xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” พบ JETRO หนุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในไทย แนะ รบ.กระตุ้นบริโภค คาดครึ่งปีหลังธุรกิจขยายตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ” หารือประธาน JETRO-หอการค้าญี่ปุ่น พร้อมลงทุนไทยเพิ่ม คาดธุรกิจครึ่งปีหลังขยายตัวจากท่องเที่ยวฟื้น แนะรัฐบาลกระตุ้นบริโภค พร้อมหนุนนโยบาย IGNITE Thailand กระตุ้น ศก.ดึงลงทุนเพิ่ม เผยญี่ปุ่นสนใจพัฒนาสนามบิน-รถไฟทางคู่

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังร่วมหารือกับ Mr. KURODA Jun (นายคุโรดะ จุน) ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น กรุงเทพฯ (JETRO Bangkok) ว่า นอกจากมีการแนะนำผู้บริหารชุดใหม่ของหอการค้าญี่ปุ่น-ไทยแล้ว ยังมีการรายงานผลการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยช่วงครึ่งแรกของปี 2567 พร้อมทั้งหารือแลกเปลี่ยนประเด็นความร่วมมือด้านการคมนาคม

ทั้งนี้ รายงานดัชนีธุรกิจพบว่า ผลสำรวจครึ่งหลังปี 2566 คาดการณ์ติดลบ 17 ช่วงครึ่งแรกปี 2567 ติดลบเหลือ 11 และคาดว่าครึ่งหลังปี 2567 จะกลับเป็นบวก 9 ซึ่งมีปัจจัยจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การท่องเที่ยวเป็นช่วงไฮซีซัน ส่วนการคาดการณ์ลงทุนในปี 2567 สำรวจจากบริษัทญี่ปุ่น พบว่าจะเพิ่มการลงทุน 23%, ไม่เพิ่ม/ไม่ลด 45%, ลดการลงทุน 18% สรุปบริษัทญี่ปุ่นจะมีการลงทุนเพิ่มราว 5%


สำหรับผลสำรวจบริษัทคาดการณ์ส่งออกช่วงครึ่งหลังปี 2567 จะเพิ่มขึ้น 33%, ไม่เปลี่ยนแปลง 48%, คาดลดลง 20% โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของญี่ปุ่นคือ เวียดนาม 46% อินเดีย 43% อินโดนีเซีย 41% คาดการณ์ค่าเงินบาที่ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจัยท้าทายธุรกิจการลงทุน คือการแข่งขันอย่างรุนแรงจากบริษัทประเทศต่างๆ ถึง 65% ปัจจัยการขึ้นค่าแรง 43% ปัจจัยการขึ้นราคาวัสดุ 42% ปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยน 27% และมีความกังวลเรื่องการปรับขึ้นค่าพลังงาน

ทั้งนี้ ผลสำรวจบริษัทญี่ปุ่นในเรื่องความต้องการจากรัฐบาลหรือให้มีการปรับปรุงคือ การกระตุ้นการบริโภค 31% แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม 21% ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน 20% ส่วนเรื่องที่ญี่ปุ่นเห็นว่ารัฐบาลยังทำได้ดีคือ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 25% การออกวีซ่า และใบอนุญาต 19% การนำระบบดิจิทัลบริหารในระบบราชการ 12%

นอกจากนี้ นโยบาย IGNITE Thailand ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางมาในช่วงก่อนหน้านี้ยังได้ผลตอบรับที่ดีจากทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยจากการสำรวจพบว่าบริษัทส่วนใหญ่มีความคาดหวังด้านโลจิสติกส์ 41% การผลิตยานยนต์แห่งอนาคต 33% การท่องเที่ยว 23% และการแพทย์และสุขภาพ 20% โดยผลสำรวจดังกล่าวจะเป็นข้อมูลสำคัญในการพัฒนาปรับปรุงนโยบายของรัฐบาลไทยต่อไป


นายสุริยะกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมยังได้นำเสนอข้อมูลแผนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งญี่ปุ่นแสดงความสนใจอย่างมาก เช่น โครงการพัฒนาขยายท่าอากาศยานต่างๆ ได้แก่ ท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3 ซึ่งจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่เพื่อรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศและปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังเก่าให้มีประสิทธิภาพและมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการบริการเพิ่มขึ้น ส่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) ซึ่งนอกจากจะมีการก่อสร้างแล้ว ยังมีเรื่องอุปกรณ์เครื่องมือและระบบต่างๆ ที่ญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญ จะเป็นโอกาสที่จะเข้ามาร่วมได้ รวมไปถึงการขยายท่าอากาศยานเชียงใหม่และก่อสร้างท่าอากาศยานล้านนา และขยายท่าอากาศยายภูเก็ตและก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามันอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ รวมถึงนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งญี่ปุ่นเห็นด้วยกับนโยบายนี้ และยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ควรมีการจัดการระบบฟีดเดอร์เพื่อให้เข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าได้สะดวกและประหยัดด้วย ไม่ใช่รถไฟฟ้า 20 บาท แต่ก่อนจะมาถึงรถไฟฟ้าแค่ 1 กม.ต้องนั่งรถจักรยานยนต์รับจ้างมา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง จะทำให้นโยบาย 20 บาทไม่ได้ประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงคมนาคมกำลังแก้ไขอยู่แล้ว


“ยกตัวอย่างรถไฟฟ้าสีแดง 20 บาทตลอดสาย ปัจจุบันผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ซึ่งกรมรางมั่นใจว่าอีก 3 ปีจากนี้รายได้สายสีแดงจะกลับมาดีมากกว่าเดิม จากผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเห็นด้วยกับแนวทางการแก้ปัญหาจราจรใน กทม. โดยก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้น หรือ Double Deck เพื่อแก้ปัญหาจราจรบนโครงข่ายทางด่วนทั้งหมดอีกด้วย” นายสุริยะกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น