xs
xsm
sm
md
lg

“กันตนา” ยุคดิจิทัล GEN 3 ขึ้นยกแผง ปั้น Blue Project

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด- กว่า 73 ปี ที่กันตนาได้ฝ่าคลื่นลมแรงแต่ยังคงโลดแล่นยืนหยัดในวงการบันเทิงไทยอย่างแข็งแกร่ง แม้วันนี้หน้าจอทีวีจะเปลี่ยนไป กันตนาพร้อมเปลี่ยนแปลง อัดฉีดเฉียด 500 ล้าน วางใจส่งไม้ต่อให้ลูกหลานเจน 3 กว่า 13 ชีวิตได้พิสูจน์ผลงานและนำพากันตนาสู่บทใหม่ นำทีมโดย “เต้-ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก“ ด้วย “Blue Project ดีเอ็นเอสีฟ้า ดีเอ็นเอกันตนา” ในวันที่คนดูไม่ยึดติดหน้าจอทีวี เปิดใจรับคอนเทนต์หลากหลาย และโลกออนไลน์คือสมรภูมิแห่งขุมทรัพย์ใหม่ 


ในวันที่วงการทีวีต้องสั่นสะเทือน เพราะการเปลี่ยนแปลงของดิจิทัลดิสรัปชั่น บวกกับสัมปทานทีวีดิจิทัลที่มาผิดจังหวะได้ส่งผลร้ายมากกว่าผลดี วงจรธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ต่างก็ได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน
อุตสาหกรรมทีวีไม่รุ่งเรืองเหมือนก่อน ผู้ผลิตคอนเทนต์ก็เจ็บหนักเช่นเดียวกัน หลายรายถอดใจไม่ขอไปต่อ แม้จะเป็นเบอร์ใหญ่ของวงการก็ไม่อาจฝืน

แต่สำหรับ “กันตนา” กลับฝ่าคลื่นลมแรงมาได้ ทั้งที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ ย่อมขยับตัวช้า แต่จนถึงวันนี้ยังคงโลดแล่นและพร้อมไปต่อ ไม่ใช่เรื่องของโชคที่เข้าข้าง แต่เป็นเรื่องของประสบการณ์ที่มองขาด จึงตั้งป้อมรับมือได้ทัน


“ตลอดเวลา 70 กว่าปีที่ผ่านมา กันตนาอยู่ตรงแถวหน้าในทุกการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงของไทยและในกระแสโลก พูดได้ว่าเรา เห็น เป็น และปรับ จนอยู่มาได้อย่างดีในทุกการเปลี่ยนแปลง ประสบการณ์ได้พิสูจน์สิ่งที่เราเชื่อและทำมาตลอด เนื้อหาหรือคอนเทนต์คือหัวใจ และผลงานที่ดีของส่วนผสมเนื้อหาและเทคนิค ไม่ว่าเทคโนโลยีจะพาเราไปได้ไกลแค่ไหน เนื้อหาที่ดีเทคนิคที่ดียังคงเป็นส่วนผสมสำคัญ และนั่นเป็นสองสิ่งที่กันตนาทำได้ดีเสมอมา” นายจาฤก กัลย์จาฤก ประธานกรรมการ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวไว้ในรายงานประจำปี 2564

นายจาฤก ยังกล่าวด้วยว่า ด้วยพลังของคนกันตนาแต่ละเจนเนอเรชั่นที่ "กล้าคิด กล้าทำ กล้าก้าว" พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอ เราจึงพร้อมพยายามอย่างที่สุดเพื่อเป็นแรงหนึ่งที่ช่วยผลักดันคอนเทนต์ไทยไปสู่สากล เพื่อสร้างโอกาสให้กับองค์กร และทั้งอุตสาหกรรมบันเทิงไทยให้เดินหน้าไปได้ไม่หยุด


**ปรับใหญ่! ส่งทายาทรุ่น 3 ขับเคลื่อน ผ่าน Blue Project **
หลายปีที่ผ่านมา ความเป็นเบอร์หนึ่งไม่ได้การันตีถึงความอยู่รอด กันตนาจึงพร้อมปรับตัวเปลี่ยนแปลง และเปิดกว้าง เพื่อให้ได้ไปต่อ หนึ่งในนั้นคือ การเปิดทางให้ทายาทรุ่นที่ 3 เข้ามาสร้างผลงานและพิสูจน์ฝีมือ

โดยในปี 2567 นี้ กันตนาพร้อมปล่อยมือ ส่งไม้ต่อให้กับทายาทรุ่นที่ 3 ซึ่งมีอยู่ 13 คน เช่น เต็นท์-กัลป์ กัลย์จาฤก, สตางค์-ดิษย์ลดา ดิษยนันทน์ กัลย์จาฤก และมิสเตอร์ดี หรือ เวลล์-ดิษย์กรณ์ ดิษยนันทน์ กัลย์จาฤก ได้ทยอยเข้ามาบริหารและทำงานกับทางกันตนาทั้งหมดแล้ว ตามความชอบและความถนัดของแต่ละคน

เจนเนอเรชั่น 3 ที่มีอายุน้อยที่สุด อายุ 27 ปี และที่เห็นได้ชัดและโดดเด่น นำทีมโดย “เต้-ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก“
เต้-ปิยะรัฐ เป็นทายาทในรุ่นที่ 3 โดยเป็นคนแรกๆ ที่เข้ามาบริหารและทำงานให้กับกันตนาตั้งแต่ 10 ปีก่อน ผลงานที่โดดเด่น และยังถูกกล่าวถึง เป็นมีมที่โพสต์ถึงกันอยู่บ่อยๆ จนถึงปัจจุบัน คือ ”The Face” ความสำเร็จในครั้งนี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริหารรุ่นก่อน ทำให้ในวันนี้ เต้-ปิยะรัฐ จึงกลายเป็นผู้นำของกลุ่มเจน 3 ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท กันตนา เอฟโวลูชั่น จำกัด และผู้อำนวยการบริหาร การสร้างสรรค์รายการกลุ่ม บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่จะขับเคลื่อนกันตนาต่อไป


“ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราคลุกคลีอยู่กับวงการบันเทิงมาตั้งแต่เกิด ช่วงที่เริ่มเข้ามาทำงานใหม่ๆ ระหว่างตนกับเจนรุ่นก่อน ยอมรับว่าก็มีปัญหากันบ้าง เถียงกันบ้าง ไม่เข้าใจกันบ้าง แต่ทุกวันนี้ไม่มีแล้ว เข้าใจกันแล้ว ทำงานสานต่อร่วมกันได้” เต้-ปิยะรัฐ เปิดใจถึงการทำงานในช่วงแรก

เต้-ปิยะรัฐ เผยต่อว่า ปี2567นี้ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนและก้าวสำคัญของกันตนา โดยได้ทำการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ เสริมทัพทายาทรุ่นที่ 3 และผู้บริหารรุ่นใหม่ ที่จะมาผนึกกำลังร่วมกันขับเคลื่อนองค์กร ผ่านโครงการ Blue Project ที่จะมาตอกย้ำศักยภาพของธุรกิจที่สั่งสมมายาวนาน มาพัฒนาต่อยอดและเชื่อมทุกประสบการณ์ของผู้ชมด้วยการสร้างประสบการณ์ใหม่ ผ่านการผสานคอนเทนต์คุณภาพระดับโลกและคอมมูนิตี้เข้าด้วยกัน มอบเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมคุณภาพ และมอบความสุขให้กับผู้ชม พร้อมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในธุรกิจบันเทิงของไทย

โดยแนวทางการผลิตคอนเทนต์ของกันตนาจะปรับเปลี่ยนให้หลากหลายขึ้นตามแพลตฟอร์ม พลิกโฉมโมเดลการรับชมคอนเทนต์ให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป และพัฒนาประสบการณ์ในการรับชมของผู้บริโภคไปอีกขั้น พร้อมเสริมทัพด้วยคอนเทนต์ใหม่ๆ อาทิ Reality Competition กับรายการ The Original ที่ไม่ใช่แค่การสร้าง Top Model ให้กับเมืองไทย แต่จะเป็นการเฟ้นหาคนที่มีความออริจินัล โดดเด่นจนสร้างคอมมูนิตี้ และเป็น trendsetter ได้


