ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ รักษาการประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และรองศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ พร้อมคณะกรรมการบริหารและเจ้าหน้าที่ ได้เข้าร่วมการประชุมระดับนโยบายด้านความร่วมมือพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (Small Modular Reactor: SMR) ณ มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับหน่วยงานชั้นนำของจีน อาทิ China National Nuclear Corporation Overseas Ltd. (CNOS), Nuclear Power Institute of China (NPIC), CNNC Environmental Protection Co., Ltd. (CEPC) และ Hainan Nuclear Power Co., Ltd.
หนึ่งในกิจกรรมสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือ การลงนามใน "หนังสือแสดงเจตจำนงความร่วมมือ" (Letter of Intent for Collaboration) ระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. และ Nuclear Power Institute of China ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันงานวิจัย การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และฝึกอบรมบุคลากรด้าน SMR นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมีเป้าหมายจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วมด้าน SMR ซึ่งอยู่ระหว่างการขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยและจีน โดยมีแผนจะยกระดับให้เป็น "ห้องปฏิบัติการร่วมจีน-ไทย" ภายใต้โครงการ China-Thailand Belt and Road Joint Laboratory ในอนาคต
การร่วมมือกับ Nuclear Power Institute of China ซึ่งเป็นศูนย์กลางวิจัยและพัฒนาด้านนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ของจีน นับเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยในการเข้าถึงเทคโนโลยีล้ำสมัย ครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบ ทดสอบ การดำเนินงาน ตลอดจนการพัฒนาเชื้อเพลิงและวัสดุนิวเคลียร์ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยพลังงานสะอาด
นอกจากนี้คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเครื่อง SMR ของ สทน. เดินทางไปศึกษาดูงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็ก หรือ SMR ณ เมืองฉางเจียง มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน สทน.เข้าศึกษาดูงาน การพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างซึ่งใช้ชื่อว่า ACP100 หรือ Linglong One มีกำลังผลิต 100 เมกะวัตต์ (MWe) ซึ่งเหมาะสำหรับใช้ในโครงการพลังงานขนาดเล็กหรือพื้นที่ที่ไม่สามารถติดตั้งเครื่องปฏิกรณ์ขนาดใหญ่ได้ รวมไปถึง พื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่ที่ต้องการพลังงานที่มีความยืดหยุ่นและสามารถใช้งานได้ในระยะยาว
นอกจากนี้ เครื่องปฏิกรณ์รุ่นนี้มีการออกแบบให้มีความปลอดภัยสูง ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า "passive safety" หรือการรักษาความปลอดภัยโดยไม่ต้องพึ่งพาการควบคุมจากมนุษย์หรือพลังงานภายนอก มีการใช้เทคโนโลยี การป้องกันอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด (passive safety systems) เช่น ระบบการหล่อเย็น ที่มีการสำรองอัตโนมัติ ACP100 เป็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ประเภทใช้เทคโนโลยีน้ำอัดแรงดัน หรือ Pressurized Water Reactor (PWR) ซึ่งใช้น้ำเป็นตัวกลางระบายความร้อน สามารถหยุดการทำงานได้เองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ระบบระบายความร้อนไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้า โรงไฟฟ้ามีอายุการใช้งาน 60 ปี ACP100 ถูกพัฒนาให้ยกระดับความปลอดภัยให้สูงขึ้น ลดความซับซ้อนของอุปกรณ์ สามารถหยุดการทำงานได้เองเมื่อมีเหตุฉุกเฉินโดยไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการได้ถึง 72 ชั่วโมง รวมถึงมีพื้นที่ในการจัดเตรียมแผนฉุกเฉินลดลง โดยมีรัศมีประมาณ 500 เมตร ในขณะที่โรงไฟฟ้าแบบปกติ ใช้รัศมีถึง 5 กิโลเมตร โดยโรงไฟฟ้า ACP100 จะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2569 ซึ่งโครงการดังกล่าวดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของจีน China National Nuclear Corporation (CNNC)
การลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงความร่วมมือและการศึกษาดูงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ SMR ครั้งนี้
จึงถือเป็นก้าวสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี SMR ของไทย ถือเป็นการวางรากฐานให้กับอนาคตของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในประเทศไทยให้มีศักยภาพในการเป็นพลังงานทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม