xs
xsm
sm
md
lg

Review : Nokia E75 เรื่องรับ-ส่งอีเมลง่ายนิดเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




โนเกีย E75 ถือเป็นโทรศัพท์มือถือรุ่นล่าสุดในตระกูล Eseries ในเวลานี้ ด้วยการเพิ่มแป้นกด QWERTY เต็มรูปแบบมาให้ใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น พร้อมรูปแบบการใช้งานอีเมล์แบบใหม่ "Nokia Messaging" เพื่อเพิ่มคุณภาพการใช้งานด้านข้อความ ส่วนการรับ-ส่งอีเมลยังคงคอนเซปต์เดิม ด้วยการใช้งานเพียง 3 ขั้นตอน

ทางโนเกียเผยถึงการพัฒนาโนเกีย E75 ว่าได้รับแรงบันดาลใจจากอุปกรณ์สื่อสารในกลุ่ม Nokia Communicator ที่ประสบความสำเร็จหลากรุ่น ซึ่งผู้ใช้งานส่วนใหญ่ชื่นชอบฟังก์ชันด้านข้อความจากแป้นกด "QWERTY" แต่ก็ยังนิยมแป้นกดแบบเดิมสำหรับการใช้งานอื่นๆ ทำให้โนเกีย E75 ได้รวบรวมคุณสมบัติที่จำเป็นไว้อย่างครบถ้วน รวมทั้งอัปเกรดฟีเจอร์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในรูปแบบที่กะทัดรัดเหมาะกับการใช้งานมากที่สุด

ส่วนความเป็นมาของโนเกีย Eseries รุ่นใหม่นี้ เริ่มจากการที่โนเกียอยากทำให้ผู้ใช้งานไม่ต้องเปิดเครื่องพีซีเพื่อใช้อีเมล์บนเดสก์ท็อปอีกต่อไป ซึ่งรูปแบบการใช้งานอีเมลบนโนเกีย Eseries โดยเฉพาะรุ่นใหม่ๆได้รับการพัฒนามากขึ้น เช่น รองรับโฟลเดอร์และ HTML อีเมลมีการแสดงผลที่ดีขึ้น สามารถเลือกเรียงลำดับข้อมูลแบบต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็นลำดับวันที่, ชื่อ หรือขนาด รวมทั้งการใช้งานพื้นฐานต่างๆได้เพียงคลิกเดียว นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาคุณสมบัติการใช้งานปฏิทิน, รายชื่อติดต่อ และการจัดการตารางงานต่างๆด้วย

Feature on Nokia E75



เมนู Nokia E75 มีเมนูหลักให้เลือกใช้งานอยู่ทั้งหมด 12 เมนู ประกอบไปด้วย ปฏิทิน(Calendar), รายชื่อ(Contacts), บันทึก(Log), เว็บ(Web), ข้อความ(Messaging), คลังภาพ(Gallery), ดาวน์โหลด(Download), ที่ทำงาน(Office), อีเมล(Email), ตัวควบคุม(Ctrl.Panel), วิธีใช้(Help), แอปพลิเคชัน(Applications) ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนมมุมมองการใช้งานได้ 2 รูปแบบ คือ แบบตาราง กับ แบบรายการ

E-mail



ฟีเจอร์เด่นสุดของรุ่นนี้คือเรื่องของการใช้งานรับ-ส่งอีเมล(E-mail) ดังสโลแกนที่ทางโนเกียตั้งไว้ว่า "เข้าถึงอีเมลได้ง่ายๆ กับโนเกีย E75" ซึ่งรุ่นนี้ใช้แอปพลิเคชันบริการทางด้านอีเมลรูปแบบใหม่ภายใต้ชื่อ "Nokia Messaging" ที่รองรับโลกของอีเมลโดยเฉพาะไม่ว่าจะเป็นอีเมลทั่วไปที่ใช้โปรโตคอลมาตรฐานแบบ POP3, IMAP4 เช่น Yahoo, Gmail หรือ Hotmail นอกจากนี้ ยังสามารถรองรับอีเมลองค์กร อย่าง Mail for Exchange และ IBM Lotus Notes ได้อีกด้วย



