xs
xsm
sm
md
lg

ครบ 83 ปี กรมขนส่งฯเดินหน้าปฎิรูปรถเมล์ 237 เส้นทาง มุ่งพัฒนาขนส่งสาธารณะและโลจิสติกส์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมขนส่งฯ ครบ 83 ปี พัฒนามาตรฐานขนส่งสาธารณะและโลจิสติกส์เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัย มุ่งเทคโนโลยีดิจิทัลให้บริการประชาชน เดินหน้าปฎิรูปรถเมล์ 237 เส้นทาง เผยศูนย์ขนส่งชายแดน"นครพนม"และ"เชียงของ"เปิดบริการปี 68

วันที่ 9 สิงหาคม 2567 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลัง ร่วมแสดงความยินดีและมอบนโยบาย แก่ผู้บริหารกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา ขบ. ครบรอบ 83 ปี ว่า ขบ. เป็นองค์กรคุณภาพที่มีความผูกพัน ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของประชาชนมากที่สุด โดยได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาให้บริการ เพื่อลดภาระและค่าใช้จ่ายของประชาชน จึงขอให้บุคลากรของ ขบ. พัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีความเหมาะสมกับลักษณะพฤติกรรมของพี่น้องประชาชนชาวไทยสำหรับให้บริการ พร้อมทั้งให้เตรียมความพร้อมการบริหารจัดการการใช้รถยนต์พลังงานสะอาดที่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ขอชื่นชมการดำเนินโครงการ “กรมการขนส่งทางบก สภากาชาดไทย เชิญชวนร่วมบริจาคอวัยวะ สร้างกุศลผู้ให้ สร้างชีวิตใหม่ผู้รับ” ที่เชิญชวนผู้มาขอรับใบอนุญาตขับรถร่วมแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ เพื่อขยายฐานผู้แสดงความจำนงให้เพิ่มมากขึ้น โดยจัดทำสัญลักษณ์ของสภากาชาดไทย “กากบาทแดงบนพื้นสีขาว” และเพิ่มข้อความ “บริจาคอวัยวะ” ให้แสดงบนหน้าใบอนุญาตขับรถ ซึ่งจะมีส่วนในการช่วยชีวิตผู้อื่นได้อย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ ขอให้ ขบ. ประสานความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อนำสถิติการเกิดอุบัติเหตุ ข้อมูลทางวิชาการมาวิเคราะห์เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน รวมทั้งร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่นเพื่อจัดให้มีอาสาสมัครหมู่บ้านในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุและสูญเสียเป็นจำนวนมาก

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบก เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2484 ตลอดระยะเวลา 83 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมมาอย่างต่อเนื่อง ในการกำกับ ดูแล และพัฒนาระบบขนส่งทางถนนให้ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และปลอดภัย สนับสนุนการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ สร้างนวัตกรรมและนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการยกระดับการขนส่งสาธารณะ การให้บริการและอำนวยความสะดวกประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและการพัฒนาประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม


@เดินหน้าปฎิรูปรถเมล์ 237 เส้นทาง

ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินงานเชิงรุกตามกรอบนโยบายของกระทรวงคมนาคม “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ครอบคลุมทุกมิติ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งเพื่อให้เชื่อมโยงการเดินทางทุกรูปแบบ มีการปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารประจำทางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ (Feeder) ระหว่างการขนส่งทางถนน ทางราง และเรือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยกรมฯ ได้ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งเส้นทางปฏิรูปฯ แล้ว จำนวน 237 เส้นทาง ซึ่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านการเดินรถไปสู่เส้นทางปฏิรูปฯ เพื่อให้ครอบคลุมโครงข่าย ได้ผลักดันให้ผู้ประกอบการขนส่งนำรถโดยสาร EV มาให้บริการประชาชนแล้ว จำนวน 2,240 คัน


@ศูนย์ขนส่งชายแดน”นครพนม” และศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของ เปิดให้บริการปี 2568

ดำเนินการตามแผนพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางถนน ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการขนส่ง รองรับและสนับสนุนการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) นำไปสู่การลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ โดยมีโครงการนำร่อง ได้แก่ โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม และโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีแผนเปิดให้บริการทั้งสองโครงการในปี 2568 โดยเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการโครงการในรูปแบบ PPP ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบงานใบอนุญาตประกอบการขนส่งอิเล็กทรอนิกส์ (DLT E-Transport License: DLT ETL) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการยื่นขอและต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศบริหารจัดการขนส่งสินค้าทางถนน (Transport Management System: DLT-TMS) เพื่อเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการบริหารการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและได้มาตรฐาน อันจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศไทย


ยกระดับด้านความปลอดภัยด้านวิศวกรรมยานยนต์ ปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้เป็นสากล ได้แก่ มาตรฐานระบบห้ามล้อของรถยนต์ การกำหนดให้รถบรรทุกต้องติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการชนด้านข้างและด้านท้าย สำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศดำเนินมาตรการตั้งจุดตรวจ Check คน Check รถ Checking Point เพื่อตรวจสอบความพร้อมในการปฏิบัติงานของพนักงานขับรถและตรวจสภาพรถโดยสารให้อยู่ในมาตรฐานความปลอดภัยตลอดการเดินทางอย่างเคร่งครัด ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาให้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV : Electric Vehicle) ผ่านมาตรการลดภาษีประจำปี สำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่เป็นรถใหม่สำเร็จรูปจากโรงงาน

พัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาให้บริการประชาชน อาทิ การชำระภาษีรถออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th/ ผ่านแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax Plus ตู้ชำระภาษีอัตโนมัติ Kiosk การบริการด้านใบอนุญาตขับรถและผู้ประจำรถ มีการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ต้องการต่อใบอนุญาตขับรถ สามารถเลือกอบรม e-Learning ทางเว็บไซต์ www.dlt-elearning.com ได้ด้วยตนเองจากสถานที่ใดก็ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการเดินทางมาติดต่อที่สำนักงาน


กำลังโหลดความคิดเห็น