บีโอไอดึงบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ร่วมพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยให้เข้าสู่ซัปพลายเชน พร้อมจัดกิจกรรม SUBCON Thailand และ Sourcing Day สร้างโอกาสซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศ ย้ำจิ๊กซอว์สำคัญในการยกระดับประเทศไทยสู่ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าโลก
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยมีเป้าหมายให้เกิดการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle) ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2030 หรือที่เรียกว่านโยบาย 30@30 โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศเข้าไปมีส่วนในซัปพลายเชนของอุตสาหกรรม EV ผ่านการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3 และ EV3.5 มีการใช้แบตเตอรี่หรือชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตในประเทศ เช่น มอเตอร์ขับเคลื่อน ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ระบบควบคุมการขับขี่ (DCU) อินเวอร์เตอร์ เกียร์ทดรอบ หรือคอมเพรสเซอร์ระบบปรับอากาศ เป็นต้น ในเวลาที่กรมสรรพสามิตกำหนด รวมทั้งการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ตั้งในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี (Free Zone) ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ จะต้องผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด เช่น การตรวจสอบคุณภาพ และการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ โดยต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในอาเซียน (Regional Value Content) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของชิ้นส่วนทั้งหมดด้วย
ในส่วนของบีโอไอ ได้กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนต้องมีการผลิตหรือจัดหาแบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญจากผู้ผลิตในประเทศ รวมถึงแผนพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศที่มีหุ้นไทยข้างมาก (Local Supplier) โดยการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีและการสนับสนุนทางเทคนิค ซึ่งจะช่วยยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยให้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ EV เพื่อเร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับอุตสาหกรรม EV ต่อไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบีโอไอได้ให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า การผลิตแบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญ และการให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมทั้งสิ้น 103 โครงการ เงินลงทุนรวม 77,192 ล้านบาท
นอกจากนี้ บีโอไอยังให้ความสำคัญต่อการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ โดยได้ทำงานร่วมกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย สมาคมยานยนต์ และบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมยานยนต์และอื่น ๆ จัดกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น กิจกรรมจัดหาชิ้นส่วนในประเทศ (Sourcing Day) กิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจ กิจกรรมสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ และงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมชิ้นส่วน เป็นต้น เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในประเทศเข้าไปมีบทบาทในซัปพลายเชนของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในช่วงปีที่ผ่านมา บีโอไอได้จัดกิจกรรม Sourcing Day ร่วมกับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหลายราย เช่น BYD, NETA และ BMW เป็นต้น เพื่อจัดหาชิ้นส่วนและบริการสนับสนุนการผลิตจากในประเทศ โดยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศเข้าร่วมเจรจาธุรกิจมากกว่า 250 บริษัท และในปี 2567 นี้บีโอไอยังมีแผนจัดกิจกรรมดังกล่าวร่วมกับผู้ผลิต EV รายอื่นๆ เช่น MG, Changan, GAC-Aion และ Great Wall Motor เป็นต้น รวมทั้งบริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Delta, Inventec, SVI และ Chicony เป็นต้น
นอกจากกิจกรรมมุ่งเป้ารายบริษัท บีโอไอได้ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และบริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ จัดงานใหญ่เพื่อแสดงสินค้าอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industries) ในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี ภายใต้ชื่อ SUBCON Thailand โดยเป็นเวทีในการจัดซื้อชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและการจับคู่ธุรกิจระดับนานาชาติ โดยในปี 2566 งาน SUBCON Thailand ที่กรุงเทพฯ มีผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมร่วมออกงานกว่า 160 บริษัท เกิดการจับคู่เจรจาธุรกิจกว่า 8,500 คู่ มีมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนกว่า 20,000 ล้านบาท ในขณะที่งาน SUBCON ในภาคตะวันออกที่จัดขึ้นเป็นปีที่สองในพื้นที่จังหวัดชลบุรี มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 150 บริษัท เกิดการจับคู่เจรจาทางธุรกิจกว่า 800 คู่ และมีมูลค่าการซื้อขายชิ้นส่วนกว่า 7,000 ล้านบาท
สำหรับงาน SUBCON Thailand ในปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 พฤษภาคม 2567 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค โดยจะมุ่งเน้นให้เกิดการเชื่อมโยงซัปพลายเชนในสองอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่จะสร้างรายได้ให้ประเทศและสร้างงานให้แก่คนไทยจำนวนมาก โดยงานดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการซื้อขายชิ้นส่วนอุตสาหกรรมจากผู้ประกอบการในประเทศ รวมถึงจะมีการจัดสัมมนาพิเศษเพื่อให้ผู้ผลิตรถยนต์ EV จากประเทศจีนได้นำเสนอแผนการพัฒนาซัปพลายเชน และนโยบายการจัดซื้อชิ้นส่วนของบริษัทในประเทศไทยอีกด้วย
“ในช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยสามารถดึงดูดผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำจำนวนมากให้เข้ามาสร้างฐานการผลิต EV ในประเทศไทย บีโอไอให้ความสำคัญต่อการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างค่ายรถ EV ต่างชาติกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ ผ่านทั้งการกำหนดเงื่อนไขบังคับ มาตรการจูงใจ และกิจกรรมเชื่อมโยงต่างๆ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาซัปพลายเชน และสร้างโอกาสให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทยที่มีศักยภาพได้เข้าไปอยู่ในซัปพลายเชนระดับโลก ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรม EV และเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลกได้” นายนฤตม์กล่าว