หลังจากทีมงานได้แนะนำ "10 แอปฯดีและฟรีสำหรับแฟนแบล็กเบอรี่โดยเฉพาะ" มาวันนี้ขอร่วมสมัย หันมาแนะนำแอปพลิเคชันดีๆจาก แอนดรอยด์มาร์เก็ต ภายหลังมีผู้เชี่ยวชาญพัฒนารอมให้ HTC Magic สามารถใช้งานบริการจาก GMS ได้แบบเต็มประสิทธิภาพ
แม้ว่าตอนนี้ รอมดังกล่าวจะยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่ในอนาคตหลังจากมีการเปิดตัว HTC Hero แอนดรอยด์รุ่นล่าสุดที่กำลังจะเปิดตัวในช่วงสิ้นเดือนนี้ ทางเอชทีซีได้ประกาศออกมาแล้วว่าผู้ที่ซื้อ HTC Magic สามารถนำเครื่องไปอัปเดตรอมใหม่ในชื่อ "Sense" ได้ที่ศูนย์บริการทันที
ทำให้เครื่องแอนดรอยด์รุ่นเก่าอย่าง Magic สามารถนำมาใช้งานได้ไม่ต่างจาก Hero ที่กำลังจะวางจำหน่ายเร็วๆนี้ พร้อมบริการ GMS จากกูเกิล ที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานแอนดรอดย์โฟนได้อย่างเต็มที่มากขึ้น เริ่มต้นกันจากแอนดรอยด์มาร์เก็ตที่มีแอปพลิเคชันดีๆ ให้ดาวน์โหลดมาใช้ หลายพันแอปพลิเคชัน ที่สำคัญคือกว่า 90% เป็นแอปพลิเคชันฟรีๆ
1.ak notepad จดโน้ตพร้อม เตือน-ส่ง
ความสามารถในการจดโน้ตย่อ อาจจะเป็นความสามารถขั้นพื้นฐานของโทรศัพท์ประเภทสมาร์ทโฟน แต่แอปฯตัวนี้ ดึงจุดเด่นออกมาตรงที่ผู้ใช้งาน สามารถตั้งให้มีการเตือนเพื่อให้ไม่ลืมว่ามีเหตุการณ์อะไรสำคัญกับโน้ตที่จดไว้ รวมถึงยังสามารถส่งโน้ตนี้เข้าอีเมลได้ทันที จากการกดเพียงไม่กี่ครั้ง
ในหน้าจอแรกหลังจากเข้าโปรแกรมมา ผู้ใช้จะเห็นเพียงหน้าว่างๆสีดำๆ เมื่อกดเรียกเมนูขึ้นมาถึงสามารถเลือกได้ว่าจะเพิ่มโน้ต หรือ เข้าสู่หน้าการตั้งค่าต่างๆ เมื่อเข้าสู่หน้าจอโน้ต เท่าที่ลองใช้สามารถใช้ได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ (เครื่องลงซอฟต์แวร์ภาษาไทยแล้ว) ซึ่งในส่วนนี้เมื่อกดเมนูสามารถตั้งหัวเรื่อง ตั้งเวลาเตือน แชร์ ยกเลิกการแก้ไขและลบทิ้ง
ซึ่งในหน้าจอตั้งเวลาเตือน (Remind Me) สามารถเลือกได้ว่าให้เตือนภายใน 5 นาที, 15 นาที, 30 นาที, 1 ชั่วโมง, 1 วัน และสุดท้ายคือตั้งเวลาและวันที่ด้วยตนเอง
ส่วนหน้าจอแชร์ (Share) สามารถเลือกได้ว่าให้ส่งทางไหนบ้างเช่น ผ่าน Gmail ที่ตั้งไว้ในเครื่อง ผ่าน HTC mail (เมลที่ใช้ไม่ว่าจะเป็นเมลบริษัท hotmail yahoo ฯลฯ) ส่งทางข้อความสั้น และสุดท้าย Peep คือส่งขึ้นทวิตเตอร์ (Peep เป็นแอปฯทวิตเตอร์บนแอนดรอยด์) ซึ่งเมลที่ส่งจะมีหน้าตาเหมือนส่งข้อความปกติ
