หลังจากได้ชมเน็ตบุ๊กของซัมซุงที่เข้ามาทำตลาดเป็นรุ่นแรกในประเทศไทยอย่าง "NC10" ไปกันแล้ว มาคราวนี้ทีมงานขอนำเน็ตบุ๊กอีกรุ่นหนึ่งภายใต้ชื่อรุ่น "Samsung N310" มาแนะนำให้เหล่าสาวกได้รู้จักกัน ซึ่งจุดเด่นของรุ่นนี้อยู่ที่การออกแบบที่ชวนสะดุดตา ขนาดตัวเครื่องเล็กกะทัดรัดน้ำหนักเบา เหมาะให้ผู้ใช้งานพกพาใส่กระเป๋าถือไปยังที่ต่างๆได้สะดวกมากขึ้น ส่วนประสิทธิภาพการทำงานถือว่าทำได้ไม่น้อยหน้าท็อปทรีตลาดเน็ตบุ๊กในบ้านเราแม้แต่น้อย
Design of Samsung N310
"Samsung N310" แค่เห็นรูปร่างหน้าตาครั้งแรกเป็นต้องเหลียวมองกัน ด้วยการออกแบบที่ใช้รูปทรง-สีสันแปลกตาไม่เหมือนใคร ซึ่งคนอออกแบบเป็นชาวญี่ปุ่นชื่อ "Naoto Fukasawa" ได้ให้เหตุผลกับการออกแบบว่า ต้องการสื่อถึงความอบอุ่นยามสัมผัส และแสดงถึงไลฟ์สไตล์ที่มีเอกลักษณ์ด้วยอิมเมจที่สบายๆเป็นกันเอง โดยตัวเครื่องมีขนาดรอบตัวอยู่ที่ 262 x 184.5 x 28 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 1.23 กิโลกรัม(รวมแบตฯ 4 เซลล์) สำหรับสีรุ่นที่กำลังรีวิวให้ชมอยู่นี้เป็นสีฟ้าอ่อน ส่วนที่วางจำหน่ายมีให้เลือก 2 สี คือ สีฟ้า กับสีแดง
เริ่มจาก ด้านหน้าฝาหลัง ลักษณะของพื้นผิวทางด้านนี้เป็นพลาสติกหุ้มตลอดทั้งฝาหน้า รวมถึงตัวเครื่องด้านนอกทั้งหมดด้วย ถ้ามองโดยผิวเผินหลายคนจะนึกว่ารุ่นนี้ถูกห่อหุ้มด้วยยางสังเคราะห์ ซึ่งสามารถป้องกันรอยขีดข่วนได้เป็นอย่างดี และยังสามารถลดแรงกระแทกได้บ้างเล็กน้อย ตรงกลางมีชื่อแบรนด์ "SAMSUNG" ปั๊มลายนูนวางลอยเด่นเห็นได้ชัด
เมื่อเปิดหน้าจอขึ้นมาไล่จากบนสุดบริเวณกึ่งกลางค่อนไปทางขวา จะพบกับเลนส์กล้องเว็บแคมความละเอียด 1.3 ล้านพิกเซล ถัดเยื้องมาทางซ้ายจะพบช่องไมโครโฟนภายใน ถัดลงมาเป็นส่วนของหน้าจอ LED WSVGA ขนาด 10.1 นิ้ว ให้ความละเอียดสูงสุด 1024x600 พิกเซล แสดงผลแบบไวด์สกรีนในอัตราส่วน 16:9 ซึ่งเป็นหน้าจอเป็นกระจกคลุมทั้งหมดของส่วนนี้ จุดเด่นจอของรุ่นนี้คือให้ความคมชัด ประหยัดพลังงาน และป้องกันรอยขีดข่วนได้ แต่ถ้าเจอแสงก็สะท้อนจนมองได้ยากเหมือนกัน ใต้จอตรงกึ่งกลางมีชื่อแบรนด์"SAMSUNG" สีเงินวางพาดอยู่
ส่วนของข้อพับมีลักษณะเป็นตัวยึดติดเข้ากับเครื่องทั้งด้านซ้ายและขวา ซึ่งตัวยึดมีขนาดค่อนข้างเล็กพอสมควร แต่เมื่อลองขยับเปิด-ปิดหน้าจอพบว่าดูแน่นหนา สามารถล็อกจับหน้าจอไม่ให้ไหลปิดลงมาได้ จุดนี้ถือว่าสอบผ่าน และเมื่อลองกางจอออกจนสุดพบว่าสามารถกางได้ประมาณ 135 องศา
