xs
xsm
sm
md
lg

เจรจา 'ไฮสปีด' เพิ่มแบงก์การันตีระบบรถ 4 หมื่นล้าน อีอีซีสรุปแก้สัญญาจบใน ส.ค.นี้ พร้อมชง กพอ.เคาะเร่งออก NTP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อีอีซี” เร่งสรุปแก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบินชง กพอ.เห็นชอบกลาง ส.ค.นี้ เจรจาเพิ่มแบงก์การันตีงานระบบรถไฟฟ้าอีก 4 หมื่นล้านบาท บวกค่างานโยธา 1.2 แสนล้านรวมเป็น 1.6 แสนล้านบาท ปิดความเสี่ยงภาครัฐ ด้านกองทัพเรือเปิดราคา 6 ส.ค.เหลือ 5 รายชิงดำรันเวย์สนามบินอู่ตะเภา

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ว่า ขณะนี้ประเด็นการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ เหลืออีกเล็กน้อยที่ต้องตกลงร่วมกับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (บริษัทในเครือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด) คู่สัญญาผู้รับสัมปทานฯ ให้ได้ข้อยุติ ซึ่งจะสรุปและนำเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด กพอ.) ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมในกลางเดือน ส.ค. 2567 เพื่อขออนุมัติในหลักการการแก้ไขปรับปรุงสัญญาได้ และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการ ก่อนส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาฯ ที่แก้ไข เมื่อตรวจแล้วเสร็จจะต้องเสนอบอร์ด กพอ.อนุมัติและเสนอ ครม.เห็นชอบเพื่อลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ ต่อไป

เรื่องนี้ต้องเสนอ ครม.อนุมัติ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกขอความเห็นชอบหลักการแก้ไขสัญญาฯ และครั้งที่ 2 ขอความเห็นชอบการลงนามแก้ไขสัญญาฯ หลังอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง คาดว่ากระบวนการจะแล้วเสร็จและลงนามแก้ไขสัญญาได้ในปลายปี 2567 และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะสามารถส่งมอบพื้นที่และออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) เริ่มก่อสร้างในปลายปี 2567 ไม่เกินต้นปี 2568

นายจุฬากล่าวว่า มีการเจรจาแก้ไขสัญญาเพิ่ม คือ หลังจากเอกชนขอแก้ไข ปรับการจ่ายเงินที่ฝ่ายรัฐร่วมลงทุน (PIC) ให้เร็วขึ้น ตามความสำเร็จของงาน หรือสร้างไป-จ่ายไป จากเดิมที่กำหนดให้รัฐร่วมลงทุนในปีที่ 6-ปีที่ 15 หรือเมื่อก่อสร้างโครงการเสร็จเปิดเดินรถแล้วนั้น ทำให้เอกชนต้องวางหนังสือค้ำประกันโดยธนาคารหรือ แบงก์การันตีเต็มวงเงินค่าก่อสร้าง หรือเท่ากับส่วนของเงินฝ่ายรัฐร่วมลงทุน วงเงิน 119,425 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้ภาครัฐมีความมั่นใจว่าเอกชนคู่สัญญาจะสามารถดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ ซึ่งประเด็นนี้หลักการเจรจาจบแล้ว เหลือเพียงเอกชนต้องสรุปกับผู้รับเหมาว่าจะมีการก่อสร้างเมื่อใด จ่ายเงินกี่งวด งวดละเท่าไร เพื่อทำแผนในส่วนที่รัฐต้องจ่ายเงินร่วมทุนฯ โดยรัฐจะจ่ายเมื่อก่อสร้างเสร็จและมีการตรวจรับงานแล้ว


@ เพิ่มแบงก์การันตีงานระบบรถไฟฟ้าอีก 4 หมื่นล้านบาท

แต่ยังมีเพิ่มเติมในประเด็นช่วงหลังก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเสร็จจะต้องมีการจัดหาระบบและตัวรถไฟฟ้า การทดสอบเพื่อให้บริการตามกำหนด ซึ่งเอกชนจะต้องวางหลักประกันเพิ่มเติม งานระบบ O&M อีกประมาณ 40,000 ล้านบาท เพื่อความเชื่อมั่นในส่วนของการเดินรถว่าจะไม่มีความเสี่ยง หากมีปัญหาในอนาคต รัฐมีเงินในการจัดหารถเอง ซึ่งมีการเจรจาให้ทางเอกชนสามารถนำหลักประกันในส่วนของค่าก่อสร้างที่ยังไม่ได้เบิกคืนมาวางในส่วนของระบบ O&M ได้

