CAAT ร่วมประชุม Slot Conference ครั้งที่ 154 (SC154) จัดสรรเวลาการบินประจำฤดูหนาว 2567/2568 มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค มี 71 สายการบินทั่วโลกขอบินเข้าไทย
เมื่อวันที่ 11-13 มิถุนายน 2567 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT เข้าร่วมประชุม Slot Conference ครั้งที่ 154 (SC154) ณ กรุงโบโกตา สาธารณรัฐโคลอมเบีย โดยมีสายการบินกว่า 71 สายจากทั่วโลกเข้าพบเพื่อเจรจาขอรับการจัดสรรเวลาการบินในกำหนดการบินประจำฤดูหนาว 2567/2568 (Winter 2024 Season) ซึ่งมีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 29 มีนาคม 2568 ซึ่งมีสนามบินหลักในไทยเป็นจุดหมายปลายทาง ได้แก่ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, ภูเก็ต และเชียงใหม่
Slot Conference (SC) เป็นการประชุมทางธุรกิจที่ดึงดูดผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 1,300 คน โดยมีสนามบินที่มีข้อจำกัดของขีดความสามารถมากกว่า 300 แห่ง และสายการบินมากกว่า 250 สาย ตลอดจนผู้สนับสนุนและผู้แสดงสินค้ากว่า 90 รายที่เข้าร่วมจากทั่วทุกมุมโลก การประชุมจะจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง และเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ใหญ่ที่สุดของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA โดยจะหมุนเวียนสถานที่จัดงานทั่วโลกเป็นประจำ ซึ่งช่วยให้สายการบินและหน่วยประสานจัดสรรเวลาการบิน (Slot Coordinator) มีโอกาสพบและหารือร่วมกัน เพื่อให้สายการบินสามารถวางแผนและจัดตารางการบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยเปิดโอกาสใหม่ๆ ในการพัฒนาเครือข่ายการบินของสายการบินต่างๆ
เป้าหมายของการประชุม คือ การที่สายการบินได้รับการจัดสรรเวลาการบินเป็นไปตามแผนหรือใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งจะช่วยให้สายการบินสามารถวางแผนการบินได้อย่างรวดเร็วและตอบสนองต่อความต้องการของผู้โดยสารและตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับแผนการหมุนเวียนการใช้อากาศยานของสายการบิน
CAAT พิจารณาจัดสรรเวลาการบินโดยส่งเสริมการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญ มุ่งสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Aviation Hub) ตามนโยบายของรัฐบาล และคำนึงถึงการใช้งานขีดความสามารถของสนามบินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีสายการบินในกลุ่มภูมิภาคต่างๆ ให้ความสนใจขอเข้าพบในการเจรจาขอรับการจัดสรรเวลาการบินเที่ยวบินแบบประจำ ทั้งเที่ยวบินรับขนผู้โดยสารและเที่ยวบินขนส่งสินค้า โดยมีทั้งขอรับการจัดสรรเที่ยวบินใหม่และขอปรับเวลาการบิน เช่น
• กลุ่มยุโรป ได้แก่ สายการบิน Air France, Austrian Airlines, British Airways, Condor, Finn Air, ITA Airways, SAS, Lot Polish Airlines, Norse Atlantic Airways, Aerologic, DHL
• กลุ่มอเมริกาเหนือ ได้แก่ Air Canada, FedEx
• กลุ่มเอเชียแปซิฟิก เช่น
- ประเทศอินเดีย ได้แก่ Air India, Air Vistara, Indigo, SpiceJet, Air India Express
- ประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ Japan Airlines, All Nippon Airways, Peach Aviation, Nippon Cargo
- ประเทศเกาหลีใต้ ได้แก่ Korean Air, Asiana Airlines, Eastar Jet, Jin Air, Jeju Air, T’way
- ประเทศจีน ได้แก่ China Eastern Airlines, China Southern Airlines, Spring Airlines, Juneyao Airlines, Shenzhen Airlines, Shandong Airlines, Hainan Airlines, Okay Airways
• กลุ่มตะวันออกกลาง ได้แก่ Emirates, Etihad Airways, Qatar Airways, Oman Air, Air Arabia
ทั้งนี้ สายการบินให้ความสนใจและสอบถามถึงแผนการขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. มีแผนจะเปิดใช้งานทางวิ่งเส้นที่ 3 ในช่วงปลายฤดูกาล ซึ่งจะประกาศอย่างเป็นทางการใน AIP Supplementary ต่อไป