ถัดลงมาดูที่ตัวเครื่องสีของบริเวณนี้ถูกฉาบไปด้วยสีดำด้านทั้งหมด ไล่จากส่วนบนสุดไม่มีปุ่มฟังก์ชันคีย์ลัดใดๆ มีเพียงช่องลำโพงแบบสเตอริโอวางแทรกระหว่างข้อต่อของเครื่อง และปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง พร้อมสัญลักษณ์และไฟแสดงสถาานะเปิด-ปิดสีน้ำเงินอยู่ตรงมุมเครื่องฝั่งขวาสุดเท่านั้น
ตัวคีย์บอร์ดของ N310 ถือว่ามีขนาดใหญ่ปุ่มถูกออกแบบให้แยกอิสระต่อกัน นอกจากนี้ยังเป็นคีย์บอร์ดปลอดเชื้อเพื่อสุขภาพ(Silver Nano)ในตัวด้วย โดยปุ่มกดเป็นสีดำสกรีนตัวอักษรสีขาว พื้นผิวปุ่มมีลักษณะด้านออกหยาบนิดๆ การวางปุ่มอักขระต่างๆเหมือนคีย์บอร์ดมาตรฐานทั่วไป หลังจากลองสัมผัสคีย์บอร์ดพบว่าปุ่มมีความนุ่ม และด้วยความที่ปุ่มแยกอิสระต่อกัน รวมถึงมีขนาดค่อนข้างใหญ่จึงช่วยให้การพิมพ์ทำได้สะดวกสบาย
***หมายเหตุ เครื่องนี้เป็นเครื่องใช้สำหรับทดสอบ ดังนั้นคีย์บอร์ดที่เห็นจึงยังไม่มีการสกรีนภาษาไทย แต่เครื่องที่วางจำหน่ายจริงมีมาให้พร้อมใช้งานแน่นอน
ด้านล่างใต้คีย์บอร์ดมี "ทัชแพด" อยู่ตรงกึ่งกลาง ลักษณะของทัชแพดมีส่วนเว้าบอกให้รู้ว่าเป็นพื้นที่ทัชแพดอย่างชัดเจน ขนาดกำลังพอเหมาะ ถ้าเทียบกับทัชแพดรุ่นก่อนหน้านี้(NC10) ถือว่า "N310" ได้แก้ไขออกมาให้ใหญ่เพื่อใช้งานง่ายขึ้นกว่าเดิม ส่วนปุ่มกดซ้าย-ขวาอยู่ถัดลงมาทางด้านล่าง ซึ่งออกแบบให้เป็นแถบพลาสติกผืนเดียวกัน สีและลักษณะพื้นผิวของส่วนนี้ทั้งหมดถูกออกแบบให้กลืนเป็นแบบเดียวกับตัวเครื่อง
เมื่อละสายตามาทางซ้ายใกล้กันกับปุ่มทัชแพด จะพบกับไฟแสดงสถานะการใช้งานต่างๆไล่จากขวาไปซ้าย ประกอบไปด้วย ไฟแสดงสถานะการเปิดใช้งานเครื่อง, ไฟแสดงสถานะการชาร์ตแบตฯ, ไฟแสดงสถานะการใช้งานไวเลสแลน, ไฟแสดงสถานะการอ่านของฮาร์ดดิสก์, ไฟแสดงสถานะเมื่อกดใช้ 'Scroll Lock', 'Caps Lock' และ'Numlock'(ตามลำดับ) ซึ่งทั้งหมดจะแสดงเป็นไฟสีน้ำเงิน
เมื่อพลิกดูใต้เครื่องจะพบช่องใส่แบตเตอรี่ขนาด 4 เซลล์ อยู่ด้านบนสุด ส่วนทางด้านล่างปิดมิดชิดไปกับตัวเครื่องทั้งหมด โดยมีช่องระบายอากาศอยู่ใต้ล่างแบตฯ และช่องสำหรับเปลี่ยนแรมแทรกอยู่ทางด้านล่างของเครื่อง พื้นผิวมีลักษณะเช่นเดียวกับทางฝาทางด้านหน้า
Input and Output Ports
เริ่มจากด้านซ้าย ไล่จากริมในสุดฝั่งซ้าย ประกอบไปด้วย ช่องสำหรับล็อกโน้ตบุ๊ก(Kensington Lock), พอร์ตยูเอสบี 1 พอร์ต, ช่องเสียบสายแลนมีฝาหุ้มปิดอย่างมิดชิด, พัดลมระบายความร้อนค่อนข้างใหญ่พอสมควร, ช่องเสียบไมโครโฟนและช่องเสียบหูฟัง(ตามลำดับ)