การตั้งค่าใช้งานฟังก์ชันอีเมลมีให้เลือกอยู่ทั้งหมด 3 ทางหลัก ได้แก่ 1. เข้าทางหน้าจอหลักในโหมดบิสซิเนส โดยเลือกที่ Set up e-mail 2. เข้าผ่านทางปุ่มควบคุม โดยการกดที่คีย์ลัดที่เดียวกันกับปุ่มวางสาย 3. เข้าผ่านทางเมนูปกติ โดยกดเลือกเมนู > E-mail



เมื่อรู้ลู่ทางแล้ว คราวนี้ก็มาถึงการเซ็ตอัปอีเมลกันบ้าง ซึ่งมีวิธีการเหมือนกับเครื่องรุ่นอื่นๆในตระกูล 'E' ซีรีส์ ที่สามารถทำได้ง่ายเพียง 3 ขั้นตอนเท่านั้น โดยเริ่มจากกด 'Start' เพื่อเริ่มต้นการใช้งาน จากนั้นก็ใส่ที่อยู่อีเมล แล้วก็ต่อด้วยรหัสผ่านก็เป็นเสร็จเรียบร้อย เครื่องจะทำเป็นศูนย์ฝากข้อความ หรือเมลบ็อกตามชื่ออีเมลไว้ที่หน้าหลักของเมนูอีเมล สามารถรองรับได้สูงสุดถึง 6 เมลบ็อกเลยทีเดียว



การใช้งานอีเมลมีรูปแบบเหมือนกันกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ คือ สามารถเปิดเมลอ่านได้ทันที หลังจากที่เครื่องดึงข้อมูลต่างๆเสร็จเรียบร้อยแล้ว และสามารถเลือกตัวเลือกเพื่อตอบกลับ, ส่งต่อ, คัดลอก, ลบข้อความ, จัดเก็บในรายชื่อ ฯลฯ ส่วนการสร้างข้อความอีเมลใหม่ ก็มีรายการให้ใส่ที่อยู่อีเมลผู้รับ, สามารถทำสำเนาได้, ใส่หัวข้อ และ เนื้อหาตามลำดับ นอกจากนี้ ยังสามารถแนบไฟล์รูปภาพ, วิดีโอ, ข้อความต่างๆได้ ซึ่งฟังก์ชันการทำงานทั้งหมดทำได้ไม่ต่างจากนั่งพิมพ์อีเมลผ่านคอมพิวเตอร์

Office



ยังคงเป็นศูนย์รวมของงานเอกสารเหมือนเช่นเดิม ซึ่งมีโปรแกรมหลักๆสำหรับการใช้งานด้านเอกสารอย่าง 'Quickoffice' ที่รองรับงานเอกสารประเภท Word, Excel, PowerPoint เมื่อต้องการใช้งานให้กดเลือกไปที่สร้างเอกสารใหม่ จากนั้นจะมีแถบขึ้นมาให้เลือก ได้แก่ Document (เอกสาร), Worksheet (สร้างงานแบบตาราง), Presentation (สร้างงานนำเสนอ), รองรับไฟล์ PDF ด้วยโปรแกรม Adobe PDF นอกจากนี้ E75 ยังมีโปรแกรมต่างๆใส่เข้ามารวมไว้ในหมวดนี้ด้วย ประกอบด้วย ตัวจัดการไฟล์ (File Manager), ดิกชันนารี (Dictionary), อินทราเน็ต (Intranet), เครื่องแปลงหน่วย(Converter), โปรแกรมบีบอัดข้อมูล(Zip), เครื่องคิดเลข(Calculator) และActive notes


Media



เมนู "สื่อ(Media)" ของ E75 ถือเป็นศูนย์รวมแหล่งความบันเทิง ซึ่งออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้ใช้ผ่อนคลายในยามว่างเว้นจากการทำงาน โดยเมนูนี้อยู่ภายใต้เมนู "แอปพลิเคชัน"อีกทีหนึ่ง เมื่อกดเข้ามาจะพบกับเมนูย่อยให้เลือกใช้งานมากมาย ประกอบด้วย เครื่องเล่นเพลง, วิทยุ, กล้อง, เกม, ร้านค้าเพลง, คลังวิดีโอ, เครื่องเล่น RealPlayer รองรับไฟล์วิดีโอ รูปแบบ MP4, 3GP และRM, เครื่องบันทึกเสียง, Podcasting และ Share online

