xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” สั่งปรับแบบทางด่วน 'กะทู้-ป่าตอง' คาดศึกษาอีก 1 ปี ลดขนาดอุโมงค์หั่นค่าก่อสร้าง-แยกวิ่งมอเตอร์ไซค์เพิ่มความปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ” สั่ง กทพ. ปรับแบบทางด่วน "กะทู้-ป่าตอง" ลดขนาด และแยกอุโมงค์เฉพาะรถจักรยานยนต์ พร้อมสำรวจสภาพธรณีวิทยาเพิ่มเติมเพื่อลดค่าก่อสร้างลง ขณะที่ สนข.ให้ความเห็น รถจักรยานยนต์ใช้อุโมงค์ร่วมรถยนต์หวั่นเสี่ยง ด้าน กทพ.รับนโยบายปรับแบบเพิ่มเป็น 3 อุโมงค์พร้อมทบทวน EIA คาดใช้เวลา 1 ปี  

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการทางพิเศษกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต หรือโครงการอุโมงค์ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. ว่า ล่าสุดทางคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เห็นชอบและกทพ.ได้เสนอเรื่องมาที่กระทรวงคมนาคมแล้ว โดยจากการหารือเห็นว่าโครงการออกแบบก่อสร้างเป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่ ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่าอาจทำให้มีค่าก่อสร้างสูง ประกอบกับยังไม่มั่นใจในเรื่องสภาพดินและหินในช่วงที่จะก่อสร้างอุโมงค์ว่ามีความแข็งแรงเพียงพอหรือไม่ เพราะการสำรวจของที่ปรึกษาที่ทำมาก่อนหน้านี้อาจจะสำรวจขุดเจาะสภาพชั้นหินและดินน้อยไป ซึ่งในหลักการทางด่วน กะทู้-ป่าตองจะก่อสร้างเป็นอุโมงค์คู่แยกจราจร 2 ทิศทาง เนื่องจากจะมีค่าก่อสร้างที่ต่ำกว่าอุโมงค์เดี่ยวที่ต้องมีขนาดใหญ่มาก 

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะเร่งส่งเรื่องกลับไปที่ กทพ.เพื่อให้พิจารณาปรับปรุงแบบและขนาดอุโมงค์ให้เล็กลง ซึ่งจะส่งผลให้ค่าก่อสร้างถูกลงและพิจารณาข้อมูลเรื่องความปลอดภัยเพิ่มเติมด้วย ซึ่งโครงการทางด่วนกะทู้-ป่าตอง เป็นโครงการเร่งด่วนที่มีความสำคัญ คาดว่าจะใช้เวลาทบทวนไม่นานให้เร่งเสนอกลับกระทรวงโดยเร็วเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป  


สำหรับโครงการทางพิเศษกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทางประมาณ 3.98 กม. บอร์ด กทพ.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมาในการปรับรูปแบบการลงทุนโครงการฯ จากเดิมที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2565 เห็นชอบให้ดำเนินโครงการในรูปแบบการลงทุนแบบ PPP-Net Cost (ภาครัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ภาคเอกชนรับผิดชอบงานส่วนที่เหลือทั้งหมด ได้แก่ การออกแบบรายละเอียดและการก่อสร้าง และการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) เปลี่ยนเป็น กทพ.จะรับผิดชอบงานก่อสร้างโยธาของโครงการเอง ส่วนงานบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) จะศึกษารวมในโครงการระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ซึ่งจะใช้รูปแบบ PPP ร่วมลงทุนงานโยธาโครงการระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ระยะทาง 30 กม. และการบริหารจัดการและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทั้ง 2 ระยะ เนื่องจากไม่มีเอกชนเข้ายื่นประมูล

สำหรับโครงการระยะที่ 1 ช่วงกะทู้-ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. แนวเส้นทางเริ่มต้นที่ ต.ป่าตอง บริเวณจุดตัดถนนพระเมตตา ก่อสร้างเป็นทางยกระดับและอุโมงค์ขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง (สำหรับรถยนต์ 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง และรถจักรยานยนต์ 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง) โดยเป็นทางยกระดับข้ามถนนพิศิษฐ์กรณีย์ จนถึงเขานาคเกิด ระยะทาง 0.9 กม. จากนั้นจึงเป็นอุโมงค์คู่ระยะทาง 1.85 กม. ลอดเทือกเขานาคเกิด หลังจากนั้นเป็นทางยกระดับอีก 1.23 กม. จนสิ้นสุดโครงการที่ ต.กะทู้ บริเวณจุดตัดกับ ทล. 4029 (ถนนพระบารมี)


แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า กรณีโครงการทางพิเศษกะทู้-ป่าตอง นั้น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีความเห็นในประเด็นรูปแบบอุโมงค์ที่มีช่องทางรถจักรยานยนต์ร่วมด้วยกับรถยนต์ อาจจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ โดย สนข.เสนอให้ทบทวนรูปแบบและขนาดอุโมงค์ให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับรูปแบบอุโมงค์ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 17 เมตร มีความกว้างเกินไป โดยมีการเสนอให้ปรับขนาดอุโมงค์ให้เล็กลงเพื่อลดค่าก่อสร้างได้อีกทาง แต่ยังไม่ระบุว่าขนาดเท่าใด โดยอยู่ระหว่างการประสานในการส่งเรื่องกลับมาให้ กทพ.ทบทวนใหม่


นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า กทพ.รับทราบนโยบายของ รมว.คมนาคมแล้ว ในการปรับแบบและลดขนาดอุโมงค์ เพื่อลดค่าก่อสร้างและเพิ่มความปลอดภัยโดยจะเพิ่มอุโมงค์รถจักรยานยนต์เพื่อแยกการจราจรออกมาต่างหาก เท่ากับจะปรับแบบจาก 2 อุโมงค์ เป็น 3 อุโมงค์ เป็นอุโมงค์สำหรับรถยนต์ 2 อุโมงค์ มีการปรับลดจากเส้นผ่านศูนย์กลาง 17 เมตร เป็น 9 เมตร และอุโมงค์สำหรับรถจักรยานยนต์ 1 อุโมงค์ เบื้องต้นประเมินเส้นผ่านศูนย์กลางที่ประมาณ 5 เมตร

ผู้ว่าฯ กทพ.กล่าวว่า ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง เส้นทางนี้จำเป็นต้องให้รถจักรยานยนต์ใช้ได้ด้วย เพราะจะมีความปลอดภัยมากกว่า ถนนปกติที่เป็นทางลงเขา ซึ่งกรณีการแยกอุโมงค์สำหรับรถจักรยานยนต์ออกมาเฉพาะ ในเชิงความปลอดภัยก็ทำได้ จากเดิมที่ออกแบบให้รถจักรยานยนต์ใช้อุโมงค์เดียวกับรถยนต์ ก็ได้คำนึงถึงความปลอดภัย มีการแบ่งแยกช่องจราจรอย่างชัดเจนอยู่แล้ว อีกทั้งประเมินกรณีเกิดอุบัติเหตุภายในอุโมงค์ รถยนต์จะมีความร้ายแรงมากกว่าเพราะขนาดถังน้ำมันใหญ่กว่า ส่วนรถจักรยานยนต์จะเป็นประเด็นเรื่องความเสี่ยงของผู้ขับขี่เองมากกว่า

อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงฯ ส่งเรื่องกลับมาให้ กทพ.จะเร่งดำเนินการศึกษาปรับแบบและรวมถึงศึกษาเปลี่ยนแปลงรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ (EIA) โดยคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาปรับแบบ ประมาณ 1 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น