้งมาตรฐาน ซึ่งขณะนี้ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมีอยู่ 2 รุ่น คือ "LT3105t" จะมีตัวเครื่องเป็นสีดำ (Nightsky black) และ "LT3106t" จะมีตัวเครื่องเป็นสีแดง (Cherry Red) แต่ที่เห็นจะแปลกกว่าเน็ตบุ๊คทั่วไปสักหน่อยก็คือเรื่องของขุมพลังซีพียู ที่โดยปกติแล้วมินิโน้ตหรือเน็ตบุ๊กทั่วๆไปจะใช้ซีพียูของอินเทลอย่างอะตอม ทว่าของเกตเวย์นี้ยึดซีพียูของ AMD เป็นหลัก ภายหลังการทดสอบต้องบอกว่ามีดีไม่เป็นรองกัน
สำหรับ "Gateway LT3106t" จัดอยู่ในคอลเลกชันของ "เดอะ ซัมเมอร์ บริซ คอลเลกชัน" จากทั้งหมด 4 คอลเล็กชันที่ทางเกตเวย์ได้จัดสรรเอาไว้ ซึ่งคอลเลกชันนี้เกตเวย์ตั้งใจจะให้เป็นรุ่นที่มีดีไซน์คลาสสิก รูปร่างเล็กกะทัดรัด เพื่อให้ผู้ใช้งานได้หยิบพกพาไปได้ทุกที่ โดยไม่ทำให้พลาดทุกการเชื่อมต่อ และยังคงเจาะตลาดระดับพรีเมียมอยู่เหมือนเดิม
Design of Gateway LT3106t
Gateway LT3106t ถูกออกแบบให้รูปลักษณ์ภายนอกผสมผสานเข้ากับแฟชัน โดยการเน้นแฟชันแบบมีสไตล์เฉพาะ ซึ่งเมื่อมองดูด้านหน้าแล้วคล้ายๆกับกระเป๋าแฟชันตามคอนเซ็ปต์การออกแบบของทางเกตเวย์ หรือสมุดออแกไนเซอร์แบรนด์ดังๆจากฝรั่งเศส ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคล ตัวเครื่องยังคงใช้วัสดุที่ทำจากแมกนีเซียมอัลลอยด์ ผสมกับพลาสติกคุณภาพสูงเป็นส่วนประกอบเสียส่วนใหญ่ เมื่อลองสัมผัส เดินถือไปมาพบว่าตัวเครื่องมีขนาดกำลังพอเหมาะในการพกพา โดยมีขนาดรอบตัวจะอยู่ที่ 286 x 203 x 26 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 1.35 กิโลกรัม สำหรับสีรุ่นที่กำลังรีวิวให้ชมอยู่นี้เป็นสีแดง (Cherry Red)
เริ่มจาก ด้านหน้าฝาหลัง ลักษณะของพื้นผิวทางด้านนี้เรียบเนียนมันวาวด้วยสีแดงสด สีสันจัดจ้านชักชวนสายตาจากผู้คนรอบข้างให้หันมาเหลียวมองได้พอสมควร ตรงกลางด้านบนมีแถบอะลูมิเนียมสีเงินวางอยู่ในลักษณะแนวตั้ง โดยมีโลโก้พร้อมชื่อ "Gateway" แกะสลักวางพาดสะดุดตาอยู่ในกรอบอะลูมิเนียมอีกทีหนึ่ง ซึ่งจุดนี้เองถ้ามองโดยรวมจะมีลักษณะคล้ายกับที่ปิดกระเป๋าแฟชัน หรือที่ปิดสมุดออแกไนเซอร์
เมื่อเปิดหน้าจอขึ้นมาบริเวณตรงกลางจะพบกับเลนส์กล้องเว็บแคมความละเอียด 0.3 ล้านพิกเซล (640 x 480) ถัดมาฝั่งซ้ายจะพบกับช่องไมโครโฟนภายใน ซึ่งมีสัญลักลักษณ์รูปไมค์บอกอย่างชัดเจน ถัดลงมาเป็นส่วนของหน้าจอ LCD แบบ WXGA ขนาด 11.6 นิ้ว ให้ความละเอียดสูงสุด 1366x768 พิกเซล แสดงผลแบบไวด์สกรีนในอัตราส่วน 16:9 ใต้จอตรงกึ่งกลางมีชื่อยี่ห้อพร้อมโลโก้"Gateway" สีเงินวางพาดอยู่
ส่วนของข้อพับมีลักษณะเป็นตัวยึดติดเข้ากับเครื่องทั้งด้านซ้ายและขวา ซึ่งตัวยึดมีขนาดไม่ใหญ่มากทำให้ความแข็งแรงอาจจะเท่ากับเครื่องรุ่นใหญ่ เมื่อลองขยับเปิด-ปิดหน้าจอพบว่าดูแน่นหนาพอสมควร สามารถล็อกจับหน้าจอไม่ให้ไหลปิดลงมาได้ กล่าวคือ กางหน้าจอออกแค่ไหนก็จะอยู่ ณ ตำแหน่งนั้นโดยไม่มีการขยับเขยื้อนไปจากตำแหน่งเดิม
ถัดลงมาดูที่ตัวเครื่องสีของบริเวณนี้ยังคงเป็นสีแดงเหมือนกับฝาหน้า ไล่จากส่วนบนสุดไม่มีปุ่มฟังก์ชันคีย์ลัดใดๆ เว้นแต่ปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง และไฟแสดงสถาานะของตัวเครื่องอยู่ทางฝั่งขวาเท่านั้น โดยไฟแสดงสถานะของตัวเครื่องไล่จากซ้ายไปขวา ได้แก่ ไฟแสดงสถานะการอ่านของฮาร์ดดิสก์, ไฟแสดงสถานะเมื่อกดใช้ 'Numlock' และไฟแสดงสถานะเมื่อกดใช้ 'Caps Lock' ซึ่งทั้งหมดจะแสดงเป้นไฟสีเหลือง
ตัวคีย์บอร์ดปุ่มกดเป็นสีดำสกรีนตัวอักษรสีขาวซึ่งค่อนข้างใหญ่พอสมควร พื้นผิวปุ่มมีลักษณะเรียบออกมันเงานิดๆ การวางปุ่มอักขระต่างๆเหมือนคีย์บอร์ดมาตรฐานทั่วไป มีเพียงบริเวณปุ่มลูกศร, Page Up และPage Down เท่านั้นที่มีขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของปุ่มปกติ ซึ่งต้องขอชมว่าสามารถจัดสรรเนื้อที่ส่วนจำเป็นหลักๆได้อย่างลงตัว หลังจากลองสัมผัสคีย์บอร์ดพบว่าปุ่มมีความนุ่ม และด้วยความที่ปุ่มค่อนข้างใหญ่จึงช่วยให้การพิมพ์งานเป็นไปอย่างลื่นไหล ไม่ต้องเกร็งนิ้วมือรวมถึงไม่ต้องห่อไหล่ขณะพิมพ์
ด้านล่างใต้คีย์บอร์ดมี "ทัชแพด" อยู่ตรงกึ่งกลางค่อนไปทางซ้าย ลักษณะของทัชแพดมีส่วนเว้าบอกให้รู้ว่าเป็นพื้นที่ทัชแพดอย่างชัดเจน ซึ่งมีขนาดกำลังพอเหมาะ ไม่เล็กและใหญ่เกินไป มี 'Scroll Wheel' ให้ใช้งานโดยใช้เส้นสีขาวเป็นสัญลักษณ์แบ่งพื้นที่ไว้ทางด้านข้าง ส่วนปุ่มกดซ้าย-ขวาอยู่ถัดลงมาทางด้านล่าง ซึ่งออกแบบให้เป็นแถบอะลูมิเนียมผืนเดียว เมื่อละสายตามาทางด้านล่างซ้ายบริเวณขอบเครื่องจะพบกับไฟแสดงสถานะการใช้งานแบตฯ (กระพริบแบตฯใกล้หมด ชาร์จแบตฯแสดงไฟสีแดง) ถัดมาเป็นไฟแสดงสถานะการใช้งาน บลูทูธ(สีน้ำเงิน) และไฟแสดงสถานะการใช้งานไวเลสแลน(สีแดง) เปิด-ปิดการใช้งานทั้ง 2 ส่วนบริเวณด้านหน้าตัวเครื่อง ซึ่งพื้นผิวบริเวณนี้มีลักษณะเรียบด้าน โดยมีลายจุดสลักลงบนตัวเครื่องช่วยลดการลื่นไหลของอุ้งมือ และคราบเหงื่อได้พอสมควร
