“พีระพันธุ์” เดินหน้า “รื้อ ลด ปลด สร้าง” ต่อเนื่อง ล่าสุด “สร้าง” มาตรฐาน “ไฟฟ้าสีเขียว” เป็นครั้งแรกในไทย หนุนนโยบายรัฐบาลต้อนรับการลงทุนข้ามชาติขยายฐานเข้าไทย ลดอุปสรรคข้อกีดกันภาษีคาร์บอนข้ามแดนให้ผู้ประกอบการไทย คาดเปิดขายได้ก.พ.นี้ “พิมพ์ภัทรา” หนุนรับดีมานด์ภาคอุตสาหกรรมดึงการลงทุน
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน มีความพร้อมในการจัดหา “ไฟฟ้าสีเขียว” หรือไฟฟ้าที่มีกระบวนการผลิตจากพลังงานสะอาด อย่างมีมาตรฐาน พร้อมด้วยกลไกการรับรองมาตรฐานแหล่งที่มาซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมั่นใจว่าจะมี “ไฟฟ้าสีเขียว” ในปริมาณเพียงพอสนองตอบต่อความต้องการ และรองรับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเร่งรัดและเพิ่มปริมาณการลงทุนทางตรง (Foreign Direct Investment : FDI) จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยตามขั้นตอนจะต้องเปิดรับฟังความเห็นประชาชนเกี่ยวกับราคาค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (UGT) ภายในเดือน ม.ค. 2567 นี้ จากนั้นจะเริ่มเปิดขายไฟฟ้าพร้อมให้ใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (REC) ในเดือน ก.พ. 2567 เป็นต้นไป
“เป็นครั้งแรกที่ไทยจะมีกระบวนการผลิต จัดหา และรับรองไฟฟ้าสีเขียวใช้ และผมมั่นใจว่าประเทศไทยมีความพร้อมด้านการให้บริการไฟฟ้าสีเขียวเพื่อรองรับความต้องการพลังงานของธุรกิจ หรือบริษัทข้ามชาติที่ต้องการขยายการลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ทั้งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ขจัดอุปสรรคด้านการค้า การลงทุน จากภาษีคาร์บอนข้ามแดน (CBAMC) ได้เป็นอย่างดี” นายพีระพันธุ์กล่าวระหว่างการแถลงข่าว “เดินหน้าพลังงานสะอาด” Utility Green Tariff ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และการลงทุน”
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)กล่าวว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมเปิดรับฟังความเห็นอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวประชาชนในเดือน ม.ค. 2567 โดยจะแบ่งอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1.อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT1) โดยกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าดังนี้ คือ ค่าไฟฟ้าปกติที่ประชาชนใช้ (ค่าไฟฟ้าฐาน+ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft) และบวกรวมค่าบริการส่วนเพิ่มอีก 0.0594 บาทต่อหน่วย
ประเภทที่ 2 คือ อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT 2) หรือผู้ที่ต้องการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนใหม่เท่านั้น โดยอัตราค่าไฟฟ้าจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1.สำหรับการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ(COD) ในปี พ.ศ. 2568-2570 ในอัตรา 4.56 บาทต่อหน่วย และกลุ่มที่ 2 สำหรับการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ DOD ระหว่างปี 2571-2573 ในอัตรา 4.55 บาทต่อหน่วย
สำหรับการซื้อไฟฟ้าสีเขียวนี้ จะเปิดใช้เฉพาะกับลูกค้าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านั้น โดยใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (REC) จะแบ่งเป็น กรณีใบรับรองจากการซื้อไฟฟ้าของ UGT 1 จะเป็นใบรับรองแบบปีต่อปี ที่จะออกโดยการไฟฟ้าแต่ละแห่งที่ผู้ซื้อติดต่อซื้อไฟฟ้าไว้ ส่วน UGT2 จะเป็นใบรับรองระยะยาว 10 ปี ซึ่งหมายถึงผู้ซื้อจะใช้ราคาเดียวตลอด 10 ปี
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การจัดหาไฟฟ้าสีเขียวด้วยกระบวนการรับรองอย่างมีมาตรฐาน และมีปริมาณเพียงพอรองรับแนวโน้มความต้องการพลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรมไทยและต่างชาติ นอกจากจะเป็นการยกระดับภาคการผลิตของอุตสาหกรรมไทยให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว ยังจะเป็นการสร้างความได้เปรียบและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ สร้างโอกาสให้ประเทศในการเป็นฐานการผลิตรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่จากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี
“กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 รวมถึงส่งเสริมการประกอบกิจการอุตสาหกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) และภายใต้โครงการ UGT ของภาครัฐ จะเป็นการต่อยอดและยกระดับอุตสาหกรรม สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดให้มากยิ่งขึ้น” นางสาวพิมพ์ภัทรากล่าว
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)กล่าวว่า ขณะนี้ กกพ.ได้ประกาศหลักเกณฑ์การให้บริการและการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแล้ว และอยู่ระหว่างนำ (ร่าง) ข้อเสนออัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวซึ่งกำหนดภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจะเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะเปิดบริการไฟฟ้าสีเขียวให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนได้อย่างเป็นทางการ
“การเตรียมความพร้อมในการจัดหาไฟฟ้าสีเขียว อัตราค่าบริการ และมาตรฐานกระบวนการรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียว กกพ.ได้ทยอยดำเนินการมาเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) เข้าสู่ระบบกว่า 4,800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 ควบคู่ไปกับการออกแบบกำหนดหลักเกณฑ์การคิดอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว และแนวทางการกำกับดูแลให้กระบวนการบริหารจัดการและรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียวให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานสากล ซึ่งขณะนี้เสร็จเรียบร้อยทั้งหมด และพร้อมให้การไฟฟ้าฯ ให้บริการแล้ว” นายเสมอใจ กล่าว
สำหรับขั้นตอนสำหรับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวนั้น การไฟฟ้าฯ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการในแต่ละพื้นที่จะประกาศให้ทราบต่อไป อย่างไรก็ตาม การประกาศโครงการ UGT นับเป็นจุดเริ่มต้นโดยภาครัฐ เพื่อให้ผู้ให้บริการพลังงานทุกภาคส่วนเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน ในระยะเริ่มต้นอาจยังมีข้อจำกัด โดย กกพ.เล็งเห็นว่าจะสามารถขยายโครงการนี้ให้ครอบคลุมความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าได้หลากหลายขึ้นและปรับปรุงข้อจำกัดต่างๆ ในระยะถัดไปได้ โดยอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงต้องได้รับความเห็นและเสียงสะท้อนจากผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวด้วย