Music Player



มาเริ่มต้นผ่อนคลายอย่างแรกด้วย "เครื่องเล่นเพลง" ซึ่งรองรับไฟล์เสียง MP3/WMA/AAC/AAC+ รองรับการเล่นเพลงแบบ Streaming (.rm, eAAC+) และรองรับเครื่องเล่น Podcast ด้วย เมื่อเข้าสู่เครื่องเล่นเพลงระบบจะทำการดึงเพลงที่มีอยู่ในหน่วยความจำทั้งหมดมาให้อัตโนมัติ สามารถเลือกรายการเพลงได้ตามต้องการ ว่าจะให้เล่นทั้งหมด, เล่นตามเพล์ลิสต์ที่ได้กำหนดไว้, เล่นตามกลุ่มศิลปิน และอัลบั้มเพลง เมื่อเลือกเพลงได้ตามต้องการแล้วจะทำการเข้าสู่โปรแกรมเล่นเพลง



ฟังก์ชันภายในของเครื่องเล่นเพลงมีโหมดต่างๆให้เลือก ดังต่อไปนี้ เล่นเพลงแบบสุ่มตามรายชื่อ, วนซ้ำทั้งรายการเพลง, วนซ้ำเฉพาะเพลงเดียว, ปรับอีควอไลเซอร์ได้ทั้งหมด 6 แบบ คือ ค่าที่ตั้งไว้, ขยายเสียงเบส, คลาสสิก, แจ๊ส, ป๊อป และร็อค ซึ่งแต่ละแบบสามารถที่จะเข้าไปปรับเสียงได้อีก นอกจากนี้ยังมีการตั้งค่าเสียงในเรื่องของความสมดุล, เพิ่มเสียงทุ้ม และขยายแถบเสียงเสตอริโอ

Radio



"เครื่องเล่นวิทยุ" นั้นยังคงเหมือนเดิมที่ต้องใช้ควบคู่กับชุดหูฟังเพื่อเป็นตัวรับสัญญาณ แต่รุ่นนี้เมื่อกดเข้าใช้งานสิ่งแรกที่จะพบ คือตัวเลือกการใช้งานที่มีให้เลือก 2 รูปแบบ กล่าวคือ 'FM radio' สำหรับรับฟังวิทยุ FM ทั่วๆไป กับ 'Internet radio' วิทยุแบบสตรีมมิ่งผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับรับฟังวิทยุได้ทั่วโลก โดยวิทยุ FM ยังคงฟังก์ชันรูปแบบเดิมที่คุ้นตาเป็นอย่างดี ทั้งระบบสแกนหาความถี่ทั้งแบบค้นหาอัตโนมัติ และค้นหาด้วยตัวผู้ใช้งานเอง(ทศนิยม 2 ตำแหน่ง) เมื่อแสกนความถี่ได้ตามต้องการแล้วสามารถเลือกที่จะจัดเก็บได้ ซึ่งเครื่องรองรับได้สูงสุด 50 สถานี นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกรูปแบบการฟังได้ว่าจะฟังผ่านชุดหูฟัง หรือฟังผ่านลำโพงสเตอริโอของเครื่อง และยังสามารถเลือกให้เล่นเป็นพื้นหลัง ในกรณีต้องการออกไปใช้งานภายนอกด้วย



ส่วน "Internet radio" มีฟังก์ชันการใช้งานคล้ายๆกับ "FM radio" เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบการใช้งานไปเป็นการทำสตรีมมิ่งผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแทน ซึ่งสามารถเลือกรับฟังวิทยุบนอินเทอร์เน็ตได้ทั่วโลก โดยกดค้นหาสถานีเครื่องจะแสดงรายชื่อแต่ละประเทศที่ค้นหาได้ พร้อมกับระบุจำนวนสถานีของแต่ละประเทศไว้ด้านล่าง จากนั้นก็เลือกประเทศที่ต้องการแล้วก็เลือกสถานีที่จะฟัง เครื่องจะทำการเชื่อมต่อกับสถานีโดยโหลดแบบสตรีมมิ่ง เมื่อโหลดเสร็จก็สามารถรับฟังได้เหมือนกับการฟังวิทยุ FM ทั่วๆไป

