xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟฟ้าเกิดเหตุซ้ำซาก รฟม.สั่ง NBM รื้อขั้นตอนทำงานหลังเกิดเปิดประตูผิดพลาด ขู่โทษสูงสุด "เลิกสัญญา"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟม.ย้ำเหตุรถไฟฟ้า "ชมพู-เหลือง" ยอมรับไม่ได้ สั่ง NBM รื้อขั้นตอนใหม่ หลังเหตุกระเป๋าผู้โดยสารติดประตู แต่พนักงานเปิดประตูผิดขั้นตอน ยันต้องเข้มงวดมาตรการความปลอดภัยในการให้บริการเดินรถเรียกความเชื่อมั่น เกิดซ้ำอีก โทษหนักสุด “ยกเลิกสัญญา”

สืบเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมารถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ (MRT สายสีเหลือง) และรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู (MRT สายสีชมพู) ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลสองสายแรกของประเทศไทย ได้เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการและสาธารณชน ดังนั้น คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จึงมีมติเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการเดินรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งมี นายพิชญะ จันทรานุวัฒน์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการ โดยมีผู้แทนจากกรมการขนส่งทางราง สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเป็นอนุกรรมการ พื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและวิเคราะห์หาสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งระบบ รวมถึงพิจารณาเสนอแนะแนวทางในการกำหนดมาตรการป้องกันและแนวทางแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการเดินรถไฟฟ้า


วันนี้ (9 กรกฎาคม 2567) คณะอนุกรรมการฯ ได้มีการประชุมครั้งแรก โดยนายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการแก้ไขและป้องกันอุบัติเหตุต่างๆ ในระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลทั้งสองสาย รวม 5 เหตุการณ์ ซึ่ง รฟม.ย้ำว่านโยบายของกระทรวงคมนาคม กำหนดให้การให้บริการเดินรถไฟฟ้าจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของผู้โดยสารและสาธารณะ ไม่สามารถประนีประนอมได้ โดย รฟม.ได้สั่งการผู้รับสัมปทานหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด สามารถรับรองความปลอดภัยและมาตรฐานการให้บริการเดินรถได้อย่างดีที่สุดต่อไป หากเกิดเหตุขึ้นมาเป็นสิ่งที่เรายอมรับไม่ได้ และหากเกิดเหตุไม่ปลอดภัยต่อสาธารณะ รฟม.มีสิทธิ์ที่จะเสนอแนะ ขณะที่สัญญาสัมปทานเปิดช่องไว้ให้ทำได้ เช่น การหักคะแนนหรือชะลอการจ่ายเงินรายปี และขั้นสูงสุดคือการยกเลิกสัญญา

ซึ่งกรณีรางจ่ายกระแสไฟฟ้า (Conductor Rail) หลุดร่วงเนื่องจากถูกแรงกระแทก ซึ่งเกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง จากสาเหตุที่แท้จริง (Root Cause) ที่แตกต่างกัน แต่บ่งชี้ถึงข้อบกพร่องในขั้นตอนการออกแบบและการติดตั้งของบางชิ้นส่วนที่ไม่มั่นคงแข็งแรงเพียงพอ และไม่มีระบบป้องกันอีกชั้นหนึ่ง นอกจากนี้ ในกรณีที่มีชุดล้อประคองหลุดร่วง หรือชิ้นส่วนอุปกรณ์ใดๆ หลุดร่วงลงมา ยังบ่งชี้ถึงความจำเป็นของระบบสำรอง Secondary Retainer ที่เมื่อมีวัสดุอุปกรณ์หลุดร่วงแล้วจะสามารถช่วยลดทอนความเสียหายไว้ได้

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ยังเน้นย้ำให้ รฟม.ติดตามตรวจสอบผลการซ่อมบำรุงของผู้รับสัมปทานทุกระยะ และนำผลมาวิเคราะห์เพื่อให้สามารถเฝ้าระวังความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ได้ทันท่วงที


@รื้อขั้นตอนใหม่ หลังเหตุกระเป๋าผู้โดยสารติด จนท.เปิดประตูผิดขั้นตอน

ส่วนเหตุการณ์ประตูบางส่วนของขบวนรถไฟฟ้า MRT สายสีชมพูเปิดในขณะจอดนิ่งอยู่ที่สถานีลาดปลาเค้า (PK18) และมีตู้โดยสารบางตู้อยู่นอกชานชาลา เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ซึ่งจากการประชุมหารือร่วมกับ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทาน เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 ได้รับทราบสาเหตุโดยละเอียดของเหตุการณ์ว่า ขณะที่ผู้ควบคุมเส้นทางการเดินรถในเส้นทางหลักจากห้องศูนย์ควบคุม (CCR) อนุมัติให้เจ้าหน้าที่ประจำขบวนทำการขับเคลื่อนขบวนรถไฟฟ้ากลับเข้าชานชาลาด้วยระบบบังคับด้วยมือ Manual ก่อนทำการเปิดประตูเพื่อนำกระเป๋าเป้ที่ติดอยู่ตรงประตูบานสุดท้ายของตู้สุดท้ายออกนั้น เกิดข้อผิดพลาดด้านการสื่อสารในขั้นตอนการปฏิบัติ ทำให้ประตูทุกบานของขบวนรถเปิดออก


ซึ่งต่อจากนี้ไปผู้รับสัมปทานจะเพิ่มขั้นตอนอนุมัติการเปิด-ปิดประตูในกระบวนการ กล่าวคือ ในสถานการณ์ที่มีเหตุจำเป็น CCR สามารถอนุมัติให้เจ้าหน้าที่ประจำขบวนเป็นผู้ขับเคลื่อนขบวนรถไฟฟ้าแบบ Manual ได้ แต่การเปิด-ปิดประตูจะต้องให้เจ้าหน้าที่ประจำสถานีตรวจสอบก่อนจนกว่าขบวนรถไฟฟ้าจอดอยู่ในชานชาลาครบทั้งขบวนแล้วจึงจะแจ้งให้ CCR อนุมัติการเปิดประตูได้ นอกจากนี้ ผู้รับสัมปทานจะนำกรณีดังกล่าวไปใช้ในการฝึกซ้อมเจ้าหน้าที่แบบจำลองสถานการณ์ด้วย เพื่อยกระดับมาตรการความปลอดภัยในการให้บริการเดินรถ สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าและประชาชนผู้สัญจรผ่านแนวสายทาง


กำลังโหลดความคิดเห็น