xs
xsm
sm
md
lg

ขสมก.วุ่นวาย กับคนนั่งรถเมล์เย็นชา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เมื่อช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ที่ผ่านมา เกิดเรื่องวุ่นๆ ในองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ทำให้ผู้โดยสารราว 6 แสนคนต่อวันได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน

เริ่มจากช่วงวันที่ 29-30 ธันวาคม 2566 ขสมก. ตัดสินใจตัดจอด หรือหยุดวิ่งให้บริการรถปรับอากาศ NGV สีฟ้า ชุด 489 คัน ยี่ห้อบอนลัค (BONLUCK) ที่ยังคงประจำการอยู่ 486 คันชั่วคราว

สาเหตุเพราะบริษัทคู่สัญญาของ ขสมก. ซึ่งก็คือ กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ไม่สามารถจ่ายเงินเดือนค่าจ้างและผลตอบแทนให้กับช่างซ่อมบำรุงตรงต่อเวลา ช่างจึงประกาศหยุดซ่อมรถ

เมื่อเห็นแบบนี้ ขสมก. จึงประกาศตัดจอดรถปรับอากาศ NGV สีฟ้าทั้งหมด ซึ่งให้บริการ 25 เส้นทาง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา หากรถเสียหรืออุบัติเหตุ ขสมก. ต้องรับผิดชอบความเสียหายเอง

ผลก็คือแต่ละเขตการเดินรถ สลับสับเปลี่ยนรถเมล์ธรรมดา ครีม-แดง และรถปรับอากาศยูโรทู สีส้ม มาให้บริการแทนรถปรับอากาศ NGV สีฟ้า และเมื่อจำนวนรถที่หายไปส่วนหนึ่ง ก็ทำให้ผู้โดยสารรอนาน ได้รับความเดือดร้อน

ผ่านไป 2 วัน ในที่สุดปัญหาภายในบริษัทเหมาซ่อมก็เคลียร์กันได้ วันสิ้นปี 31 ธันวาคม 2566 รถปรับอากาศ NGV สีฟ้ากลับมาให้บริการอีกรอบ แต่หลังปีใหม่เป็นต้นมาก็ถูกตัดจอดนับร้อยคัน เพราะไม่มีอะไหล่ ช่างไม่ซ่อมให้

บางเส้นทาง รถปรับอากาศ NGV สีฟ้า หายไปเกินครึ่งของจำนวนรถที่บรรจุทั้งหมด เช่น สาย 510 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ใช้การได้เพียงไม่กี่คัน จากที่บรรจุทั้งหมด 60 คัน

ผลก็คือยังคงต้องสลับสับเปลี่ยนรถเมล์ธรรมดา ครีม-แดง และรถปรับอากาศยูโรทู สีส้ม มาให้บริการแทน บางเส้นทางที่ยุคนี้มีแต่รถปรับอากาศล้วน ก็กลับมาใช้รถธรรมดาครีมแดงปนกัน เรียกว่า อะไรที่ไม่ได้เห็นก็จะได้เห็น

นอกจากคนที่ซื้อบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ ขสมก. รถปรับอากาศ จ่ายสัปดาห์ละ 255 บาท เดือนละ 1,020 บาท แต่กลับได้นั่งรถธรรมดาแล้ว ผู้พิการที่ใช้รถเข็นวีลแชร์ ไม่มีรถชานต่ำให้บริการก็กระทบไปด้วย

ขณะที่ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) เรียกร้องให้ ขสมก. ทบทวนยกเลิกสัญญากับกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO และเร่งรัดจัดหาบริษัทใหม่เพื่อซ่อมบำรุงรถปรับอากาศ NGV สีฟ้า

เพราะปัญหาดังกล่าวทำให้ ขสมก.เสียหายทั้งภาพลักษณ์การให้บริการ และการที่ ขสมก. จัดหารถโดยสารตามกองเดินรถต่างๆ ส่งผลกระทบด้านบริการ ทำให้ขาดรายได้มากขึ้น เสียหายแบบประเมินค่าไม่ได้



ภาพ : ขสมก.พร้อมบวก
ที่สุดแล้ว ขสมก. ประชาสัมพันธ์ว่า วันที่ 16 มกราคม 2567 เตรียมเรียกบริษัทเหมาซ่อม เพื่อบอกเลิกสัญญาทั้งหมดหรือบางส่วน สาเหตุจากไม่ปฏิบัติตามสัญญา ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง

เนื่องจากไม่มีรถโดยสารบริการในเส้นทางที่เพียงพอ อีกทั้ง ขสมก. ได้รับความเสียหายจากการที่บริษัทฯ ไม่สามารถส่งมอบรถในสภาพที่พร้อมให้บริการ ตามสัญญาเหมาซ่อม

ซึ่ง ขสมก. เคยลงนามในสัญญาซื้อขายและจ้างซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) กับกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ตามสัญญาเลขที่ 51/2560 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา

งานนี้เป็นที่จับตามองทั้งสหภาพแรงงาน ขสมก. กลุ่มบัสแฟน สื่อมวลชน รวมไปถึงผู้โดยสารที่ใช้รถเมล์ว่า ขสมก. จะกล้าหาญชาญชัยฉีกสัญญาบริษัทเหมาซ่อมหรือไม่ หลังผ่านไปนานถึง 6 ปี

ปรากฏว่าในการหารือระหว่าง ขสมก. กับบริษัทเหมาซ่อม กลายเป็น “หนังคนละม้วน”

เพราะฝ่ายบริษัทเหมาซ่อม ไปให้ข่าวกับ ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์ ว่า ขสมก. ไม่จ่ายค่าเหมาซ่อม ค้างชำระสูงถึง 80-90 ล้านบาท ทำให้ขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินพอซื้ออะไหล่รถมาซ่อมบำรุง เพื่อให้ออกวิ่งได้ตามเงื่อนไขสัญญา

ขณะที่ ขสมก. โดยเฉพาะ ผอ.ขสมก.กลับปิดปากเงียบ ทำเอากลุ่มบัสแฟนและผู้โดยสารที่ติดตามเรื่องนี้ ถึงกับอึ้ง เพราะไหนบอกว่าบริษัทเหมาซ่อมทำให้ ขสมก. เสียหาย แต่กลายเป็นว่า ขสมก. เป็นฝ่ายค้างค่าเหมาซ่อมเสียเอง

สัปดาห์หน้า สหภาพแรงงาน ขสมก. จะยื่นหนังสือร้องเรียนไปยัง มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ที่กำกับดูแล ขสมก. เพื่อขอให้ตรวจสอบในเรื่องนี้ หลังจากยื่นหนังสือให้ ผอ.ขสมก. ชี้แจงข้อเท็จจริงการจ่ายค่าเหมาซ่อมไปก่อนหน้านี้

รถปรับอากาศ NGV สีฟ้า จะครบกำหนดสัญญาวันที่ 27 ธันวาคม 2570 ซึ่งตามสัญญาจะต้องส่งมอบรถให้ ขสมก. ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ ขณะที่สัญญามีอายุไม่ถึง 4 ปี ปัญหาก็คือ สภาพรถที่จอดเสียจำนวนมาก จะรับไหวไหม?




อีกกรณีหนึ่งที่วุ่นวายไม่แพ้กัน คือการเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ จากสายที่คุ้นเคยให้กลายเป็นสายปฎิรูป เช่น สาย 129 บางเขน-สำโรงเดิม เปลี่ยนไปใช้เลข 1-14E (129 เดิม) บางเส้นทางไม่มีวงเล็บกำกับ

ผลก็คือผู้โดยสารเกิดความสับสน ไม่รู้ว่าสายไหนไปไหน เพราะไม่เคยประชาสัมพันธ์มาก่อน ประกอบกับปัญหารถปรับอากาศ NGV สีฟ้า ถูกตัดจอด มีการนำรถจากเส้นทางอื่นมาช่วยวิ่ง บางเส้นทางใช้กระดาษแปะ ตัวหนังสือเล็กมาก

สาเหตุที่เปลี่ยนเลขสาย เนื่องจากกรมการขนส่งทางบก ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลรถเมล์เส้นทางกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปัจจุบัน บังคับให้เดินรถตามเส้นทางปฎิรูปรถเมล์ ซึ่งเลขสายก็ต้องเปลี่ยนให้สอดคล้องกับเส้นทางปฎิรูปด้วย

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กรมการขนส่งทางบก เคยเปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องเลขสายรถเมล์ ประชาชนส่วนใหญ่เรียกร้องให้กลับไปใช้แบบเดิม แต่ก็ยังไม่ดำเนินการเปลี่ยนแปลง และตีพิมพ์ลงในราชกิจจานุเบกษาตามที่เรียกร้องใดๆ

