โนเกีย 5730 XpressMusic จัดว่าเป็นมิวสิกโฟนเครื่องแรกของตระกูล ที่มาพร้อมกับคีย์บอร์ด QWERTY เต็มรูปแบบ โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อเน้นให้กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการส่งข้อความ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของข้อความสั้น(SMS), พิมพ์ข้อความตอบรับอีเมล พิมพ์โพสต์ข้อความบนอินเทอร์เน็ตผ่านเบราวเซอร์ หรือจะบันทึกข้อความนัดหมาย ทั้งนี้ก็เพื่อให้สามารถใช้งานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น หรืออาจเรียกเป็นอีกนัยว่าเน้นกลุ่มที่ต้องการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ก็ไม่ผิดนัก โดยที่ยังคงจุดเด่นความบันเทิงด้านเสียงเพลงเหมือนเช่นเคย
Feature on Nokia 5730 XpressMusic
"โนเกีย 5730 XpressMusic" ใช้ระบบปฏิบัติการซิมเบียน เวอร์ชัน 9.3 (S60 3.2 Edition) มีเมนูหลักให้เลือกใช้งานอยู่ทั้งหมด 12 เมนู ประกอบไปด้วย ปฏิทิน(Calendar), รายชื่อ(Contacts), บันทึก(Log), อินเทอร์เน็ต(Internet), ข้อความ(Messaging), คลังภาพ(Gallery), ดาวน์โหลด(Download), เพลง(Music), แผนที่(Map), การตั้งค่า(Settings), วิธีใช้(Help), แอปพลิเคชัน(Applications) ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนมมุมมองการใช้งานได้ 2 รูปแบบ คือ แบบตาราง กับ แบบรายการ
"หน้าจอหลัก"สามารถแสดงผลได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน โดยจะเปลี่ยนมุมมองเป็นแนวนอนอัตโนมัติเมื่อสไลด์แผงแป้นพิมพ์ QWERTY ออกมา หรือผู้ใช้งานเอียงเครื่องแนวนอนหน้าจอก็จะปรับแสดงผลเป็นแนวนอนเช่นเดียวกัน ซึ่งหน้าจอหลักไล่จากบนสุดประกอบไปด้วย แถบรายชื่อ 'Contacts Bar' สามารถเพิ่มรายชื่อคนโปรด หรือคนที่ติดต่อบ่อยได้ทั้งหมด 20 รายชื่อด้วยกัน ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้สามารถโทรออก ส่งข้อความ เข้าใช้ข้อมูล และตั้งค่ารายชื่อที่กำหนดไว้ได้อย่างรวดเร็ว ถัดลงมาเป็นปลั๊กอินแอปพลิเคชัน และแถบทางลัดแอปพลิเคชันทางด้านล่างสุด สามารถเข้าไปกำหนดตั้งค่าได้ตามต้องการ โดยการกดที่ เมนู > การตั้งค่า > ทั่วไปแอปพลิเคชันหน้าจอหลัก(สำหรับส่วนของปลั๊กอินแอปฯ) หรือเลือกทางลัด(สำหรับทางลัดแอปฯ)
QWERTY
