xs
xsm
sm
md
lg

กทพ.เดินหน้าด่วน N1 "เกษตร-งามวงศ์วาน" อุโมงค์ลึก 40 เมตร งบบาน 4.9 หมื่นล้าน ชงครม.ตัดสิน ชาวบ้านยังต้านหนัก ชี้ได้ไม่คุ้มเสีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทพ. เดินหน้าทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N1 ขุดอุโมงค์ ลึกกว่า 40 เมตรเลี่ยงปัญหาลดเวนคืน ยอมงบพุ่งเป็น 4.9 หมื่นล้าน ค่าผ่านทาง 70 บาท ใช้ได้เฉพาะรถ 4 ล้อ ชี้เส้นทางสำคัญ เชื่อมแนวออก-ตก ชงขอรัฐอุดหนุนค่าก่อสร้าง ชงครม.ปี 68 ก่อสร้าง 5 ปี ด้านชาวบ้านรุมค้านชี้ เวนคืนสูง อุโมงค์ไม่ปลอดภัยได้ไม่คุ้มเสีย

วันนี้ (13 กรกฎาคม 2567) นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (สรุปผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทน ตอน N1 ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม โรงแรมมารวยการ์เด้น แขวงเสนานิคมเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โดยมี ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทน ตอน N1 มีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดตัดระหว่างทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน และสิ้นสุดที่ถนนประเสริฐมนูกิจ โดยเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 บริเวณแยกสุคนธสวัสดิ์ ระยะทางรวม 10.55 กิโลเมตร (กม.) มูลค่า 49,220 ล้านบาท เป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมกทม.ด้านตะวันตก และตะวันออก ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้ประมาณ 30 นาที ซึ่งกทพ.ขับเคลื่อนมา 15 ปี แล้ว แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างทำให้โครงการเดินหน้าไม่ได้ ล่าสุดกทพ.ได้ศึกษาแนวทางที่เหมาะสม มีผลกระทบน้อยที่สุด มีการนำข้อคิดเห็นของประชาชน และข้อจำกัดมาพิจารณาปรับแก้ มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ประชุมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 ได้นำเสนอผลการคัดเลือกแนวสายทางที่เหมาะสม และการประชุมครั้งที่ 3 เป็นการ นำเสนอข้อสรุปรูปแบบก่อสร้าง แนวทางการแก้ปัญหาและลดผลกระทบ หลังจากนี้ จะนำเสนอกระทรวงคมนาคม และดำเนินการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA )นำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณาต่อไปคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการ ได้ในปี 2568 ก่อสร้างปี 2569-2574 เปิดบริการปี 2574

ทั้งนี้กทพ.ได้รับข้อคิดเห็นจากประชาชน ซึ่งเรื่องหลักที่กระทบประชาชน คือการเวนคืน รองลงมาคือมีนักวิชาการติงเรื่องอุโมงค์ที่มีค่าก่อสร้างแพง เหตุใดไม่เลือกโครงสร้างที่ค่าลงทุนต่ำกว่า โดยนำมาศึกษาสรุปข้อดี ข้อเสีย และปรับเป็นอุโมงค์เพื่อลดผลกระทบ และหากไม่เร่งก่อสร้าง หรือรออีก 10 ปี ค่าก่อสร้างจะสูงกว่านี้ ยิ่งจะทำให้การก่อสร้างยากขึ้น

"ตอนนี้แนวเส้นทางชัดเจนแล้ว และเลือกรูปแบบอุโมงค์ เพราะผลกระทบน้อยกว่าทางยกระดับ ที่แม้มีค่าก่อสร้างต่ำกว่า คือ ประมาณ 17,826 ล้านบาท มีความเสี่ยงน้อยกว่า แต่ทางยกระดับมีการเวนคืนมากกว่า ประชาชนจะได้รับผลกระทบมากไปด้วย ส่วนรูปแบบอุโมงค์นั้น มีค่าก่อสร้างประมาณ 44,532 ล้านบาท ซึ่งแม้จะสูง แต่จะเวนคืนเฉพาะทางขึ้นลง ซึ่งลดผลกระทบการเวนคืนประชาชนลงได้มาก ส่วนที่ประชาชนบางส่วนแสดงความกังวล และห่วงใยต่อดำเนินโครงการ และอยากให้ กทพ. พิจารณา ยกเลิกโครงการ นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะต้องผ่านการพิจารณาจากอีกหลายหน่วยงาน และต้องเสนอให้กระทรวงคมนาคม และครม. เป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ"