“หลักการเอกชนเห็นด้วยแล้ว ตอนนี้กำลังเร่งสรุปจำนวนรถที่จะจัดหาว่าจะเป็นกี่ขบวน เพราะจำนวนรถมีผลต่อวงเงินลงทุนงานระบบ ซึ่งเบื้องต้น รฟท.กำหนดความถี่ 5 นาที/ขบวน ส่วนชานชาลาสถานี รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ออกแบบรองรับได้สูงสุดที่ 8 ตู้”

สำหรับการแก้ไขสัญญาที่ได้ข้อยุติแล้วได้แก่ ปรับการผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดย รฟท.ได้รับค่าสิทธิฯ ครบจำนวน 10,671.09 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสของ รฟท.อีกจำนวน 1,060 ล้านบาท รวมเป็น 11,717.09 ล้านบาท โดยให้ผ่อนจ่าย 7 งวด โดยงวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10% งวดที่ 7 จะชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย ซึ่ง กพอ.ได้เห็นชอบและรายงาน ครม.รับทราบไปก่อนหน้านี้แล้ว

ยกเลิกเงื่อนไขออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP) จากเดิมที่ระบุให้ผู้รับสัมปทานฯ ต้องขอส่งเสริมการลงทุนกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก่อน รวมไปถึงเรื่องการส่งมอบพื้นที่ TOD มักกะสันขนาด 150 ไร่ โดยเอกชนต้องจดทะเบียนสิทธิการเช่า ถอนสภาพ ‘ลำรางสาธารณะ’ ก่อน

ขณะที่เอกชนต้องวางแบงก์การันตี ทั้งหมด 3 ส่วน คือ 1. แบงก์การันตีในส่วนของค่าสิทธิร่วมลงทุนแอร์พอร์ตเรลลิงก์จำนวน 10,671.09 ล้านบาท 2. แบงก์การันตีเต็มวงเงินค่าก่อสร้างหรือในส่วนของเงินฝ่ายรัฐร่วมลงทุน วงเงิน 119,425 ล้านบาท 3. แบงก์การันตี งานระบบและตัวรถไฟฟ้า วงเงิน 40,000 ล้านบาท


@เหลือ 5 รายชิงดำรันเวย์ “สนามบินอู่ตะเภา” กองทัพเรือ เปิดซองราคา 6 ส.ค.

ส่วนอีกโครงการที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างคือ สนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งภาครัฐโดยกองทัพเรืออยู่ระหว่างประกวดราคาจ้างก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และทางขับสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ราคากลาง 15,200,123,971.91 บาท โดยมีผู้ยื่นข้อเสนอ 7 กลุ่ม ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ 5 ราย โดยในวันที่ 6 ส.ค. 2567 จะมีการเปิดซองข้อเสนอด้านราคา คาดสรุปผลประมูลใน ส.ค.-ก.ย. 2567 เมื่อสรุปราคากับผู้ชนะประมูลแล้วจะสรุปสัญญากู้เงินของธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (AIIB) สัดส่วน 85% ด้วย จากนั้นจะเสนออัยการสูงสุดพิจารณาร่างสัญญา และคาดว่าจะเสนอ ครม.เห็นชอบ คาดว่าจะลงนามสัญญาก่อสร้างรันเวย์ภายในเดือน ธ.ค. 2567

ส่วนการก่อสร้างเมืองการบินของ บริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) นั้น ทางสกพอ. UTA มีการประสานแผนงานการก่อสร้างกับรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน คาดว่าจะแจ้งเอกชนเริ่มก่อสร้างโครงการฯ (NTP) ได้ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับรถไฟ


กำลังโหลดความคิดเห็น