xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.เคลียร์ปมไฮสปีด 'ไทย-จีน' ยอมปรับแบบยกระดับ 'บ้านใหม่' ค่าก่อสร้างเพิ่ม 4.7 พันล้าน ตอบ สผ.ย้ำสถานีอยุธยาจุดเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟท.เร่งเคลียร์ไฮสปีด 'ไทย-จีน' ยอมปรับแบบยกระดับช่วง 'บ้านใหม่' ค่าก่อสร้างสัญญา 3-5 เพิ่มกว่า 4 พันล้านบาทแก้ปัญหาชาวบ้านร้องเรียน เร่งเสนอบอร์ดเคาะ ยันคุมค่าโยธาไม่เกินกรอบ 1.19 แสนล้าน พร้อมเร่งตอบ สผ.ย้ำ 'สถานีอยุธยา' จุดเดิมทางเลือกดีสุด คาด มี.ค.เซ็นจ้าง "บุญชัยฯ" สร้างทางวิ่งก่อน

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้รฟท.ได้เร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งยังติดปัญหา 2-3 ประเด็นให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว เช่น กรณี สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ที่งานก่อสร้างยังไม่คืบหน้ามากนัก เนื่องจากมีประเด็นประชาชนในพื้นที่ ต.บ้านใหม่ จ.นครราชสีมา เรียกร้องให้ปรับรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับ จากแบบเดิมที่เป็นทางระดับดิน โดยที่ผ่านมา รฟท.ได้หารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง และได้สรุปใช้ทางเลือกที่ 4 คือเป็นทางยกระดับ ซึ่งมีวงเงินค่าก่อสร้างเพิ่มกว่า 4 พันล้านบาท แต่ยังอยู่ในกรอบวงเงินรวม 1.79 แสนล้านบาท และต้องใช้ระยะเวลาก่อสร้างเพิ่มประมาณ 2 ปี

ทั้งนี้ ได้เสนอรายงานหารือไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณารับทราบแนวทางแล้ว หลังจากนี้จะชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชนอีกครั้ง และเร่งนำเข้าเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ภายในเดือน มี.ค. 67 เพื่อขออนุมัติการปรับแบบและแก้ไขเปลี่ยนแปลง (Voriation Order : VO) เป็นงานเพิ่มเติม และขอเพิ่มกรอบวงเงินในสัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมาต่อไป ซึ่งไม่ต้องเปิดประมูลใหม่


@ปรับแบบยกระดับสัญญา 3-5 ค่าก่อสร้างเพิ่มอีก 4.7 พันล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 27 ก.พ. 67 จะมีการรายงานคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดนครราชสีมา ถึงความคืบหน้าแนวทางก่อสร้างรถไฟไทย-จีน สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. วงเงิน 7,750 ล้านบาท โดยมีการปรับรูปแบบเป็นโครงสร้างยกระดับ มีระยะทาง 7.85 กม. ซึ่งมีค่างานก่อสร้างเพิ่มอีก 4,791.45 ล้านบาท และใช้เวลาก่อสร้างเพิ่มอีกประมาณ 28 เดือน โดยปัจจุบันสัญญา 3-5 โคกกรวด-นครราชสีมา มีผลงานเพียง 05.87% พร้อมกันนี้ ในช่วงดังกล่าวจะมีการปรับแบบโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ เป็นโครงสร้างยกระดับแบบเสาตอม่อแทนคันดิน ช่วงโคกกรวด-ภูเขาลาด ด้วยเพื่อให้สอดคล้องกับรถไฟความเร็วสูง

@ เพิ่มงาน VO ยังไม่เกิน กรอบค่าโยธา 14 สัญญาที่ 1.19 แสนล้านบาท

สำหรับโครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม. (ทางยกระดับ 188.68 กม. ทางระดับดิน 54.09 กม. อุโมงค์ 8 กม.) มีวงเงินลงทุน 179,412.21 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่างานโยธา 14 สัญญา วงเงิน 119,163.88 ล้านบาท ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 11 สัญญา ซึ่ง 12 สัญญามีวงเงินค่าก่อสร้างรวมอยู่ที่ 91,197.85 ล้านบาท ส่วนอีก 2 สัญญาที่ยังไม่ได้ลงนามมีวงเงินค่าก่อสร้างรวมกันที่ประมาณ 14,325 ล้านบาท ทำให้รวมทั้ง 14 สัญญาจะใช้วงเงินค่าก่อสร้างประมาณ 105,552 ล้านบาท ดังนั้นการเพิ่มค่าก่อสร้างสัญญา 3-5 จึงยังไม่เกินกรอบวงเงินค่างานโยธาที่มี 119,163.88 ล้านบาท