จุดเด่นแรกของเครื่องรุ่นนี้อยู่ที่'คีย์บอร์ดเต็มรูปแบบ (QWERTY)' ที่ทางโนเกียหยิบเข้ามาใส่เพื่อช่วยในการรับ-ส่งข้อความ, รับ-ส่งอีเมล และเข้าใช้งานเว็บผ่านเบราวเซอร์ได้สะดวก-รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งรุ่นนี้ถือเป็นมิวสิกโฟนรุ่นแรกที่มีแป้นพิมพ์เต็มรูปแบบติดมาให้ใช้งาน หลักการทำงานของแป้นพิมพ์ในการป้อนข้อความเหมือนกับคอมพ์ทุกประการ กล่าวคือ ปุ่มฟังก์ชัน(ลูกศรเฉียงขึ้นทางขวา) ใช้เมื่อต้องการตัวเลข-อักษรด้านบนแต่ละปุ่ม, ปุ่ม Shift (ลูกศรชี้ขึ้น) สำหรับสลับระหว่างตัวพิมพ์ใหญ่-พิมพ์เล็ก ถ้าต้องการใช้สัญลักษณ์ก็ให้กด "Sym" แล้วเลือกหาสัญลักษณ์ที่ต้องการ ส่วนการเปลี่ยนภาษาสามารถทำได้ 2 วิธี โดยเลือกที่ ตัวเลือก > ตัวเลือกการป้อน > ภาษาที่ใช้เขียน จากนั้นก็เลือกภาษาตามที่ต้องการ หรือวิธีลัดทำได้โดยการกดปุ่ม "Shift" (ลูกศรขึ้น) แล้วตามด้วย ปุ่ม "Sym"
Music
จุดเด่นรองหนีไม่พ้นเมนู "เพลง(Music)" ซึ่งเมนูนี้ของ 5730 XpressMusic ถือเป็นศูนย์รวมแหล่งความบันเทิงด้านเสียง ที่แยกออกมาเป็นเมนูหลักโดยเฉพาะสมกับได้ชื่อว่าเป็น "XpressMusic" เมื่อกดเข้ามาในเมนูนี้จะพบกับเมนูย่อยให้เลือกใช้งานด้านเสียงล้วนๆ ประกอบด้วย เครื่องเล่นเพลง, วิทยุ, ร้านค้าเพลง, Podcasting, ค้าหาเพลง และบันทึก
Music Player
"เครื่องเล่นเพลง"สามารถเลือกใช้งานเครื่องเล่นเพลงได้โดยการเข้าที่เมนู เพลง > เครื่องเล่นเพลง หรือจะกดเลือกใช้งานลัดโดยการกดปุ่มเล่นเพลง ที่ "Music Key" ซึ่งอยู่ด้านข้างทางซ้ายก็ได้ ฟังก์ชันภายในยังคงมีการแบ่งรายการฟังก์ชันการใช้งานในรูปแบบเดิม ตามสไลต์เอ็กซ์เพรสมิวสิก ประกอบไปด้วย ศิลปิน : แสดงแยกออกตามรายชื่อศิลปิน, อัลบั้ม : แสดงตามชื่ออัลบั้ม, รายการเล่น : แสดงรายการเพลงที่ถูกเลือกเล่นบ่อยที่สุด (Most played), เพลงที่ถูกเลือกเล่นเมื่อเร็วๆนี้ (Recently played) หรือเพลงที่ถูกเพิ่มเข้าไปในรายการล่าสุด (Recently added), เพลงทั้งหมด : เพลงทั้งหมดที่พร้อมเล่น, พอดแคสต์, ประเภทของเพลง : แยกเพลงตามประเภทต่างๆ และผู้เรียบเรียง
เมื่อเลือกเพลงได้ตามต้องการแล้วเครื่องจะทำการเข้าสู่โปรแกรมเล่นเพลงทันที ซึ่งรูปร่างหน้าตอก็ยังคงมีลักษณะที่คุ้นตาเหมือนเช่นเคย ประกอบไปด้วย ในส่วนบนเป็นพื้นที่สำหรับการโชว์ภาพปกอัลบั้ม(ถ้ามี) ถัดลงมาเป็นชื่อเพลง, ชื่อศิลปิน และแถบแสดงเวลาการเล่นแต่ละเพลง ตามลำดับ ด้านล่างเป็นปุ่มควบคุมเครื่องเล่นเพลง โดยเครื่องเล่นเพลงของรุ่นนี้สามารถหมุนปรับได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอนตามการจับถือของผู้ใช้ ถ้าปรับเป็นแนวนอน แถบแสดงเวลาการเล่นเพลง กับปุ่มควบคุมจะเด้งขึ้นไปอยู่ด้านบนฝั่งขวา
