xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้าน ย่านเกษตรนวมินทร์ รวมตัวคัดค้านการก่อสร้างอุโมงค์ทางด่วน ของ กทพ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ จากแผนการก่อสร้างอุโมงค์ กทพ.ย่านถนนงามวงศ์วาน-แยกเสนานิคม - เกษตรนวมินทร์ รวมตัวออกมาคัดค้านการก่อสร้างอุโมงค์ ดังกล่าว เหตุกังวล เรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และ ปัญหาที่เกิดจากการใช้งบประมาณมากเกินไป รวมถึง ผลพวงในอนาคตที่เกิดจากการใช้อุโมงค์ที่ลึกเทียบเท่าตึก 15 ชั้น (46 เมตร) และความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจที่จะต้องปิดกิจการไปเป็นจำนวนมากบนถนนเส้นนี้ เนื่องจากระยะเวลาการก่อสร้างที่ยาวนาน

จากกรณี ที่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ข้อสรุปในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือส่วนทดแทนตอน N1 (ช่วงทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน-ถนนประเสริฐมนูกิจ) ซึ่งทาง กทพ.ได้ข้อสรุปเบื้องต้นกำหนดไว้แนว 3 แนวทางเลือก โดยมี 5 ทางเลือกย่อย พบว่าแนวสายทางที่ 2.2 เป็นแนวสายทางที่เหมาะสมที่สุด โดยจะเป็นอุโมงค์ใต้ดินทั้งหมด มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางพิเศษศรีรัชตัดกับถนนงามวงศ์วาน แนวสายทางจะไปตามแนวถนนงามวงศ์วานผ่านแยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร เข้าถนนประเสริฐมนูกิจจนเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และเชื่อมต่อ E-W Corridor โดยมีคะแนนรวม 82.5 คะแนน ค่าลงทุนเฉพาะอุโมงค์ส่วนทดแทนตอน N1 ประมาณ 36,000 ล้านบาท และตอน N2 อีก 16,960 ล้านบาท เป็นข้อมูลจากการรายงานข่าวเบื้องต้น

ทั้งนี้ จากการรายงานข่าวของ กทพ.ดังกล่าว ทางชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างดังกล่าว และได้มีการรวมตัวกันออกมาคัดค้าน การเจาะอุโมงค์ดังกล่าว โดยกลุ่มผู้คัดค้านบอกถึงสาเหตุการคัดค้านในครั้งนี้ ว่า สาเหตุการออกมาคัดค้านในครั้งนี้ เพราะเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในหลายด้าน ที่จะเกิดขึ้นกับพวกเราโดยตรงในฐานะผู้อยู่อาศัยในพื้นที่นี้ และผลกระทบที่เกิดขึ้นด้านความเสียหายประเทศชาติในเรื่องของงบประมาณจำนวนมากที่ต้องเสียไป และความเสี่ยงในการใช้อุโมงค์ทางด่วนที่ลึกและยาวมาก จึงเกรงว่าจะไม่มีใครนิยมใช้งาน เมื่อสร้างเสร็จแล้ว สิ่งนี้จะคุ้มค่ากับสิ่งที่ประชาชนคนไทยจะได้รับหรือไม่

นอกจากนี้ด้วยระยะเวลาในการก่อสร้างที่ยาวนานถึง 5 ปี บนถนนที่มีความยาวเกือบ 10 กิโลเมตร ตั้งแต่ถนนงามวงศ์วาน-แยกเสนานิคม - เกษตรนวมินทร์ ซึ่งเป็นถนนที่มีธุรกิจต่างๆ ที่เปิดให้บริการอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ธุรกิจเหล่านั้นได้รับความเสียหายอย่างหนักตั้งแต่การถูกเวนคืนพื้นที่ ไปตลอดจนระยะเวลาก่อสร้างอีก 5 ปี ธุรกิจที่อยู่บนเส้นทางการก่อสร้าง หลายธุรกิจจะต้องปิดกิจการกันไปเลย และมีพนักงานคนทำงานในย่านนั้นก็จะต้องตกงานอีกเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อความเสียหายทางธุรกิจอย่างมหาศาล และที่สำคัญ ด้วยเป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน ทำให้ประชาชนในย่านนั้นต้องอยู่อย่างลำบาก ต้องทนมลภาวะที่เกิดขึ้นส่งผลต่อสุขภาพคนในย่านนั้น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังกระทบต่อการเดินทางสัญจรเดินทางที่ลำบากมากขึ้น การก่อสร้างอุโมงค์ในลักษณะที่ลึกขนาดนี้ ยังเคยมีบทเรียนที่เกิดขึ้นที่ประเทศจีน ที่มีการเกิดน้ำท่วมหลังจากเปิดใช้งาน ทำให้เกิดโศกนาฏกรรม เพราะออกจากอุโมงค์ไม่ทัน จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากถึง 50 – 60 ราย ในขณะที่กรุงเทพฯ หลายครั้งที่เกิดปัญหาน้ำท่วม ดังนั้นการสร้างอุโมงค์นี้จึงมีความเสี่ยง รวมถึงข้อจำกัดในการอพยพออกจากอุโมงค์ลึกกว่า 45 เมตร เทียบเท่าตึก 15 ชั้น หากเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้

หนึ่งในผู้คัดค้านกล่าวเสริมว่า อุโมงค์ทางด่วนเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่เหมาะสมในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน นอกจากนี้ทางด่วนถูกออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนที่ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเท่านั้น อยากให้ใช้งบประมาณมาพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ เนื่องจากมีความเหมาะสม และคุ้มค่ามากกว่า










กำลังโหลดความคิดเห็น