- • งานประชุมรวบรวมผู้เชี่ยวชาญกว่า 3,500 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านความยั่งยืน
- • SCC เสนอ 4 ข้อเสนอต่อรัฐบาล:
- • ปลดล็อกกฎหมายและข้อกำหนด เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้าน ESG
- • เข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจในการลงทุนยั่งยืน
- • พัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว เพื่อผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว
- • สนับสนุนการปรับตัวของ SMEs ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและแนวทางการดำเนินงานอย่างยั่งยืน
- • เป้าหมายคือการเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน
SCC ปลื้มทุกภาคส่วนระดมสมองกว่า 3,500 คนในงาน ESG Symposium 2024 ชง 4 ข้อเสนอยื่นรัฐบาล "ปลดล็อกกฎหมายและข้อกำหนด-เข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว-พัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว-หนุนการปรับตัว SMEs" เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและผลักดันระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน แนะ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เป็นพื้นที่ทดลองสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมงาน 'ESG SYMPOSIUM 2024: Driving Inclusive Green Transition ยิ่งเร่งเปลี่ยน ยิ่งเพิ่มโอกาส' เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 และรับฟังข้อเสนอร่วม-เร่ง-เปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำจากการระดมความคิดทุกภาคส่วน
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) เปิดเผยว่า ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาทุกภาคส่วนรวมกว่า 3,500 คน ร่วมระดมสมองเพื่อหาแนวทางร่วม-เร่ง-เปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ต่อเนื่องจากการขับเคลื่อนในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีความคืบหน้าเป็นรูปธรรม ในงาน ‘ESG SYMPOSIUM 2024: Driving Inclusive Green Transition ยิ่งเร่งเปลี่ยน ยิ่งเพิ่มโอกาส’ โดยสรุปเป็นแนวทางนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น ผ่าน 2 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด พร้อมกับผลักดันระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และการใช้ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทย เป็นพื้นที่ทดลองแก้ปัญหาข้อติดขัด ทั้งในเชิงนโยบาย ระบบอุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว ควบคู่กับการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
โดยเตรียมยื่น 4 ข้อเสนอรัฐ ดังนี้ คือ 1. ปลดล็อกกฎหมายและข้อกำหนด (Law & Regulations) โดยภาครัฐเร่งเปิดเสรีซื้อ-ขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงง่ายขึ้น สำหรับโครงการพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ กำหนดให้มีระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า เพื่อความเสถียรยิ่งขึ้น ส่งเสริมผู้ผลิตออกแบบผลิตภัณฑ์โดยใช้วัสดุทดแทนหรือวัสดุรีไซเคิล กำหนดมาตรการจูงใจ เช่น ลดภาษีหรือเงินสนับสนุน รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนส่งเสริมนโยบาย ‘Green Priority’ ให้ความสำคัญต่อการใช้สินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยภาครัฐนำร่องจัดซื้อ จัดจ้าง เพื่อส่งเสริมการใช้สินค้ากรีนและสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) เข้มแข็ง
2. ผลักดันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว (Green Finance) โดยสนับสนุนงบประมาณพัฒนาบุคลากรของผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถขึ้นทะเบียนคาร์บอน ที่เป็นมาตรฐานสากล และจัดตั้งหน่วยงานในประเทศให้สามารถรับรองมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการทำคาร์บอนเครดิต เพื่อนำไปขอเงินทุนสีเขียว โดย SCC พร้อมเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุน และเป็นตัวกลางประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ
3. พัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว โดยรัฐสนับสนุนการใช้และพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานรูปแบบต่างๆ เช่น แบตเตอรี่กักเก็บความร้อน (Heat Battery) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานหมุนเวียน ปรับปรุงโครงสร้างและผลักดันการใช้โครงสร้างพื้นฐานสีเขียวที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น นำพื้นที่ว่างมาใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานสะอาด และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานระบบสายส่งไฟฟ้าให้เพียงพอกับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด
และ 4. สนับสนุนการปรับตัว เสริมศักยภาพการแข่งขัน SMEs พัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดต้นทุน ส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์อัตโนมัติ (Automation) และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs