สนค.เผยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ต ทำธุรกิจบริการ OTT ที่ให้บริการคอนเทนต์ทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ รายการโทรทัศน์ และรายการเสียงเติบโต รับพฤติกรรมผู้บริโภค ที่นิยมใช้สื่อออนไลน์มากกว่ารับชมโทรทัศน์แบบเดิม แนะผู้ประกอบการ ใช้เป็นช่องทางในการขยายตลาดให้กับสินค้าและบริการ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ต ก่อให้เกิดธุรกิจบริการรูปแบบใหม่บริการหนึ่งที่น่าสนใจ คือ Over-the-top (OTT) เป็นการให้บริการเนื้อหา หรือที่ในปัจจุบันนิยมเรียกว่า คอนเทนต์ เช่น ภาพยนตร์ ซีรีส์ รายการโทรทัศน์ และรายการเสียง (podcast) ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น YouTube, Netflix, Wetv, Viu, iflex, Spotify และ Line TV ทั้งนี้ หากเป็นบริการที่เผยแพร่ทั้งภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต จะเรียกว่า OTT TV
ทั้งนี้ การรับชมคอนเทนต์ผ่าน OTT มีความยืดหยุ่น และตอบสนองต่อรูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคในปัจจุบันได้มากกว่าการรับชมโทรทัศน์แบบเดิม เนื่องจากผู้ใช้บริการสามารถเลือกรับชมคอนเทนต์ประเภทที่ต้องการ และสามารถรับชมในเวลาและสถานที่ที่สะดวก ผู้ใช้บริการสามารถรับชมผ่านอุปกรณ์หรือโทรศัพท์ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ โดยที่ไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์เสริม
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรม OTT เติบโตอย่างก้าวกระโดด มาจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากการจำกัดการเดินทาง โดยให้ทำงานที่บ้าน (Work From Home) และปิดสถานที่ที่มีประชาชนหนาแน่น โดยเฉพาะโรงภาพยนตร์ และสถานบันเทิง ทำให้ผู้บริโภคต้องหันมารับชมคอนเทนต์และสื่อต่างๆ ผ่านอินเตอร์เน็ตแทน
ข้อมูลจากรายงาน The Future of TV 2022 ที่จัดทำโดยบริษัทด้านการตลาด The Trade Desk ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษา KANTAR ชี้ให้เห็นว่า คนไทยราว 26 ล้านคน รับชมรายการโทรทัศน์ผ่านแพลตฟอร์ม OTT และใช้เวลาไปกับแพลตฟอร์มดังกล่าวมากถึง 1.4 พันล้านชั่วโมงต่อเดือน ซึ่งถือว่าสูงมาก และคนไทยยังมองว่า การรับชมรายการใน OTT TV มีความสะดวกสบายไม่ยุ่งยากเหมือนการรับชมผ่านสื่อโทรทัศน์หรือเคเบิลทีวี และสามารถรับชมได้ตลอดเวลาที่ต้องการ และรายงาน Digital Stat 2021 จากบริษัทด้านการตลาด We Are Social พบว่าคนไทยร้อยละ 99 มีพฤติกรรมชอบดูวิดีโอออนไลน์ และร้อยละ 69 มีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่พึ่งพาโลกออนไลน์ โดยมีพฤติกรรมการใช้งานเพื่อความบันเทิงต่างๆ เช่น การฟังเพลง การใช้งานโซเซียลมีเดีย เล่นเกม และอัดคลิปวิดีโอ
ส่วนผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม OTT ในไทย มีรายได้จากค่าโฆษณาและหรือค่าบริการหรือค่าสมาชิกเพิ่มขึ้น ซึ่งเห็นได้จากจำนวนโฆษณาทาง OTT ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทด้านวิจัยการตลาด Neilsen และสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในปี 2565 ค่าโฆษณาผ่านอินเตอร์เน็ต มีมูลค่า 25,729 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 3.89 และในปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.71 เป็น 28,999 ล้านบาท และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดเผยข้อมูลจำนวนบัญชีของคนไทยที่ใช้บริการ OTT TV ในปี 2566 พบว่า จำนวนบัญชีผู้ใช้บริการในรูปแบบดังกล่าวมีเพิ่มขึ้นถึง 10.92 ล้านบัญชี และคาดไว้ว่าในปี 2567 จะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 12.72 ล้านบัญชี แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการอื่นให้ความสำคัญกับการโฆษณาทาง OTT เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็เข้าถึงสื่อผ่าน OTT เพิ่มขึ้น ทำให้การเผยแพร่เนื้อหาและโฆษณาผ่าน OTT เป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวางและสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
“ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลและการเติบโตของ OTT ส่งผลต่อทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรม บริการ และพฤติกรรมของผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตสื่อดิจิทัลคอนเทนต์ ละคร ซีรีส์ ภาพยนตร์ และ Home entertainment ต่างๆ สามารถเผยแพร่หรือนำเสนอคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาหลากหลาย และมีช่องทางการนำเสนอคอนเทนต์เพิ่มมากขึ้น โดยภาครัฐและผู้ประกอบการ อาจพิจารณานำเสนอหรือโฆษณาสินค้า บริการ สถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงศิลปะและวัฒนธรรม โดยสอดแทรกในสื่อและคอนเทนต์ที่เผยแพร่ผ่าน OTT ซึ่งเป็นโอกาสทางการค้าและเป็นช่องทางที่สามารถสร้างการรับรู้สินค้าและบริการ และเข้าถึงผู้บริโภคได้หลากหลายกลุ่มทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้สามารถเผยแพร่วัฒนธรรมของไทยควบคู่ไปพร้อมกับการนำเสนอสินค้าและบริการได้” นายพูนพงษ์กล่าว