xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.ตั้งเป้าปีนี้ SAT-1 ‘สุวรรณภูมิ’ มี 400 ไฟลต์/วัน ส่วนดอนเมืองเฟส 3 ออกแบบเสร็จ ส.ค. 67 พร้อมประมูล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทอท.พอใจสายการบินทยอยใช้อาคาร SAT-1 เพิ่มตามแผน คาดอีก 2 เดือนมี 120 เที่ยวบิน/วัน และเพิ่มเป็น 400 เที่ยวบินภายในปีนี้ “กีรติ” ลั่นไฟลต์อินเตอร์ต้องใช้ Contract Gate ทั้งหมด ส่วนดอนเมืองเฟส 3 ออกแบบเสร็จ ส.ค. 67 จ่อดันประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ Junction Building เปิด PPP 30 ปี

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) เปิดเผยว่า ผลการเปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT- 1) ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 4 เดือน ขณะนี้มีสายการบินได้ย้ายไปให้บริการที่อาคาร SAT-1 เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ การบินไทย แอร์เอเชียเอ็กซ์ ไทยเวียตเจ็ท เป็นต้น โดยปัจจุบันมีเที่ยวบินเฉลี่ยกว่า 86 เที่ยวบิน/วัน คาดว่าภายในสิ้นดือน ก.พ. 67 จะมีปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้นเป็น 112 เที่ยวบิน และจะมีสายการบินมาใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 16 สายการบิน และจะผลักดันให้เพิ่มเป็น 120 เที่ยวบิน/วันภายใน 2 เดือน และเพิ่มให้ได้ 400 เที่ยวบิน/วันภายในปี 2567


สำหรับอาคาร SAT-1 มีประตูทางออกเชื่อมต่อกับหลุมจอดประชิดอาคาร (Contract Gate) ทั้งหมด 28 หลุมจอด รองรับได้ 400 เที่ยวบิน/วัน และรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคน/ปี ซึ่งในแง่การให้บริการ เป้าหมายของ ทอท.คือจะให้เที่ยวบินระหว่างประเทศใช้ Contract Gate ทั้งหมดไม่ต้องใช้หลุมจอดระยะไกล (Remote Parking Stand) เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ โดยจะทยอยลดการใช้ Remote Parking เนื่องจากการใช้อาคาร SAT-1 ต้องรอความพร้อมของผู้ให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นด้วย ซึ่งเมื่อพร้อมเต็มที่มั่นใจว่าจะรองรับได้ 400 เที่ยวบินตามเป้าหมาย

“อาคาร SAT-1 ก่อสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 64 แต่เกิดโควิด-19 จึงไม่ได้เปิดใช้ โดยเพิ่งมาเปิดใช้เมื่อเดือน ก.ย. 66 เท่ากับปิดไป 2 ปี ดังนั้น อุปกรณ์ต่างๆ ก็ต้องตรวจเช็ก รวมถึงรอการบริการภาคพื้นที่สมบูรณ์ หลังจากนี้จะมีการหารือกับสายการบินเพื่อจัดสรรการใช้อาคารหลักกับอาคาร SAT-1 เพราะหลายสายการบินได้ทดลองใช้ SAT-1 แล้ว จะพบว่าผู้โดยสารมีความสะดวกในการพักคอย ซึ่งเรื่องสำคัญคือ หากอยู่อาคารหลัก แต่ต้องใช้ Remote Gate ดังนั้นย้ายมาอาคาร SAT-1 ผู้โดยสารจะสะดวกกว่า สายการบินเข้าใจดีเพราะเป็นบริการสากลของทั้งโลกในการเปิดพื้นที่ใหม่ ซึ่งอาคาร SAT-1 มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน”


นายกีรติกล่าวว่า เมื่อเปิดอาคาร SAT-1 ทำให้เพิ่มศักยภาพสนามบินสุวรรณภูมิ รองรับผู้โดยสารรวมได้ 60 ล้านคน/ปี ขณะที่คาดการณ์ว่าปี 2567 ผู้โดยสารจะกลับไปอยู่ที่ 65 ล้านคน/ปี ใกล้เคียงปี 62 ซึ่งขณะนี้จะเห็นว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้นและเริ่มแออัด ซึ่งได้ประสานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ในการนำระบบ Auto Gate มาใช้ในอาคารหลัก อีกทั้ง SAT-1 จะเป็นส่วนที่ช่วยลดปัญหา Gate ไม่พอ ผู้โดยสารต้องใช้ Bus Gate หรือรอเวลา Gate ว่างทำให้ผู้โดยสาร 2 ไฟลต์ต้องไปรอแออัด และที่นั่งไม่เพียงพอ


นอกจากนี้ อาคาร SAT-1 มีพื้นที่ 216,000 ตารางเมตร นอกจากมีพื้นที่อำนวยความสะดวกผู้โดยสารและยังเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ประมาณ 20% เมื่อเทียบกับพื้นที่เชิงพาณิชย์ของอาคารหลัก ดังนั้นถือว่ามีส่วนในการเพิ่มรายได้ของ ทอท.แต่ยังไม่มากนักเพราะเที่ยวบินยังมีไม่มาก

