Latitude 2100 ถูกวางตลาดมาให้จับกลุ่มนักเรียนชั้นประถมในประเทศอย่างสหรัฐฯ เนื่องจากถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการใช้งานที่ไม่ระมัดระวังของเด็กเล็ก รวมไปถึงมีความสามารถพิเศษอย่างคีย์บอร์ดป้องกันแบคทีเรีย ช่วยให้คุณหนูๆทั้งหลายไม่ได้รับเชื้อโรคจากการใช้งาน
แต่เมื่อเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ทางเดลล์ กลับจับไปวางไว้ที่ตลาดนักศึกษามหาวิทยาลัย และโรงเรียนนานาชาติ ที่มีกำลังซื้อสูงแทน เนื่องมาจากในการใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ได้เต็มที่ จำเป็นต้องมีโซลูชันการใช้งานที่ครอบคลุม รวมไปถึงบุคลากรที่มีความสามารถ ดังนั้นจึงยังไม่เหมาะกับนักเรียนระดับประถมในบ้านเรา
Design Of Dell Latitude 2100
ความที่เป็นเน็ตบุ๊กที่ถูกหุ้มด้วยยางสังเคราะห์ทำให้สามารถรองรับแรงกระแทกได้ จากการทำตกในความสูงไม่มากนัก ซึ่งด้วยความที่เป็นยาง ยังช่วยให้ผู้ใช้งานจับถือได้กระชับมือ ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นปกสมุดจด ตัวเครื่องมีขนาด 265 x 187 x 22.5-39.9 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 1.3 กิโลกรัม มีวางจำหน่ายด้วยกันทั้งหมด 5 สีคือ แดง ดำ น้ำเงิน เขียว และเหลือง
ภายนอกมีสัญลักษณ์ "DELL" ติดอยู่ตรงกลางริมฝั่งซ้าย ส่วนด้านบนมีแถบไฟแสดงสถานะการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้อาจารย์ผู้สอน สามารถตรวจสอบได้ว่านักเรียนคนใดกำลังใช้อินเทอร์เน็ตขณะกำลังทำการเรียนการสอนหรือไม่ ซึ่งเมื่อทดลองใช้พบว่าการแสดงสถานะดังกล่าว ไฟจะติดเมื่อมีการเปิดใช้งานไวเลส และเมื่อปิดการใช้งานไฟก็จะดับ
เปิดขึ้นมาจะพบกับหน้าจอทัชสกรีนขนาด 10.1 นิ้ว ความละเอียด WSVGA (1024 x 576 พิกเซล) ด้านบนหน้าจอมีกล้องเว็บแคม ซ้าย-ขวา เป็นที่อยู่ของลำโพงสเตอริโอ ด้านล่างมีสัญลักษณ์ "DELL" ติดอยู่ตามปกติ สำหรับพื้นผิวบริเวณตัวเครื่องด้านใน ยังคงเป็นพลาสติกผสมคุณภาพสูง เช่นเดียวกันกับเน็ตบุ๊กทั่วๆไป
ส่วนของข้อต่อมีการยึดอยู่บริเวณมุมซ้าย-ขวา เท่านั้น ความแข็งแรงอยู่ในระดับปกติ ถัดลงมาในส่วนของแถบควบคุม ทางฝั่งซ้ายเป็นแถบควมคุมระดับเสียง มีปุ่มลดเสียง เพิ่มเสียง และปิดเสียงให้กดใช้งาน ส่วนทางฝั่งขวาเป็นแถบแสดงสถานะการทำงานของเครื่อง และปุ่มเปิดเครื่อง ไฟแสดงสัญลักษณ์ทั้งหลายจะเป็นไฟสีน้ำเงิน
ถัดลงมาในส่วนของคีย์บอร์ด บริเวณส่วนของปุ่มกดตัวอักษรทั้งหมดมีขนาดใหญ่ตามปกติ เพียงแต่ปุ่มพิเศษอย่างแถวบนทั้งหมด รวมไปถึงปุ่ม Ctrl Alt PageUp PageDown และปุ่มลูกศร ที่ถูกย่อขนาดให้เล็กลง ในเรื่องของการใช้งานการรับสัมผัสทำงานถือว่าทำได้ตามมาตรฐาน ปุ่มไม่แข็งจนเกินไป ส่วนทัชแพด ทำจากพลาสติกเช่นเดียวกับตัวเครื่องด้านใน รวมไปถึงปุ่มคลิกเมาส์ซ้าย-ขวาด้วย
โดยจุดเด่นของเครื่องรุ่นนี้อย่างที่บอกคือ ที่คีย์บอร์ดจะมีสารป้องกันแบคทีเรียเคลือบอยู่ ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าเด็กๆ จะได้รับเชื้อแบคทีเรียจากคีย์บอร์ด แต่อย่างไรก็ตาม ความสามารถนี้ถือเป็นความสามารถเสริมที่ต้องระบุในการสั่งเครื่องว่าจะให้มีหรือไม่มีก็ได้
ใต้เครื่องไม่มีช่องให้ผู้ใช้งานสามารถเพิ่มหรือเปลี่ยนอุปกรณ์ภายในได้ด้วยตนเอง เนื่องจากถูกหุ้มด้วยยางสังเคราะห์เช่นเดียวกัน โดยตรงกลางเครื่องจะมีสัญลักษณ์ DELL ที่เป็นยางนูนขึ้นมา
Input and Output Ports
ด้านซ้าย ไล่จากริมในสุดประกอบไปด้วยพอร์ต VGA Out ช่องระบายอากาศ พอร์ตยูเอสบี 1 พอร์ต ช่องเสียบไมโครโฟสและหูฟัง
ด้านขวา จากริมในเช่นเดียวกันประกอบไปด้วยช่องล็อกโน้ตบุ๊กจาก Kensington ช่องเสียบสายแลน พอร์ตยูเอสบีอีก 2 พอร์ต
นอกจากนี้หากสังเกตดีๆ บริเวณมุมเครื่องด้านในทั้ง 2 ฝั่งจะมีช่องสำหรับร้อยสายคล้องเครื่องทำให้ สามารถนำสายคล้องมาล็อกไว้ทั้ง 2 ฝั่ง ให้นักเรียนได้ใช้สะพายแทนกระเป๋าเป็นต้น
ด้านหน้ามีไฟแสดงสถานะการทำงานของเครื่องเช่น เปิดใช้งาน การทำงานของซีพียู การเตือนแบตเตอรี่ และเปิดใช้งานไวเลสอยู่ริมซ้าย แล้วริมขวาจะมีการ์ดรีดเดอร์ ส่วนด้านหลังเป็นที่อยู่ของแบตเตอรี่่สามารถเลือกได้เช่นกันว่าให้เป็นแบบ 3 เซลล์ หรือ 6 เซลล์
สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพจะอยู่ในหน้าถัดไป
Performance And Benchmark
ส่วนของประสิทธิภาพยังคงไม่ทิ้งควาเมป็นเน็ตบุ๊ก คือใช้ซีพียูอินเทล อะตอม เช่นเดิม มีความพิเศษเพิ่มเข้ามาตรงหน้าจอเป็นแบบทัชสกรีน และเมื่อใช้งานแบตเตอรี่ 6 เซลล์ สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องมากกว่า 5 ชั่วโมงด้วยกัน
เมื่อทดสอบผ่านโปรแกรม CPU-Z พบว่าใช้ซีพียู Intel Atom N270 @ 1.6GHz ที่ใช้เทคโนโลยี 45 นาโนเมตร, คอร์สปีดสูงสุดอยู่ที่ 1599MHz ส่วน FSB อยู่ที่ 530.8MHz, L1 D-Cache 24KB, L1 I-Cache 32KB และ L2 Cache ขนาด 512KB
ด้านเมนบอร์ดที่ใช้เป็นชิปเซ็ต Intel i945GSE (ICH7-M/U) ที่ผลิตจากโรงงานของเดลล์เอง ส่วนหน่วยความจำที่ให้มาเป็นแบบ DDR2 Bus 800MHz ขนาด 1024MB 2 ช่อง รวมเป็น 2GB
เมื่อทดสอบผ่านโปรแกรม PCMark05 คะแนนออกมาอยู่ที่ 1362 ถือว่าอยู่ในระดับปกติของมาตรฐานเน็ตบุ๊กทั่วๆไป สามารถใช้งานทั่วไปที่เหมาะกับนักเรียน-นักศึกษาได้เป็นอย่างดี (ไม่รวมเล่นเกม)