การปรับค่าต่างๆสามารถทำได้โดยการกดที่ "ตัวเลือก" ซึ่งมีให้เลือกปรับดังนี้ เล่นแบบสุ่ม(เปิด/ปิด), เล่นซ้ำ มีให้เลือก 3 ค่า ได้แก่ เล่นรอบเดียว เล่นซ้ำทั้งหมดไปเรื่อยๆ และเล่นซ้ำเฉพาะเพลง, อีควอไลเซอร์ตัวเครื่องมีให้เลือกปรับแต่งทั้งหมด 6 แบบ คือ ค่าที่ตั้งไว้, ขยายเสียงเบส, คลาสสิก, แจ๊ส, ป๊อป และร็อค ซึ่งแต่ละแบบสามารถที่จะเข้าไปปรับเสียงได้อีก นอกจากนี้ยังมีการตั้งค่าเสียงในเรื่องของความสมดุล, เพิ่มเสียงทุ้ม(เปิด/ปิด) และขยายแถบเสียงเสตอริโอ(เปิด/ปิด)
Radio
"เครื่องเล่นวิทยุ" ยังคงเหมือนเดิมที่ต้องใช้ควบคู่กับชุดหูฟังเพื่อเป็นตัวรับสัญญาณ มีให้เลือกใช้งาน2 รูปแบบ คือ 'FM radio' สำหรับรับฟังวิทยุ FM ปกติทั่วไป กับ'Internet radio' วิทยุแบบสตรีมมิ่งผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับรับฟังวิทยุได้ทั่วโลก โดย'วิทยุ FM' ยังคงฟังก์ชันรูปแบบเดิมๆไม่เปลี่ยนแปลง คือ มีระบบสแกนหาความถี่ทั้งแบบค้นหาอัตโนมัติ และค้นหาด้วยตัวผู้ใช้งานเอง(ทศนิยม 2 ตำแหน่ง) เมื่อสแกนความถี่ได้ตามต้องการแล้วสามารถเลือกที่จะจัดเก็บได้ ซึ่งเครื่องรองรับได้สูงสุด 50 สถานี นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกรูปแบบการฟังได้ว่าจะฟังผ่านชุดหูฟัง หรือฟังผ่านลำโพงสเตอริโอของเครื่อง (กดปุ่มกลาง) และยังสามารถเลือกให้เล่นเป็นพื้นหลัง ในกรณีต้องการออกไปใช้งานภายนอกด้วย
ส่วน "Internet radio" มีฟังก์ชันการใช้งานคล้ายๆกับ "FM radio" เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบการใช้งานไปเป็นการทำสตรีมมิ่งผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแทน รองรับการฟังวิทยุบนอินเทอร์เน็ตจากทุกมุมโลก โดยกดค้นหาสถานีเครื่องจะแสดงรายชื่อแต่ละประเทศที่ค้นหาได้ พร้อมกับระบุจำนวนสถานีของแต่ละประเทศไว้ด้านล่าง จากนั้นก็เลือกประเทศที่ต้องการแล้วก็เลือกสถานีที่จะฟัง เครื่องจะทำการเชื่อมต่อกับสถานีโดยโหลดแบบสตรีมมิ่ง เมื่อโหลดเสร็จก็สามารถรับฟังได้เหมือนกับการฟังวิทยุ FM ทั่วๆไป สามารถบันทึกที่อยู่เก็บเป็นรายการโปรดได้