“สำหรับรายการ The Original เป็นโปรเจกต์ที่ตนดูแลโดยตรง เริ่มเปิดรับออดิชั่นไปแล้ว สปอนเซอร์ก็พอมีบ้างแล้ว แต่ยังอยากได้เพิ่มมากกว่านี้ ซึ่งยอมรับว่าปัจจุบันการหาสปอนเซอร์ยากกว่าแต่ก่อน ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมทีวี ส่วนเมนเทอร์ก็มีพูดคุยไว้บ้างแล้ว และจากเดิมตั้งใจเปิดตัวรายการและ On Air ช่วงเดือนต.ค. ที่จะถึงนี้ เวลานี้อาจจะไม่ทัน แต่อย่างไรก็ตามจะต้องไม่เกินปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าแน่นอน ส่วนช่องทางรับชมนั้น จะเป็นช่องทางออนไลน์ บนแพลตฟอร์ม Youtube เป็นหลักก่อน”

อีกทั้งยังมีรายการ Blue Talk ที่ตนยังเป็นผู้ดำเนินรายการ นำเสนอเรื่องราวเจาะลึกที่น่าสนใจ โดยเฉพาะความสำเร็จของ The Face ถือเป็นการต่อยอดคอนเทนต์การหารายได้เพิ่ม นำเสนอผ่านช่องทางออนไลน์ บนแพลตฟอร์ม Youtube เช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีอีเวนต์ใหญ่เกี่ยวกับ LGBTQ+ ที่ตนดูแลอีก 2 งาน คือ 1. งาน ‘THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ+ FILM & TV FESTIVAL 2024’ (TILFF) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 6-10 กันยายน 2567 ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน และ2. งาน WORLD WEDDING CEREMONY ที่จะรวมรวบคู่บ่าวสาวจากนานาชาติ เข้าสู่ประตูวิวาห์พร้อมกันในประเทศไทยอย่างเท่าเทียม


**Blue Project : ดีเอ็นเอสีฟ้า ดีเอ็นเอกันตนา**

Blue Project กล่าวคือ โปรเจกต์สีฟ้า ซึ่งเป็นสีของกันตนา โครงการ Blue Project จึงหมายถึงผลงานของเจน 3 ซึ่งมี DNA ของกันตนาอยู่ในนั้น ที่จะออกสู่สายตาหลังจากนี้ ภายใต้น่านน้ำในการหารายได้แหล่งใหม่กับช่องทางออนไลน์ ที่กลุ่มเจน 3 ปักหมุดหมายเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นรายได้จาก subscription หรือระบบสมาชิกจากช่องทางออนไลน์, รายได้จากยอดวิว และโฆษณาบนออนไลน์ เป็นต้น

โดย Blue Project ในครั้งนี้ นอกจากโปรเจ็กต์และคอนเทนต์ที่ เต้-ปิยะรัฐ ดูแลแล้ว ยังมีคอนเทนต์และโปรเจกต์อื่นที่ทายาทเจน 3 คนอื่นๆดูแลอยู่อีกหลายโปรเจกต์ เช่น ซีรีย์ยูริ หรือ เกิร์ลเลิฟ เรื่อง “ดาวบริวาร” กับเรื่องราวเหนือจินตนาการของสองสาวที่จะมาในสไตล์ Romantic Fantasy ที่จะออนแอร์บนช่องทางออนไลน์ บนแพลตฟอร์ม Youtube เป็นเฟิร์สทสกรีน ซึ่งซีรีย์ดังกล่าวมีแผนต่อยอดสร้างคอมมูนิตี้ฐานแฟนให้แข็งแกร่งด้วยโมเดล Subscription สมาชิกคอมมูนิตี้จะได้รับประสบการณ์พิเศษต่างๆ เช่น การรับชมก่อนใคร หรือร่วมกิจกรรมกับนักแสดงในดวงใจ เชื่อว่าผู้ชมจะหลงรักทั้งสองสาวอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ยังมี “สตางค์-ดิษย์ลดา ดิษยนันทน์ กัลย์จาฤก” หนึ่งในเจน 3 ดูแลในส่วนของการนำเรื่องที่เป็น IP หรือคอนเทนต์ต่างๆ ของกันตนาที่มีอยู่นับพันเรื่อง มาผลิตต่อยอดเป็นงานรูปแบบต่างๆ อาทิ Micro drama มิติใหม่ของความบันเทิงในรูปแบบละครสั้น ตอนละ 1-2 นาที ทางออนไลน์แพลตฟอร์ม และร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจอีกหลากหลายเพื่อพัฒนา ต่อยอดงานร่วมกัน ทั้งงานซีรีย์ รายการโทรทัศน์ และภาพยนตร์


