xs
xsm
sm
md
lg

ราชกรุ๊ป-SPIชี้SMRเป็นทางรอดประเทศไทย เร่งส่งเสริมแลกเปลี่ยนความรู้สู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่มั่นคงยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราช กรุ๊ป - SPI จับมือสนับสนุนองค์ความรู้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (SMR )ในประเทศไทย โดยร่างแผนPDP บรรจุนำ SMR เข้ามาในช่วงปลายแผน เพื่อปูทางสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่มั่นคงและยั่งยืน 
บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือSPI ประสานความร่วมมือจัดงานสัมมนา "Thailand's SMR Energy Forum - A Global Dialogue on SMR Deployment" มีนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานและองค์ปาฐกพิเศษในหัวข้อ "อนาคตของความมั่นคงทางพลังงาน" นอกจากนี้ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (SMR) ทั้งไทยและต่างประเทศมาร่วมให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นับเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (SMR) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่มีศักยภาพในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านพลังงานและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของประเทศไทยในปี 2608

การสัมมนาครอบคลุมประเด็นสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมความพร้อมสำหรับการนำ SMR มาใช้ในประเทศไทยในอนาคต ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีและการออกแบบ การจัดการเชื้อเพลิงและซัปพลายเชน การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย กฎระเบียบและการกำกับดูแล การลงทุน การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้าน SMR และการสร้างการยอมรับของสังคม เป็นต้น


นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ หรือ SMR เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์ความมั่นคงและเป็นพลังงานสะอาดให้กับระบบไฟฟ้ารองรับไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้มากขึ้น ลดความเสี่ยงจากไฟตก หรือไฟดับในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงได้เป็นอย่างดี

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 70ปีที่แล้ว ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีมาโดยตลอด ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เดินเครื่องอยู่ 417 โรงจาก 31 ประเทศทั่วโลก แม้แต่ญี่ปุ่นยังกลับมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว 10กว่าโรงและเตรียมเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มอีก ส่วนสหรัฐฯมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกือบ 100โรง ส่วนจีนอีกราว 50โรง เป็นต้น

การพัฒนาเทคโนโลยี SMR รุดหน้าเป็นอย่างมาก ขณะที่ประเทศไทยก็มีแผนที่จะนำ SMR เข้ามาใช้ โดยมีการศึกษาและเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ แล้ว

นายวิชัย กุลสมภพ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPI กล่าวว่า การขับเคลื่อนเทคโนโลยี SMR อาจฟังดูเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย แต่ในระดับโลกถือเป็นเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก โดยคาดหมายว่า SMR จะเป็นส่วนหนึ่งของพลังงานสะอาดที่จะมาแทนที่โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคตในประเทศไทย แม้ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาและวางแผน ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการในหลายด้าน ทั้งด้านกฎหมาย การกำกับดูแล การคัดเลือกเทคโนโลยี การเลือกพื้นที่ติดตั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้า

 SPI ในฐานะภาคเอกชนเห็นว่า อนาคตของพลังงานไม่ควรพึ่งพาแหล่งพลังงานรูปแบบเดิมเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป การหาทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และยั่งยืนจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นความท้าทายระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ Carbon Neutrality และพลังงานสีเขียว ดังนั้นSMRจึงไม่ใช่ทางเลือก
แต่เป็นทางรอดของประเทศไทย

ทั้งนี้ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ด้าน Small Modular Reactor เพื่อร่วมกันสนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับ SMR เพื่อสนับสนุนนโยบายของภาครัฐในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงสะอาด และตอบสนองความต้องการพลังงานไฟฟ้าสีเขียวของภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ SMR และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น