สำหรับศักยภาพของอาคารผู้โดยสารหลักรองรับที่ 800 เที่ยวบิน/วัน โดยก่อนหน้านี้ เคยมีมากถึง 1,200 เที่ยวบิน/วัน จึงเห็นว่ามีความแออัดส่วนอาคาร SAT-1 รองรับได้ 400 เที่ยวบิน/วัน หลักๆ คือส่วนที่ล้นจากอาคารหลักมาใช้บริการที่อาคาร SAT-1


@ดอนเมืองเฟส 3 ออกแบบเสร็จ ส.ค. 67

สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 นายกีรติกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาออกแบบ โดยจะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค. 2567 คาดเปิดประมูลได้ไม่เกินปลายปี 2567 และจะเริ่มก่อสร้างต้นปี 2568 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัตินั้น มีวงเงินลงทุน 36,829.499 ล้านบาท ขยายขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสารจากปัจจุบันที่ 30 ล้านคนต่อปี เป็น 40 ล้านคนต่อปี และสามารถบริหารจัดการให้รองรับผู้โดยสารสูงสุดได้ถึง 50 ล้านคนต่อปี

ตามแผนใช้พื้นที่บริเวณอาคารผู้โดยสารหลังเก่า (ด้านทิศใต้) โดยทุบทิ้งและก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ใช้งานรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศมีพื้นที่ 1.4 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) รองรับผู้โดยสาร 18 ล้านคนต่อปี คาดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 2570 และดำเนินการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 (ปัจจุบันใช้รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ ) เพื่อให้บริการรองรับผู้โดยสารภายในประเทศร่วมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 จะทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารภายในประเทศได้ประมาณ 22 ล้านคนต่อปี ขณะที่เมื่อปี 2562 มีผู้โดยสารมากถึง 38 ล้านคน

นายกีรติกล่าวว่า ในการพัฒนาดอนเมืองเฟส 3 จะมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยจะดำเนินการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ให้สัมปทาน ระยะเวลา 30 ปี ก่อสร้างอาคาร Junction Building ซึ่งเป็นพื้นที่ตรงกลางระหว่างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ และอาคารภายในประเทศ (อาคาร 1, 2) โดยสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงได้สะดวก มีหน้าที่หลักๆ คือ รองรับผู้โดยสารและประชาชนที่เดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ามาที่อาคารนี้ ซึ่งมีร้านค้า ร้านอาหาร โดยผู้โดยสารสามารถเชื่อมไปยังอาคารในประเทศ และระหว่างประเทศได้รวดเร็ว และสะดวกสบาย

“มีเอกชนสนใจเขาร่วมลงทุน แต่ต้องการความมั่นใจว่า ทอท.จะก่อสร้างเฟส 3 เมื่อใด ดังนั้น หากสามารถเปิดประมูลดอนเมืองเฟส 3 ได้ ส่วนของ Juntion Building จะเริ่มประมูลตามไปได้เลย และต่อไปดอนเมืองจะไม่ใช่สนามบินโลว์คอสต์อย่างเดียว แต่จะเป็นแบบ Point to Point ที่ไม่ต้องเชื่อมต่อ เดินทางเข้ามาถึงแล้วสามารถเช็กอิน และออกไปได้เร็ว และยังอยู่ใกล้เมืองมากกว่าสุวรรณภูมิ


ส่วนการปรับปรุงระบบการจราจรเข้าและออกสู่สนามบินดอนเมือง จะมีการก่อสร้างสะพานเชื่อมทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์กับถนนภายในสนามบินดอนเมือง ทั้งขาเข้า และขาออก เพิ่มเติม 2 จุด และปรับปรุงขยายช่องทางจราจรหน้าอาคารผู้โดยสารเป็น 6 ช่องทาง พร้อมปรับปรุงช่องทางออกด้านทิศใต้เพื่อลดการติดขัดของระบบจราจรภายในสนามบินดอนเมืองและบนถนนวิภาวดีรังสิตด้วย

โดยความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบ และจะต้องเสนอผ่านคณะกรรมการมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 และจากการที่ ทอท.ได้หารือกับ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ในเบื้องต้น ทางเอกชนก็ไม่มีปัญหาในการขยายทางเชื่อมกับสนามบินดอนเมือง โดยมีหลักการแบ่งสัดส่วนการลงทุนตามเนื้องานที่อยู่ในพื้นที่ของแต่ละฝ่าย โดย ทอท.จะลงทุนในส่วนที่อยู่ในรั้วสนามบิน ซึ่งจะมีทางเชื่อม (แลมป์) รองรับรถที่เข้าออกจากสนามบินเข้าสู่ระบบดอนเมืองโทลล์เวย์ได้เลย ช่วยแก้ปัญหาจราจรบนถนนวิภาวดีรังสิตได้มาก โดยเตรียมวงเงินดำเนินการไว้ในดอนเมืองเฟส 3 เพื่อให้แล้วเสร็จพร้อมกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น