สุดท้ายในหน้าจอตั้งค่าของโปรแกรม ak notepad ผู้ใช้สามารถเข้าไปเปลี่ยนธีมที่ใช้ซึ่งมีให้เลือก 5 แบบด้วยกัน ขนาดตัวอักษร ตั้งให้มีเส้นบรรทัด ทำลิงก์อัตโนมัติ จัดเรียงหัวข้อโน้ต ให้สั่นเมื่อถึงเวลาเตือน เซฟโน้ตไว้ในเมมโมรี่การ์ด เปิดโน้ตจากในเมมโมรี่การ์ด เป็นต้น
2.color flash เปิดไฟหน้าจอ พร้อมเอฟเฟกต์เด็ดๆ
เป็นโปรแกรมที่เปลี่ยนหน้าจอแสดงผลให้เป็นเหมือนไฟส่องสว่างทั่วๆไป ซึ่งแอปฯเหล่านี้สามารถหาใช้งานได้ทั่วๆไป แต่ความสามารถพิเศษที่ทำให้ทีมงานติดใจนำมาเรียกน้ำย่อยคือลูกเล่นต่างๆ ที่มีให้เลือกหลากหลาย ไว้ใช้ในยามจำเป็น ใช้ขณะดูคอนเสิร์ต แกล้งเพื่อนเวลาเมาๆเป็นต้น
โดยในโปรแกรมมีรูปแบบให้เลือกใช้งานด้วยกันทั้งหมด 9 แบบ แน่นอนว่าต้องเริ่มเบสิกสุดๆคือไฟจากหน้าจอ ที่ผู้ใช้สามารถตั้งสี ปรับความสว่างได้ตามใจชอบกันเลยทีเดียว
นอกจากนี้ก็ยังมีลูกเล่นในส่วนของ การเขียนตัวอักษรลงบนหน้าจอ เปิดไฟกระพริบฉุกเฉิน ตัวอักษรกระพริบ ไฟรถตำรวจ ไฟสีรุ่ง ตั้งให้ตัวอักษรเลือนไปมาบนหน้าจอ และสุดท้ายคือลายก้นหอยหมุนๆ ไว้แกล้งคนเมาๆโดยเฉพาะ ซึ่งแน่นอนว่าผู้ใช้สามารถกดเมนูขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนสี และปรับความสว่างได้ตามใจชอบ ถือว่าเป็นโปรแกรมเฮฮา บนโทรศัพท์มือถือก็ว่าได้
3.compass เข็มทิศดิจิตอล
สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่เดียวนี้ไม่ว่าจะเป็น iPhone 3Gs รวมไปถึง HTC Magic+Hero มีฟีเจอร์ใหม่ที่เพิ่มเข้ามาคือเข็มทิศดิจิตอล (Digital Compass) ซึ่งมาช่วยใช้ในการนำทางเป็นหลัก ซึ่งในแอนดรอยด์ก็เหมือนกัน ในต่างประเทศผู้ใช้สามารถใช้งานร่วมกับฟีเจอร์มุมมองถนน (Street View) ภายในกูเกิลแมป ในการกันตามทิศต่างๆได้ทันที
แอปพลิเคชันนี้จึงถือเป็นการนำเอาความสามารถดังกล่าวมาแสดงผลในรูปของเข็มทิศบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งภายในโปรแกรมสามารถเลือกแสดงผลได้ทั้งเป็นแบบเข็มแอนาล็อก และแบบดิจิตอล ซึ่งจะบอกละเอียดเป็นค่าองศากันเลยทีเดียว ถึงอย่างไรแอปฯนี้ คงไม่ใช่แอปฯสำคัญที่เอามาใช้ในเมืองใหญ่ๆก็เป็นได้ อาจจะเอาไว้ใช้เวลาไปเดินในป่า ที่กูเกิลแมปไม่ได้ไปทำแผนที่ไว้ (แต่ทั้งนี้อย่าเอาไปลองแถวๆภูเขาฟูจินะครับ เดี๋ยวจะหลงป่าเอาได้ง่ายๆ :P)
4.FeedR ติดตามข่าวสารผ่าน RSS
โปรแกรมดึงฟีดข่าวจาก RSS อาจจะเป็นแอปฯที่ไม่ค่อยสำคัญสำหรับบางคนที่ไม่ต้องการติดตามข่าวสารตลอดเวลา แต่ผู้ที่ต้องการใช้งานจากข้อมูลเหล่านี้ก็มีจำนวนมากพอที่จะให้เกิดแอปฯอย่างนี้ขึ้นมาบนแอนดรอดย์มาร์เก็ตได้ แม้ว่า FeedR ตัวนี้จะเป็นเดโมเวอร์ชัน แต่ก็สามารถใช้งานได้ดีพอสมควร โดยบางทีขณะใช้งานอยู่จะมีป็อปอัพเด้งขึ้นมารบกวนใจบ้าง ถือว่าหยวนๆกันไปกับแอปฯฟรีๆแบบนี้ละกัน
หน้าจอหลักของ FeedR เริ่มต้นจะมีฟีดที่เกี่ยวกับข่าวเทคโนโลยีมาให้ในตัว ซึ่งถ้าผู้ใช้ไม่ต้องการข่าวจากสำนักข่าวไหนก็สามารถที่จะลบออกไปได้ แน่นอนว่าเมื่อลบได้ก็สามารถเพิ่มได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นผู้ใช้ควรที่จะเปิดขึ้นมากดเมนู Add แล้วก็ใส่ลิงก์ http://www.manager.co.th/RSS/Cyberbiz/Cyberbiz.xml เข้าไปซะ ^^ (สามารถใช้ดึงฟีดจากเว็บอื่นได้ เพียงใช้ URL ของเว็บนั้นๆ)
ในหน้าจอแสดงผล ถ้าเป็นคอนเทนต์ใหม่ จะมีสัญลักษณ์สีเขียวอยู่หน้าคอนเทนต์นั้นๆ เมื่อกดเข้าไป FeedR ก็จะโชว์โปรยของข่าวนั้นๆ ซึ่งถ้าผู้อ่านสนใจก็สามารถกดค้าง เพื่อที่จะเข้าไปดูข่าวนั้นโดยตรงจากหน้าเว็บได้ทันที หรือถ้าบางเว็บมีการโชว์ฟีดแบบเต็มๆ ก็สามารถเข้าสู่โหมดเต็มหน้าจอเพื่ออ่านได้เช่นกัน นอกจากนี้ถ้าคอนเทนต์ไหนน่าสนใจก็สามารถเลือกเป็น Favorites ไว้ได้เช่นเดียวกัน
สำหรับหน้าจอตั้งค่า มีให้เลือกตั้งรูปแบบการแสดงผล ตั้งเวลาอัปเดตฟีด การแจ้งเตือนเมื่อมีคอนเทนต์ใหม่ๆเข้ามา เลือกที่เก็บฟีดต่างๆ และบันทึกหรือเรียกคืนรายชื่อฟีดทั้งหมดจากในเมมโมรี่การ์ด ซึ่งถ้าผู้ใช้ไม่ต้องการตังฟีดด้วยตนเองก็สามารถให้เพื่อนๆส่งเป็นไฟล์เพื่อนำเข้ามาใช้ได้
**คำเตือน** การใช้งาน FeedR จำเป็นต้องใช้งานการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ดังนั้นควรระวังค่าใช้จ่ายในเรื่องดังกล่าวด้วย
5.imeem ฟัง-ค้นหา เพลงง่ายๆ
เว็บไซต์เพลงออนไลน์อย่าง imeem.com น่าจะเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นเว็บที่มีเพลงให้ค้นหาและฟังออนไลน์กันมากมาย แน่นอนว่าผู้ชอบฟังเพลงที่มี iPhone หรือ iPod Touch คงจะมีแอปพลิเคชันตัวนี้ติดอยู่ในเครื่องกันอยู่แล้ว ดังนั้นผู้ที่ชื่นชอบฟังเพลงบนแอนดรอยด์ก็คงต้องมีติดเครื่องไว้ฟังเพลงเวลาว่างๆเช่นกัน