สำหรับหน่วยประมวลผลภาพทีใช้ตรวจสอบจาก GPU-Z พบว่าเป็นการ์ดจอออนบอร์ด i945GME ที่มีหน่วยความจำขนาด 8MB แน่นอนว่าถ้าใช้งานจริงจะไปดึงหน่วยความจำหลักมาช่วยในการประมวลผลด้วย
ทดสอบกราฟิกการ์ดผ่าน 3DMark06 ที่ความละเอียดหน้าจอ 1152 x 864 พิกเซล คะแนนออกมาอยู่ที่ 128 คะแนน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับทั่วไปของเน็ตบุ๊กเช่นเดียวกัน ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้งานโปรแกรมปรับแต่งภาพอย่างโฟโต้ชอปได้ แต่อย่าหวังว่าเครื่องจะตอบสนองการทำงานได้รวดเร็วเกินไป เพราะอย่างไรก็ตามยังคงเป็นเพียงแค่เน็ตบุ๊ก ทดลองเล่นไฟล์วิดีโอความละเอียด 720p สามารถเล่นได้ปกติ แต่ยังไม่สามารถเล่นไฟล์ที่ความละเอียด 1080p ได้เหมือนเดิม
ส่วนอัตราการเข้าถึงข้อมูลกันบ้าง ซึ่งฮาร์ดดิสก์ที่ให้มาใช้ของ WDC ขนาด 160GB ความเร็วสูงสุดในการอ่านข้อมูลอยู่ที่ 67.7 MB/s ส่วนอัตราการเข้าถึงข้อมูลอยู่ที่ประมาณ 17.7 ms ถือว่าช้ากว่าปกติเล็กน้อย
ด้านการเชื่อมต่อผ่านไวเลส ใช้การ์ดไวเลสจาก Intel WiFi Link 5100 AGN ที่รองรับมาตรฐาน 802.11 a/b/g/n เมื่อทดสอบการใช้งานโดยการเชื่อมต่อห่างจาก Access Point ระยะประมาณ 10 เมตร พบว่า การจับสัญญาณอยู่ในเกณฑ์ดี คือ กราฟแสดงสัญญาณ 100% ไม่มีสัญญาณแกว่งให้เห็น
Speaker
ในส่วนของลำโพงนั้น จะอยู่บริเวณซ้าย-ขวาของหน้าจอ ทำให้มิติของเสียงพุ่งเข้าหาผู้ใช้งานโดยตรง แต่ในเรื่องของคุณภาพนั้น ไม่ได้ถึงกับดีมาก ให้เสียงดังกังวาลพอสมควรแยกซ้าย-ขวาชัดเจนดี ส่วนซาวน์การ์ดยอดนิยมอย่าง Realtek HD ยังคงถูกนำมาใช้ในเครื่องรุ่นนี้อยู่เช่นเดียวกัน
Battery and Heat
แบตเตอรี่ที่ใช้เป็น Lithium-Ion แบบ 6 เซลล์ 4760 mAh ทดลองเปิดใช้งานทั่วๆไป เล่นอินเทอร์เน็ต พิมพ์เอกสาร ฟังเพลง เปิดความสว่างหน้าจอ 50% เสียงดัง 50% ใช้ได้ประมาณ 4 ชั่วโมงครึ่ง ดังนั้นถ้าไม่มีการฟังเพลง และเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสามารถใช้งานได้นานกว่า 5 ชั่วโมงแน่นอน
ส่วนกรณีที่ใช้งานเครื่องหนักๆอย่างเปิดภาพยนตร์ดู โดยตั้งค่าความสว่างหน้าจอสูงสุด เปิดเสียงดังสุด สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง สำหรับการชาร์จแบตเตอรี่จาก 5% จนเต็มอยู่ที่เกือบๆ 3 ชั่วโมง
