สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือชื่อย่อ ITD เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของรัฐบาลไทย มีฐานะเป็นองค์การมหาชน สังกัดอยู่ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ และดำเนินงานมาแล้วร่วม 23 ปี สามารถขับเคลื่อนภารกิจตามชื่อ คือ การขับเคลื่อนการค้าและการพัฒนาได้อย่างเข้มข้น เชิงรุก สามารถทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับ ก้าวขึ้นไปมีบทบาทนำ และอยู่แถวหน้าในเวทีการค้าระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดีมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ
ปัจจุบัน ITD มีผู้บริหาร 3 ท่าน คือ นายสุภกิจ เจริญกุล เป็นผู้อำนวยการ นายภานุมาส เทพทอง เป็นรองผู้อำนวยการ (บริหาร) และนายวิมล ปั้นคง เป็นรองผู้อำนวยการ (วิชาการ) ทำหน้าที่ขับเคลื่อนองค์กร โดยแผนงานการขับเคลื่อน ITD ในช่วงที่เหลือของปี 2567 จะเป็นไปในทิศทางไหน อย่างไร จะนำพา ITD ไปสู่จุดไหน และจะสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติ ทั้งในส่วนของภาครัฐ และภาคเอกชนอย่างไร เรามาติดตามจากคีย์แมนทั้ง 3 ท่านไปพร้อมๆ กัน
ก่อนจะมาเป็น ITD
นายสุภกิจ เจริญกุล ผู้อำนวยการ ITD เล่าที่มาที่ไปก่อนที่จะเกิดเป็น ITD ว่า ต้องย้อนกลับไปถึงช่วงก่อนที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด ครั้งที่ 10 ในปี 2543 ตอนนั้นเลขาธิการอังค์ถัด ต้องการให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เอาองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศในภูมิภาคมาช่วยเผยแพร่ จึงเสนอให้รัฐบาลไทยพิจารณาจัดตั้งองค์กรหนึ่งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ตรงนี้ เพราะตอนนั้นการพัฒนา การค้าต่างๆ ยังไม่ค่อยดีเหมือนตอนนี้ ถ้ามีองค์กรที่จะนำความรู้จากอังค์ถัด แล้วมาเผยแพร่ ก็จะเป็นประโยชน์ ซึ่งรัฐบาลไทยเห็นด้วย และเกิดเป็น ITD ขึ้นมาเมื่อปี 2544
โดยหน้าที่หลักของ ITD จะเน้นใน 3 กิจกรรมหลัก คือ การวิจัย การอบรม และการพัฒนา ในทุกๆ ด้านที่เกี่ยวกับการค้าและการพัฒนา โดยที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่ตามภารกิจมาโดยตลอด และมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาคนี้ให้ได้
“สิ่งที่ ITD ทำ เราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและการพัฒนา เราทำทั้งงานวิจัย ทำการฝึกอบรม และผลักดันให้มีการพัฒนาในด้านต่างๆ เมื่อทำแล้วก็นำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย เพื่อส่งต่อให้กับหน่วยงานรัฐ หน่วยงานในต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายว่า ถ้าการค้าดี การพัฒนาในด้านต่างๆ ก็จะดีตามไปด้วย” นายสุภกิจกล่าว
แผนการทำงานปี 67
นายสุภกิจกล่าวว่า แผนงานที่จะดำเนินการในช่วงที่เหลือของปี 2567 จะดำเนินการตามภารกิจ ทั้งการวิจัย อบรม และการพัฒนา โดยทำงานสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ทั้งการพัฒนาองค์ความรู้ การสร้างกิจกรรมที่เสริมสร้างองค์ความรู้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับหน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาการทำงานของ ITD จะเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐเป็นหลัก เพราะก่อนหน้าจะเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหา อุปสรรคทางการค้า ซึ่งทำสำเร็จไปเป็นจำนวนมาก ตอนนี้ได้ปรับบทบาทมาให้ความช่วยเหลือ SME มากขึ้น เพราะ SME จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของประเทศในอนาคต
สำหรับแผนงานที่จะดำเนินการในปีนี้ ได้นำผู้ประกอบการ SME เข้าร่วมงาน Smart SME Expo 2024 ซึ่งจัดไปแล้วเมื่อวันที่ 4-7 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยนำผู้ประกอบการสินค้าในกลุ่ม BCG เข้าร่วมจัดงานแสดงสินค้า และเจรจาจับคู่ธุรกิจ ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ มีการเปิดตัวแพลตฟอร์ม ITD Expert Anywhere ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้คำปรึกษาสำหรับผู้ประกอบการ SME และแนะนำ BCG Connex ที่เป็นช่องทางในการสนับสนุนสินค้า BCG ไปสู่สากล
ส่วนในเดือน ส.ค. 2567 มีกำหนดที่จะจัดงาน Thailand SME Exponential Fest 2024 งานนี้จะเป็นงานที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการ SME ที่อยากจะทำธุรกิจ โดยจะดึง SME และ KOL ที่ประสบความสำเร็จมาเล่าประสบการณ์ มาพูดให้ฟัง เพื่อช่วยให้ SME ที่ท้อแท้ หมดไฟในการทำธุรกิจ ได้มีแรงใจ มีแรงฮึด ต่อสู้ในการทำธุรกิจต่อ ตั้งเป้าจะมี SME มาร่วม 1,500-1,800 คน มี SME และ KOL มาพูด 30 คน ทำเป็นสไตล์ทอล์กโชว์ พูดสั้นๆ แต่ได้ใจความ
นอกจากนี้ จะมีการจัดงานใหญ่อีกงาน ดึงคนที่สนใจในเรื่องเดียวกันมาพูดคุย เป็นงานอินเตอร์ เชิญผู้พูดจากภูมิภาค และนอกภูมิภาค ส่วนผู้ฟัง จะมีทั้งคนไทย คนต่างชาติในไทย คนต่างประเทศที่จะฟังผ่านช่องทางออนไลน์ โดยถ่ายทอดสดผ่านหน่วยงานพันธมิตร ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยหัวข้อปีนี้จะพูดเรื่อง AI ช่วยการค้าอย่างไร จะพูดทั้งโอกาส ความเสี่ยง ข้อเสนอแนะเรื่อง AI ในระบบการค้า ตั้งเป้าจัดประมาณเดือน ก.ย. 2567
ทำหลักสูตร-โครงการใหม่
นายสุภกิจกล่าวอีกว่า ITD ยังมีแผนที่จะจัดทำหลักสูตรผู้นำยุทธศาสตร์ด้านการค้าและการพัฒนา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่จะทำ โดยจะทำงานร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาหลักสูตรเจาะเป็นรายอุตสาหกรรม โดยจะเลือก 4 อุตสาหกรรม จาก 8 อุตสาหกรรมที่ครอบคลุมด้านการท่องเที่ยว การรักษาพยาบาลและสุขภาพ อาหาร การบิน การผลิตยานยนต์แห่งอนาคต เทคโนโลยี และการเงิน โดยจะเชิญคนที่เกี่ยวข้องในแต่ละอุตสาหกรรมมาเรียน ระยะเวลา 3-4 เดือน ขอให้มาช่วยกันคิด ช่วยกันระดมสมอง เอาหัวกะทิมาเรียน คาดหวังจะได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ข้อเสนอที่กำหนดทิศทางอุตสาหกรรมที่มองไปในอนาคตข้างหน้า แล้วนำไปนำเสนอต่อผู้บริหารภาครัฐ อาจจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี
อีกส่วนที่สำคัญ เป็นการทำเรื่องประชาคมข่าวกรองทางการค้าแห่งชาติ เป็นโครงการใหม่ที่จะมาช่วยวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจ การค้า ของอุตสาหกรรมต่างๆ เบื้องต้นจะเลือก 4 อุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับหลักสูตรข้างต้น โดยที่เลือก 4 อุตสาหกรรมนี้เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตในปัจจุบันและในอนาคต และต่อไปก็จะเพิ่มอุตสาหกรรมที่จะวิเคราะห์เข้ามาเรื่อยๆ
จัดประกวด She Economy
นายสุภกิจกล่าวว่า มีอีกธุรกิจหนึ่งที่มีโอกาสเติบโต คือ She Economy และ ITD กำลังจะผลักดัน โดยเป็นโครงการที่ทำต่อเนื่องจากที่อังค์ถัดได้พยายามขับเคลื่อนและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิงทั่วโลก ซึ่ง ITD จะจัดประกวดหาตัวแทนผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิงจากทั่วประเทศ โดยให้ส่งคลิปแนะนำตัวเองเข้ามา ทำธุรกิจอะไร จุดขายคืออะไร จุดเด่นคืออะไร อยากได้ประมาณ 300 คน และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาคัดเลือก เอามาเข้าแคมป์ 30-50 คน นำมาช่วยบ่มเพาะ ต่อยอด ทำแผนขยายธุรกิจ แล้วเอาเข้ามาประกวด เหมือนประกวดนางงาม โดยผู้ชนะการประกวด จะได้เงินรางวัล และเป็นตัวแทนประเทศไปประกวดที่อังค์ถัด โดยงานที่อังค์ถัดจัด จะเอาผู้ประกอบการผู้หญิงจากทั่วโลกมาประกวด โดยมีโควตาให้กับแต่ละประเทศ ซึ่งไทยเป็นครั้งแรกที่จะได้ส่ง ส่วนใหญ่เลือกจากประเทศกำลังพัฒนา ประเทศละ 2 คน เมื่อประกวดได้ผู้ชนะก็จะนำไปเป็นต้นแบบต่อไป
“ผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิงที่เข้ามาร่วมโครงการ ไม่เพียงแต่ได้ความรู้ ยังจะได้เพิ่มขีดความสามารถในการทำธุรกิจ ได้พัฒนาการทำธุรกิจ และยังจะได้เครือข่าย สร้างเครือข่ายระหว่างกัน เป็นการต่อยอดให้กับการทำธุรกิจ ขอให้เตรียมตัวกันได้เลย งานนี้มีแต่ได้กับได้”
ลุยงานวิจัยเสริมแกร่ง SME
สำหรับภารกิจในการขับเคลื่อนงานวิจัย ที่เป็นอีกหนึ่งในภารกิจหลักของ ITD นายสุภกิจกล่าวว่า ตอนนี้ทำอยู่ 2 เรื่อง คือ โครงการแนวทางการปรับตัวรองรับมาตรการทางการค้าเพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับ MSME และโครงการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน BCG บนระเบียงเศรษฐกิจเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของ MSME โดยได้รับเงินทุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ซึ่งเป็นการปรับบทบาทของ ITD ที่ไปทำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการมากขึ้น เพราะเดิมงานวิจัยของ ITD จะเน้นการลดข้อจำกัดของหน่วยงานภาครัฐ จึงทำงานกับภาครัฐมาตลอด แต่จากนี้จะมาต่อเติม ต่อยอด ในส่วนของผู้ประกอบการให้มีโอกาส ให้มีความเข้มแข็ง
รายละเอียดโครงการวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้องบอกตรงๆ เป็นเรื่องที่ MSME ไม่ค่อยสนใจ ไม่ค่อยระวัง ทั้งๆ ที่ต่างประเทศระวังมาก ตอนนี้มีมาตรการ CBAM หรือมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (อียู) ที่ได้บังคับใช้แล้ว แต่ SME ของไทยคิดอย่างเดียว ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ แต่ไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ และสหรัฐฯ เองก็จะมีมาตรการในเรื่องนี้ออกมาด้วย ITD จึงต้องศึกษาวิจัย และพยายามให้ความรู้แก่ MSME
ส่วนเรื่องระเบียงเศรษฐกิจ เป็นการศึกษาห่วงโซ่อุปทานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ MSME เพราะแต่ละระเบียงเศรษฐกิจมีการให้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในรูปแบบต่างๆ ต้องไปเจาะ แล้วนำมาแจ้งโอกาสให้แก่ MSME
ศึกษาใช้อีคอมเมิร์ซเจาะตลาดจีน
นายวิมล ปั้นคง รองผู้อำนวยการ ITD กล่าวว่า ITD มีแผนที่จะทำโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SME เพื่อการใช้ประโยชน์จาก Cross Border E-Commerce (CBEC) สู่ตลาดประเทศจีน เพื่อไม่ให้ไทยตั้งรับเพียงอย่างเดียว เพราะปัจจุบันจีนขายสินค้าไทยผ่าน CBEC เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ต้องไปศึกษาว่าทำอย่างไรให้ไทยขายสินค้าไปจีนในช่องทางนี้ได้ด้วย ซึ่งจะศึกษาทั้งเรื่องแพลตฟอร์ม ระบบโลจิสติกส์ และการชำระเงิน เพื่อสร้างความพร้อมให้ผู้ประกอบการของไทย
นอกจากนี้ ยังมีโครงการยกระดับผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มการเกษตรสู่การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน (Smart AgriTech to the Sustainability Business Project) โดยจะศึกษาการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เช่น สินค้ากรีนอีโคโนมี เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาผู้ประกอบการสินค้าเกษตรแปรรูป และนำไปศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น เพื่อให้เห็นภาพจริง ดูสินค้าจริงว่าที่เขาพัฒนาแล้วเป็นอย่างไร จะได้มีไอเดียนำมาใช้ และพัฒนาสินค้าไทยต่อไป