การเข้าใช้งานผู้ใช้ที่มีรหัสอยู่แล้วสามารถล็อกอินเข้าใช้งานได้ทันที แต่ผู้ที่ยังไม่มีก็สามารถกดสมัครในหน้าจอแอปพลิเคชันได้ทันทีเช่นเดียวกัน เมื่อล็อกอินเรียบร้อยแล้วก็จะพบกับ 4 แถบสำคัญด้านบน แบ่งเป็น Feature ที่แบ่งประเภทเพลงให้กดเลือกฟังกันอย่างจุใจ MyMusic คือเพลงที่มีอยู่ในเครื่อง สามารถใช้คำสั่งค้นหาได้ ส่วนของ Favorites ก็จะเป็นการบันทึกศิลปินหรือเพลงที่ชอบไว้
ในส่วนของหน้าค้นหา ผู้ใช้สามารถเลือกที่จะป้อนค่าได้ทั้งชื่อศิลปิน ชื่อเพลง ชื่ออัลบั้ม ซึ่งเมื่อค้นหาเจอแล้วเลือกก็จะเป็นหน้าจอเครื่องเล่นเพลงตามปกติทั่วไป โดยผู้ใช้สามารถกดข้ามไปเพลงถัดไปได้ แน่นอนว่าเมื่อฟังเพลงแล้วชอบ หรืออยากส่งให้เพื่อนฟัง สามารถกรอกอีเมลและแนบข้อความสั้นๆส่งให้เพื่อนได้ทันที
**คำเตือน** การใช้งาน imeem จำเป็นต้องใช้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในการสตรีมเพลงมาฟังในเครื่อง ดังนั้น แอปฯนี้จะไม่มีประโยชน์เลยถ้าอินเทอร์เน็ตไม่เร็วพอ
6.locale จัดโปรไฟล์อัตโนมัติตามต้องการ
แอปพลิเคชันนี้ ถือว่าเป็นการนำ GPS ของมาประยุกต์ใช้งานในด้านอื่นๆนอกจากใช้ในการนำทาง แน่นอนว่าการตั้งโปรไฟล์ ให้เหมาะสมกับแต่ละสถานที่ ถ้ามองในเรื่องของการใช้งานก็จะช่วยในการประหยัดแบตเตอรี่ รวมไปถึงช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆนั่นเอง
เมื่อเปิดแอปฯขึ้นมาจะพบกับหน้าจอ สถานการณ์ (Situations) ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่า ให้เปิดใช้สถานการณ์ใดบ้าง ถ้าไม่ต้องการใช้ก็สามารถเลือกปิดได้ ส่วนการเปิด-ปิดแอปฯนี้ ให้กดเมนูแล้วจิ้มเข้าไปที่ Locale Enabled ที่เป็นรูปหลอดไฟ
ส่วนการกำหนดสถานะของแต่ละสถานการณ์นั้น มีให้เลือก 5 รูปแบบด้วยกัน เริ่มกันที่ แบตเตอรี่ ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าถ้า แบตเตอรี่ต่ำกว่าที่กำหนด มากกว่าที่กำหนด ไม่ได้เสียบสายชาร์จ และเสียบสายชาร์จอยู่ ถัดมาคือตามตารางปฏิทิน สามารถกำหนดล่วงหน้าได้
จุดที่น่าสนใจคือการใช้ GPS ในการวางตำแหน่งต่างๆที่ไปเป็นประจำ เช่น ที่บ้าน ที่ทำงาน ฯลฯ โดยใช้การระบุบนแผนที่จากกูเกิลแมป ผู้ใช้สามารถเลือกขนาดความกว้างของแต่ละจุดได้ว่าจะให้ครอบคลุมในพื้นนี้เท่าใด ซึ่งในหน้าจอแผนที่สามารถเลือกให้แสดงเป็นมุมมองดาวเทียมได้ด้วย