ขณะที่ “เต็นท์-กัลป์ กัลย์จาฤก” เองก็จะดูแลในส่วนของโปรดักส์ชั่น ภาพยนตร์ กับโปรเจ็กต์ปีนี้ คือ ภาพยนตร์อนิเมชั่น “ก้านกล้วย 3” ที่จะมาพร้อมกับเกมออนไลน์ ‘ก้านกล้วย’ บนแพลตฟอร์มมัลติเวิร์สอย่าง Roblox และ Sandbox

รวมถึงการเปิดสตูดิโอเกม DEV A ที่เป็น Metaverse Studio และ WEREBUFF Game Studio ที่จะผลิต Horror Adventure Game ในชื่อ ‘Kumarn’ เกมแรกของประเทศที่สร้างสรรค์เรื่องแบบภาพยนตร์แนวสยองขวัญที่เป็นเอกลักษณ์ของกันตนา

นอกจากนี้จากวิกฤติโลกร้อน ยังมีรายการ “Boiling Planet เรื่องจริงโลกเดือด” นำเสนอเรื่องราววิกฤติโลกเดือดที่เข้าใจง่าย และสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง และรายการ The Super Farmer เรียลลิตี้แนวใหม่ เจาะคอมมูนิตี้เกษตรกร กับการแข่งขันการปลูกข้าวรายการเดียวในประเทศไทย กับภารกิจการแข่งขันปลูกข้าวในพื้นที่นา 1 ล้านไร่ เพื่อสร้างตัวอย่างนาข้าว คาร์บอนต่ำที่ได้มาตรฐานโลก เพื่อผลผลิตที่ดีของชาวนาและผลลัพธ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ Blue Project ยังมีเรื่องของการให้บริการงานผลิต ที่กันตนาพร้อมยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตคอนเทนต์ของไทยสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาค โดยได้ลงทุน 200 ล้านบาท กับเทคโนโลยีสุดล้ำและพัฒนานวัตกรรมสร้าง Kantana Virtual Studio นวัตกรรมการถ่ายทำใหม่ล่าสุด ที่ช่วยลดขั้นตอนการถ่ายทำ และสามารถลดข้อจำกัดของการสร้างภาพที่โลกเสมือนและโลกแห่งความเป็นจริงมาผสานกัน ทั้งสำหรับภาพยนตร์, Series, Games และงานโฆษณาที่สมบูรณ์แบบที่สุด
รวมถึงงานด้าน Post Production หลังการถ่ายทำทั้งภาพและเสียงที่ให้บริการครบวงจร จนได้รับการยอมรับจากทุกแพลตฟอร์มและผู้สร้างคอนเทนท์ระดับโลก ปัจจุบันได้ขยายกำลังในการผลิตด้วยสตูดิโอเสียงในระบบ Immersive ที่มีมาตรฐานสูงถึง 42 ห้อง

“ทั้งหมดนี้ คือ Blue Project ในปีนี้ถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญของกันตนาในการเคลื่อนทัพรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ ด้วยบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ และเครื่องมือการผลิตที่ได้มาตรฐานระดับโลก พร้อมทั้งทีมงานกว่า 500 คน จะรวมพลังกันสร้างสรรค์คอนเทนต์และโปรดักส์ชั่นต่อไป” เต้-ปิยะรัฐ กล่าว


ด้านนางศศิกร ฉันท์เศรษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า Blue Project ในวันนี้ ถือเป็นการเปิดตัวผลงานของกันตนาที่จะเกิดขึ้นภายใต้การทำงานของกลุ่มทายาทรุ่นที่ 3 ซึ่งมองว่าการขับเคลื่อนของกันตนาภายใต้การดูแลของเหล่าเจน 3 เป็นเรื่องที่ดี เพราะเด็กรุ่นนี้เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี บวกกับคลุกคลีอยู่กับวงการบันเทิงมาตั้งแต่เกิด ความคิดอ่านต่างๆ จึงทันและเข้าใจในสถานการณ์

ขณะที่เราเองซึ่งเป็นเจน 2 เป็นคนรุ่นก่อน อาจจะก้าวไม่ทันเทคโนโลยีเหล่านี้ไปบ้าง ถึงเวลาเปิดทางให้เด็กๆ ได้เข้ามาทำงาน โดยที่เราคอยคุมอยู่เบื้องหลัง

