xs
xsm
sm
md
lg

‘อีอีซี’ ลุ้น ครม.เคาะร่างประกาศสิทธิประโยชน์ฯ มิ.ย.นี้ เผยเอกชน 30 รายยื่นลงทุนล็อตใหญ่รวม 2 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เลขาฯ อีอีซี” เผยนักลงทุน 30 รายเข้าคิวยื่นขอสิทธิประโยชน์ ลุ้น มิ.ย.นี้ ครม.เคาะร่างประกาศ กพอ.เรื่องสิทธิประโยชน์ เดินหน้าเจรจา ดึงเม็ดเงินลงทุนล็อตใหญ่ 2 แสนล้านบาท สร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจ เผย "ญี่ปุ่น และจีน" มากสุด จัดหนักยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงสุด 15 ปี เช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ระยะยาว

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า ในรอบ 1 ปีหลังจากที่ตนได้เข้ารับตำแหน่งเลขาฯ อีอีซี ได้พบปะเจรจากับนักลงทุนรวมทั้งสิ้น 84 ราย โดยมีนักลงทุนจำนวน 30 รายได้ยื่นขอสิทธิประโยชน์การลงทุนในพื้นที่อีอีซี มีวงเงินลงทุนรวมกันประมาณ 2 แสนล้านบาท แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากต้องรอประกาศ กพอ. เรื่องสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ... ซึ่งเป็นกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.อีอีซีก่อน โดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ดอีอีซีได้เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กพอ.เรื่องสิทธิประโชน์ฯ แล้วเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2566 และเมื่อเดือน ก.พ.2567 ได้เสนอไปที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อยู่ระหว่างรอบรรจุวาระ ครม.เพื่อทราบ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับต่อไป

ตามประกาศ กพอ.เรื่องสิทธิประโยชน์ฯ ดังกล่าว นอกจากมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตแล้ว ยังกำหนดกระบวนการและกำหนดให้มีคณะกรรมการเจรจาสิทธิประโยชน์ หลักการทั่วไปจะคล้ายกับสิทธิประโยชน์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แต่อีอีซีจะมีการเจรจากับแต่ละรายว่ามีรายละเอียดการลงทุนอย่างไร มูลค่าลงทุนเท่าไร และต้องการสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง โดยจะมีกรอบเรื่องสิทธิประโยชน์ให้ผู้ลงทุนแต่ละรายพิจารณาและมาเจรจากัน เพื่อสรุปข้อตกลงการให้สิทธิประโยชน์ และรายงานต่อบอร์ดอีอีซีรับทราบ ดังนั้นแต่ละรายแม้จะลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่มเดียวกันก็อาจจะได้สิทธิประโยชน์ไม่เท่ากัน


นายจุฬากล่าวว่า หลังประกาศมีผลบังคับใช้จะเป็นกระบวนการตั้งคณะกรรมการเจรจาฯ และเริ่มเจรจากับเอกชนแต่ละราย คาดว่าอีอีซีจะเริ่มให้สิทธิประโยชน์ได้ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2567 เป็นต้นไป และภายใน 2-3 เดือนจะเริ่มมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาแน่นอน นักลงทุน 30 รายจะถือเป็นล็อตแรกที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีและได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอีอีซี โดยงานแรกๆ จะเป็นการลงทุนเพื่อก่อสร้างโรงงาน และจัดหาเครื่องจักร เครื่องมือ เกิดการจ้างงานในพื้นที่

“ผู้ลงทุนทั้ง 30 รายที่ยื่นขอสิทธิประโยชน์การลงทุนในพื้นที่อีอีซี มีความชัดเจนในประเภทอุตสาหกรรมและมูลค่าที่เข้ามาลงทุนแล้ว รอเพียงการเจรจาสิทธิประโยชน์ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนอุตสาหกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG) เศรษฐกิจสีเขียว เชื้อเพลิงชีวภาพ การเกษตรเทคโนโลยีชีวภาพและการแปรรูปอาหาร พลังงานสมัยใหม่ มีมูลค่าลงทุนประมาณ 1.2 แสนล้านบาท หรือกว่า 50% รองลงมาคือพวกดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น และจีน”

การลงทุนในพื้นที่อีอีซีจะทำให้เศรษฐกิจโดยรอบพื้นที่และเกิดการจ้างงาน และส่งผลให้สังคมที่เกี่ยวเนื่องดีไปด้วย และจะผลักดันให้มีการลงทุนเพิ่มตามเป้าหมาย ปีละ 1 แสนล้านบาท และคาดหมายว่าเมื่อโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และท่าอากาศยานอู่ตะเภาเมืองการบิน ได้เริ่มต้น จะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับรถไฟ และสนามบินตามมาอีกมาก

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาอีอีซียังมีการขยายพื้นที่การลงทุนเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และมีการเปิดพื้นที่ใหม่ไปทางจังหวัดฉะเชิงเทรา เนื่องจากในจังหวัดระยองและชลบุรีเริ่มแน่น และต้นทุนของพื้นที่อาจจะเริ่มแพงเกินไปสำหรับธุรกิจบางประเภท รวมถึงกำหนดผังเมืองทำนิคมอุตสาหกรรมที่ไม่กระทบชุมชน

สำหรับสิทธิประโยชน์อีอีซี เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สูงสุด 15 ปี, สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน, สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ห้องชุด, สิทธิในการประกอบวิชาชีพ, สิทธิในการเช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ระยะยาว 50 ปี +49 ปี สิทธิในการประกอบวิชาชีพ, สิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่อาศัยในราชอาณาจักรและสิทธิในการได้รับ Work Permit, สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงินด้วยเงินตราต่างประเทศ, สิทธิในการขอรับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากร คลังสินค้าชายแดน หรือเขตการค้าเสรี เป็นต้น

ส่วนการจะได้รับสิทธิประโยชน์แค่ไหนอย่างไร ขึ้นกับการเจรจา โดยมีองค์ประกอบการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ 13 ตัว ได้แก่ 1. ประเภทอุตสาหกรรมเป้าหมาย กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง หรือกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและส่งเสริมฯภายใต้ พ.ร.บ.อีอีซี 2. แผนการลงทุน 3. ความสำคัญของกิจการต่อห่วงโซ่อุปทาน 4. การเป็นผู้บุกเบิกกิจการในอุตฯ ไทย 5. มูลค่าเงินลงทุนสุทธิและมูลค่าการลงทุนจริงที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ 6. การใช้ทรัพยากรและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

7. ระดับเทคโนโลยีที่ใช้ในกิจการ 8. แผนการถ่ายทอดเทคโนโลยี 9. การลงทุนวิจัยและพัฒนา 10. การจ้างงาน และการมีส่วนร่วมของแรงงานไทยทักษะสูง 11. ความยั่งยืนของกิจการ 12. ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 13. การพัฒนาและสนับสนุนชุมชน


กำลังโหลดความคิดเห็น