ความร้อนของเครื่องเนื่องจากพื้นผิวถูกหุ้มด้วยยาง ทำให้การระบายความร้อนทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร เมื่อทดลองใช้งานเครื่องหนักๆอย่างต่อเนื่องพบว่าความร้อนของซีพียู ขึ้นไปสูงสุดอยู่ที่ 93 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิของตัวเครื่องสูงสุดอยู่ที่ 71 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้แม้ว่าความร้อนภายในจะมีอุณหภูมิสูง แต่ความร้อนที่ส่งผ่านออกมายังตัวเครื่องด้านนอก กลับไม่ร้อนอย่างที่คิด อาจจะเป็นเพราะยางกลายเป็นฉนวนกันความร้อนได้เป็นอย่างดี ซึ่งตรงจุดนี้เดลล์คงคำนวณมาเป็นอย่างดีว่าจะไม่เป็นอันตรายต่อเด็กแน่นอน
สำหรับ Rate และ Basic Information จากวินโดวส์ วิสต้า แสดงผลตามรูปด้านบนนี้ครับ
บทสรุป
Latitude 2100 ถือว่าเป็นเน็ตบุ๊กรุ่นแรก ที่ถูกวางตัวมาทำตลาดสำหรับนักเรียน-นักศึกษาอย่างจริงจัง ประสิทธิภาพในการทำงานอยู่ในระดับมาตรฐานของเน็ตบุ๊กทั่วไป คือ สามารถใช้งานเอกสาร เล่นอินเทอร์เน็ต เกมออนไลน์เล็กๆน้อยๆ รวมไปถึงใช้งานด้านมัลติมีเดียเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี ทำให้เหมาะกับเด็กที่อยู่ในวัยเรียนรู้เป็นอย่างมาก แต่ทั้งนี้ผู้ปกครองก็ควรที่จะเอาใจใส่ในเรื่องของการใช้งานให้พอเหมาะพอควร ไม่งั้นอาจได้เห็นเด็กใช้งานในด้านที่ไม่เหมาะสมได้
นอกจากตัวเครื่องแล้ว ทางเดลล์ยังได้มีการนำเสนอโซลูชันการใช้งานให้กับโรงเรียน หรือ มหาวิทยาลัย ที่เน้นให้อาจารย์ผู้สอนหันมาใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยนช์สูงสุดในการเรียนการสอน จากแนวคิดการเชื่อมต่อห้องเรียนเข้าสู่ระบบเครือข่าย ให้นักเรียนได้สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ผ่านอินเทอร์เน็ต
ที่สำคัญคือเครื่องในตระกูล Latitude สามารถเพิ่มระยะเวลารับประกันได้สูงสุดถึง 3 ปี เนื่องจากโปรดักต์ไลฟ์ไซเคิล มีระยะเวลายาวนานกว่าผลิตภัณฑ์ในกลุ่มคอนซูเมอร์ ทำให้ผู้ใช้สามารถมั่นใจได้ว่า เครื่องจะไม่มีปัญหาในระยะเวลาอันสั้นแน่นอน
ทั้งนี้ด้วยความที่ผลิตภัณฑ์ของเดลล์นั้นผู้ใช้สามารถที่จะเลือกสเปกได้เองนั้น ทำให้ราคาจำหน่ายของเครื่องรุ่นนี้อยู่ในช่วงราคา 17,900 - 23,900 บาท ตามออปชันพิเศษอย่าง หน้าจอทัชสกรีน คีย์บอร์ดป้องกันแบคทีเรียน ขนาดของแบตเตอรี่ และหน่วยความจุแบบฮาร์ดดิสก์ หรือ SSD นั่นเอง
ขอชม
- ผิวของวัสดุที่เป็นยางช่วยลดรอยขีดข่วนบนพื้นผิว รวมไปถึงกันกระแทกด้วย
- ผู้ใช้สามารถกำหนดสเปกของอุปกรณ์เสริมได้ด้วยตนเอง
- ราคาสูง เมื่อเทียบกับเน็ตบุ๊กทั่วไปในตลาด แต่เทียบกับบริการหลังการขายแล้วถือว่ายอมรับได้
ขอติ
- ดีไซน์เหมาะสำหรับเด็กนักเรียน แต่เดลล์นำมาทำตลาดในกลุ่มนักศึกษาเป็นหลัก
- ขนาดและน้ำหนักมากกว่าเครื่องทั่วไปในตลาดขณะนี้
- ความละเอียดหน้าจอเพียง 1024 x 576 พิกเซล เท่านั้น
Company Relate Link :
DELL