นางศศิกร กล่าวด้วยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 73 ปีของกันตนา ได้ผ่านจุดสูงสุดและต่ำสุดมาแล้ว ยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของอุตสาหกรรมทีวี ก็เป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของกันตนาเช่นกัน โดยกันตนาเคยมีรายได้สูงสุดถึง 2,000 ล้านบาท ส่วนจุดต่ำสุดคือ ช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด 19 หรือราวช่วงปี 2563 ถือว่าหนักสุด มีการล็อกดาวน์ ห้ามทำกิจกรรม อาชีพที่เกี่ยวกับวงการบันเทิงไม่สามารถทำอะไรได้เลย เมื่อเทียบกับเวลานี้จึงเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่เชื่อว่าจะผ่านไปได้


“การเปิดตัวเจน 3 กับแผนของ Blue Project หลักๆ จะเน้นปูทางสร้างฐานผู้ชม หารายได้ จากช่องทางออนไลน์เป็นหลัก แทนฟรีทีวีที่หารายได้ได้น้อยลง จากเคยรุ่งเรืองสุด เรตโฆษณาทางฟรีทีวีอยู่ที่ 400,000 บาทต่อนาที ตอนนี้เหลือ 40,000 บาทต่อนาที ช่องทีวีเองก็ลำบาก เราเองในฐานะผู้ผลิตคอนเท้นท์ก็ลำบากเช่นกัน ซึ่งปีนี้ทางกันตนาเองก็ยังมีรายการทางฟรีทีวีหลักๆ อยู่ 3 รายการ คือ คดีเด็ด, ละคร พิภพมัจจุราช และรายการ ทีเด็ดลูกหนี้ ที่ออกอากาศทางช่อง 3 ทั้งหมด นอกจากนี้ยังเน้นรับจ้างผลิตอีกส่วนหนึ่งด้วย“

ส่วน Blue Project จะเริ่มออกสู่สายตา นับจากนี้ไปอีก 1-2 ปีข้างหน้า รวมๆ แล้วทยอยใช้เงินลงทุนหลายร้อยล้านบาท แต่อาจจะไม่ถึง 500 ล้านบาท หลักๆ ลงทุนด้านคอนเท้นท์ 50% โปรดักส์ชั่น 30% และอีเว้นท์20% ซึ่งที่ใช้ไปแล้ว คือ Kantana Virtual Studio ลงทุนไป 200 ล้านบาท ส่วนรายได้ในปีนี้นั้น จะมาจาก คอนเทนต์ 50% โปรดักส์ชั่น 30% และอีเวนต์ 20% เช่นกัน


ขณะที่ตัวเลขรายได้ในปีนี้ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน มีเพียงตัวเลขรายได้ 4 ปีย้อนหลัง ( ที่มา : รายงานประจำปี บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ) ดังนี้

1. ปี 2562 มีรายได้ 589,432,255 บาท
2. ปี 2563 มีรายได้ 976,197,000 บาท
3. ปี 2564 มีรายได้ 710,506,000 บาท
4. ปี 2565 มีรายได้ 796,363,000 บาท

ทิศทางของกันตนา จากนี้แม้จะปักหมุดสู่ออนไลน์มากขึ้น แต่ก็ยังคงฉายภาพของการเป็นคอนเทนต์โพรไวเดอร์ หรือ ผู้ผลิตคอนเทนต์อย่างชัดเจน อุตสาหกรรมทีวีจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่หัวใจสำคัญ คือ คอนเทนต์

“กันตนา แปลว่า ผู้เป็นที่รัก เป็นผู้เนรมิตจินตนาการ สร้างสรรค์คอนเทนต์ความบันเทิงสู่ผู้ชมชาวไทยมาตลอด 70 กว่าปี จากการผลิตละครวิทยุก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์บันเทิงระดับแนวหน้า สร้างสรรค์และผลิตคอนเทนต์ทุกรูปแบบในทุกแพลตฟอร์มได้อย่างสมบูรณ์แบบ การมาถึงของสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ สื่อแพลตฟอร์มใหม่ๆ การก้าวไกลของโลกดิจิทัล ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งอุตสาหกรรม รูปแบบการใช้ชีวิตและพฤติกรรมของผู้บริโภค แต่สำหรับกันตนา มั่นใจว่าเราจะผ่านช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ และสร้างชื่อในฐานะผู้นำความเปลี่ยนแปลงได้เสมอ” นายจาฤก ได้กล่าวไว้.








กำลังโหลดความคิดเห็น