หลังการใช้งาน "เมนูเพลง" พบว่า เครื่องเล่นเพลงที่มีฟังก์ชันการใช้งานยังคงรูปแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ใช้งานง่ายโดยไม่ต้องพึ่งคู่มือประกอบ คุณภาพของเสียงยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ เสียงออกโทนนุ่มใสมีมิติ เมื่อเร่งจนสุดไม่พบเสียงแตกพร่าไม่เสียชื่อตระกูลเอ็กซ์เพรสมิวสิก แต่เครื่องรุ่นนี้ติดตรงความดังของเสียงยังทำได้ไม่ดังเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะช่องลำโพงมีขนาดเล็ก และมีช่องเดียวก็เป็นได้
Camera
ถัดมาที่เรื่อง"กล้องดิจิตอล"ที่ติดมากับเครื่องรุ่นนี้กันบ้าง ซึ่งกล้องดิจิตอลด้านหลังนั้นให้ความละเอียดที่ 3.2 ล้านพิกเซล (ขนาดภาพสูงสุด 2048 x 1536 พิกเซล) พร้อมไฟแบบ LED 1 ดวง โดยเมนูนี้อยู่ภายใต้เมนู "แอปพลิเคชัน"อีกชั้นหนึ่ง เมื่อไล่ดูฟังก์ชันโหมดทีละฟังก์ชันมีดังนี้ ในส่วนแรกเป็นการปรับโหมดระหว่างถ่ายภาพนิ่งกับถ่ายวิดีโอ ถัดมาเป็นโหมดฉาก มีให้เลือกทั้งหมด 8 แบบ ได้แก่ อัตโนมัติ(Auto), กำหนดเอง(User defined), โหมดระยะใกล้(Close-up), แนวตั้ง(Portrait), แนวนอน(Landscape), กีฬา(Sport), กลางคืน(Night) และแนวตั้งกลางคืน(Night portr.) ถัดมาเป็นการตั้งค่าแฟลช(อัตโนมัติ, เปิด, ลดจุดตาแดง และปิดการใช้งาน), การตั้งค่าเวลาถ่าย(2, 10 และ20 วินาที) และสุดท้ายการตั้งค่าถ่ายภาพต่อเนื่อง(ต่อเนื่อง,ทุก 10 วินาที,ทุก 30 วินาที, 1 นาที,ทุก 5 นาที, 10 นาที และ 30 นาที)
"การตั้งค่า"สามารถเลือกเข้าไปปรับได้ โดยกด ตัวเลือก > การตั้งค่า ซึ่งมีให้เลือกตั้งค่าต่างๆเริ่มจากคุณภาพของรูปภาพที่มีให้เลือก 3 ระดับ ได้แก่ 3 ล้านพิกเซล ใช้สำหรับการพิมพ์ภาพขนาดใหญ่ (10 x 8 นิ้ว), 2 ล้านพิกเซล สำหรับการพิมพ์ภาพขนาดกลาง (7 x 5 นิ้ว) และ 0.3 ล้านพิกเซล สำหรับภาพขนาดเล็กที่ส่งทางข้อความมัลติมีเดีย ถัดมาเป็นการตั้งค่าการบันทึกตำแหน่งพิกัด 'GPS' ว่าจะให้บันทึกหรือไม่, ตั้งค่าว่าจะเพิ่มที่อัลบั้มหรือไม่, ตั้งค่าแสดงภาพที่จับว่าจะให้แสดงหรือไม่
การตั้งค่าถัดมาเป็นการตั้งชื่อของภาพว่าจะให้ตั้งตามวันที่ หรือจะเป็นข้อความตามที่ผู้ใช้กำหนดก็ได้, กำหนดค่าการซูมดิจิตอลแบบขยาย(ปิด, เปิดพักไว้, เปิดต่อเนื่อง), เสียงจับภาพมีให้เลือก 4 แบบ, ระบุแหล่งบันทึกภาพว่าจะบันทึกลงเครื่อง หรือการ์ดหน่วยความจำ, การหมุนภาพมีให้เลือกว่าจะใช้หรือไม่ และสุดท้ายการเรียกคืนการตั้งค่ากล้องเพื่อกลับไปอยู่ในรูปแบบเดิมตามาตรฐานของโรงงาน(ตามลำดับ)
ส่วนในโหมด"วิดีโอ"มีฟังก์ชันให้เลือกปรับค่าต่างๆดังนี้ ฉากมีให้เลือก 2 แบบ คือ อัตโนมัติ กับกลางคืน, มีให้เลือกเปิด-ปิดไฟวิดีโอ, ปรับค่าสมดุลสีขาว(White balance) มีให้เลือกปรับ 5 แบบ ได้แก่ แบบอัตโนมัติ, แสงจ้า(Sunny), เมฆหน้า(Coludy), อินแคนเดสฯ(Incandescent) และแสงไฟนีออน(Fluorescent), โทนสีสามารถเลือกปรับได้ 5 แบบ ได้แก่ ปกติ(Nomal), ซีเปีย(Sepia), ขาวดำ(Black & white), จ้า(Vivid) และเนกาทีฟ(Negative)
"การตั้งค่า"ของโหมดวิดีโอสามารถเลือกปรับได้ซึ่งมีรายการดังต่อไปนี้ คุณภาพวิดีโอ มีให้เลือกปรับใช้ถึง 5 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ ทีวีคุณภาพสูง(TV high quality), ทีวีคุณภาพปกติ(TV normal quality), อีเมลคุณภาพสูง(E-mail high quality), อีเมลคุณภาพปกติ(E-mail normal quality) และคุณภาพการแบ่งใช้(Sharing quality) ถัดมามีให้เลือกปรับในส่วนของการบันทึกตำแหน่งพิกัด 'GPS' ว่าจะให้บันทึกหรือไม่, การบันทึกเสียง ว่าจะให้เปิดหรือปิด, เพิ่มที่อัลบั้ม, ตั้งค่าการแสดงวิดีโอที่ถ่ายไว้ว่าจะให้โชว์เลยหรือไม่, การตั้งชื่อวิดีโอว่าจะให้ตั้งตามวันที่ หรือจะเป็นข้อความตามที่ผู้ใช้กำหนดก็ได้, การเลือกแหล่งเก็บไฟล์วิดีโอ(เครื่อง หรือการ์ดหน่วยความจำ) และเรียกคืนการตั้งค่ากล้อง(ตามลำดับ) ซึ่งทั้งหมดคล้ายๆกับการตั้งค่าในโหมดกล้องถ่ายภาพนิ่ง
***นอกจากนี้ ทั้ง 2 โหมดยังสามารถใช้กล้องที่สอง(กล้องด้านหน้า)ในการบันทึกได้ โดยกดที่ตัวเลือก > ใช้กล้องสอง ซึ่งกล้องด้านหน้าให้ความละเอียดในระดับ VGA (ถ่ายภาพนิ่ง 640 x 480 พิกเซล, ถ่ายภาพเคลื่อนไหว 173 x 144 พิกเซล 15 เฟรมต่อวินาที)
หลังการใช้งานเมนู "กล้อง" พบว่าฟังก์ชันการใช้งาน รองรับการถ่ายภาพได้หลากหลายรูปแบบ ยกเว้นการใส่เอฟเฟกต์ และการปรับค่าสมดุลสีขาว(WB)ในโหมดกล้องถ่ายภาพนิ่ง สามารถใช้ได้ทั้งกล้องหลัก(ทางด้านหลัง) และกล้องที่สอง(ด้านหน้า) การประมวลผลภาพทำได้ค่อนข้างไว ไม่พบอาการค้างให้เห็น ด้านคุณภาพของภาพถ่ายนั้นอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนคุณภาพของกล้องวิดีโอก็ทำได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของการบันทึกผ่านโทรศัพท์มือถือทั่วไป การสลับโหมดไปมาระหว่างภาพนิ่งกับวิดีโอยังหน่วงอยู่นิดๆ
Internet Social Network & Games
ดูด้านความบันเทิงจบกันไปแล้ว คราวนี้มาดูด้านการใช้งาน'เครือข่ายสังคมออนไลน์'ที่รุ่นนี้ก็ทำออกมาเพื่อรองรับจุดนี้เช่นเดียวกัน ทั้งแอปพลิเคชันยอดนิยมที่ใส่มาให้ใช้งาน เช่น รองรับการใช้งาน Flickr, Vox, Facebook, Windows Live Messenger, MySpace Youtube เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถเข้าไปดาวน์โหลดมาติดตั้งเพิ่มเติมได้ภายหลังที่ store.ovi.com และการเชื่อมต่อที่รองรับครบครัน ได้แก่ GPRS, EDGE, HSDPA และWi-Fi 802.11b/g
ด้านการใช้งานด้านอินเทอร์เน็ตสามารถเปิดใช้งานเว็บเพจผ่านเบราว์เซอร์เฉพาะของโนเกีย รองรับ 'Flash Player' เหมือนเช่นเคย แสดงผลได้ทั้งแนวตั้ง และแนวนอน รวมถึงสามารถขยายแบบเต็มจอได้ด้วย ส่วนการเล่นเกมนั้นรองรับการเกม N-GAGE ที่สามารถดาวน์โหลดเพิ่มเติมผ่านมือถือได้เลยโดยตรง ซึ่งเครื่องรุ่นนี้มีปุ่มควบคุมเกมติดมาให้ใช้งานด้วย
Design of Nokia 5730 XpressMusic
ตัวเครื่อง Nokia 5730 XpressMusic เป็นโทรศัพท์มือถือสไลด์โฟน(ออกทางด้านข้าง) แบบเดียวกับตระกูล E ซีรีส์ อย่าง โนเกีย E75 ที่เคยรีวิวให้ชมกันไปแล้ว วัสดุของเครื่องรุ่นนี้ทำจากพลาสติกเกือบจากทั้งหมด ลักษณะพื้นผิวด้านหน้ามีความมันวาว ขอบเครื่องเคลือบด้วยโครเมียมกลมกลืนไปกับตัวเครื่องจนแยกไม่ออก งานประกอบโดยรวมถือว่าทำได้แน่นหนาดี น้ำหนักการจับถือถือว่าสบายมือไม่เบาและไม่หนักจนเกินไป โดยตัวเครื่องมีขนาด 112 x 51 x 15.4 มม. น้ำหนักอยู่ที่ 135 กรัม มีให้เลือกทั้งหมด 4 สี คือ แดง น้ำเงิน ชมพู และเทา
ด้านหน้า : ไล่จากบนสุดของตัวเครื่องจะพบลำโพงสนทนาวางอยู่ตรงกึ่งกลางของตัวเครื่อง ใกล้กันฝั่งซ้ายของลำโพงเป็นเซ็นเซอร์วัดแสง สำหรับปรับความสว่างหน้าจอให้เข้ากับสภาพแสงในขณะนั้น ส่วนทางฝั่งขวาของลำโพงเป็นกล้องรูเข็มกล้องตัวที่สองของเครื่อง (ใช้ได้ทั้งถ่ายภาพ และวิดีโอคอล) ถัดลงมาใต้ลำโพงสนทนาเป็นปุ่มควบคุมสำหนับเล่นเกม ใต้ล่างมียี่ห้อ "NOKIA"อยู่ฝั่งซ้าย และชื่อ "XpressMusic"อยู่ฝั่งขวา ถัดลงมาเป็นส่วนของจอแสดงผล TFT-LCD 16.7 ล้านสี ขนาด 2.4 นิ้ว (240 x 320 พิกเซล) แสดงผลแนวนอนและแนวตั้งอัตโนมัติตามลักษณะการจับถือของผู้ใช้
ข้างจอด้านซ้ายมีปุ่มลัด "Music Key" ตามฉบับ 'XpressMusic' ที่ช่วยให้การฟังเพลงเป็นเรื่องง่าย ซึ่งเมื่อใช้งานเครื่องเล่นเพลงจะมีไฟกระพริบบริเวณปุ่มตามจังหวะดนตรีด้วย
ใต้จอแสดงผลเป็นชุดปุ่มควบคุม ประกอบไปด้วย ปุ่มเมนู, ปุ่มซอฟต์คีย์ซ้าย, ปุ่มควบคุมแบบ 5 ทิศทาง(ไฟกระพริบสีขาวเมื่อเครื่องเข้าโหมดสแตนบาย), ปุ่มซอฟต์คีย์ขวา, ปุ่มลบตัวอักษร, , ปุ่มรับสาย-โทรออก, และปุ่มวางสาย(กดค้างเปิด-ปิดเครื่อง) ส่วนทางด้านล่างเป็นแผงปุ่มกดตัวเลข-ตัวอักษรตามมาตรฐานสากลทั่วไป ซึ่งปุ่มมีลักษณะมันวาวทำให้เกิดคราบนิ้วมือได้ง่ายเหมือนกัน ส่วนหลังการสัมผัสพบว่าปุ่มกดมีความนุ่ม-กดใช้งานง่าย