กลุ่มบัสแฟนบางเพจถึงกับกล่าวคำว่า “ขนส่งถูกใจ ประชาชนช่างแม่ง” สะท้อนให้เห็นว่ากรมการขนส่งทางบก ยังคงบังคับให้ผู้ประกอบการเดินรถต่างๆ เอาเลขสายใหม่ไปใช้ ไม่สนใจเสียงคัดค้าน ประชาชนไม่มีความหมาย

ที่สุดแล้ว ขสมก. ตัดสินใจเปลี่ยนป้ายบอกเลขสายใหม่ตามใบอนุญาตที่ได้รับ โดยเส้นทางเดิมที่ได้รับใบอนุญาตใหม่ 36 เส้นทาง จะมีเลขสายเดิม วงเล็บด้วยเลขสายใหม่ ตัวอย่าง สาย 3 (2-37) หมอชิต 2 – สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี

แต่ก็ยังคงสร้างความสับสนแก่ประชาชนอยู่ดี อีกทั้งไม่มีใครรับประกันได้ว่า กรมการขนส่งทางบกจะยอมเปลี่ยนเลขสาย กลับไปใช้เลขสายเดิม โดยประกาศลงราชกิจจานุเบกษาหรือไม่ หรือสุดท้ายยังคงดันทุรังใช้เลขสายแบบนี้ต่อไป


ที่ปวดเศียรเวียนเกล้าก็คือ มีการเดินรถเส้นทางใหม่ เช่น สาย 1-50 เคหะร่มเกล้า-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, สาย 3-9E หนามแดง-ท่าเรือสี่พระยา และสาย 1-20E มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ทางด่วน)

รวมถึงฟื้นเส้นทางเดินรถในอดีต เช่น สาย 5 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-จักรวรรดิ และเปลี่ยนเส้นทางให้ตรงกับสายปฎิรูป สาย 16 (2-2) ปากเกร็ด-ท่าน้ำสี่พระยา และสาย 204 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-ท่าน้ำราชวงศ์

ปรากฏว่าหลังเดินรถวันแรกผ่านไปครึ่งวัน ขสมก.เพิ่งจะประชาสัมพันธ์ ทั้งที่กลุ่มบัสแฟนรู้ล่วงหน้า แต่ก็ปล่อยให้ต้องบอกต่อในโซเชียลฯ กันเอง ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีคนขึ้น แถมฝ่าย ขสมก.ไม่พอใจ ไปกล่าวหาว่าบัสแฟนล้ำเส้นอีก

ทั้งที่ปัญหามาจากการพีอาร์ของ ขสมก. ไม่มีประสิทธิภาพ แทนที่จะประชาสัมพันธ์อย่างน้อย 7 วันให้ประชาชนได้ปรับตัว เพราะการเปลี่ยนเส้นทางครั้งหนึ่ง "มีผลผูกพัน" กับชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย

สายที่ยังไม่ประชาสัมพันธ์แต่ปวดหัวพอกัน คือ สาย 16 จู่ๆ เปลี่ยนเส้นทางไม่เข้าถนนรัชดาภิเษก แยกประชานุกูล ถนนกำแพงเพชร 2 ปลายทางหมอชิต 2 แต่ไปใช้ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ถนนติวานนท์ ปลายทางท่าน้ำปากเกร็ด จ.นนทบุรี

ปรากฏว่าเดินรถวันแรก เปลี่ยนจากเขตการเดินรถที่ 8 มาเป็นเขตการเดินรถที่ 7 กลับใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง และเมื่อไม่เข้าเส้นทางเดิม ทัวร์ลงสายด่วน ขสมก. 1348 สายแทบไหม้ สุดท้ายตอนบ่าย กลับมาเดินรถเส้นทางเดิม

ไหนๆ ช่วงแยกวงศ์สว่าง-หมอชิต 2 มีสาย 5 เดินรถแทนไปแล้ว ถ้าจะเปลี่ยนเส้นทางสาย 16 ให้ตรงกับใบอนุญาตกรมการขนส่งทางบก ควรประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าอย่างที่บอก ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนรู้ตอนขึ้นรถกันเอาเอง

เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว คนกรุงเทพฯ ที่ต้องใช้รถเมล์ในชีวิตประจำวัน ก็ต้องทนใช้อย่างไร้ความหวัง แม้ต่อให้ รมช.คมนาคม ระบุว่า จะจัดซื้อรถเมล์ EV ทดแทนรถร้อน 1,520 คันในปีนี้ก็ตาม.
กำลังโหลดความคิดเห็น