Camera



ถัดมาไปดูเรื่อง"กล้อง"กันบ้าง ซึ่งกล้องดิจิตอลด้านหลังนั้นให้ความละเอียดที่ 3.2 ล้านพิกเซล (ขนาดภาพสูงสุด 2048 x 1536 พิกเซล) พร้อมไฟแบบ LED 1 ดวง และกระจกเงาสำหรับถ่ายตัวเอง เมื่อไล่ดูฟังก์ชันโหมดทีละฟังก์ชันมีดังนี้ ในส่วนแรกเป็นการปรับโหมดระหว่างถ่ายภาพนิ่งกับถ่ายวิดีโอ ถัดมาเป็นโหมดฉาก มีให้เลือกทั้งหมด 7 แบบ ได้แก่ อัตโนมัติ(Auto), กำหนดเอง(User defined), โหมดระยะใกล้(Close-up), บุคคล(Portrait), ภาพวิว(Landscape), กีฬา(Sport) และกลางคืน(Night) ถัดมาเป็นการตั้งค่าแฟลช(อัตโนมัติ, เปิด, ลดจุดตาแดง และปิดการใช้งาน), การตั้งค่าเวลาถ่าย(2, 10 และ20 วินาที) และสุดท้ายการตั้งค่าถ่ายภาพต่อเนื่อง(เป็นชุด 6 ช็อต, 10 วินาที, 30 วินาที, 1 นาที, 5 นาที, 10 นาที และ 30 นาที)



"การตั้งค่า"สามารถเลือกเข้าไปปรับได้ โดยกด ตัวเลือก > การตั้งค่า ซึ่งมีให้เลือกตั้งค่าต่างๆเริ่มจากคุณภาพของรูปภาพที่มีให้เลือก 3 ระดับ ได้แก่ 3 ล้านพิกเซล ใช้สำหรับการพิมพ์ภาพขนาดใหญ่ (10 x 8 นิ้ว), 2 ล้านพิกเซล สำหรับการพิมพ์ภาพขนาดกลาง (7 x 5 นิ้ว) และ 0.3 ล้านพิกเซล สำหรับภาพขนาดเล็กที่ส่งทางข้อความมัลติมีเดีย ถัดมาเป็นการตั้งค่าการบันทึกตำแหน่งพิกัด 'GPS' ว่าจะให้บันทึกหรือไม่ ต่อมาเป็นการแสดงภาพที่จับว่าจะให้แสดงหรือไม่ ถัดมาเป็นการตั้งชื่อของภาพว่าจะให้ตั้งตามวันที่ หรือจะเป็นข้อความตามที่ผู้ใช้กำหนดก็ได้



การตั้งค่าต่อมาเป็นการตั้งซูมดิจิตอลแบบขยาย ว่าจะปิด, เปิดแบบพักไว้ หรือจะเปิดแบบต่อเนื่อง ถัดมาเป็นการเซ็ตค่าเสียงชัตเตอร์ในการจับภาพ ซึ่งมีให้เลือกปรับทั้งหมด 4 แบบ แต่ไม่สามารถเลือกปิดเสียงได้ ต่อมาเป็นการเลือกแหล่งเก็บภาพ (เครื่อง หรือการ์ดหน่วยความจำ) ถัดลงมาเป็นการตั้งค่าการหมุนภาพอัตโนมัติว่าจะให้หมุนหรือไม่ และเรียกคืนการตั้งค่ากล้อง



ส่วนในโหมด"วิดีโอ"มีฟังก์ชันให้เลือกปรับค่าต่างๆดังนี้ ฉากมีให้เลือก 2 แบบ คือ อัตโนมัติ กับกลางคืน, มีให้เลือกเปิด-ปิดไฟวิดีโอ, ปรับค่าสมดุลสีขาว(White balance) มีให้เลือกปรับ 5 แบบ ได้แก่ แบบอัตโนมัติ, แสงจ้า(Sunny), เมฆหน้า(Coludy), แสงไฟทังสเตน(Incandescent) และแสงไฟนีออน(Fluorescent), โทนสีสามารถเลือกปรับได้ 5 แบบ ได้แก่ ปกติ(Nomal), ซีเปีย(Sepia), ขาวดำ(Black & white), จ้า(Vivid) และเนกาทีฟ(Negative)



