xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด กพอ.ไฟเขียวแผน สวล.อีอีซี เร่ง 4 โครงการพื้นฐานหวังดึงดูดการลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ด กพอ.อนุมัติ (ร่าง) แผนสิ่งแวดล้อมอีอีซี สร้างสมดุลพัฒนาเมือง ชุมชน ดูแลสิ่งแวดล้อมยั่งยืน พร้อมติดตามความก้าวหน้า 4 โครงสร้างพื้นฐานหลักทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินชง ครม.ทบทวน PPP ก.ค. 67 หวังเสริมปัจจัยดึงดูดการลงทุนสู่พื้นที่อีอีซี

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3/2567 วันที่ 10 มิถุนายน 2567 ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นกรรมการและเลขานุการการประชุม

ที่ประชุม กพอ.อนุมัติ (ร่าง) แผนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2566-2570 โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมอบหมายให้ สกพอ.นำเสนอ ครม.ต่อไป เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองและชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง สร้างสมดุลโครงการพัฒนาต่างๆ สามารถดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนธุรกิจที่ยั่งยืนในพื้นที่อีอีซี


ทั้งนี้ (ร่าง) แผนสิ่งแวดล้อมฯ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการของเสียและมลพิษสิ่งแวดล้อม มีกลยุทธ์สำคัญ เพิ่มประสิทธิภาพระบบการจัดการน้ำเสีย ของเสีย เฝ้าระวังการจัดการมลพิษจากแหล่งกำเนิดและในสิ่งแวดล้อม จำนวน 31 โครงการ เช่น โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะมูลฝอย อำเภอแกลง ยุทธศาสตร์ที่ 2 การอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษา และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน กลยุทธ์สำคัญ เช่น การจัดการทรัพยากรและการใช้ประโยชน์ที่ดิน การจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน จำนวน 65 โครงการ เช่น โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแก้มลิงคลองบางไผ่ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำเกาะแสมสาร

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมการดำรงชีวิตและดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ จำนวน 40 โครงการ เช่น โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบชายหาดบ้านอำเภอ จังหวัดชลบุรี โครงการขับเคลื่อนสู่ Net Zero EEC สนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และยุทธศาสตร์ที่ 4 การเสริมความเข้มแข็งแก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาเครื่องมือและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการบริการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 54 โครงการ อาทิ โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ 


นอกจากนี้ ที่ประชุม กพอ.รับทราบความก้าวหน้าโครงสร้างพื้นฐานหลักในพื้นที่อีอีซี ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน (PPP) ที่สำคัญ ได้แก่ 1. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ปัจจุบัน รฟท.และเอกชนคู่สัญญาตกลงรับมอบพื้นที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเจรจาหลักการแก้ไขปัญหาโครงการจากผลกระทบโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้ข้อยุติแล้ว อยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอ กพอ. พิจารณา เพื่อเสนอให้ ครม.ทบทวนหลักการ PPP ตามมติ ครม.ที่อนุมัติโครงการไว้เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2561 คาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ภายในเดือน ก.ค. 2567 จากนั้น รฟท.และเอกชนคู่สัญญาจะเจรจาร่างสัญญาแก้ไข เพื่อส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจ และส่ง กพอ.และ ครม.เห็นชอบ และเริ่มงานก่อสร้างภายในธันวาคม 2567

ทั้งนี้ หลักการแก้ไขปัญหาจะอยู่บนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐกับเอกชน เป็นธรรมต่อคู่สัญญา รัฐไม่เสียประโยชน์ และเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินควร มีหลักการที่สำคัญ ได้แก่ การแก้ไขวิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ (PIC) โดยรัฐจะเริ่มลงทุนเร็วขึ้นตามระยะเวลาความแล้วเสร็จของงาน และเอกชนตกลงวางหลักประกัน (Bank Guarantee) เต็มจำนวน
ค่าก่อสร้าง และการแก้ไขวิธีการชำระค่าสิทธิโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) เอกชนแบ่งชำระ 7 งวด โดย รฟท.ยังคงได้รับค่าสิทธิครบจำนวน 10,671.09 ล้านบาท เอกชนรับภาระดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายทางการเงินส่วนที่เกินทั้งสิ้น

2. โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ความก้าวหน้าในส่วนภาครัฐ กองทัพเรือได้ออกประกาศเชิญชวนยื่นข้อเสนองานจ้างก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และทางขับสนามบินอู่ตะเภา เป็นที่เรียบร้อย และคาดว่าจะพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิคได้ภายในเดือน มิ.ย. 2567 และก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2571 ด้านงานระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น มีความก้าวหน้าภาพรวม 26.32% โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มีความก้าวหน้ากว่า 94.85% งานด้านระบบบริการเติมเชื้อเพลิงอากาศยาน มีความก้าวหน้ารวม 47.38% งานด้านประปาและบำบัดน้ำเสีย มีความก้าวหน้ารวม 97.62% เป็นต้น ในส่วนการประสานแจ้งให้เอกชนเริ่มก่อสร้างโครงการฯ (NTP) คาดว่าจะสามารถแจ้ง NTP ได้ภายในปี 2567 นี้ ทั้งนี้คาดว่าสนามบินอู่ตะเภาฯ จะเปิดให้บริการภายในปี 2572

3. โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนท่าเทียบเรือ F งานก่อสร้างทางทะเล มีความก้าวหน้าในภาพรวม 29.02% โดยพื้นที่ถมทะเล 1 และ 2 ได้ดำเนินการถมแล้วเสร็จ ส่วนพื้นที่ถมทะเล 3 อยู่ระหว่างดำเนินการถม คาดว่าจะเปิดดำเนินการท่าเทียบเรือ F1 ได้ภายในปี 2570

4. โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในภาพรวม มีความก้าวหน้า 80.93% งานด้านถมทะเล พื้นที่แปลง LNG Plot (แปลง B) และพื้นที่ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (แปลง C) ดำเนินการถมแล้วเสร็จ ส่วนพื้นที่ท่าเรือสินค้าเหลว (แปลง A) มีความก้าวหน้า 30.95% โดยท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570


กำลังโหลดความคิดเห็น