xs
xsm
sm
md
lg

“เศรษฐา” ตรวจถมทะเล "แหลมฉบัง เฟส 3" มั่นใจทันส่งมอบ GPC เปิดให้บริการท่า F1 ตามกำหนด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"เศรษฐา​" ตรวจท่าเรือแหลมฉบัง​ระยะที่​ 3 ถมทะเลยังล่าช้า 3.99% ปรับแผนงานส่งมอบพื้นที่ให้ GPC ใน พ.ย. 68 ย้ำทุกฝ่ายร่วมมือเร่งรัดตามเป้า กทท.คาด ก.ค.เซ็นสัญญา "ไชน่า ฮาร์เบอร์" สร้างท่าเทียบเรือ และถนน มั่นใจเสร็จตามแผนรองรับการลงทุนต่างประเทศ​ตามเป้าหมายรัฐบาล

วันนี้ (23 มิถุนายน 2567) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดชลบุรี-ระยอง พร้อมด้วยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และคณะฯ เพื่อติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนงานก่อสร้างงานทางทะเล

นายกรัฐมนตรี​กล่าวว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ได้มาตรวจพื้นที่การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 พบว่ามีความล่าช้ากว่าแผนปัจจุบัน ท่านสุริยะ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม และท่านมนพร​ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ติดตามจนทำให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนเร่งรัด​ โดยมีความล่าช้าเหลือไม่ถึง 4% และคาดว่าจะสามารถ​ Catch Up ได้ภายในสิ้นปี​ 2568 การมาตรวจงานครั้งนี้เป็นการพูดคุยรายงานผล ปัญหาอุปสรรคกันอย่างตรงไปตรงมา ขณะนี้พบว่ามีปัญหาการขาดแคลนหินที่จะใช้ในการก่อสร้าง จึงสั่งการให้เร่งรัดแก้ไขโดยเร็ว และขอเป็นกำลังใจให้ผู้บริหาร​ กทท.​และทีมงานผู้รับจ้างให้พยายามดำเนินงานทุกอย่างได้ตามแผนงานเพื่อพร้อมเปิดท่าเรือ​ F1 ตามกำหนด​


นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) รายงานว่า การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนงานที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเล มีกิจการร่วมค้า CNNC เป็นผู้รับจ้าง มูลค่างานรวม 21,320 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยงานถมทะเลทั้งหมดประมาณ 2,846 ไร่ หรือ 4.5 ล้านตารางเมตร งานขุดลอกร่องน้ำและแอ่งจอดเรือให้มีระดับความลึก 18.5 เมตร และงานเขื่อนกันคลื่น โดย กทท.ได้ออกหนังสือแจ้งให้ผู้รับจ้างเริ่มเข้าดำเนินการก่อสร้างเมื่อ พ.ค. 2564


@ถมทะเล ช้ากว่าแผน 3.99% มั่นใจส่งมอบพื้นที่ให้ GPC พ.ย. 68

ทั้งนี้ มีการเร่งรัดงานก่อสร้าง การบริหารสัญญา สามารถส่งมอบงานถมทะเลพื้นที่ 1 ได้เมื่อ ส.ค. 2565 และงานถมทะเลพื้นที่ 2 เมื่อ ต.ค. 2566 เปรียบเทียบความก้าวหน้าหลังจากนายกฯมีข้อสั่งการเมื่อ พ.ย. 2566 เพียง 13.26% รวมถึงนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ได้แต่งตั้งคณะทำงานติดตามการก่อสร้าง มีการปรับแผนเร่งรัด ทำให้ในช่วง 7 เดือนได้เนื้องานเพิ่มขึ้นกว่า 17% โดย ณ เดือนพ.ค. 2567 มีความคืบหน้า 31.12% จากแผนปฏิบัติงาน 35.11% ล่าช้ากว่าแผน 3.99% ผู้รับจ้าง เพิ่มเครื่องจักร และแรงงาน สามารถขุดลอกได้มากกว่า 2,000,000 ลบ.ม. ต่อเดือน ทำงานมีผลงานโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 3% ต่อเดือน

มั่นใจว่าการก่อสร้างงานทางทะเลจะดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนภายใน มิ.ย. 2569 และจะไม่กระทบกับสัญญาสัมปทานของ บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งพื้นที่งานถมทะเลท่าเทียบเรือ F1 กว่า 97% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกรกฎาคม 2567 นี้ และใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปีเศษในการปรับปรุงคุณภาพพื้นที่ก่อนส่งมอบให้บริษัท จีพีซี ช่วงปลาย พ.ย 2568


@คาด ก.ค.เซ็นสัญญา "ไชน่า ฮาร์เบอร์" สร้างท่าเทียบเรือ ถนน

สำหรับงานส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว โดยบริษัทไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ชนะ ที่วงเงิน 7,298 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางประมาณ 160 ล้านบาท กทท.สามารถลงนามในสัญญาได้ภายในต้นกรกฎาคม 2567 สำหรับงานส่วนที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ มูลค่า 799 ล้านบาท และส่วนที่ 4 งานจัดหาประกอบและติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับขนย้ายสินค้า พร้อมออกแบบประกอบและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสำหรับบริหารท่าเรือและโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2,257 ล้านบาท ทั้งสองส่วนอยู่ระหว่างการสรรหาผู้รับจ้างจัดทำเอกสารประกวดราคา คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในช่วงปลายปี 2567 นี้


โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการรองรับปริมาณตู้สินค้าที่จะเพิ่มขึ้น หากโครงการแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการจะสามารถรองรับปริมาณการขนส่งตู้สินค้าได้เพิ่มขึ้นอีก 7 ล้านทีอียูต่อปี ประกอบด้วยท่าเรือ F1 จำนวน 2 ล้านทีอียูต่อปี ท่าเรือ F2 จำนวน 2 ล้านทีอียูต่อปี ท่าเรือ E จำนวน 3 ล้านทีอียูต่อปี ซึ่งเมื่อรวมกับขีดความสามารถเดิมของท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 1 และ 2 ที่ 11 ล้านทีอียูต่อปีแล้วจะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังมีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ถึง 18 ล้านทีอียูต่อปี ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้เพิ่มปริมาณการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟและท่าเรือชายฝั่ง รวมถึงการเชื่อมโยงการขนส่งทางรางกับท่าเรือบกให้เพิ่มมากขึ้นด้วย เป็นการเพิ่มศักยภาพและรองรับการขยายตัวสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจการลงทุนของประเทศอย่างมหาศาล ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค อีกทั้งช่วยสนับสนุนการลดต้นทุนการขนส่งโดยรวมของประเทศจากร้อยละ 14 ของ GDP เหลือร้อยละ 12 ของ GDP สอดรับนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์มุ่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น