"การตั้งค่า"ของโหมดวิดีโอสามารถเลือกเข้าไปปรับได้ ซึ่งคล้ายกับการปรับฟังก์ชันในโหมดกล้องเช่นกัน โดยกดเลือกที่ ตัวเลือก > การตั้งค่า ซึ่งมีรายละเอียดฟังก์ชันต่างๆดังนี้ คุณภาพวิดีโอ มีให้เลือกปรับใช้ถึง 5 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ ทีวีคุณภาพสูง(TV high quality) สำหรับเล่นผ่านทีวี พีซี และโทรศัพท์(คุณภาพดีที่สุด), ทีวีคุณภาพปกติ(TV normal quality) สำหรับเล่นผ่านทีวี พีซี และโทรศัพท์(คุณภาพมาตรฐาน), อีเมลคุณภาพสูง(E-mail high quality) สำหรับเล่นผ่านทางโทรศัพท์อื่นๆ, อีเมลคุณภาพปกติ(E-mail normal quality) คุณภาพมาตรฐานสำหรับเล่นผ่านทางโทรศัพท์อื่นๆ, คุณภาพการแบ่งใช้(Sharing quality) เป็นวิดีโอแบบจำกัด สำหรับส่งข้อความมัลติมีเดีย



นอกจากนี้ ยังมีให้เลือกปรับในส่วนของการบันทึกตำแหน่งพิกัด 'GPS' ว่าจะให้บันทึกหรือไม่, การบันทึกเสียง ว่าจะให้เปิดหรือปิด, ตั้งค่าการแสดงวิดีโอที่ถ่ายไว้ว่าจะให้โชว์เลยหรือไม่, การตั้งชื่อวิดีโอว่าจะให้ตั้งตามวันที่ หรือจะเป็นข้อความตามที่ผู้ใช้กำหนดก็ได้, การเลือกแหล่งเก็บไฟล์วิดีโอ(เครื่อง หรือการ์ดหน่วยความจำ) และเรียกคืนการตั้งค่ากล้อง

***ทั้ง 2 โหมดสามารถใช้กล้องที่สอง(กล้องด้านหน้า)ในการบันทึกได้ โดยกดที่ตัวเลือก > ใช้กล้องสอง ซึ่งกล้องด้านหน้าให้ความละเอียดในระดับ VGA (ถ่ายภาพนิ่ง 640 x 480 พิกเซล, ถ่ายภาพเคลื่อนไหว 176 x 144 พิกเซล 15 เฟรมต่อวินาที)

หลังการใช้งานเมนู "มีเดีย" ศูนย์รวมความบันเทิงเพื่อผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน ต้องบอกว่าทำออกมาได้น่าประทับใจ เริ่มจากเครื่องเล่นเพลงที่มีฟังก์ชันการใช้งานไม่แพ้รุ่นมิวสิกโฟน แถมยังมีช่องต่อหูฟังขนาดมาตรฐาน (3.5 มม.)ทางด้านบนช่วยให้สามารถใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้นด้วย ส่วนเสียงที่ขับออกผ่านลำโพงด้านหลังถือว่าดังชัดเจน ออกโทนใสนุ่มๆดูเข้ากับรุ่น E ซีรีส์ เมื่อลองเร่งระดับเสียงไปจนสุดไม่พบเสียงแตกให้ได้ยิน

กล้องที่ใส่มาให้ถือว่าทำได้ดีไม่แพ้กัน ทั้งในเรื่องของฟังก์ชันการใช้งาน รองรับการถ่ายภาพได้หลากหลายรูปแบบ ยกเว้นการใส่เอฟเฟกต์ในโหมดกล้องถ่ายภาพนิ่ง สามารถใช้ได้ทั้งกล้องหลัก(ทางด้านหลัง) และกล้องที่สอง(ด้านหน้า) ด้านคุณภาพของภาพถ่ายนั้นอยู่ในระดับปานกลาง สีสีนใกล้เคียงกับธรรมชาติไม่สดและจืดมากเกินไป ส่วนคุณภาพของกล้องวิดีโอก็ทำได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของการบันทึกผ่านโทรศัพท์มือถือทั่วไป

GPS



นอกจากนี้ "E75" ยังได้ใส่ระบบนำทาง(GPS)มาให้ใช้กันด้วย แต่ระบบนำทางพร้อมไลเซนส์นั้นทางโนเกียให้ทดลองใช้งานฟรีนาน 3 เดือน ส่วนแผนที่ยังคงใช้'Nokia Maps' ที่ทางโนเกียได้พัฒนาขึ้นเอง ซึ่งใช้งานระบุตำแหน่งบนแผนที่ได้เท่านั้น โดยสามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการแสดงแผนที่ได้ทั้งหมด 4 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ แผนที่, แผนที่ 3 มิติ, ดาวเทียม(แสดงภาพถ่ายทางดาวเทียม) และแบบผสม (แสดงแผนที่บนภาพถ่ายทางดาวเทียมควบคู่กัน) รวมถึงมีระบบค้นหาสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น ร้านอาหาร, โรงแรม, วัด เป็นต้น ซึ่งสามารถค้นหาโดยการพิมพ์ข้อความเกี่ยวกับสถานที่นั้นๆที่ต้องการได้ที่ช่องค้นหาทางด้านล่างของแผนที่