@เร่งตอบ สผ. ยันสร้าง 'สถานีอยุธยา' จุดเดิม แนวทางดีที่สุด

นายนิรุฒกล่าวถึงกรณีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้มีข้อสังเกตเรื่องการศึกษารายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก หรือ Heritage Impact Assessment (HIA) การก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ในสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้วว่า รฟท.จะเร่งส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้ สผ. ซึ่งข้อสังเกตเรื่องแนวทางอื่นๆ นั้นต้องยืนยันว่า เมื่อปี 2559 รฟท.ได้มีการพิจารณาไว้ 5 แนวทางและได้มีการเลือกแนวทางที่ดีที่สุดมาดำเนินการศึกษารายละเอียด เพราะหากจะศึกษารายละเอียดทั้ง 5 แนวทางจะมีค่าใช้จ่ายสูงและเสียเวลาเพิ่มขึ้น ดังนั้นเมื่อ สผ.ต้องการรับทราบแนวทางอื่น รฟท.จะสรุปไปให้ สผ.รับทราบเพราะเป็นข้อมูลเดิมที่มีอยู่แล้ว

สำหรับความเห็นที่ให้เปลี่ยนแนวเส้นทาง จะทำให้โครงการเปลี่ยนแปลงมีผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากจะต้องศึกษาและวางแนวเส้นทางใหม่ และมีการเวนคืน ซึ่งเป็นแนวทางที่เป็นไปไม่ได้ หรือความเห็นให้ขุดอุโมงค์ทางวิ่งใต้ดินนั้นมีประเด็นปัญหาหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องน้ำท่วม ทำให้แนวทางการยกระดับเส้นทางและสถานีเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ตอนนี้ โครงการก่อสร้างคืบหน้าไปมากแล้วและแนวทางที่ รฟท.ศึกษาออกมานั้นเป็นไปตามขั้นตอนและไม่มีอะไรผิดกฎหมาย ส่วนข้อเสนอเปลี่ยนแนวเส้นทางเป็นความคิดที่อาจจะส่งผลกระทบต่อโครงการมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาทที่กำลังเดินหน้า

“กรณีย้ายสถานีไปอยู่ที่บ้านม้า ซึ่งโครงการยังอยู่ในแนวเส้นทางเดิม รฟท.ไม่เห็นด้วย เพราะไม่มีรถไฟความเร็วสูงที่ไหนไปจอดรับส่งที่กลางทุ่งนา ไกลชุมชนถึง 7 กม. ที่ผ่านมาได้ปรับแบบสถานีให้เล็กลงและปรับโครงสร้างทางให้ต่ำลงแล้ว ซึ่งเรื่อง HIA ไม่ได้มีผลบังคับทางกฎหมาย มันคือ Nice to do เราทำการศึกษาเพื่อให้ทางมรดกโลกรู้สึกว่าเราได้ทำตามที่มีข้อคิดเห็น”


@เตรียมเซ็นจ้าง "บุญชัยพาณิชย์" เร่งสร้างทางวิ่ง

สำหรับในส่วนของการก่อสร้าง ผู้ว่าฯรฟท.กล่าวว่า เส้นทางรถไฟความเร็วสูงจะไม่มีปัญหา โดยสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม.นั้นอยู่ระหว่างเตรียมลงนามสัญญากับบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด เป็นผู้รับจ้างวงเงิน 10,325 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างทางวิ่งไปก่อน ซึ่งทางเอกชนยืนราคาถึงสิ้นเดือนก.พ. 2567 อยู่ระหว่างการพิจารณาภายในของเอกชน หากยังไม่สามารถลงนามได้ทันภายใน ก.พ.นี้ยังสามารถเจรจาเพื่อขยายการยืนราคาต่ออีก 1 เดือน ทั้งนี้ยอมรับว่าหากเอกชนไม่ยืนราคา รฟท.ก็ต้องเปิดประกวดราคาใหม่ ซึ่งต้องทำราคากลางใหม่ นอกจากค่าก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นแล้วยังเสียเวลาอีก


“รฟท.พยายามผลักดันเพื่อให้เริ่มก่อสร้างทางวิ่งในส่วนของสัญญา 4-5 ก่อน ส่วนสถานีอยุธยายังมีเวลาพิจารณารับฟังความเห็นและรอเรื่องมรดกโลกให้ได้ข้อยุติได้ เพราะไม่ต้องการให้โครงการล่าช้าไปกว่านี้ เพียงแต่สุดท้ายจะให้แวะสถานีอยุธยา หรือให้วิ่งผ่านไปเลยก็เท่านั้นเอง เราสร้างทางวิ่ง ไม่รอสรุปสถานี เพราะไม่รู้ปลายทางจะไปจบตรงไหน ซึ่งโครงการมี 6 สถานี คือ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์, สถานีดอนเมือง, สถานีอยุธยา, สถานีสระบุรี, สถานีปากช่อง, สถานีนครราชสีมา หากยังไม่มีสถานีอยุธยาก็วิ่งผ่านไปก่อน” ผู้ว่าฯ รฟท.กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น