- • SCC วางงบลงทุน 5 ปี (68-72) 2 แสนล้านบาท
- • เน้นลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีและพลังงานหมุนเวียน
- • มุ่งสร้างความสามารถในการแข่งขันระยะยาว
- • เตรียมเพิ่มทางเลือกใช้วัตถุดิบ "อีเทน" ป้อนโครงการ LSP ที่เวียดนาม
- • วางแผนรับมือวัฏจักรปิโตรเคมีขาลงยาว
- • ตั้งเป้า... (เนื้อข่าวไม่ได้ระบุเป้าหมายที่ชัดเจน)
SCG อัดงบลงทุน 5 ปี(ปี68-72) 2 แสนล้านบาท เน้นธุรกิจปิโตรเคมีและธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันระยะยาว เผยเตรียมเพิ่มทางเลือกใช้วัตถุดิบ “อีเทน”ป้อนโครงการLSPที่เวียดนาม รับมือวัฏจักรปิโตรเคมีขาลงยาว ตั้งเป้าปีหน้ารายได้โต10%
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ยังมีความท้าทายมากจากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ พร้อมทั้งกฎเกณฑ์และโอกาสใหม่ ๆ จากเทรนด์รักษ์โลก ซึ่งทุกธุรกิจของSCG ได้มีการปรับกลยุทธ์ ให้สอดคล้องกับเทรนด์โลกพร้อมลดการปล่อยคาร์บอน ตามแนวทาง Inclusive Green Growth เพื่อสร้างความสามารถการแข่งขันระยะยาว
ทำให้บริษัทมั่นใจว่าปี2568 บริษัทมีรายได้เติบโตขึ้น 10%ต่อเนื่องจากปีนี้ที่คาดว่าบริษัทรายได้โตขึ้น 10%จากปี2566 ที่มีรายได้รวม 5.28 แสนล้านบาท โดยปีหน้ามีปัจจัยบวก โดยหลักๆยังคงมาจากกลุ่มวัสดุก่อสร้างที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ในส่วนของต่างประเทศทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย ก็ยังไปได้ดี จึงยังมองภาพรวมธุรกิจซีเมนต์ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ขณะที่ธุรกิจแพจเกจจิ้ง คาดว่าจะกลับมาดีขึ้น แต่ธุรกิจปิโตรเคมียังต้องระมัดระวัง
นายธรรมศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทฯวางงบลงทุน 5 ปีข้างหน้า(ปี 2568-2573) รวม 200,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 40,000ล้านบาท ส่วนใหญ่เน้นลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมี และธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก ซึ่งการลงทุนโครงการใหม่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบบนมาตรการคุมเข้มทางการเงิน และมุ่งลดเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจลง 10-15% จากการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมทั้งโฟกัสในธุรกิจที่มีศักยภาพ ปิดธุรกิจที่ไม่ทำกำไร โดยครึ่งแรกของปีนี้ มีเงินสดคงเหลือ 78,907 ล้านบาท
สำหรับแผนการลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมี บริษัทมีแผนลงทุนสร้างถังเก็บก๊าซฯอีเทนเพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซฯอีเทนจากสหรัฐฯที่มีราคาถูกกว่าการใช้แนฟทามาเป็นวัตถุดิบป้อนโครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals – LSP) ที่เวียดนาม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน รองรับสถานการณ์อุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั่วโลกอ่อนตัวอย่างต่อเนื่องและราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน คาดว่าโครงการลงทุนดังกล่าวจะสร้างถังเก็บและท่อนำส่งก๊าซอีเทน3ปีแล้วเสร็จในปลายปี 2570 และจะสามารถใช้อีเทนได้เต็มปีตั้งแต่ปี 2572 เป็นต้นไป
ส่งผลให้โครงการ LSP ให้มีความยืนหยุ่นด้านต้นทุนการผลิตมากขึ้น จากการเพิ่มทางเลือกใช้วัตถุดิบในการผลิต ลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบ โดยจะเพิ่มสัดส่วนการใช้อีเทนเป็นวัตถุดิบเพิ่มเติมจากการใช้แนฟทาและโพรเพนเนื่องจากราคาเฉลี่ยอีเทนต่ำกว่า 40% ซึ่ง โครงการLSP จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 2567 หลังเลื่อนมาจากกลางปีนี้
นอกจากนี้ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและที่อยู่อาศัย เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน มุ่งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้มาตรการภาษีคาร์บอนที่เริ่มบังคับใช้ในหลายประเทศ โดยที่ผ่านมา บริษัทสามารถส่งออกปูนคาร์บอนต่ำไปสหรัฐอเมริกาได้แล้วมากกว่า 1 ล้านตัน รวมทั้งยังสามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ ๆ ทั้งในอาเซียน ออสเตรเลีย และแคนาดา ปัจจุบันกำลังพัฒนาปูนคาร์บอนต่ำ เจเนอเรชัน 3 ด้วยเทคโนโลยีที่สามารถเพิ่มสัดส่วนการทดแทนปูนเม็ดในการผลิต ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ 40-50% รวมทั้งเร่งขยายกำลังการผลิตปูนคาร์บอนต่ำในเวียดนามใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและสามารถเป็นฐานการส่งออกในอนาคต
ส่วนทิศทางของ เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า สินค้าหลักอย่างกลุ่มวัสดุก่อสร้างจะมุ่งพัฒนาสินค้าคาร์บอนต่ำมากขึ้น ตอบโจทย์ตลาดรักษ์โลก เน้นการลดคาร์บอน พร้อมมีดีไซน์สวยและแข็งแรงทนทาน นอกจากนี้มีแผนใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ออกแบบผลิตภัณฑ์ เพิ่มความรวดเร็วและปรับได้ตามความต้องการลูกค้า ควบคู่กับพัฒนากระบวนการผลิต เพิ่มหุ่นยนต์ เพื่อลดของเสีย บริหารต้นทุนให้แข่งขันได้กับผู้เล่นรายใหม่ ๆ ที่เข้ามา
ส่วนธุรกิจ New S-Curve เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ เดินหน้าขยายสู่อาเซียน ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มุ่งสู่เป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 3,500 เมกะวัตต์ในปี 2573 จากปัจจุบันประมาณ 600 เมกะวัตต์ โดยปีหน้าตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอีก300เมกะวัตต์
สำหรับเอสซีจี ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล ใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มและ AI ยกระดับระบบจัดจำหน่ายสินค้าให้ลูกค้าและคู่ค้าเข้าถึงสะดวกขึ้น ช่วยลดระยะเวลาการเก็บสินค้าคงคลัง และสามารถคาดการณ์ความต้องการสินค้าในอนาคต ช่วยให้ธุรกิจแข่งขันได้ดียิ่งขึ้นภายใต้ตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว