xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.ห่วงค่าไฟจ่อขึ้น-ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท บีบโรงงานแห่ปิดตัว-คนตกงานพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.หวั่นขึ้นค่าไฟงวดสิ้นปีและค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นแข่งขันลำบากฉุดให้โรงงานปิดตัวและคนตกงานเพิ่มมากขึ้น จี้รัฐเร่งหาทางออกด่วน ด้านดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ มิ.ย.อยู่ที่ 87.2 ต่ำสุดในรอบ 24 เดือน เหตุเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า กำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอ จากปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นฉุดการบริโภคลด ส่วนการส่งออกเจอปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือพุ่ง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ระดับ 87.2 ปรับตัวลดลงจาก 88.5 ในเดือนพฤษภาคม 2567 โดยปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 24 เดือน เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่าปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ โดยมีปัจจัยลบจากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า จากอุปสงค์ในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอจากปัญหาหนี้เสีย (NPL) ที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย รถยนต์ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ส่งผลให้การบริโภคในประเทศชะลอลง

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการ SMEs ประสบปัญหาสภาพคล่อง ขาดเงินหมุนเวียนในกิจการ และเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ แม้ว่าการอ่อนค่าเงินบาทจะส่งผลดีต่อการส่งออก แต่ก็มีปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัญหาสงครามในตะวันออกกลาง ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองไทย ก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ การปรับขึ้นราคาดีเซล รวมทั้งการปรับขึ้นค่าไฟฟ้างวดสิ้นปี (ก.ย.-ธ.ค. 67) จะป็นปัจจัยลบทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ยากต่อการแข่งขันในการส่งออก
 


“ค่าไฟฟ้าถือเป็นต้นทุนการผลิตในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะกระทบมาก เมื่อเปรียบเทียบค่าไฟฟ้าของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านพบว่าเวียดนามมีอัตราค่าไฟเพียง 2.70 บาท/หน่วย อินโดนีเซียค่าไฟอยู่ที่ 3.30 บาท/หน่วย ส่วนไทย 4-5 บาท/หน่วย ซึ่งล่าสุด กกพ.เสนอการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า 3 แนวทาง ทำให้ค่าไฟฟ้าขยับขึ้นเป็น 4.65-6.01 บาท/หน่วยจากเดิม 4.18 บาท/หน่วย จึงอยากขอให้ภาครัฐปรับลดค่าไฟฟ้าลง ลำพังแค่ค่าไฟที่ 4.18 บาท เราก็แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้อยู่แล้ว ยังไม่นับความเสียเปรียบเรื่อง FTA หากยังปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอีก เมื่อภาคเอกชนทนไม่ไหวเชื่อว่าจะเห็นการปิดโรงงานเพิ่มขึ้นอีก”

อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายนยังมีปัจจัยสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศช่วง Low season และมาตรการฟรีวีซ่าช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่การขยายตัวของอุปสงค์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ อาเซียน อินเดีย และจีนที่เริ่มฟื้นตัว ตลอดจนการอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลดีต่อภาคการส่งออก ส่วนกรณีการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวเวียดนาม 6 คนในโรงแรมดังที่กรุงเทพฯ นั้นย่อมส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวแน่นอน ดังนั้นจึงอยากให้กระบวนการสอบสวนเร่งหาข้อเท็จจริงอย่างรวดเร็วและเปิดเผย โปร่งใส สรุปคดีอย่างรวดเร็ว เชื่อว่าจะกระทบการท่องเที่ยวแค่ช่วงสั้น จากเหตุการณ์ดังกล่าวเราควรคัดกรองนักท่องเที่ยวมากกว่านี้


ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,341 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนมิถุนายน 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 62.4 เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 63.4 สถานการณ์การเมืองในประเทศ ร้อยละ 49.4 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจโลก ร้อยละ 61.9 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 57.1 อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ร้อยละ 35.1 ตามลำดับ

ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 93.4 ปรับตัวลดลงจาก 95.7 ในเดือนพฤษภาคม 2567 ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ขณะที่ความไม่แน่นอนของปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และห่วงโซ่การผลิตในตลาดโลก นอกจากนี้ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน รอบใหม่ จากการที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติม อาจทำให้สินค้าจากจีนเข้ามาแข่งขันในไทยเพิ่มขึ้น

สิ่งที่น่าตกใจ คือการปิดตัวของ SME ที่เพิ่มมากขึ้นในปีนี้ โดย 5 เดือนแรกปี 2566 มีการปิดโรงงาน 358 แห่ง มูลค่าเฉลี่ย 117 ล้านบาทต่อแห่ง แต่ 5 เดือนแรกปีนี้มีโรงงานปิดตัว 600 กว่าแห่ง มูลค่าเฉลี่ย 27 ล้านบาท บ่งชี้ว่ามีโรงงานขนาดเล็กหรือ SME ปิดตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้นจำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อให้สินค้ามีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้นจึงขอเสนอภาครัฐ 3 ข้อ คือ 1. ให้ภาครัฐหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงค่าระวางเรือ (Freight) และค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) ต่างๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นในทุกเส้นทาง อาทิ ออกมาตรการอุดหนุนค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งให้กับผู้ประกอบการ SMEs

2. เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการป้องกันสินค้าต่างชาติที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศ เพื่อลดผลกระทบให้ผู้ประกอบการ ตลอดจนส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ (Made in Thailand หรือ MiT)

3. เร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐให้ได้ตามเป้าหมาย และให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณากำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานให้เร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายในเดือนกันยายน 2567


กำลังโหลดความคิดเห็น