เมื่อพลิกดูใต้เครื่องจะพบช่องใส่แบตเตอรี่ขนาด 6 เซลล์ อยู่ด้านบนสุด ถัดมาทางด้านล่างจะเป็นที่อยู่ของเมนบอร์ด กับฮาร์ดดิสก์ขนาด 2.5 นิ้ว สามารถไขน็อตเพื่อเปลี่ยนได้ ถัดลงมาเป็นที่อยู่ของตัวรับ-ส่งไวเลส ถัดมาด้านขวาใกล้กันเป็นที่อยู่ของเมมโมรีการ์ดสามารถเปิดเพิ่มได้ ส่วนด้านล่างเป็นที่อยู่ของลำโพงเสียง ซึ่งแต่ละช่องมีรูระบายอากาศอยู่พอสมควร
Input and Output Ports
เริ่มจากด้านซ้าย ไล่จากริมในสุดฝั่งซ้าย ประกอบไปด้วย ช่องเสียบสายแลน, ช่องสำหรับเสียบสายชาร์จแบตฯ, พัดลมระบายความร้อน และพอร์ตยูเอสบี 1 พอร์ต
ทางด้านขวาเริ่มจากริมในฝั่งขวา ประกอบไปด้วย พอร์ต VGA Out, ช่องสำหรับล็อกโน้ตบุ๊ก(Kensington Lock), พอร์ตยูเอสบี อีก 2 พอร์ต, ช่องเสียบไมโครโฟน, ช่องเสียบหูฟัง และช่องอ่านการ์ดรีดเดอร์ (รองรับ SD, MMC, xD, MS และ MS Pro)
ส่วนด้านหน้ามีเพียงปุ่มเปิด-ปิดสัญญาณไวเลสแลน ที่รองรับมาตรฐาน 802.11 b/g กับปุ่มเปิด-ปิด การใช้งานบลูทูธ 2.1+EDR เท่านั้น ซึ่งทั้ง 2 ปุ่มอยู่ถูกออกแบบไว้ทางด้านซ้าย
ด้านหลังไม่มีช่องต่อใดๆทางด้านนี้ เว้นแต่ส่วนเกินของแบตฯที่ยื่นนูนออกมา
สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพจะอยู่ในหน้าถัดไปนะครับ
Performance And Benchmark
คราวนี้มาดูประสิทธิภาพของ "Gateway LT3106t" กันบ้าง หลังจากทำความรู้จักรูปลักษณ์ภายนอกไปแล้ว ซึ่งประสิทธิภาพโดยรวมยังคงไม่แตกต่างจากมินิโน้ต หรือเน็ตบุ๊กตัวอื่นๆในท้องตลาดมากนัก เราไปไล่ดูทีละสเต็ปตามสไตล์การรีวิวพร้อมกันเลยว่าผลลัพธ์แท้จริงแล้วออกมาเป็นอย่างไร
เริ่มจากประสิทธิภาพของซีพียู โดยใช้โปรแกรม CPU-Z ในการตรวจสอบพบว่า Gateway LT3106t ใช้ซีพียู AMD Athlon L110 @ 1.20GHz คอร์สปีดสูงสุดอยู่ที่ 1197 MHz ส่วน FSB อยู่ที่ 800 MHz, L1 D-Cache 64KB, L1 I-Cache 64KB และ L2 Cache ขนาด 512KB
ด้านเมนบอร์ดเป็นของที่ทาง Gateway ผลิตเอง ชื่อโมเดล SJM11-YK ใช้ชิปเซ็ต ATI RS690/RS690M/SB600 ในส่วนของหน่วยความจำใส่ให้มาเป็นแบบ DDR2 Bus 667 MHz ขนาด 1GB จำนวนแถวเดียว จากจำนวนช่องที่รองรับได้ทั้งหมด 2 แถว ซึ่งสามารถใส่เพิ่มได้สูงสุด 2 GB
สำหรับการทดสอบคะแนนผ่านโปรแกรม PCMark05 คะแนนออกมาอยู่ที่ 1476 คะแนน ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ของการใช้งานสำหรับเน็ตบุ๊ก และค่าคะแนนมีค่าใกล้เคียงกับซีพียู Atom ของอินเทลด้วย เรียกได้ว่าไม่หนีกันสักเท่าไร
ด้านหน่วยประมวลผลภาพหรือการ์ดจอ โดยดูจากโปรแกรม GPU-Z พบว่าใช้การ์ดจอของ ATI Radeon รุ่น X1270 กราฟิกแรมขนาด 256 MB