เมื่อสไลด์ตัวเครื่องออกทางด้านข้างจากซ้ายไปขวา จะพบกับแผงคีย์บอร์ด "QWERTY" แบบเต็มรูปแบบจำนวน 4 แถว ซึ่งหน้าจอจะเปลี่ยนเป็นแนวนอนตามคีย์บอร์ดโดยอัตโนมัติ มีไฟเรืองแสงสีขาวช่วยการใช้งานในที่แสงน้อย การล็อกเมื่อสไลด์เครื่องเข้า-ออกดูแน่นหนาสามารถป้องกันการลื่นไหลแบบไม่ได้ตั้งใจได้เป็นอย่างดี โดยการออกแบบทุกอย่างในส่วนนี้เหมือนกับโนเกีย E75 ยังกับแกะ
ด้านหลัง : ไล่จากด้านบนฝั่งซ้ายจะพบเลนส์กล้องดิจิตอลระบบออโต้โฟกัส พร้อมไฟแฟลชชนิด LED ใต้ล่างมีข้อความการันตีชื่อเลนส์ พร้อมความละเอียด 'Carl Zeiss Tessar 2.8/3.7 3.2 Megapixel/AF' ส่วนฝั่งซ้ายของเลนส์กล้องมียี่ห้อ "NOKIA" วางพาดอยู่ ฝาหลังทำจากพลาสติกพื้นผิวเรียบ เมื่อต้องการเปิดฝาหลังควรค่อยๆงัดทางด้านข้างฝั่งขวาออก เนื่องจากฝาหลังถูกออกแบบมาค่อนข้างบอบบาง
เมื่อเปิดฝาหลังออกจะพบแบตเตอรี่ชนิด Li-Ion 1,000 mAh รุ่น BL-4U และช่องใส่ซิมการ์ดอยู่เหนือช่องใส่แบตฯ เมื่อใช้งานต้องถอดแบตฯออกก่อนจึงจะสามารถใส่ซิมการ์ดได้ และเหนือช่องซิมการ์ดจะมีช่องลำโพงเสียงเล็กๆอยู่(วงกลมสีแดง)
ด้านขวา : ไล่จากบนสุดเป็นปุ่มปรับระดับเพิ่ม-ลดเสียง/ซูมขยาย-ลดภาพในโหมดกล้อง ถัดมาเป็นปุ่มชัตเตอร์ในการถ่ายภาพของเมนูกล้อง (กดค้างเข้าเมนูถ่ายภาพ)
ด้านซ้าย : ด้านนี้มีช่องเชื่อมต่ออุปกรณ์ microUSB กับช่องใส่เมมโมรีการ์ดแบบ MicroSD ซึ่งรองรับได้สูงสุด 16 GB(มาพร้อมกล่อง 8 GB) โดยทั้งสองช่องนั้นมีฝาพลาสติกดหุ้มปิดอย่างมิดชิด
ด้านบน และด้านล่าง : ด้านบนมีเพียงช่องต่อชุดหูฟังมาตรฐานขนาด 3.5 ม.ม.(ขนาดปกติทั่วไป)เท่านั้น ถูกให้อยู่วางค่อนไปทางซ้าย ส่วนด้านล่างช่องเสียบสายชาร์จแบตเตอรี่ กับรูไมโครโฟน(ฝั่งขวา) และรูสำหรับร้อยสายคล้องมือ-คอ(ฝั่งซ้าย)
บทสรุป
สำหรับ 5730 XpressMusic เป็นรุ่นที่เป็นมากกว่ามิวสิกโฟนทั่วไปที่โนเกียเคยมีมา ด้วยการเพิ่มคีย์บอร์ด QWERTY ใส่มาให้สะดวกต่อการใช้งาน เมื่อสไลด์ตัวเครื่องออกมาก็ดูเท่ห์ในสไตล์นักธุรกิจไม่เบาทีเดียว การดีไซน์ยังคงรูปลักษณ์ความเป็นมิวสิกโฟนอยู่ แต่ก็ยังมีการจัดวางตำแหน่งปุ่มคลาดเคลื่อนเล็กน้อย ที่เห็นกันชัดๆ คือ ปุ่มกดชัเตอร์เลื่อนเข้ามาลึกจนทำให้ใช้งานไม่ถนัดมือ กับปุ่มเพิ่ม-ลดเสียงกดยากไปสักนิดหากเทียบกับรุ่นก่อนๆในตระกูลเดียวกัน
