xs
xsm
sm
md
lg

สินค้าจีนทะลัก! กดดัน SMEs ปิดตัวพุ่ง โดนอีคอมเมิร์ซ "TEMU" ซ้ำเติม-จี้รัฐคุมเข้มสินค้านำเข้า กนอ.ชี้ยอดขายที่นิคมฯ พุ่งรับต่างชาติย้ายฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การทยอยปิดตัวโรงงานอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นมากในช่วง 6 เดือนแรกปี 2567 ปิดไปแล้ว 667 แห่ง ดูไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วลงเลย แต่กลับมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ เป็นผลจากภาครัฐยังไม่มีมาตรการหรือแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ชัดเจนที่เป็นรูปธรรม

ด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ฟันธงโรงงานที่ปิดตัวไปตลอดช่วง 6เดือนแรกปี 2567 ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก (SMEs) ที่มูลค่าเฉลี่ยต่อโรงอยู่ที่ 27 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2566 ที่มีจำนวนโรงงานปิดตัวไป 358 แห่ง มีมูลค่าเฉลี่ย 117 ล้านบาทต่อแห่ง เนื่องจากข้อจำกัดของSMEsที่มีสายป่านสั้น ขาดเงินทุนหมุนเวียน ยิ่งสถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่ออย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ยิ่งกดดันกำลังซื้อในประเทศหดหายจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง รวมทั้งการทะลักของสินค้าจีนด้อยคุณภาพและราคาถูกเข้าแย่งตลาดภายในประเทศ และยิ่งนโยบายรัฐที่จ่อปรับขึ้นค่าแรง 400บาททั่วประเทศจะเป็นเหมือนตัวเร่งให้เกิดการปิดตัวโรงงานเร็วยิ่งขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้กำลังซื้อในประเทศลดลงมาก ยังถูกซ้ำเติมจากสินค้าจากจีนราคาถูกและด้อยคุณภาพเข้ามาทุ่มตลาดในไทย จนส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต 23 กลุ่มอุตสาหกรรมในไทย จนต้องลดกำลังการผลิตลงเนื่องจากไม่สามารถแข่งขันราคาได้ และล่าสุดถูกซ้ำเติมจาก Platform e-commerce จีนอย่าง TEMU ที่เข้ามาเปิดตลาดในประเทศไทยโดยใช้รูปแบบการขายสินค้าตรงจากโรงงานสู่ผู้บริโภคในราคาถูก ซึ่งเป็นการค้ารูปแบบใหม่ของจีน ยิ่งกดดันผู้ประกอบการ SMEs ต้องปิดกิจการเนื่องจากไม่สามารถแข่งขันทั้งด้านราคา และต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าได้

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังเสียเปรียบด้านต้นทุนพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่แพงกว่าคู่แข่งประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นเวียดนามหรืออินโดนีเซีย แม้ว่ารัฐจะตรึงราคาค่าไฟฟ้างวด ก.ย.-ธ.ค. 2567 อยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยแล้วก็ตาม แต่ค่าไฟฟ้าเวียดนามอยู่ที่ 2.70 บาทต่อหน่วย อินโดนีเซียค่าไฟอยู่ที่ 3.30 บาทต่อหน่วย ทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้าน ยังไม่นับความเสียเปรียบเรื่อง FTA อีก อีกทั้งรัฐยังมีนโยบายการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ จะยิ่งซ้ำเติมอุตสาหกรรมในประเทศโดยเฉพาะ SMEs อยู่รอดได้ยาก นำมาซึ่งการเลิกจ้างงานและปิดตัวไปในท้ายที่สุด


วอนรัฐเร่งช่วย SMEs ไทย

ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ ภายใต้เมกะเทรนด์ของโลกที่มีสินค้าไม่ได้คุณภาพเข้ามาตีตลาดจากภาวะ Over Supply หน่วยงานภาครัฐฯ ต้องเข้มงวดการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้า กำกับและควบคุมสินค้าที่หลีกเลี่ยงภาษี โดยบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าภายในประเทศอย่างเข้มข้น โดยสร้าง Ecosystem ที่ทำให้ผู้ประกอบการไทย และ Supply Chain ไทยมีความเข้มแข็งและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งเรียกร้องให้มีการเพิ่มแต้มต่อมากขึ้นสำหรับสินค้าที่ผลิตในประเทศหากมีการประมูลจัดซื้อ การส่งเสริมสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ (Made in Thailand) เพื่อช่วยจัดสรรเม็ดเงินลงระบบในราย Sector การสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า( EV )และการเปลี่ยนผ่าน (Transform )ไปยังธุรกิจใหม่ เป็นต้น

เรามีความกังวลต่อการขาดดุลการค้าระหว่างไทยกับจีน ที่ล่าสุด 6 เดือนแรกของปี 2567 มีการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 7.12%เมื่อเทียบจากปีก่อน คิดเป็นมูลค่ากว่า 37,569.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจากจีน 19,967.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.66% ซึ่งส่งผลกระทบกับภาคการผลิตกว่า 23 กลุ่มอุตสาหกรรม

“ถึงแม้ว่า 6 เดือนแรกของปี 2567 จะมีจำนวนการเปิดโรงงานขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีโรงงานเปิดกิจการกว่า 1,009 แห่ง เพิ่มขึ้น 122.67%จากช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่าส่วนใหญ่เป็นการย้ายฐานการผลิตจากนักลงทุนต่างชาติ แต่จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่ามีโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรกแล้วกว่า 667 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 86.31% หรือเฉลี่ย 111 แห่ง/เดือน และหากพิจารณามูลค่าโรงงานต่อโรงที่ปิดตัว พบว่ามีเงินทุนลดลงเหลือเฉลี่ย 27.12 ล้านบาทต่อโรงงาน สะท้อนให้เห็นว่าส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็กของคนไทยที่มีการปิดโรงงานในอัตราส่วนที่เร่งขึ้น จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่จะต้องเร่งแก้ไข ไม่ใช่แค่สนับสนุนการลงทุน แต่ต้องให้Supply Chain ของSMEsอยู่รอดได้ในระบบการลงทุนสมัยใหม่ เพราะSMEsถ้าปิดแล้วปิดเลย ”


ศก.โลกชะลอตัวกระทบส่งออกไทย

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว เครื่องชี้ด้านการผลิต PMI Manufacturing เดือนกรกฎาคมของประเทศหลักทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ต่างหดตัว โฝขณะที่กำลังซื้อในประเทศของจีนยังชะลอตัว และสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับตลาดแรงงานที่แผ่วลงกดดันการบริโภคในระยะข้างหน้า ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยในครึ่งปีหลัง ทำให้โอกาสตัวเลขส่งออกครึ่งปีหลังนี้ขยายตัวได้มากกว่า 2% คงเป็นได้ยาก

รวมทั้งภาวะตลาดการเงินโลกเกิดความผันผวน ทั้งเฟดส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วและแรงขึ้น สวนทางกับธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งทำให้ไทยเสียเปรียบการส่งออก

ดังนั้น เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังเปราะบางแม้การเบิกภาครัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อนำเม็ดเงินเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณทำให้การใช้จ่ายของรัฐกลับมาขยายตัวเฉลี่ยสูงกว่ากว่า 15% ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน แต่ดีมานด์ภายในประเทศชะลอตัวและการส่งออกที่ยังขยายตัวได้น้อย ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพแม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะทยอยกลับมาฟื้นตัว

สอดคล้องกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ก.ค.2567 ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน อยู่ที่ 57.7 ลดจาก 58.9 ในเดือน มิ.ย.2567 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ย.2566
โดยผู้บริโภคเริ่มกลับมากังวลว่าการเมืองไทยเริ่มขาดเสถียรภาพ และกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้า เพราะยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำมัน สงครามในตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อบานปลาย อาจเป็นปัจจัยกดดันของการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยยิ่งช้าไปอีก




ยอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมฯ ปีนี้พุ่งแตะ 7,000 ไร่

ท่ามกลางกระแสข่าวการปิดกิจการอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวเลขการขาย/เช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมในปีนี้กลับเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีก่อน โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยยอดการขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในงวด 9 เดือนของปีงบประมาณ2567 (ต.ค.66-มิ.ย.67)อยู่ที่ 5,672 ไร่ สูงกว่าเป้าหมายที่กนอ.ตั้งไว้ทั้งปีที่4,000-4,500ไร่ ซึ่งเป็นตัวเลขที่เคยปรับขึ้นมาจากเดิมที่ 3,000ไร่

ทั้งนี้ กนอ.คาดการณ์ว่าภาพรวมการขาย/เช่าพื้นที่นิคมฯในปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.66-ก.ย.67)จะขยับขึ้นมาแตะ 7,000ไร่ สูงกว่าปีก่อนที่มียอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมฯอยู่ที่ 5,693 ไร่ เพิ่มขึ้นราว23%

ส่วนสาเหตุที่ทำให้การขาย/เช่าที่นิคมฯเติบโตขึ้น มาจากสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีน ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศในแถบอาเซียนไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย รวมทั้งไทย ที่มีหลายกลุ่มมอุตสาหกรรมเลืกไทยเป็นฐานผลิตอย่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ PCB (Print Circuit Board) รวมทั้งค่ายรถยักษ์ใหญ่จากจีนพาเหรดปักหมุดตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ในไทย สร้างความคักคักให้กับนิคมฯ ต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในเขต EEC กันถ้วนหน้า ต่างมียอดขายที่ดินเพิ่มสูงขึ้นจนต้องปรับเป้าหมายการขายที่ดินกันใหม่เลยทีเดียว

ถึงแม้ว่ายอดขายที่ดินนิคมฯ ในปีนี้จะเพิ่มสูงขึ้น แต่ด้วยเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้ตลาดส่งออกมีการแข่งขันที่รุนแรง ขณะที่ต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าคู่แข่งส่งผลให้อุตสาหกรรมที่หวังพึ่งแรงงาน รวมถึงโรงงานที่ไม่เคยปรับปรุงการผลิตสินค้าใหม่เพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาดต่างพากันปิดตัวไป ทำให้ปีนี้ตัวเลขการปิดโรงงานในนิคมฯก็คงสูงขึ้นกว่าปีก่อนเช่นกัน


