ต่อหน้าฝูงชนจำนวนมาก ณ งานบางกอก อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์ โชว์ เมื่อเดือนที่แล้ว ผู้บริหารรายหนึ่งจากโฮซอน นิว เอนเนอร์ยี ออโต้โมบิล เจ้าของแบรนด์ NETA ประกาศกร้าวว่าจะเพิ่มยอดขายรถยนต์ในไทยเป็น 2 เท่า แตะระดับ 30,000 คันในปีนี้ และเชื่อว่าอีกไม่นานแบรนด์รถยนต์สัญชาติจีนจะโค่นบรรดาบริษัทญี่ปุ่น ในการก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าตลาดในประเทศไทย
รายงานข่าวของบลูมเบิร์ก ระบุว่า ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน เจ้าของแบรนด์ NETA แทบไม่เป็นที่รู้จักมาก่อนในไทย จนกระทั่งปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ด้วยรูปทรงสละสลวยและมีสไตล์ที่ดึงดูดใจคนหนุ่มสาว ทางโฮซอนสามารถขายรถยนต์ได้ทั่วโลก 105,563 คัน แม้จะเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับยอดขายกว่า 3 ล้านคนของเจ้าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง BYD
บลูมเบิร์กระบุว่า พวกผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนเหล่านี้ไม่ได้แค่มอบทางเลือกเข้าถึงง่ายในตลาดเกิดใหม่เท่านั้น แต่ในกรณีส่วนใหญ่ พวกเขายังเป็นเพียงตัวเลือกเดียว เนื่องจากค่ายรถยนต์เก่าแก่ทั้งหลาย ไล่ตั้งแต่โตโยต้า มอเตอร์ ไปจนถึงนิสสัน มอเตอร์ ไม่ได้มีรถยนต์ไฟฟ้าหลายรุ่นอย่างที่บรรดาผู้ผลิตรถยนต์จีนทำ และแน่นอนว่าไม่มีราคาทางเลือกที่หลากหลายเหมือนกับ BYD ซึ่งราคารถอีวีแฮชแบ็กตัวถูกสุดเริ่มต้นแค่ราว 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 360,000 บาท)
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่าสถานการณ์ต่างๆเช่นนี้นั่นหมายความว่า โตโยต้า อีซูซุ มอเตอร์ส และผู้ผลิตรถยนต์ค่ายญี่ปุ่นอื่นๆ กำลังถูกคุกคามในตลาดหนึ่งที่พวกเขาครองความเป็นเจ้าตลาดมาช้านาน โดยเมื่อปีที่แล้ว ส่วนแบ่งของเหล่าผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นในตลาดรถของไทยลดลงต่ำกว่า 80% เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ขณะที่อุปสงค์รถอีวีจากบริษัทต่างๆ อย่างเช่น โฮซอน เวลานี้เติบโตขึ้นอย่างมาก อ้างอิงคำกล่าวของหวัง เฉิงเจี่ย (Mr.Wang ChengJie) รองประธานบริษัท โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี ออโต้โมบิล
"ผมรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องรออีก 5 ปีหรอก" หวังกล่าวถึงแผนเพิ่มกำลังผลิต ณ โรงงานใหม่ของโฮซอนในไทย ซึ่งมีศักยภาพการผลิตรถแบรนด์ NETA ราว 20,000 คันต่อไป "มันจะกลายเป็นจริงเร็วๆ นี้"
ยัตสึโอะ โยชิดะ นักวิเคราะห์ด้านยานยนต์ระดับสูงจากบลูมเบิร์ก ระบุว่า ในตลาดรถยนต์ที่มียอดขายราว 800,000 คันต่อปี ซึ่งถือว่าไม่ใช่ตัวเลขน้อยๆ เลย ยอดขายรถอีวีในไทยเติบโตขึ้นอย่างมากเมื่อปีที่แล้ว จากระดับไม่ถึง 10,000 คัน เป็นราว 76,000 คัน โดยตอนนี้บรรดาแบรนด์จีนคิดเป็นสัดส่วน 10% ของตลาดทั้งหมด ส่วนเหล่าผู้ผลิตรถยนต์เก่าแก่สัญชาติญี่ปุ่นสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไป 8.2% ในปีที่แล้ว หลังจากถือครองส่วนแบ่งในตลาดเกินกว่า 80% ต่อเนื่องมานานหลายปี
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในไทยอาจเป็นลางสังหรณ์สำหรับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอินโดนีเซียและชาติอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน ดินแดนที่บรรดาแบรนด์ญี่ปุ่นครองความเป็นเจ้าตลาดมาช้านาน ตามรายงานของบลูมเบิร์ก ทั้งนี้ จากข้อมูลขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น พบว่า ยอดขายและยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ทั้งอาเซียนเพิ่มขึ้น 18% เป็น 3.27 ล้านคันในปี 2022 ส่งผลให้ภูมิภาคนี้เป็นหนึ่งในตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดในโลก
รายงานของบลูมเบิร์ก ระบุว่า ไทยคือศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับฉายาว่า "ดีทรอยต์แห่งเอเชีย" ซึ่งต้องขอบคุณโครงข่ายซัปพลายเออร์สำหรับรถยนต์เผาผลาญเชื้อเพลิง ที่สร้างโดยบริษัทญี่ปุ่นทั้งหลาย ซึ่งนั่นดึงดูด BYD เกรท วอลล์ มอเตอร์ และผู้ผลิตรถอีวีเจ้าอื่นๆ ที่พยายามแสวงหาประโยชน์จากแรงงานท้องถิ่นและองค์ความรู้
ทั้งนี้ บรรดาผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนไม่ได้แค่มาตั้งโรงงานในไทยเท่านั้น พวกเขายังสามารถทุบสถิติส่งออกรถยนต์ไฟฟ้ามายังประเทศไทยและไปที่ประเทศอื่นๆ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ช่วยให้จีนแซงหน้าญี่ปุ่น กลายเป็นชาติผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกเรียบร้อยแล้ว "บรรดาค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นคงไม่อาจอิ่มเอมใจได้อีกต่อไป หากมองสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในไทยและทั่วภูมิภาค" ทาเกชิ มิยาโอะ นักวิเคราะห์จากบริษัที่ปรึกษาด้านยานยนต์ "คาร์โรรามา" กล่าว
แนวโน้มการเติบโตของรถอีวีก็สะท้อนให้เห็นในประเทศอื่นๆ เช่นกัน โดยค่ายรถยนต์จีนและเกาหลีใต้กำลังต่อสู้อย่างหนักในการแย่งส่วนแบ่งตลาดในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเมื่อไม่นานที่ผ่านมา ซูซูกิเพิ่งสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในประเทศแห่งนี้ ทั้งนี้ แม้รถอีวีคิดเป็นสัดส่วนแค่ 1% ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั้งหมดที่ขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2020 จากข้อมูลของบลูมเบิร์ก แต่คาดหมายว่าตัวเลขนี้จะแตะระดับ 14% ในปี 2030 และ 64% ในปี 2040
เจียหมิง "เจมส์" อู๋ รองประธาน Xpeng ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในเป้าสนใจทางยุทธศาสตร์ของเรา ในขณะที่เราต้องการขยายขอบเขตของเรานอกประเทศจีนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น นี่คือช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับเราที่จะมาที่นี่ เพราะว่าบรรดาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด เวลานี้กำลังเปิดรับอย่างค่อยเป็นค่อยไปและจัดทำนโยบายต่างๆ ที่เอื้ออำนวยให้รถอีวีเข้าสู่ตลาดเหล่านี้"
(ที่มา : บลูมเบิร์ก)