ด้านระบบการเชื่อมต่อมีมาให้เลือกใช้ครบครัน โดยรองรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วย GPRS, EDGE, HSDPA และWi-Fi 802.11b/g การเชื่อมต่อรับส่งข้อมูลรองรับการเชื่อมต่อบลูทูธ (รองรับ A2DP) และเชื่อมต่อผ่านสายดาต้าลิงก์แบบ Micro USB มีช่องต่อหูฟัง 3.5 นิ้วมาให้ใช้งานตามสไตล์มิวสิกเอ็กซ์เพรสเหมือนเดิม นอกจากนี้ ยังรองรับระบบนำทางผ่านสัญญาณดาวเทียมแบบ A-GPS ซึ่งหลังการทดสอบพบว่า การจับสัญญาณอยู่ในระดับกลางๆไม่ช้า และไม่เร็ว
การตอบสนองการใช้งานจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ทำได้ค่อนข้างลื่นไหลแต่ไม่ถึงกับไวมาก ส่วนคีย์บอร์ด QWERTY แบบเต็มรูปแบบที่ให้มาสามารถตอบสนองได้ดี ทั้งนี้ การใช้งานต้องใช้ทักษะส่วนบุคคล และระยะเวลาในการปรับตัวสักพัก โดยตัวอักษาภาษาอังกฤษที่อยู่บนแป้นพิมพ์ไม่มีปัญหาต่อการใช้งาน แต่สำหรับภาษาไทยตัวอักษรที่อยู่แถวบน และด้านข้าง(เมื่อเทียบกับคีย์บอร์ดปกติ)ได้ย้ายมาซุกตัวอยู่ตามปุ่มต่างๆแถวด้านล่าง ได้แก่ (ต), (ข), (จ), (ฐ), (บ), (ล), (ช), (ซ), (ค), (ว), (ง), สระอึ สระอู เครื่องหมาย (-), (+), (#), (*) และ(=) ซึ่งคล้ายๆกับโนเกียรุ่น E75 ที่รีวิวไปก่อนหน้านี้
ด้านพลังงานแบตฯถือว่าให้มาพอเหมาะกับการใช้งาน โดยภายหลังลองใช้งานฟังเพลง ฟังวิทยุวันละ 1 ชั่วโมง, ใช้กล้องถ่ายภาพวันละเล็กน้อย เปิดไวไฟเช็กอีเมล เล่นอินเทอร์เน็ตโดยรวมใช้ระยะเวลาวันละประมาณ 1 ชั่วโมง แบตเตอรี่สามารถอยู่ได้ 2 วันเต็มสบายๆ แถมยังเหลือใช้ต่ออีกประมาณครึ่งวัน ส่วนเสียงระหว่างการสนทนาดังชัดเจนดี ไม่มีเสียงก้องให้ได้ยิน
ใครที่กำลังมองหาเครื่องแนวนักธุรกิจอยู่ แต่งบในกระเป๋าสู้ราคารุ่น E ซีรีส์ไม่ได้ รุ่นนี้ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจเลยทีเดียว
ขอชม
- รูปลักษณ์เครื่องที่มีการดีไซน์ออกแนวธุรกิจทำได้น่าใช้งาน
- มีปุ่มคีย์ลัดฟังก์ชันต่างๆมาให้ใช้ครบครัน
- ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน ตอบสนองการทำงานได้ค่อนข้างดีทีเดียว
ขอติ
- วัสดุของตัวเครื่องทำจากพลาสติกเกือบจะทั้งหมดทำให้ดูไม่ค่อยคงทนเท่าไร
- ด้านหน้าเครื่องมีความมันวาว โดยเฉพาะปุ่มกด ทำให้เกิดครอบนิ้วมือได้ง่าย
- ฝาหลังดูบอบบางไปนิด และปุ่มกดชัตเตอร์วางผิดตำแหน่งไปหน่อย(เกือบกลางเครื่อง) จึงใช้งานไม่ค่อยสะดวก
Company Related Links :
Nokia