รฟท.เปิดประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่เฟส 2 สายแรก ช่วงขอนแก่น-หนองคาย 167 กม. ราคากลาง 28,719.94 ล้านบาท กำหนดยื่นซองขายซอง 20 ส.ค.67 คาดเซ็นสัญญาปลายปี 67 ลุยก่อสร้าง 3 ปี เปิดบริการปี 70
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (21 มิ.ย.67) นายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ลงนามออกประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ด้วยวิธีประกวดราคา.อิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคากลาง 28,719.94 ล้านบาท โดยกำหนดยื่นข้อเสนอ วันที่ 20 สิงหาคม 2567 เวลา09.00-12.00 น. และคาดว่าจะสรุปได้ตัวผู้รับจ้างภายในเดือนตุลาคม 2567 ลงนามสัญญาปลายปี 2567 เริ่มก่อสร้างต้นปี 2568 ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน แล้วเสร็จเปิดบริการ ปลายปี 2570
โดยโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. โดยเป็นการก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มอีก 1 ทางขนานไปกับทางรถไฟเดิม และปรับแนวเส้นทางใหม่บางส่วน พร้อมติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและระบบโทรคมนาคมตลอดสายทาง กำหนดระยะเวลาส่งมอบ 1,080 วัน นับถัดจากวันที่ รฟท.แจ้งให้เริ่มงาน
สำหรับ TOR กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ต้องมีผลงานก่อสร้างประเภทเดียวกันกับงานที่ประกวดราคาจ้างก่อสร้างทางรถไฟในวงเงินไม่น้อยกว่า 4,313.85 ล้านบาท และต้องเป็นงานที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐโดยตรง หรือหน่วยงานเอกชนที่ รฟท.เชื่อถือ
กรณีเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งได้จดทะเบียนเกินกว่า 1 ปีกำหนดให้มีมูลค่าสุทธิของกิจการจากผลต่างระหว่างสินทรัพย์สุทธิหักด้วยหนี้สินสุทธิที่ที่ปรากฎในงบแสดงฐานะทางการเงิน ซึ่งต้องมีค่าเป็นบวก 1 ปีสุดท้ายก่อนยื่นข้อเสนอ กรณีผู้ยื่นข้อเสนอเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งยังไม่มีการรายงานงบแสดงฐานะการเงินกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ให้พิจารณาการกำหนดมูลค่าของทุนจดทะเบียน โดยผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระมูลค่าหุ้นแล้ว ณ วันที่ยื่นข้อเสนอ ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท เป็นต้น
กรณีผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นนิติบุคคลรายเดียว ต้องเป็นนิติบุคคลไทยที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทยต้องมีผลงานก่อสร้างทางรถไฟ(ก) ที่มีมูลค่าก่อสร้างในสัญญาเดียว ไม่น้อยกว่า 4,313.85 ล้านบาท ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว
กรณีผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นกิจการร่วมค้า ต้องมีนิติบุคคลไทยที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทยป็นผู้เข้าร่วมค้าหลัก (Lead Firm) โดยสมาชิกทุกรายที่รวมตัวกันเป็นกิจการร่วมค้านั้นต้องเป็นนิติบุคคล และต้องมีสัดส่วนนิติบุคคลไทยรายเดียวหรือมากกว่าหนึ่งรายรวมกันในการร่วมค้ามากกว่าร้อยละ 50 โดยผู้เข้าร่วมค้าหลัก (Lead Firm) จะต้องมีสัดส่วนการร่วมค้ามากที่สุดและสัดส่วนนี้จะต้องไม่เปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาโครงการ ซึ่งในวันยื่นเอกสารประกวดราคา จะต้องยื่นเอกสารข้อตกลงสำหรับการร่วมกันเป็นกิจการร่วมค้า
โดยต้องมีผลงานก่อสร้างทางรถไฟ(ก) ที่มีมูลค่าก่อสร้างในสัญญาเดียว ไม่น้อยกว่า4,313.85 ล้านบาท ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วโดยสามารถนำผลงานก่อสร้างของผู้เข้าร่วมค้าหลัก (Lead Firm) เป็นผลงานของกิจการร่วมค้าได้และผู้เข้าร่วมค้ารายอื่น ๆ ของกิจการร่วมค้าทุกรายต้องมีผลงานอย่างน้อยอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ก) ผลงานก่อสร้างทางรถไฟ(ก) ที่มีมูลค่าก่อสร้างในสัญญาเดียวไม่น้อยกว่า 900 ล้านบาท ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ข) ผลงานก่อสร้างงานโยธา(ข) ที่มีมูลค่าก่อสร้างในสัญญาเดียวไม่น้อยกว่า 900 ล้านบาท ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ยื่นข้อเสนอต้องยื่น้สนอผลิตภัณฑ์สำหรับ 3 ระบบหลักของงานอาณัติสัญญาณ ได้แก่ 1. ระบบบังคับสัมพันธ์ด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer Based Interlocking: CBI System) 2. ระบบป้องกันเหตุอันตรายของขบวนรถโดยอัตโนมัติ (Automatic Train Protection: ATP) ตามมาตรฐาน European Train Control System (ETCS) Level 1 และ 3. ระบบควบคุมการเดินรถทางไกล (Centralized Traffic Control: CTC System)
พร้อมยื่นหนังสือรับรองผลการใช้งานผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันกับผลิตภัณฑ์ที่ยื่นเสนอจากผู้ผลิตรายเดียวกันไม่น้อยกว่า 5 ปี หนังสือยืนยันจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และหนังสือยืนยันการสำรองอะไหล่ และให้การสนับสนุนด้านเทคนิคสำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแก่ รฟท. โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 20 ปี นับตั้งแต่วันเปิดให้บริการให้แก่โครงการฯ
สำหรับหลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาโครงการ คือ จะมีหลักเกณฑ์การพิจารณา 6 หัวข้อ คะแนนรวม 100 คะแนน ผู้ที่จะผ่านการพิจารณาจะต้องได้คะแนนในแต่ละหัวข้อไม่ต่ำกว่า 75% ของคะแนนเต็ม จึงจะถือว่าผ่านการคัดเลือกข้อเสนอ