xs
xsm
sm
md
lg

UTA คาดปลายปีตอกเข็ม 'อู่ตะเภา' เป้าเปิดปี 71 หวังรัฐมีแผนรองรับ 'ไฮสปีด' ล่าช้า ด้าน ทร.เผย 30 รับเหมาแห่ซื้อซองรันเวย์ 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



UTA คาดปลายปีนี้เริ่มตอกเข็ม "อู่ตะเภาเมืองการบิน" ลุ้นประสานแผนก่อสร้าง "ไฮสปีด 3 สนามบิน" เงื่อนไขสุดท้ายก่อนออก NTP จบไตรมาส 3 ส่วนรถไฟล่าช้าไม่กระทบสนามบินเดินหน้าสร้างตามแผน เปิดปี 71 หวังรัฐมีแผน B กรณีรถไฟยังไม่มา ด้าน ทร.เผย 30 รับเหมาแห่ซื้อซองรันเวย์ 2 เริ่มสร้างปลายปีนี้ เว้นช่วงอุโมงค์รถไฟรอเคลียร์แบบ

นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ว่า การก่อสร้างจะเริ่มต้นได้ภาครัฐจะต้องมีการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน ( NTP : Notice to Processd) ซึ่งสัญญาฯ ได้กำหนดเงื่อนไขออก NTP ต้องดำเนินการ 4-5 เงื่อนไขให้ครบถ้วนก่อน ได้แก่ 1. จัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) และได้รับอนุมัติ ซึ่งข้อนี้ผ่านเรียบร้อยแล้ว 2. กองทัพเรือ (ทร.) เปิดประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างก่อสร้างทางวิ่ง เส้นทางที่ 2 (รันเวย์ 2) ซึ่งภาครัฐเป็นผู้ลงทุน ปัจจุบัน ทร.เปิดประมูลขายซองแล้วเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2566 ถือว่าเงื่อนไขนี้ผ่านเรียบร้อย

3. UTA จะต้องหารือร่วมกับ ทร.เพื่อวางแผนบริหารการใช้พื้นที่ร่วมกัน เนื่องจากอู่ตะเภาเมืองการบินเป็นการขยายการพัฒนาจากสนามบินอู่ตะเภาที่มีอยู่เดิม จึงเป็นการพัฒนาสร้าง และส่งเสริมกัน ซึ่งเจรจาเรียบร้อยแล้ว
และ 4. มีการวางแผนร่วมกันระหว่าง UTA กับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เนื่องจากทั้งสองโครงการต้องดำเนินการไปพร้อมกัน และเปิดให้บริการในระยะเวลาใกล้เคียงกัน เป็นโครงการคู่แฝด เพื่อตอบโจทย์การเดินทางเข้าสู่สนามบิน และในทางกลับกัน หากมีรถไฟความเร็วสูงแต่ไม่มีสนามบินก็ไม่ได้อีก เพื่อทำให้การพัฒนาอีอีซีมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเงื่อนไขนี้ยังไม่แล้วเสร็จ โดยทางภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกำลังเร่งแก้ไขปัญหา


@ เชื่อรัฐมีแผน B หากเปิดสนามบินแล้วยังไม่มีไฮสปีดเชื่อม

นายวีรวัฒน์กล่าวว่า เหลือเรื่องเดียวคือ ประสานแผนกับรถไฟเชื่อม 3 สนามบินที่จะต้องมีความชัดเจนทั้งหมด แผนการก่อสร้างสถานีรถไฟภายในสนามบินเป็นความซับซ้อนด้านวิศวกรรม เนื่องจากรถไฟจะเป็นอุโมงค์ลอดใต้รันเวย์ที่ 2 เข้าสนามบิน ต้องคุยกันว่าจุดสถานีอยู่ตรงไหน และใครจะก่อสร้างก่อน หลังอย่างไร หลักๆ อุโมงค์รถไฟลอดใต้รันเวย์จะต้องสร้างก่อน เพื่อให้ผู้รับเหมารันเวย์ทำส่วนที่อยู่เหนืออุโมงค์ได้

ส่วนรถไฟเชื่อม 3 สนามบินจะ NTP ได้เมื่อใดไม่ใช่ปัญหา หรือกระทบการพัฒนาอู่ตะเภา ประเด็นอยู่ที่แผนการก่อสร้างที่ชัดเจน อะไรอยู่ตรงไหน สร้างอย่างไร สร้างเมื่อไหร่ เพราะเป็นเรื่องทางเทคนิค ของการก่อสร้าง 3 ส่วนจะต้องทำพร้อมกันและอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งภาครัฐที่เป็นคู่สัญญาของรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รวมถึงอีอีซีต้องดำเนินการแก้ไข ส่วน UTA ก็ทำภายใต้เงื่อนไขสัญญาสนามบิน และจากการหารือเชื่อว่ารถไฟเชื่อม 3 สนามบินจะเกิดขึ้นแน่นอน

"ตอนนี้โครงการสนามบินล่าช้าไปแล้ว จากหลายปัจจัยตั้งแต่เกิดโควิด หากรถไฟเชื่อม 3 สนามบินล่าช้าไปมาก แต่สนามบินอู่ตะเภาเมืองการบินก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งภาครัฐ จะต้องมีแผนสอง หรือ Plan B อย่างไร ว่า หากสนามบินเปิดแล้วรถไฟไม่มาเชื่อมโยงจะทำอย่างไร แล้วรถไฟจะมาเมื่อไหร่"

ทั้งนี้ คาดว่าภายในไตรมาส 3 จะได้รับความชัดเจนของแผนรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน และน่าจะออก NTP เริ่มงานก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกได้ภายในปลายปีนี้ และใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3-5 ปี ป้าหมายเปิดให้บริการภายในปี 2571 โดยจะต้องมีเวลาในการทดสอบระบบและการได้รับใบรับรองมาตรฐานด้านการบินและความปลอดภัยจาก กพท.ด้วย


นายวีรวัฒน์กล่าวว่า บริษัทฯ ได้รับสัญญามาเกือบครบ 4 ปีแล้ว นับจากลงนามเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2563 โดยมีการดำเนินการไปหลายส่วน ได้แก่ จัดทำแผนแม่บท (Master Plan) การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกแล้วเสร็จเมื่อ มิ.ย. 2564 และส่งไปยัง สกพอ.และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เห็นชอบแผนแล้วเมื่อปลายปี 2564 หลักๆ เป็นการพัฒนาให้อู่ตะเภาเมืองการบินเป็นทั้งสนามบินและจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยใช้จุดแข็งศักยภาพพื้นที่ภาคตะวันออกรองรับนักท่องเที่ยวรายได้สูง หารือที่ปรึกษาวางแนวคิดเป็น Airport City กำหนดกิจการ รูปแบบบริการ และอู่ตะเภาจะเป็นสนามบินเดียวที่รวมระบบขนส่งสินค้า โลจิสติกส์ ทั้งทางบก (มอเตอร์เวย์, ถนน) ทางราง (รถไฟ, รถไฟความเร็วสูง) ทางน้ำ (ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือจุกเสม็ด) และทางอากาศ ไว้ที่เดียวกัน

“ขณะนี้บริษัทเพิ่มทุนจดทะเบียนจากปี 2566 ที่ 4,500 ล้านบาท เป็น 15,000 ล้านบาท โดยเรียกชำระแล้วกว่า 7,100 ล้านบาท ช่วงที่ผ่านมามีการใช้ลงทุนไปแล้วกว่า 4,000 ล้านบาท ทั้งในการทำแบบ ปรับแบบต่างๆ เพื่อให้เป็นโครงการที่ตอบโจทย์ประเทศตามเป้าหมายให้ได้ ระหว่างที่รอ NTP บริษัทได้หารือกับอีอีซี และ ทร. ในการปรับแบบการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เนื่องจากหลังเกิดโควิดปริมาณผู้โดยสารลดลง และการเดินทางมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร โดยลดขนาด ขีดความสามารถในเฟส 1 ที่อาคารผู้โดยสารจะรองรับที่ 15.9 ล้านคน/ปี เหลือ 12 ล้านคน/ปี แต่เป้าหมายสุดท้ายการพัฒนาอู่ตะเภารองรับที่ 60 ล้านคน/ปี เหมือนเดิม” นายวีรวัฒน์กล่าว


@ทร.เผย 30 บริษัทรับเหมาแห่ซื้อซองก่อสร้างรันเวย์ 2

นาวาเอก รตน วันภูงา หัวหน้าฝ่ายอำนวยการการท่าอากาศยานอู่ตะเภา เปิดเผยว่า หลังจากที่กองทัพเรือ (ทร.) โดยกรมช่างโยธาทหารเรือ ได้เปิดขายเอกสารประกวดราคาประกาศเชิญชวนการจ้างโครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และทางขับ สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ราคากลาง 15,200,123,971.91 บาท ปรากฏว่ามีเอกชนซื้อซองจำนวน 30 ราย กำหนดยื่นข้อเสนอวันที่ 20 พ.ค. 2567 คาดว่าจะได้ตัวผู้รับเหมาภายในปี 2567 ใช้เวลา ก่อสร้างประมาณ 3 ปี จากนั้นจะมีการทดสอบระบบประมาณ 1 ปี เปิดใช้งานภายในปี 2571 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน รันเวย์ที่ 1 ของอู่ตะเภายังมี Slot ว่าง สามารถรองรับเที่ยวบินได้อีกมาก

สำหรับการก่อสร้างรันเวย์เส้นทางที่ 2 ขนาดความยาว 3,505 เมตร กว้าง 60 เมตร โดยเป็นการพัฒนาเพื่อรองรับเครื่องบินทุกรุ่น โดยแนวรันเวย์เส้นที่ 2 จะสร้างเป็นทางคู่ขนานและมีระยะห่างจากรันเวย์เดิมประมาณ 1,140 เมตร โดยการก่อสร้างจะรวมถึงงานดินที่เกี่ยวข้องและการเตรียมพื้นที่ทางขับ ระบบ และโครงสร้างระบายน้ำ ระบบช่วยเหลือการมองเห็น ไฟส่องสว่างพื้นสนามบิน ระบบและสถานีสูบน้ำ ระยะเวลาโครงการ 1,095 วัน ส่วนจุดอุโมงค์รถไฟเชื่อม 3 สนามบินที่ลอดใต้รันเวย์มีระยะประมาณ 80 เมตรนั้นจะเว้นไว้ก่อนจนกว่าแผนก่อสร้างของรถไฟจะชัดเจน ซึ่งผู้รับเหมาสามารถก่อสร้างรันเวย์ในส่วนอื่นไปได้ก่อน ไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด




กำลังโหลดความคิดเห็น