บริษัท ธรรมชาติทรายแก้ว จำกัดโชว์ศักยภาพผู้ผลิตและผู้จำหน่ายทรายแก้วคุณภาพสูง มุ่งมั่นพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ตามแนวคิด ESG ยึดหลักปฏิบัติ 6 ด้าน “เหมืองแร่สีเขียว” ตอกย้ำเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ปรับใช้ในการจัดการและดูแลสิ่งแวดล้อม ชุมชน ลดต้นทุนการผลิต สู่การพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืน
นายวัลลภ การวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธรรมชาติทรายแก้ว จำกัด กล่าวว่า เกือบ 30 ปีนับแต่ก่อตั้งบริษัทฯ เรามุ่งมั่นในการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายทรายแก้วคุณภาพดีให้กับลูกค้า โดยดำเนินการอยู่ในแนวทาง 3 มิติของESG ประกอบด้วย E (Environmental) เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม S (Social) รับผิดชอบต่อสังคม และ G (Governance) ใช้หลักธรรมาภิบาลในการดูแลธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลคุณภาพชีวิตของพนักงานและชุมชนในพื้นที่ ส่งผลให้บริษัทฯ ได้รับรางวัลเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining Award) อย่างต่อเนื่อง (ตั้งแต่ปี 2554 - ปี 2565) จาก กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม
“ตลอดระยะเวลาในการดำเนินธุรกิจได้ยึดหลักปฏิบัติในการสร้างมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.การมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม 2.การลด ป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม 3.การดูแลความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของคนงานและชุมชนผู้อาศัยอยู่ใกล้เคียง 4. การมีพื้นที่สีเขียวและทัศนียภาพเรียบร้อยสะอาดตา 5.ความโปร่งใสตรวจสอบได้ และ 6.การใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่า เพื่อยกระดับมาตรฐานการประกอบการที่ดี มีความปลอดภัย เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดที่จะสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน”นายวัลลภ กล่าว
ทั้งนี้บริษัท ธรรมชาติทรายแก้ว จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลทางเกวียน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เป็นผู้ผลิตและผู้จำหน่ายทรายแก้วให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ อุตสาหกรรมแก้วใส อุตสาหกรรมกระจกรถยนต์และกระจกอาคาร อุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมหล่อโลหะ และอุตสาหกรรมเคมี ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 48,000 เมตริกตันต่อเดือน
นายวัลลภ กล่าวต่อว่า บริษัทฯ ได้นำแนวปฏิบัติด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในการวางระบบของเหมืองแร่ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ โดยมีการจัดสรรตั้งแต่เริ่มวางพื้นที่ การใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพของเม็ดทรายแก้ว กระบวนการจัดการน้ำขุ่นหลังจากการแต่งแร่ทรายแก้ว รวมไปถึงพัฒนานวัตกรรมของกระบวนการขนส่งภายในเหมือง เพื่อใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า พร้อมทั้งให้ความสำคัญต่อการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโดยรอบตามข้อกำหนดของกฎหมาย ตลอดจนข้อปฏิบัติสากล เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเว้นพื้นที่ตลอดแนวขอบเหมืองให้เป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อเป็นกำแพงป้องกัน และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำเหมือง เช่น ควบคุมทิศทางของฝุ่นแรงสั่นสะเทือน เสียง และการปลิวของทรายไม่ให้ออกสู่ภายนอก
“ด้านการจัดการน้ำที่ต้องใช้ในกระบวนการผลิตแต่งแร่ทรายแก้วมากกว่าแสนลูกบาศก์เมตรต่อวันนั้น ได้มีการวางระบบตั้งแต่ขุดแหล่งน้ำขึ้นมาใช้เองโดยไม่รบกวนชุมชนโดยรอบ และไม่ดึงน้ำสาธารณะเข้ามาใช้ และได้คิดค้นระบบน้ำหมุนเวียน(Water Recycle) เพื่อนำน้ำขุ่นข้นหลังการแต่งแร่มาผ่านกระบวนการบำบัดด้วยวิธีการตามธรรมชาติ จนได้น้ำที่สะอาดแล้วนำกลับไปใช้ใหม่ ส่วนดินทรายที่ตกตะกอนทับถมเป็นดินดำ จะตักขึ้นมาเก็บไว้สำหรับบริจาคให้กับวัด โรงเรียน และชาวบ้าน ที่ต้องการนำไปใช้ในกิจการเพื่อส่วนรวม รวมไปถึงชาวบ้านโดยรอบที่ต้องการดินไปรองก้นหลุมเพื่อปลูกต้นไม้ ซึ่งจากการดำเนินการดังกล่าวสามารถลดต้นทุนในกระบวนการการผลิตของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนอีกด้วย” นายวัลลภ กล่าวทิ้งท้าย