ทางด้านขวาเริ่มจากริมในฝั่งขวา ประกอบไปด้วย ช่องเสียบสายชาร์จ, พอร์ต VGA Out มียางหุ้มปิดอยู่ (ข้อควรระวังถอดแล้วอย่าลืมใส่กลับที่เดิม) และพอร์ตยูเอสบีอีก 2 พอร์ต
ส่วนด้านหน้ามีเพียงช่องอ่านการ์ดรีดเดอร์ (รองรับ SD, MMC) อยู่ทางด้านมุมฝั่งซ้ายสุดเท่านั้น
ด้านหลังไม่มีช่องต่อใดๆทางด้านนี้
สำหรับการเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สายจะมีทั้งไวเลส ที่รองรับมาตรฐาน 802.11b/g และบลูทูธ 2.1+EDR
สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพจะอยู่ในหน้าถัดไปนะครับ
Performance And Benchmark
คราวนี้มาดูประสิทธิภาพของ "Samsung N310" กันบ้าง หลังจากทำความรู้จักรูปลักษณ์ภายนอกไปกันแบบหมดเปลือกแล้ว ซึ่งประสิทธิภาพโดยรวมยังคงไม่แตกต่างจากมินิโน้ต หรือเน็ตบุ๊กตัวอื่นๆในท้องตลาดมากนัก มีทั้งส่วนที่เด่นกว่าและอ่อนกว่าคละเคล้ากันไป ลองไปไล่ดูทีละสเต็ปตามสไตล์การรีวิวพร้อมกันเลยว่าผลลัพธ์แท้จริงแล้วออกมาเป็นอย่างไรกันนบ้าง
***หมายเหตุ สำหรับการทดสอบในครั้งนี้ ทีมงานลองผ่านระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 7 ซึ่งจะเข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในอนาคตอันใกล้นี้ ส่วนที่มาพร้อมกับเครื่องจะเป็นระบบปฏิบัติการวินโดวส์ XP
เริ่มจากประสิทธิภาพของซีพียู โดยใช้โปรแกรม CPU-Z ในการตรวจสอบพบว่า Samsung N310 ใช้ซีพียู Intel Atom N270 @ 1.6GHz ที่ใช้เทคโนโลยี 45 นาโนเมตร, คอร์สปีดสูงสุดอยู่ที่ 1596.2MHz ส่วน FSB อยู่ที่ 532.1MHz, L1 D-Cache 24KB, L1 I-Cache 32KB และ L2 Cache ขนาด 512KB
ด้านเมนบอร์ดเป็นของที่ทาง Samsung ผลิตเอง โดยเลือกใช้ชิปเซ็ต Intel i945GSE (ICH7-M/U) ในส่วนของหน่วยความจำใส่ให้มาเป็นแบบ DDR2 Bus 800MHz ขนาด 1024 MB ขนาด 1GB จำนวนแถวเดียว
สำหรับการทดสอบคะแนนผ่านโปรแกรม PCMark05 ผลคะแนนรวมไม่สามารถคำนวณได้ เนื่องจากกราฟิกสกอร์ไม่มีคะแนน ซึ่งถ้าดูเฉพาะคะแนนของซีพียู จะอยู่ที่ 1407 คะแนน ถือว่าอยู่ในระดับปกติของซีพียูอย่าง Atom
ด้านหน่วยประมวลผลภาพหรือการ์ดจอ โดยดูจากโปรแกรม GPU-Z พบว่าใช้การ์ดจอออนบอร์ด i945GME ที่มีหน่วยความจำขนาด 8MB แน่นอนว่าถ้าใช้งานจริงจะไปดึงหน่วยความจำหลักมาช่วยในการประมวลผลด้วย