มั่นใจมีที่ดินเพียงพอรองรับต่างชาติย้ายฐาน

นางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการ (สายงานพัฒนาที่ยังยืน) กนอ. กล่าวว่า ในช่วงเดือนมิ.ย.ปีนี้ ภาพรวมมีพื้นที่นิคมฯ สะสมรอการขาย/เช่ารวมทั้งสิ้นราว 20,341 ไร่ ซึ่งปี 2567 มีการขยายพื้นที่นิคมฯต่างๆเพิ่มขึ้น 8,000ไร่ จึงมั่นใจว่าไทยมีพื้นที่นิคมฯ เพียงพอรองรับการขยายฐานการลงทุนจากต่างประเทศอย่างแน่นอน เพราะแต่ละปีจะมีนิคมอุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ กนอ.ได้รับคำขอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่อีก 14 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการเคลียร์เรื่องผังเมือง และการทำประชาพิจารณ์ ฯลฯ หลังจากปีนี้ได้จัดตั้งนิคมฯ ใหม่ 7 แห่ง โดยมีนิคมฯอุบลราชธานี ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่สองในภาคอีสาน เพิ่งผ่านการอนุมัติจาก E IA แล้วและอยู่ระหว่างรอการประกาศเขตในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปีหน้า

โดยนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานีมีพื้นที่โครงการรวม 2,313 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม 1,577 ไร่ รองรับลูกค้าทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องจักรกลการเกษตร กลุ่มโลจิสติกส์และคลังสินค้า กลุ่มพลาสติกและเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

นางบุปผากล่าวว่า ในแต่ละปี กนอ.จะมีการตั้งเป้าหมายการขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น คาดว่าในปีงบประมาณ 2568 ยอดขาย/เข่าพื้นที่ดินในนิคมฯ ต่างๆ น่าจะเติบโตขึ้นราว 10% จากปีนี้ เนื่องจากมีนิคมฯ ใหม่ที่ได้ลงนามสัญญาร่วมกับ กนอ.แล้ว 2 รายอยู่ระหว่างดำเนินการ น่าจะเปิดขายที่ดินในปีหน้า รวมทั้งยังมีนิคมฯ ร่วมมีการขยายพื้นที่นิคมฯ เพิ่มเติมด้วย

ส่วนกรณีค่าแรงและค่าพลังงานไฟฟ้าที่สูงเป็นปัจจัยให้มีการปิดโรงงานย้ายฐานไปประเทศเพื่อนบ้าน นางบุปผากล่าวว่า แม้ค่าแรงงานในนิคมฯ สูงแต่แรงงานไทยก็มีทักษะฝีมือเฉพาะด้านตามที่ผู้ประกอบการต้องการ ดังนั้นค่าแรงจึงไม่น่าส่งผลกระทบ ส่วนค่าไฟฟ้านั้น เราได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบการนิคมฯ ว่าโรงงานใหม่ต้องการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีบางนิคมฯ ร่วมแผนขายไฟฟ้าให้โดยตรงต่อลูกค้าภายใต้แซนด์บ็อกซ์

นอกจากนี้ กนอ.ส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งสินเชื่อเพื่อใช้เปลี่ยนผ่านไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงินรวม 1,500 ล้านบาท หรือกรีนโลน (Green Loan) ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดยใช้กลไกสินเชื่อลดโลกร้อน โดยปล่อยสินเชื่อให้ SME วงเงินสินเชื่อเริ่มต้น 1 ล้านบาท ไม่เกิน 20 ล้านต่อราย อายุสินเชื่อระยะยาวไม่เกิน 7 ปี อัตราดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 3 ใน 3 ปีแรก ปีถัดไปอัตรา MLR สอดรับเป้าหมายประเทศไทยในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Zero Greenhouse Gas Emission ในปี 2065

ทั้งนี้ กนอ.มีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการในนิคมฯ เพราะหากนิคมฯ ทั้ง 68 แห่งยังคงบริหารงานแบบเดิมจะไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างทันท่วงทีและไร้ประสิทธิภาพ จึงได้มีการบริหารจัดการเชิงนิเวศและอัจฉริยะ (Smart) ผ่านระบบ Digital Twin นำร่องที่นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ใช้บริหารจัดการมาตั้งแต่กลางปี 2565 โดยระบบ Digital Twin คือการสร้างแเบบจำลองเสมือนจริงของวัตถุหรือสภาพแวดล้อมในรูปแบบดิจิทัล ทำให้สามารถจำลอง 3 มิติในสถานการณ์ต่างๆและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างแม่นยำ รวมถึงติดตั้งระบบต่างๆ เช่น ระบบน้ำประปาและน้ำเสีย ระบบป้องกันน้ำท่วม ระบบไฟส่องสว่าง และระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อเก็บข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรม และจากความสำเร็จในการนำร่อง กนอ.มีแผนขยายผลการพัฒนาระบบ Digital Twin ไปยังนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ กนอ.ดูแลรวม 13 แห่ง โดยจะเชื่อมโยงระบบ IoT ต่างๆ เข้าด้วยกัน สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น