Design of Nokia E75

ตัวเครื่อง Nokia E75 เป็นโทรศัพท์มือถือสไลด์โฟน(ออกทางด้านข้าง) ที่ยังคงสไตล์หรูหราในแบบฉบับ E ซีรีส์ มุมมองด้านหน้าถูกออกแบบให้เป็นรูปทรงแท่งที่คุ้นเคยกันดี ลักษณะพื้นผิวมีความมันวาว รวมถึงขอบเครื่องที่เคลือบด้วยโครเมียมสีเงินเงาทำให้ชวนน่าสัมผัส ซึ่งยังไม่นับรวมคีย์บอร์ด QWERTY ที่ใส่มาให้ใช้งานโดยการสไลด์เครื่องออกทางด้านข้าง ที่ทำให้ดูหรูหราขึ้นทันตาเห็น ตัวเครื่องทำจากพลาสติกผสมกับสแตนเลสสตีล จึงทำให้เครื่องมีความแข็งแรงทนทาน แต่ก็มีน้ำหนักในการพกพาพอสมควร โดยตัวเครื่องมีขนาด 111.8 x 50 x 14.4 มม. น้ำหนักอยู่ที่ 139 กรัม ให้เลือกทั้งหมด 3 สี ได้แก่ สีดำเงิน สีแดง และสีทองแดง



ด้านหน้า : ไล่จากบนสุดของตัวเครื่องจะพบลำโพงสนทนาวางอยู่ตรงกึ่งกลางของตัวเครื่อง ใกล้กันฝั่งซ้ายของลำโพงเป็นเซ็นเซอร์วัดแสง สำหรับปรับความสว่างหน้าจอให้เข้ากับสภาพแสงในขณะนั้น ส่วนทางฝั่งขวาของลำโพงเป็นกล้องรูเข็มกล้องตัวที่สองของเครื่อง (ใช้ได้ทั้งถ่ายภาพ และวิดีโอคอล) ถัดลงมาทางด้านล่างเป็นยี่ห้อ "NOKIA" และชื่อรุ่น "E75" ถัดลงมาเป็นส่วนของจอแสดงผล TFT-LCD 16.7 ล้านสี ขนาด 2.4 นิ้ว (240 x 320 พิกเซล) แสดงผลแนวนอนและแนวตั้งอัตโนมัติ ตามลักษณะการจับถือของผู้ใช้



ใต้จอแสดงผลเป็นชุดปุ่มควบคุม ประกอบไปด้วย ปุ่มซอฟต์คีย์ซ้าย, ปุ่มโฮม (สำหรับกลับมาเข้าสู่หน้าหลัก), ปุ่มควบคุมแบบ 5 ทิศทาง(ไฟกระพริบสีขาวเมื่อเครื่องเข้าโหมดสแตนบาย), ปุ่มลบตัวอักษร, ปุ่มซอฟต์คีย์ขวา, ปุ่มรับสาย-โทรออก, ปุ่มทางลัดปฏิทิน, ปุ่มทางลัดเข้าใช้งานอีเมล และปุ่มวางสาย(กดค้างเปิด-ปิดเครื่อง) ส่วนทางด้านล่างเป็นแผงปุ่มกดตัวเลข-ตัวอักษรตามมาตรฐานสากลทั่วไป ซึ่งปุ่มมีความนุ่ กดใช้งานง่ายมเมื่อสัมผัส



เมื่อสไลด์ตัวเครื่องออกทางด้านข้างจากซ้ายไปขวา จะพบกับแผงคีย์บอร์ด "QWERTY" แบบเต็มรูปแบบจำนวน 4 แถว ซึ่งหน้าจอจะเปลี่ยนเป็นแนวนอนตามคีย์บอร์ดโดยอัตโนมัติ จุดนี้น่าจะออกมาแก้ไขทุกรุ่นในตระกูล E ซีรีส์ ทำให้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานมากขึ้น โดยเฉพาะการพิมพ์ข้อความทำได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นนั่นเอง มีไฟเรืองแสงสีขาวช่วยการใช้งานในที่แสงน้อย ฝาหลังดูแน่นหนาสามารถป้องกันการลื่นไหลแบบไม่ได้ตั้งใจได้เป็นอย่างดี

***หมายเหตุ หากต้องการกดปุ่มเปลี่ยนภาษาสามารถกดได้ โดยการกดปุ่ม "Shift" (ลูกศรขึ้น) แล้วตามด้วย ปุ่ม "Chr" ส่วนถ้าต้องการใช้สัญลักษณ์ก็ให้กด "Chr" แล้วเลือกหาสัญลักษณ์ที่ต้องการ



ด้านหลัง : ไล่จากด้านบนฝั่งซ้ายจะพบเลนส์กล้องดิจิตอลระบบออโต้โฟกัส พร้อมข้อความการันตีความละเอียดที่ระดับ 3.2 ล้านพิกเซล ใกล้กันกับเลนส์เป็นไฟแฟลชชนิด LED และกระจกเงาสำหรับถ่ายภาพตัวเอง (ตามลำดับ) ส่วนฝั่งขวามีลำโพงเสียงวางไว้เพียงอย่างเดียว ทางด้านล่างเป็นฝาหลังมีข้อความ "Nokia Eseries" วางพาดอยู่ตรงกึ่งกลาง ซึ่งใช้วัสดุที่ทำจากสแตนเลส สตีล ทางด้านล่างสุดมีปุ่มกดเพื่อปลดล็อกฝาหลัง



เมื่อเปิดฝาหลังออกจะพบแบตเตอรี่ชนิด Li-Ion 1,000 mAh รุ่น BL-4U และช่องใส่ซิมการ์ดอยู่เหนือช่องใส่แบตฯ เมื่อใช้งานต้องถอดแบตฯออกก่อนจึงจะสามารถใส่ซิมการ์ดได้



ด้านขวา : ไล่จากบนสุดเป็นปุ่มปรับระดับเพิ่ม-ลดเสียง/ซูมขยาย-ลดภาพในโหมดกล้อง ปุ่มกลางสำหรับการสั่งงานด้วยเสียง ถัดมาเป็นปุ่มชัตเตอร์ในการถ่ายภาพของเมนูกล้อง (กดค้างเข้าเมนูถ่ายภาพ) และล่างสุดมีรูสำหรับร้อยสายคล้องมือ-คอ



ด้านซ้าย : ด้านนี้มีช่องเชื่อมต่ออุปกรณ์ microUSB กับช่องใส่เมมโมรีการ์ดแบบ MicroSD ซึ่งรองรับได้สูงสุด 16 GB(มาพร้อมกล่อง 4 GB) โดยทั้งสองช่องนั้นมีฝายางหุ้มปิดอย่างมิดชิด





ด้านบน และด้านล่าง : ด้านบนมีเพียงช่องต่อชุดหูฟังมาตรฐานขนาด 3.5 ม.ม.(ขนาดปกติทั่วไป)เท่านั้น ซึ่งมีสัญลักษณ์รูปหูฟังแสดงชัดเจน ส่วนด้านล่างช่องเสียบสายชาร์จแบตเตอรี่ กับรูไมโครโฟน

บทสรุป

สำหรับ E75 เครื่องนี้ ถือว่าเป็นรุ่นสมบูรณ์แบบที่สุดในตระกูล E ซีรีส์เลยก็ว่าได้ ซึ่งความสมบูรณ์แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ส่วนแรกที่เห็นเด่นชัดคือเรื่องของดีไซน์ที่มีการเพิ่มคีย์บอร์ด QWERTY แบบเต็มรูปแบบมาให้ใช้งานกันสะดวกขึ้น ส่วนที่สองคือเรื่องของฟังก์ชันที่ใส่มาตอบสนองการใช้งานค่อนข้างครบ ด้านระบบการเชื่อมต่อหมดห่วงได้เลยว่าจะขาดการติดต่อจากสังคมออนไลน์ได้ง่าย เนื่องจากใส่มาให้ใช้กันครบครัน โดยรองรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วย GPRS, EDGE, HSDPA และWi-Fi 802.11b/g ส่วนการเชื่อมต่อแบบออฟไลน์รองรับการเชื่อมต่อบลูทูธ (รองรับ A2DP) และเชื่อมต่อผ่านสายดาต้าลิงก์แบบ Micro USB