หลังจากกำหนดสถานการณ์เสร็จแล้ว หันมากำหนดค่าต่างๆในแต่ละโปรไฟล์กัน โดยมีให้เลือกทั้งหมด 6 ค่า ไล่ตั้งแต่การแสดงผล สามารถเลือกได้ว่าให้ความสว่างหน้าจอเท่าใด หน้าจอดับเมื่อผ่านไประยะเวลาเท่าใด ตามการตั้งค่าปกติของเครื่อง ส่วนในเรื่องของการเชื่อมต่อก็เลือกได้เช่นเดียวกันว่าโปรไฟล์นี้ให้เปิดบลูทูธ หรือ เปิดใช้งานไวไฟ
ตั้งให้มีการแสดงผลเมื่อเข้าไปอยู่ในแต่ละจุดหรือตามสถานการณ์ที่กำหนด ให้แสดงที่แถบด้านบน สั่นเครื่อง หรือเสียงเตือนก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถตั้งเสียงเรียกเข้าแยกเฉพาะแต่ละโปรไฟล์ ตั้งความดังเบาของเสียง และเปลี่ยนรูปภาพพื้นหลัง
แม้ว่าอาจจะใช้เวลาในการตั้งค่านิดหน่อย แต่เมื่อตั้งค่าต่างๆเรียบร้อยแล้วแอปฯนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ใช้อยู่บ้านให้เครื่องเปิดไวไฟต่ออินเทอร์เน็ตไว้ ตั้งความดังเสียงเรียกเข้าให้ดังขึ้น เปลี่ยนรูปพื้นหลังกลับมาเป็นรูปครอบครัว หรือถ้าเป็นที่ทำงานให้ปิดไวไฟ เปลี่ยนระบบเสียงเรียกเข้าเป็นสั่นแทน
**หมายเหตุ** ถ้าตั้งให้เครื่องเปลี่ยนโปรไฟล์ตามสถานที่ๆกำหนด ผู้ใช้จำเป็นต้องเปิดใช้งาน GPS ภายในเครื่องซึ่งอาจจะทำให้ระยะเวลาในการใช้งานน้อยลง (GPS ผลาญแบตฯนั่นเอง)
7.meebo แชทกระจายทุกสายพันธุ์
สำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟนย่อมจำเป็นต้องมีแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ไม่พลาดการติดต่อต่างๆ ไม่ว่าจะสำคัญหรือไม่ก็ตาม Meebo จะช่วยตอบโจทย์ในการออนไลน์โปรแกรมแชตในทุกๆสายพันธุ์ ที่สำคัญคือสามารถออนไลน์ได้พร้อมๆกัน ทำให้ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมานั่งปิด-เปิดเพื่อสลับแอปฯในการใช้งาน
การตั้งค่าง่ายๆ เพียงแค่กด Add เลือกเครือข่ายที่ใช้งานโดยมีให้เลือกตั้งแต่ AIM, Facebook, Google Talk, ICQ, Jabber, Meebo, MSN, MySpace และ Yahoo หลังจากนั้นทำแค่เพียงแค่อีเมลและรหัสเท่านั้นของแต่ละเครือข่ายเท่านั้น
อย่างที่ทีมงานได้ทดลองใช้กับเครือข่ายสังคมออนไลน์ชื่อดังอย่างเฟสบุ๊ก สามารถใช้เพื่อสนทนากับผู้ที่ออนไลน์อยู่ในขณะนั้นได้ทันที ซึ่งในหน้าจอแสดงรายชื่อผู้ติดต่อ ถ้ามีการใส่มากกว่า 1 เครือช่ายก็มีการแบ่งเป็นส่วนๆชัดเจน ในหน้าจอการสนทนาไม่มีอะไรพิเศษ สามารถพิมพ์และใส่อีโมติคอนได้ตามปกติ ส่วนหน้าการตั้งค่ามีเพียงตั้งให้ล็อกอินอัตโนมัติ และการเตือนเมื่อมีข้อความใหม่เข้ามาเช่นให้กระพริบที่แถบเตือน สั่นเครื่อง หรือเล่นเสียงเพลงตามที่ตั้งไว้