@ดันลงทุนอุโมงค์ผลกระทบน้อย คุ้มค่าเศรษฐกิจ.เคาะค่าผ่านทาง 70 บาท

นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า กทพ.ลงทุนเส้นทางนี้ไม่มีกำไร ตัวเลขผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ติดลบ แต่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) สูงถึง 19.20 % ดังนั้นเมื่อโครงการมีความจำเป็น จึงสรุปที่จะผลักดันเดินหน้า โดย กทพ.ลงทุนเอง ซึ่งจะหารือกับรมว.คมนาคม เสนอขอรัฐอุดหนุนโครงการในส่วนของค่าก่อสร้างด้วย จากปกติรัฐอุดหนุนเฉพาะค่าเวนคืน ขณะที่คำนวนค่าผ่านทางไว้ที่ 70 บาทตลอดสาย แม้การศึกษาจะบอกว่า อัตราค่าผ่านทางที่ทำให้โครงการคุ้มทุนมีกำไรอยู่ที่ 200 บาท ก็ตาม
ส่วน โครงการในระยะที่ 1 (ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก) หรือตอน N2 เดิม ระยะทาง 11.3 กม อัตราาผ่านทาง 30 บาท

ประเด็นอุโมงค์ช่วง ลึกสุดกว่า 40 เมตรนั้ย เป็นบริเวณตัดถนนวิภาวดีรังสิต คลองเปรมประชากร เนื่องจากต้องเลี่ยงอุโมงค์ส่งน้ำขนาดใหญ่ของกทม. จึงต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาดำเนินการอุโมงค์ที่มีความลึก และระยะทางยาว พร้อมกับลงทุนเพิ่มในเรื่องระบบความปลอดภัยกรณีเกิดเหตุภายในอุโมงค์ สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ภายใน 15 นาทีตามมาตรฐานมรวมถึงมีระบบระบายอากาศ ระบายน้ำ จะไม่เกิดน้ำท่วมแน่นอน ยกเว้นกรณีน้ำท่วมหนักเมื่อปี 2554


@จำกัดใช้ได้เฉพาะรถ 4 ล้อ เหตุอุโมงค์เล็ก โครงสร้างทางยกระดับรับน้ำหนักไม่พอ

กทพ.จ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาด้านวิศวกรรมและการออกแบบเบื้องต้นของโครงการ ผลการศึกษาด้านเศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม วงเงิน 30 ล้านบาท

โดยทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือจำกัดให้ใช้ได้เฉพาะรถ 4 ล้อเท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจากอุโมงค์ มีขนาดเล็ก ส่วน โครงสร้างทางยกระดับที่ใช้เสาเข็มฐานรากเดิม ที่ก่อสร้างมา 25 ปี อีกทั้ง โครงสร้างทางด่วนต้องยกระดับขึ้นชั้น 3 ให้สูงกว่ารถไฟฟ้าสีน้ำตาล หรือมีความสูงประมาณ 13 เมตรทำให้รับน้ำหนักได้ลดลง


สำหรับโครงการส่วนทดแทน ตอน N1 เริ่มต้นบริเวณจุดตัดระหว่างทางพิเศษศรีรัช มุ่งหน้าแนงถนนงามวงศ์วาน ลอดผ่านแยกพงษ์เพชร ผ่านถนนวิภาวดี แยกเกษตร ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านแยกลาดปลาเค้า จากนั้นจะยกระดับข้ามแยกเสนานิคม รวมระยะทาง 10.55 กม. มูลค่าโครงการรวม 49,220 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 44,532 ล้านบาทค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3,619 ล้านบาทค่าควบคุมงานก่อสร้าง 1,069 ล้านบาท

มี โครงสร้าง 3 แบบ ช่วงเริ่มลงดินและทางเข้า - ออก เส้นทาง เป็นอุโมงค์ 2 ชั้น แบบ Cut and Cover ขนาด ความกว้าง 15.9 เมตร ระยะทาง 1.75กม.

ช่วงใต้ดืนลึก เป็นอุโมงค์ 2 ชั้น รูปแบบ Tunnel Boring Machine :TMB ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 16.3 เมตร ความลึก 46 เมตร ระยะทาง 6.31 กม. และเป็นโครงสร้างทางยกระดับอีก 2.49 กม.


@ชาวบ้านต้านหนัก ชี้ได้ไม่คุ้มผลกระทบเวนคืน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนร่วมแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยเสียงส่วนใหญ่คัดค้านขอให้ยกเลิกโครงการเนื่องจากใช้เงินลงทุนสูงไม่คุ้ม่า ไม่แก้ปัญหาจราจรได้จริง ควรนำเงินไปใช้ลงทุนสิ่งที่เกิดประโยชน์มากกว่านอกจากนี้ยังจะทำให้ เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการก่อสร้างเป็นอุโมงค์ มีความไม่ปลอดภัยสูง และไงการเข้าช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุภายในอุโมงค์ได้ภายใน 15 นาทีก็ไม่น่าเชื่อถือว่าจะทำได้ นอกจากนี้ ยังระบุว่า เดิมโครงการนี้จะเป็นทางยกระดับ แต่ติดที่ม.เกษตร ซึ่งเส้นใหญ่ไม่ยอม เลยต้องมาเสียงบประมาณมหาศาล ทำอุโมงค์ใต้ดิน




กำลังโหลดความคิดเห็น