เมื่อทดสอบจากโปรแกรม 3DMark06 ที่ความละเอียด 1280 x 768 ผลออกมาอยู่ที่ 263 ซึ่งค่าที่ได้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีสำหรับการใช้งานในกลุ่มของมินิโน้ต หรือเน็ตบุ๊ก หลังลองใช้งานโปรแกรมปกติทั่วๆไป อย่างโปรแกรม Microsoft Office, Internet Explorer, ACDSee รวมถึง Photoshop CS2 ในการตกแต่งภาพเล็กๆน้อยๆ ซึ่งสามารถรันใช้งานได้ตามปกติ
มาดูกันที่อัตราการเข้าถึงข้อมูลกันบ้าง ซึ่งฮาร์ดดิสก์ที่ให้มาใช้ของ Western Digital ขนาด 160GB ความเร็วสูงสุดในการอ่านข้อมูลอยู่ที่ 66.5 MB/s ส่วนอัตราการเข้าถึงข้อมูลอยู่ที่ประมาณ 16.8 ms ถือว่าเป็นอัตราการเข้าถึงข้อมูลที่ค่อนข้างไวเลยทีเดียวสำหรับฮาร์ดดิสก์ตัวนี้
ด้านการเชื่อมต่อผ่านไวเลสนั้น ใช้การ์ดไวเลสจาก Atheros AR5B95 ที่รองรับมาตรฐาน 802.11 b/g เมื่อทดสอบการใช้งานโดยการเชื่อมต่อห่างจาก Access Point ระยะประมาณ 10 เมตร พบว่า การจับสัญญาณอยู่ในเกณฑ์ดี คือ กราฟแสดงสัญญาณ 100% ไม่มีสัญญาณแกว่งให้เห็น
Speaker
สำหรับลำโพงภายในตัวเครื่องที่ให้มานั้นเป็นลำโพงแบบสเตอริโอ ซึ่งลำโพงถูกนำไปไว้บริเวณใต้เครื่องบริเวณส่วนหน้า หลังการทดลองเปิดฟังภายในห้องขนาดกว้าง 4 x 6 พบว่าเสียงที่ขับออกมาพอฟังเพื่อความเพลินเพลินได้ ซึ่งความดังของเสียงไม่ได้ดังมากเท่าไรนัก โทนเสียงออกทางแหลมเล็กมากกว่านุ่ม จึงทำให้เสียงค่อนข้างแบนไม่มีมิติเท่าที่ควร ในส่วนของซาวน์การ์ดเมื่อต่อออกลำโพงยังคงใช้ Realtek Hd Audio เช่นเดิม โดยเสียงที่ได้จากการต่อออกลำโพงอยู่ในระดับมาตรฐาน
Battery and Heat
ในส่วนของแบตเตอรี่นั้นมีเป็นแบบ Li-ion ขนาด 6 เซลล์ เมื่อทดลองโดยการใช้งานแบบปกติ คือ เล่นอินเทอร์เน็ต พิมพ์งานไปด้วย เปิดเพลงฟัง ใช้ความสว่างหน้าจอ 50% ความดังเสียง 50% โดยใช้จนแบตเตอรี่เหลือประมาณ 5% พบว่าสามารถใช้งานได้ประมาณ 3 ชั่วโมง 30 นาที ส่วนเวลาในการชาร์จใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงกว่าๆ สำหรับการชาร์จ 1 - 95%
ส่วนการดูภาพยนตร์ผ่านไฟล์ระดับแผ่น DVD ทั่วไป โดยเปิดความสว่างหน้าจอสูงสุด 100% ความดังเสียงสูงสุด 100% โดยใช้จนแบตเตอรี่เหลือประมาณ 6% ปรากฏว่าสามารถใช้งานได้ประมาณ 2 ชั่วโมง 54 นาที
มาดูกันในส่วนของความร้อนถ้าใช้งานปกติความร้อนของเครื่องจะอยู่ประมาณ 55 - 58 องศาเซลเซียส ส่วนความร้อนของฮาร์ดดิสก์อยู่ที่ประมาณ 46 องศาเซลเซียส