การตอบสนองการใช้งานสามารถทำได้อย่างลื่นไหล และถือว่าทำงานได้ไวขึ้นกว่าเดิมมากจนรู้สึกได้ พลังงานแบตฯถือว่าสอบผ่านโดยภายหลังลองใช้งานฟังเพลง ฟังวิทยุวันละ 1 ชั่วโมง, ใช้กล้องถ่ายภาพวันละเล็กน้อย เปิดไวไฟเช็กอีเมล เล่นอินเทอร์เน็ตโดยรวมใช้ระยะเวลาวันละประมาณ 1 ชั่วโมง แบตเตอรี่สามารถอยู่ได้ 2 วันเต็มสบายๆ แถมยังเหลือใช้ต่ออีกเล็กน้อย ส่วนเสียงระหว่างการสนทนาดังชัดเจนดี ไม่มีเสียงก้องให้ได้ยิน

ด้านคีย์บอร์ด QWERTY แบบเต็มรูปแบบที่ถือว่าเป็นจุดเด่นหลักของเครื่องนี้นั้น สามารถตอบสนอง และเพิ่มความสะดวกในการใช้งานได้เป็นอย่างดี การใช้พิมพ์ข้อความภาษาอังกฤษไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นการพิมพ์ข้อความภาษาไทยผู้ใช้อาจเกิดความสับสนได้อยู่พักใหญ่ เนื่องจากตัวอักษรที่อยู่แถวบน และด้านข้าง(เมื่อเทียบกับคีย์บอร์ดปกติ)ได้ย้ายมาซุกตัวอยู่ตามปุ่มต่างๆแถวด้านล่าง ได้แก่ (ต), (ข), (จ), (ฐ), (บ), (ล), (ช), (ซ), (ค), (ว), (ง), สระอึ สระอู เครื่องหมาย (-), (+), (#), (*) และ(=) ซึ่งหากใช้งานบ่อยๆจะเกิดความคุ้นเคยไปเอง

ขอชม

- วัสดุของตัวเครื่องทำจากพลาสติกผสมกับสแตนเลสสตีล จึงทำให้แข็งแรง-ทนทาน
- การใช้งานตอบสนองได้อย่างไหลลื่น และค่อนข้างไว
- ฟังก์ชันการใช้งานใส่ให้มาใช้ครบครัน ทั้งการทำงาน และมัลติมีเดีย

ขอติ

- เมื่อใช้วัสดุที่ดูแข็งแรงทนทาน สิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือเรื่องของน้ำหนัก
- คีย์ลัดที่อยู่บนปุ่มควบคุมอยู่ติดกันมากเกินไป ทำให้บางครั้งกดพลาดได้ง่ายๆ
- ขอบเครื่องที่เคลือบด้วยโครเมียมเมื่อใช้นานๆไป อาจจะมีรอยลอก-ถลอกได้

คุณสมบัติทั่วไปของ Nokia E75


ระบบเครือข่าย : GSM 850/900/1800/1900 MHz
รองรับ : GPRS/EDGE Class 32, HSDPA 3.6 Mbps
หน้าจอ : TFT-LCD 16 ล้านสี ขนาด 2.4 นิ้ว (320 x 240 พิกเซล)
ขนาดตัวเครื่อง : 11.8 x 50 x 14.4 มิลลิเมตร
น้ำหนัก : 139 กรัม
หน่วยความจำภายใน : 50MB
หน่วยความจำภายนอก : รองรับ MicroSD สูงสุด 16GB
เสียงเรียกเข้า : Polyphonic, MP3, Video ringtone
กล้องด้านหลัง : 3.2 ล้านพิกเซล ออโต้โฟกัส พร้อมแฟลช
กล้องด้านหน้า : มี
เครื่องเล่น MP3 Player : มี
วิทยุ FM Radio : มี
เชื่อมต่อ : บลูทูธ 2.0, microUSB, WiFi 802.11b/g
ระบบนำทาง GPS : มี
แบตเตอรี่ : Li-ion 1,000 mAh

สำหรับราคาจำหน่ายของ Nokia E75 ราคาเปิดตัว 17,600 บาท

Company Related Links :
Nokia














ตัวอย่างภาพถ่ายโหมดปกติ
ตัวอย่างภาพถ่ายโหมดระยะใกล้(Close-up)
กำลังโหลดความคิดเห็น