เมื่อทดสอบจากโปรแกรม 3DMark06 ที่ความละเอียด 1024 x 600 ผลออกมาอยู่ที่ 148 ซึ่งค่าที่ได้ถือว่าสูงกว่าระดับเน็ตบุ๊กทั่วไป ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้งานโปรแกรมปรับแต่งภาพอย่างโฟโต้ชอปได้ แต่ไม่ถึงกับลื่นไหลรวดเร็วทันใจสั่ง ทดลองเล่นไฟล์วิดีโอความละเอียด 720p สามารถเล่นได้ปกติ แต่ยังไม่สามารถเล่นไฟล์ที่ความละเอียด 1080p ได้เหมือนเดิม
มาดูกันที่อัตราการเข้าถึงข้อมูลกันบ้าง ซึ่งฮาร์ดดิสก์ที่ให้มาใช้ของ SAMSUG เอง ขนาด 160GB ความเร็วสูงสุดในการอ่านข้อมูลอยู่ที่ 65.7 MB/s ส่วนอัตราการเข้าถึงข้อมูลอยู่ที่ประมาณ 21.0 ms ถ้าดูค่าตัวเลขที่ปรากฏถือว่าเป็นอัตราการเข้าถึงข้อมูลที่ค่อนข้างช้า แต่หลังการใช้งานถือว่าค่อนข้างไวเลยทีเดียวสำหรับฮาร์ดดิสก์ตัวนี้
ด้านการเชื่อมต่อผ่านไวเลสนั้น ใช้การ์ดไวเลสจาก Atheros AR5007EG ที่รองรับมาตรฐาน 802.11 b/g เมื่อทดสอบการใช้งานโดยการเชื่อมต่อห่างจาก Access Point ระยะประมาณ 10 เมตร พบว่า การจับสัญญาณอยู่ในเกณฑ์ดี คือ กราฟแสดงสัญญาณ 100% ไม่มีสัญญาณแกว่งให้เห็น
Speaker
สำหรับลำโพงภายในตัวเครื่องที่ให้มานั้นเป็นลำโพงแบบสเตอริโอ ซึ่งช่องระบายเสียงลำโพงถูกออกแบบให้อยู่บริเวณบนตัวเครื่อง หลังการทดลองเปิดฟังภายในห้องขนาดกว้าง 4 x 6 พบว่าเสียงที่ขับออกมาดังกังวาล มีมิติ ส่วนใหญ่จะออกโทนแหลมสูง เสียงทุ่มมีบ้างประปรายแต่ไม่ถึงกับเด่นมาก ลำโพงแยกเสียงซ้าย-ขวาได้ชัดเจนดี ส่วนซาวน์การ์ดของรุ่นนี้ใช้ HD Audio
Battery and Heat
ในส่วนของแบตเตอรี่นั้นมีเป็นแบบ Li-ion ขนาด 4 เซลล์ เมื่อทดลองโดยการใช้งานแบบปกติ คือ เล่นอินเทอร์เน็ต พิมพ์งานไปด้วย เปิดเพลงฟัง ใช้ความสว่างหน้าจอ 50% ความดังเสียง 50% โดยใช้จนแบตเตอรี่เหลือประมาณ 5% พบว่าสามารถใช้งานได้ประมาณ 2 ชั่วโมง 20 นาที ส่วนเวลาในการชาร์จใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงกว่าๆ สำหรับการชาร์จ 1 - 95%
ส่วนการดูภาพยนตร์ผ่านไฟล์ระดับแผ่น DVD ทั่วไป โดยเปิดความสว่างหน้าจอสูงสุด 100% ความดังเสียงสูงสุด 100% โดยใช้จนแบตเตอรี่เหลือประมาณ 6% ปรากฏว่าสามารถใช้งานได้ประมาณ 2 ชั่วโมง
มาดูกันในส่วนของความร้อนถ้าใช้งานปกติความร้อนของเครื่องจะอยู่ประมาณ 56 - 60 องศาเซลเซียส ความร้อนซีพียูอยู่ที่ประมาณ 74-78 องศาเซลเซียส และความร้อนของฮาร์ดดิสก์อยู่ที่ประมาณ 40-41 องศาเซลเซียส