8.my track บันทึกการเดินทาง พร้อมส่งให้เพื่อนทันที
เคยมั้ยเวลาเดินทางไปเที่ยว ไปในสถานที่ต่างๆ แล้วให้เพื่อนๆตามมาหา ณ จุดที่เราอยู่ โปรแกรมนี้จะช่วยในการอำนวยความสะดวกดังกล่าว รวมไปถึงสามารถใช้ในการบันทึกการเดินทางของตนเองได้ว่า เดินทางไปทางไหนอย่างไร ใช้เวลาเท่าไหร่ ระยะทางกี่กิโลเมตร
หน้าจอแสดงผล เรียกใช้ว่าใช้แผนที่การนำทางเดียวกับกูเกิลแมปก็ว่าได้ ซึ่งแน่นอนว่ามีโหมดการแสดงผลให้เลือก 2 แบบคือ แผนที่ ดาวเทียม ซึ่งสามารถซูมเข้าออกได้โดยการกดปุ่มแว่นขยายด้านล่าง ส่วนถ้าต้องการเข้าเมนูอื่นๆให้เลือกที่ ... มุมขวาล่างนั่นเอง
ในการใช้งานสถานที่ๆผู้ใช้เริ่มบันทึกจะแสดงด้วยหมุดสีเขียว และมีรอยเส้นทางสีแดงตามทางที่ขับรถไป ซึ่งในการบันทึกการเดินทางจำเป็นต้องเปิดให้เครื่องทำงานตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นเส้นสีแดงจะหายไปเป็นช่วงๆเวลาเครื่องเข้าไปอยู่ในโหมดประหยัดพลังงาน เมื่อไปถึงสถานที่แล้วกดหยุดการบันทึก ก็จะแสดงจุดสุดท้ายเป็นหมุดสีแดงในแผนที่
นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถดูได้ว่า เส้นทางที่เดินทางไปเมื่อสักครู่ ใช้ระยะทางเท่าใด ความเร็วสูงสุด ระยะเวลา ความเร็วเฉลี่ย รับเฉพาะเวลาที่รถเคลื่อน ความเร็วเฉลี่ยนขณะขับขี่ และระดับความสูงจากน้ำทะเล ซึ่งสามารถแสดงผลเป็นกราฟสีเขียวแบบในรูปได้
เมื่อบันทึกเสร็จแล้วผู้ใช้สามารถ เข้าไปใส่รายละเอียดการเดินทาง ส่งเส้นทางเข้าไปในกูเกิลแมป เพื่อที่จะนำลิงก์ไปส่งต่อให้เพื่อนในภายหลัง บันทึกไว้ใน Google Docs หรือเลือกที่จะส่งลิงก์ให้เพื่อนในทันที ส่งเป็นไฟล์นามสกุล GPX/KML ซึ่งสามารถนำไปเปิดกับกูเกิลแมปได้
ทั้งนี้การใช้งานแอปพลิเคชันนี้ อาจจะไม่ค่อยมีความจำเป็นในการใช้งาน แต่ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งการนำความสามารถของ GPS มาประยุกต์ใช้ ให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้แต่ละคน
**คำเตือน** การใช้งาน my track จำเป็นต้องใช้งานการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ดังนั้นควรระวังค่าใช้จ่ายในเรื่องดังกล่าวด้วย
9.Ringdroid ตัดริงโทนง่ายๆแค่ปลายนิ้ว