เมื่อลองรันซีพียู 100% ให้เครื่องทำงานเต็มประสิทธิภาพเป็นเวลานาน 1 ชั่วโมง ปรากฏผลอุณหภูมิดังนี้ ความร้อนของเครื่อง 64 องศาเซลเซียส ส่วนความร้อนฮาร์ดดิสก์อยู่ที่ 44 องศาเซลเซียส จะเห็นได้ว่าค่าตัวเลขที่ออกมานั้นไม่ค่อยสูงมาก ซึงแสดงให้เห็นว่าระบบระบายความร้อนของเครื่องรุ่นนี้ทำได้ค่อนข้างดี โดยที่เครื่องรุ่นนี้มีพัดลมระบายอากาศค่อนข้างใหญ่อยู่ด้านข้างของเครื่อง
สำหรับ Rate จากวินโดวส์ วิสต้าแสดงผลตามรูปเลยครับ
บทสรุป
สำหรับมินิโน้ต หรือเน็ตบุ๊กรุ่นนี้ ยังคงเน้นที่รูปลักษณ์การดีไซน์ตามคอนเซปต์ของเกตเวย์ ทว่ารุ่นนี้ไม่ได้เน้นแค่เปลือกนอกเท่านั้น การใช้งานก็สามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี ทั้งเรื่องของแป้นพิมพ์ที่มีขนาดใหญ่เหมือนกับแป้นพิมพ์โน้ตบุ๊กทั่วๆไป ซึ่งจุดนี้ถือว่าเป็นจุดสำคัญที่จะเป็นตัวตัดสินใจของผู้ใช้งาน พอร์ตการเชื่อมต่อยูเอสบีที่ให้มาใช้งานกำลังดี รวมถึงแบตฯที่ให้มาก็สามารถใช้งานได้ค่อนข้างนานทีเดียว ทำให้ไม่ต้องกังวลเมื่อพกพาไปยังสถานที่ต่างๆ
จุดเด่นอีกอย่างของมินิโน้ตรุ่นนี้ คือ ระบบระบายความร้อนของเครื่อง โดยมีพัดลมช่วยเป่าระบายออกทางด้านข้างของเครื่อง ซึ่งยังไม่นับรวมช่องระบายความร้อนใต้เครื่องอีกหลายแห่ง จุดนี้ทำให้ส่งผลถึงประสิทธิภาพการใช้งานที่ทำให้ใช้งานค่อนข้างลื่นไหล ไม่ว่าจะใช้งานผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม ส่วนฟีเจอร์ที่ใส่มาให้ใช้ในรุ่นนี้คล้ายๆกับรุ่น "Gateway NV4806t/X002" ที่เคยรีวิวไปก่อนหน้านี้แล้ว ประกอบไปด้วย Gateway GAMES, Gateway Recovery Management และGateway Backup
ในด้านของราคาและความคุ้มค่านั้น ต้องบอกว่าเป็นอีกรุ่นที่น่าใช้อยู่ไม่น้อยถึงแม้ราคาจะเปิดตัวมาสูงไปนิด คือ ราคายู่ที่ประมาณ 19,900 บาท แต่อย่างที่บอกตั้งแต่ช่วงแรกว่ารุ่นนี้จัดเป็นมินิโน้ตระดับพรีเมียม ซึ่งราคาที่เปิดมานั้นก็ไม่ได้น่าเกลียดเท่าไร เพราะนอกจากจะได้เพียงแค่ดีไซน์แฟชันแล้ว กลับได้เรื่องของประสิทธิภาพการใช้งานที่ทำได้ค่อนข้างคุ้มค่าเลยทีเดียว
ขอชม
- ระบบระบายความร้อนทำได้ค่อนข้างดี
- ปุ่มคีย์บอร์ดมีขนาดใหญ่เท่ากับขนาดมาตรฐานทั่วไป
- หน้าจอขนาด 11.6 นิ้ว ค่อนข้างใหญ่ดูได้สบายตาดี
ขอติ
- ความมันวาวของฝาเครื่องยังคงก่อให้เกิดคราบนิ้วมือได้ง่าย
- บานพับของข้อต่อถึงแม้ว่าจะสามารถล็อกหน้าจอได้ดี แต่ก็มีขนาดเล็กจนน่าเป็นห่วง
- กล้องเว็บแคมด้านหน้าให้ความละเอียดแต่ VGA
สำหรับราคาเปิดตัวของ Gateway LT3106t อยู่ที่ 19,900 บาท
Company Relate Link :
Gateway