สร้างแรงบันดาลใจ SME
นายภานุมาส เทพทอง รองผู้อำนวยการ ITD กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดการจัดงาน Thailand SME Exponential Fest 2024 เป็นงานที่จะจัดขึ้นเพียงวันเดียว แต่ครบเครื่อง โดยจะเป็นมหกรรมสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการ SME ที่เคยล้ม เคยท้อ ไม่อยากไปต่อ คนเคยล้มแล้วลุก โดยจะมีวิทยากร มีกูรู ที่เป็น KOL มาสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อให้มีกำลังใจทำธุรกิจต่อ สู้ต่อ โดยจะพูดสั้นๆ คนละไม่เกินครึ่งชั่วโมง
ทั้งนี้ ในการจัดงานจะเน้นสอนด้วย สนุกด้วย เหมือนทอล์กโชว์ และจะมีการทำบิสิเนส แมชชิ่ง ออน สเตท ด้วย มีผู้ซื้อ 6 ราย คนขาย 2 ราย มาโชว์ให้คนที่เข้าร่วมงาน 1,500 คนได้ดู ว่าการขายสินค้าระบบกึ่งไฮบริดเป็นอย่างไร รวมทั้งจะมีบูทพันธมิตรมาร่วมงานประมาณ 10 หน่วยงาน มีบูทสินค้าจาก SME มาจัดแสดงและจำหน่ายให้ผู้เข้าร่วมงาน
ปรึกษาคลินิกเสมือนจริง
สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ทำธุรกิจแล้วประสบปัญหา หรือมีปัญหาในเรื่องต่าง ๆ หรืออยากจะทำธุรกิจ อยากจะส่งออก แต่ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร ITD ได้จัดทำคลินิกเสมือนจริงขึ้นมา ในชื่อ ITD Expert Anywhere ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้คำปรึกษาสำหรับผู้ประกอบการ SME เพื่อการส่งออก เป็นเสมือนที่ปรึกษาส่วนตัวให้ผู้ประกอบการ SME โดยตรง โดยไม่มีข้อจำกัดในการเลือกเวลาและสถานที่ สามารถขอรับคำปรึกษาได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ตอบโจทย์ทุกปัญหาของผู้ประกอบการ SME
“เราคัดที่ปรึกษาแต่ละด้านมาคอยให้คำปรึกษา ทั้งด้านการเงิน การส่งออก กฎหมาย เทคโนโลยี การขออนุญาตหน่วยงานรัฐต่างๆ โดย SME ที่มีปัญหาอยากขอรับคำปรึกษาก็สามารถมาลงทะเบียน แล้วเลือกเวลา จองเวลา เพื่อพูดคุยกับที่ปรึกษาได้ทางออนไลน์ ซึ่งตอนนี้ เราทำเฟส 2 แล้ว พัฒนาให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น ระบบมีฟังก์ชันหลากหลายขึ้น และล่าสุดมีคนลงทะเบียนแล้ว 1.5 หมื่นราย ได้ให้คำปรึกษาไปแล้วทั้งแบบกลุ่มและเดี่ยว 700 ราย โดยผู้สนใจสามารถลงทะเบียนได้ผ่านแอปพลิเคชัน ITD Expert Anywhere ทั้ง iOS และแอนดรอยด์” นายภานุมาสกล่าว
เชื่อมโยงการซื้อขายสินค้า BCG
นายภานุมาสกล่าวว่า ITD ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์ม BCG Connex ที่จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมกลุ่มผู้ประกอบการ MSME ที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปมูลค่าเพิ่มสูง เช่น อาหารเสริมสุขภาพ อาหารทางการแพทย์ เข้ามาลงทะเบียน เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา และเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสินค้า BCG ทั้งผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ผู้ร่วมลงทุน ได้เข้ามาดูสินค้า และเลือกซื้อสินค้า รวมทั้งยังมีการเพิ่มบริการเชื่อมโยงกับการให้บริการของหน่วยภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในเรื่อง BCG ทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งหมดนี้เป็นแผนงานที่ ITD กำลังจะขับเคลื่อนในปี 2567 ผ่าน 3 คีย์แมนสำคัญ ที่ผนึกกำลังช่วยกันทำงาน ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการพลิกโฉมหน้าการทำงานครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ที่มีการปรับภารกิจให้ลงลึก เจาะลึก และหลากหลายมากขึ้น พร้อมๆ กับการขยายเป้าหมายไปสู่การขับเคลื่อนและพัฒนาผู้ประกอบการ SME ให้มีตัวตน มีบทบาท ในเวทีการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น