ใครว่าการตัดเสียงเรียกเข้ามือถือเป็นเรื่องยาก เพียงผู้ใช้โหลดแอปพลิเคชัน Ringdroid มาลงเครื่อง การตัดเสียงเรียกเข้าจะกลายเป็นเรื่องง่ายของคุณในทันที (ต้องมีเพลงที่ต้องการอยู่ในเครื่องด้วยนะครับ)
เมื่อเข้าโปรแกรมมา ผู้ใช้สามารถใช้คำสั่งค้นหาในการหาชื่อเพลงได้ทันที หรือใช้นิ้วเลื่อนๆดูชื่อเพลงตามปกติทั่วไปก็ได้เช่นเดียวกัน เมื่อเลือกเพลงได้แล้วเข้าสู่หน้าจอการตัดเพลง ถ้าสังเกตจากในรูปจะเห็นเป็นกราฟเสียงเพลง แค่ใช้ปลายนิ้วกำหนดจุดเริ่ม และ จุดจบของเสียงเรียกเข้าเท่านั่นเอง โดยสามารถทดลองฟังได้จากการกดปุ่มเล่นเพลงทางด้านล่าง หรือถ้ากราฟแสดงแคบเกินไปสามารถใช้ซูมเข้าเพื่อกำหนดจุดที่แน่นอนได้เช่นเดียวกัน
ในการเซฟเพียงกดปุ่มรูปแผ่นฟลอปปี้ จะมีประเภทของเสียงที่ตัดขึ้นมาให้เลือกคือ เป็นเพลง เป็นนาฬิกาปลุก เสียงเตือน และริงโทน เมื่อเลือกแล้วก็แค่พิมพ์ชื่อเพลงและกด Save เป็นอันเสร็จ
10.shazam แค่มีทำนอง บ่งบอกเป็นชื่อเพลง
เคยเป็นมั้ยเวลาฟังเพลงแล้วนึกชื่อเพลงนั้นไม่ออก ติดอยู่ปลายริมฝีปาก shazam ช่วยคุณได้แต่มีข้อแม้ว่าต้องเป็นเพลงสากลเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเสียงฮัมเพลง เสียงเพลงจากวิทยุ จากเครื่องเล่นเพลง สามารถค้นหาได้หมด แน่นอนว่าค้นหาอย่างเดียวคงไม่น่าสนใจ เพราะสามารถสั่งซื้อเพลงหรือค้นหาในยูทูปได้ทันทีอีกด้วย
หลังจากเรียกโปรแกรมขึ้นมา กดที่ปุ่ม Tag Now หลังจากนั้นนำเครื่องไปไว้บริเวณหลังกำเนิดเสียงนั้นๆ ประมาณ 15 วินาที หลังจากนั้นรอให้แอปพลิเคชันทำการค้นหาจากฐานข้อมูล ซึ่งในจุดนี้ความเร็วในการค้นหาขึ้นอยู่กับ คุณภาพของเสียงที่ได้ยิน และ ความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
ในส่วนของ My Tage มีไว้แสดงผลการค้นหาที่เคยใช้มาก่อนหน้านี้ เมื่อกดเข้าไปจะมีข้อมูลของเพลงนั้นๆ เช่น ชื่อเพลง ชื่อศิลปิน ชื่ออัลบั้ม และวันที่ทำการค้นหา นอกจากนี้ถ้าเป็นเพลงหรือนักร้องที่ได้รับความนิยม ก็จะมีลิงก์เข้าสู่ MySpace ได้ทันที นอกจากนั้นถ้าต้องการดาวรน์โหลดเพลงมาฟังก็ทำได้จากการสั่งซื้อเพลงผ่านอเมซอน และใช้ในการค้นหามิวสิควิดิโอจากยูทูปได้อีกด้วย
**คำเตือน** การใช้งาน shazam จำเป็นต้องใช้งานการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ดังนั้นควรระวังค่าใช้จ่ายในเรื่องดังกล่าวด้วย