เมื่อลองรันซีพียู 100% ให้เครื่องทำงานเต็มประสิทธิภาพเป็นเวลานาน 1 ชั่วโมง ปรากฏผลอุณหภูมิดังนี้ ความร้อนของเครื่อง 74 องศาเซลเซียส ความร้อนซีพียูอยู่ที่ประมาณ 93 องศาเซลเซียส และความร้อนฮาร์ดดิสก์อยู่ที่ 39 องศาเซลเซียส จะเห็นได้ว่าค่าตัวเลขที่ออกมานั้นไม่ค่อยสูงมาก ซึงแสดงให้เห็นว่าระบบระบายความร้อนของเครื่องรุ่นนี้ทำได้ค่อนข้างดี โดยมีช่องพัดลมระบายอากาศขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่อยู่ด้านข้างของเครื่องเป็นผู้ช่วยสำคัญ
บทสรุป
จะว่าไปแล้วเน็ตบุ๊กในตลาด ณ ขณะนี้มีเกือบทุกแบรนด์ และมีหลากรุ่นให้ได้เลือกกันจนตาลาย ทำให้ผู้ค้าหันมาปรับเน้นที่รูปลักษณ์ภายนอกแทนบ้าง นอกจากจะต้องมีน้ำหนักเบาพกพาไปไหนสะดวก แป้นพิมพ์ที่วางถนัดมือแล้ว เรื่องดีไซน์ที่เป็นหน้าตาของผู้ใช้งานก็สำคัญไม่น้อย เน็ตบุ๊กของซัมซุงรุ่นนี้จึงออกมาตอบโจทย์ รวมถึงออกมาแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ อย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือเรื่องสีสันสดใสบนฝาหน้า และใช้วัสดุที่ป้องกันรอยขีดข่วน-ลดคราบนิ้วมือไม่ให้เครื่องโทรมเร็วกว่าปกติ
ด้านประสิทธิภาพเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า ไม่ว่าจะแบรนด์ไหนถ้าเป็นเน็ตบุ๊กในยุคนี้แล้ว แทบจะไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก พอร์ตการเชื่อมต่อมีมาให้ใช้อย่างครบครัน และพอต่อการใช้งาน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเน็ตบุ๊กรุ่นนี้ไม่ได้มีแค่หน้าตาสวยงามเท่านั้น ด้านฟังก์ชันการใช้งานยังใส่มาให้ใช้แบบไม่กั๊กเช่นเดียวกัน และใช่ว่าจะไม่มีจุดติเลยเสียเมื่อไร เนื่องจากตัวเครื่องใช้วัสดุทำจากพลาสติกทั้งหมด ทำให้ความแข็งแรง คงทนถูกลดทอนลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงหน้าจอแสดงผลที่ใช้จอแบบ LED ส่งผลให้มองลำบากโดยเฉพาะเมื่อนำไปใช้ในที่โล่งแจ้ง
ขอชม
- ดีไซน์แปลก สามารถป้องกันรอยขีดข่วน และลดแรงกระแทกได้
- ปุ่มคีย์บอร์ดแบบอิสระมีขนาดใหญ่ใช้งานสะดวก
- ระบบระบายความร้อนทำได้ค่อนข้างดี
ขอติ
- หน้าจอแสดงผลมองลำบากยามต้องนำไปใช้ในที่โล่งแจ้ง
- บานพับมีขนาดเล็กจนน่าเป็นห่วง ถึงแม้จะสามารถล็อกหน้าจอได้ดีก็ตาม
- วัสดุตัวเครื่องที่ทำจากพลาสติกทั้งหมดอาจดูไม่ค่อยคงทน แข็งแรง
สำหรับราคาเปิดตัวของ Samsung N310 อยู่ที่ประมาณ 15,900 บาท
Company Relate Link :
Samsung