“พาณิชย์” เผยส่งออก มิ.ย.67 มีมูลค่า 24,796.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ชะลอตัวลงเล็กน้อย ลด 0.3% เหตุส่งออกผลไม้สด รถยนต์สันดาปลดลง รวมครึ่งปี โต 2% ยืนยันเป้าหมายทั้งปีตามเดิมขยายตัว 1-2%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน มิ.ย.2567 มีมูลค่า 24,796.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.3% กลับมาหดตัวเล็กน้อย หลังจากเป็นบวก 2 เดือนติดต่อกัน คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 892,766 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 24,578.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.3% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 895,256 ล้านบาท เกินดุลการค้า 218 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 2,489.7 ล้านบาท รวม 6 เดือน ของปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) การส่งออก มีมูลค่า 145,290 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 5,191,014 ล้านบาท การนำเข้า มูลค่า 150,532.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 5,437,480 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 5,242.7 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 246,466 ล้านบาท
สำหรับการส่งออกที่ลดลง มาจากการลดลงของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 3.3% โดยสินค้าเกษตรลด 2.2% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรลด 4.8% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ยางพารา ไก่แปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ทั้งนี้ ครึ่งปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่ม 3.3%
ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 0.3% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ ทั้งนี้ ครึ่งปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 2%
“สาเหตุที่การส่งออกเดือนมิ.ย.2567 ติดลบ มาจากการส่งออกผลไม้สดลดลงมากถึง 37.8% เพราะผลไม้จากภาคตะวันออกหมดฤดูกาลแล้ว ส่วนภาคใต้ยังออกไม่มาก และการค้าโลกเริ่มมีความวิตกกังวลต่อแนวโน้มการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า รวมทั้งยังมีความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งในหลายประเทศ ขณะที่ประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี อาทิ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ได้ส่งผลให้ความต้องการของเครื่องยนต์สันดาปหดตัวลงอย่างชัดเจน”
ทางด้านตลาดส่งออก ตลาดหลัก ลด 1.3% โดยจีน ลด 12.3% ญี่ปุ่น ลด 12.3% และอาเซียน (5 ประเทศ) ลด 2% แต่สหรัฐฯ และ CLMV เพิ่ม 5.4% และ 7.6% ตามลำดับ และสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) เพิ่ม 7.9% ตลาดรอง เพิ่ม 2.5% โดยเอเชียใต้ เพิ่ม 9.3 ตะวันออกกลาง เพิ่ม16.1 แอฟริกา เพิ่ม25.1 ลาตินอเมริกา เพิ่ม30.5 ส่วนทวีปออสเตรเลีย ลด 4.5 รัสเซียและกลุ่ม CIS ลด 20.7% และสหราชอาณาจักร ลด 20% (3) ตลาดอื่น ๆ ลด 15%
นายพูนพงษ์กล่าวว่า แม้อัตราการขยายตัวของการส่งออกเดือนมิ.ย.2567 จะลดลง แต่มูลค่าส่งออกที่ 24,796.6 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 36 เดือนที่ผ่านมา ที่อยู่ที่ 23,485 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังมั่นใจว่าปีนี้ มูลค่าส่งออกน่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 1-2% โดยช่วงที่เหลือส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 22,973 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็โตได้ 1% แล้ว แต่ถ้าได้ถึงเดือนละ 24,248 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็จะโตได้ 2% โดยมีจากปัจจัยหนุน คือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3.2% ส่งผลให้กำลังซื้อ และความต้องการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้ปีนี้จะเป็นปีแรกที่มูลค่าส่งออกไทยเมื่อคิดเป็นเงินบาทจะทะลุ 10 ล้านล้านบาท
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกครึ่งปีแรกทำได้ดี ขยายตัวถึง 2% ท่ามกลางปัญหารุมเร้า ส่วนครึ่งปีหลัง น่าจะส่งออกได้ใกล้เคียงกับช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 โดยแต่ละเดือนหากทำได้ 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งปี 2567 ก็จะโต 1% แต่หากเพิ่มความพยายามเข้าไปอีกก็จะได้ 2% โดยมีปัจจัยหนุน คือ เงินบาทอ่อนค่า ค่าระวางเรือที่ไม่น่าจะปรับขึ้นสูงไปกว่าปัจจุบัน หลังจากปรับขึ้นจากปกติมาแล้ว 3-4 เท่า และกำลังซื้อของคู่ค้าก็น่าจะเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น