xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.โกยกำไรธุรกิจ Life Science หลัง “อินโนบิก” ขายทิ้งหุ้น Adalvo

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การปรับองค์กร ปตท.สู่เป้าหมาย ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต และในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน นับเป็นเครื่องจักรใหม่ที่จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยธุรกิจเดิมยังมีความสำคัญในการสร้างรายได้และกำไรให้ ปตท.อยู่

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ได้กล่าวถึงแผนงานการดำเนินธุรกิจใหม่ว่า ในปี 2567 ปตท.จะรับรู้รายได้และกำไรจากธุรกิจใหม่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต หรือ Life Science และธุรกิจระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรที่มีบริษัท อรุณ พลัส จำกัด เป็นแกนนำดำเนินธุรกิจ

ทั้งนี้ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) เป็นแกนนำธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต ที่ครอบคลุม 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจยา ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพและโภชนาการ ธุรกิจอุปกรณ์ทางการแพทย์และการวินิจฉัยทางการแพทย์ โดยปีนี้อินโนบิกตั้งเป้าหมายมีผลประกอบการดีขึ้นกว่าปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิ 1,100 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากบริษัทที่อินโนบิกเข้าไปลงทุนเติบโตขึ้น และอีกส่วนหนึ่งมาจากการที่อินโนบิก เข้าไปซื้อหุ้นบริษัท โลตัส ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (Lotus Pharmaceutical Company Limited : Lotus) เมื่อปี 2565 ทำให้ได้บริษัท Adalvo ติดมาด้วย ล่าสุดบริษัทได้ขาย Adalvo ให้กับกลุ่ม Aztiq เป็นผู้ถือหุ้นเดิม ทำให้อินโนบิกรับรู้รายได้และกำไรพิเศษจากการขาย Adalvoพอสมควร คาดว่าจะบันทึกรับรู้กำไรในงวดไตรมาส 1/2567 รวมทั้งยังรับรู้รายได้จากธุรกิจที่อินโนบิกทำเอง


ดร.บุรณินย้ำว่า การขาย Adalvo จะไม่มีผลกระทบต่อรายได้ของอินโนบิกลดลงในอนาคต เนื่องจากรายได้มาจาก Lotus มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า Adalvo มาก เพียงแต่ Adalvo เป็นบริษัทที่เติบโตดีและเน้นการทำธุรกิจในทวีปยุโรปเป็นหลัก โดยอินโนบิกมุ่งเน้นการลงทุนในภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าจะมีการขายหุ้น Adalvo ไปแล้ว แต่ยังคงเป็นพันธมิตรที่ดีกับ Lotus จึงไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจของ Lotus และอินโนบิกแต่อย่างใด

แต่เป็นโอกาสดีที่อินโนบิกจะนำเงินลงทุนที่ได้จากการจำหน่ายหุ้นครั้งนี้มาขยายการลงทุนและต่อยอดการเติบโตตามยุทธศาสตร์ของบริษัทต่อไป รวมถึงเพิ่มโอกาสการลงทุนในธุรกิจด้านอื่นๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์และเทคโนโลยีโลก

ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2567 บริษัท อินโนบิก และ แอซทีค ฟาร์มา พาร์ทเนอร์ (Aztiq Pharma Partner : Aztiq) ลงนามสัญญาจำหน่ายหุ้น 100% ในบริษัท อดัลโว จำกัด (Adalvo) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจยาแบบ Business-to-Business (B2B) มุ่งเน้นการอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Out Licensing) และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาในทวีปยุโรปและมีมูลค่าของกิจการประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยขายหุ้น Adalvo ให้กับบริษัทในกลุ่ม Aztiq เพื่อต่อยอดธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในทวีปยุโรป


ไม่รีบตั้งโรงงานผลิตยาในไทย

ส่วนการดึง Lotus เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตยาในเมืองไทย ดร.บุรณินกล่าวว่า ปัจจุบัน Lotus มีการทำธุรกิจยาในไทยอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีโรงงานผลิตยาในไทย ซึ่งที่ผ่านมา Lotus ประสบความสำเร็จในการทำตลาดยารักษาโรคมะเร็ง และยารักษาระบบประสาทในสหรัฐอเมริกา และเอเชียตะวันออกทั้งเกาหลีและไต้หวัน ซึ่งในอนาคต Lotus วางเป้าหมายทำตลาดยาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น

โอกาสในการตั้งโรงงานยาในไทยนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของตลาดยาในไทยและศักยภาพของชนิดยาที่จะผลิตเป็นสำคัญ โดย Lotus มีโรงงานผลิตยาที่ไต้หวันและเกาหลี โดยเพิ่งขยายโรงงานผลิตยาที่ไต้หวัน ทำให้มีกำลังผลิตเพียงพอรองรับตลาด

โดย Lotus เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจยาสามัญ (Generic Drugs) ชั้นนำแบบมีนวัตกรรม ดำเนินธุรกิจยาแบบครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การคิดค้น พัฒนา (R&D) การผลิตและการจัดจำหน่าย โดยมีผลประกอบการกับรายได้อยู่ในระดับดี มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) มากกว่า 20% จากการขยายพอร์ตของตัวยาที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะยาที่มีมูลค่าตลาดสูงติดอันดับโลก อาทิ ยารักษาโรคมะเร็ง ซึ่งอินโนบิกถือหุ้นใหญ่ 37% ใน Lotus


เล็งเปิดร้าน alt mini ขายอาหาร plant-based

ส่วนธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพและโภชนาการ ได้มีการจัดตั้งบริษัท อินโนบิก นูทริชั่น จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจเสริมอาหารและอาหารทางการแพทย์ รวมทั้งร่วมทุนพันธมิตรตั้งโรงงานแพลนท์ แอนด์ บีน (ประเทศไทย) เพื่อผลิตอาหารโปรตีนจากพืช (Plant-based Protein) ใหญ่ที่สุดในอาเซียนด้วยกำลังผลิต 3,000 ตันต่อปี โดยปี 2567 บริษัทได้เร่งทำตลาด หาฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ เพื่อรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร หรือ SME พบว่าตลาดฟาสต์ฟูดส์เป็นตลาดที่น่าสนใจ มีผู้บริโภคสนใจรับประทาน Plant-based มากขึ้น

รวมทั้งเร่งหาสูตรรสชาติอาหารให้เหมาะกับคนไทยด้วย โดยมีแผนจะผลิตอาหาร Plant-based หลากหลายเมนูเพื่อจำหน่ายในร้าน alt. Mini (อัลต์ มินิ) หวังตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์กลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบและจำนวนสาขาที่จะขยายเพิ่มเติม จากปัจจุบันมีเพียงร้าน alt. Eatery เพียงสาขาเดียวแถวสุขุมวิท 51 คอมมูนิตีอาหาร Plant-based ใจกลางเมืองแห่งแรกของกรุงเทพฯ ทำให้คนไทยมีทางเลือกในการบริโภคอาหาร และช่วยลดการเกิดโรคเพราะมีโปรตีนสูงแต่ไขมันต่ำ โดยปีนี้บริษัทวางเป้าหมายการผลิต Plant-based ราว 600-1,000 ตัน หรือคิดเป็น 1/3 ของกำลังการผลิตรวม

ทั้งนี้ โรงงานแพลนท์ แอนด์ บีน (ประเทศไทย) เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีนหรือ NRPT ( เป็นการร่วมทุนระหว่างอินโนบิกกับโนฟ ฟู้ดส์) และบริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศอังกฤษ หรือ Plant & Bean (UK) ในสัดส่วนการลงทุน 51% และ 49% มีมูลค่าการลงทุนเฟสแรก 300-400 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากอินโนบิกมีแผนลงทุนโครงการใหม่ที่ใช้เงินลงทุนสูง ทาง ปตท.ไม่ได้ปิดกั้นการนำบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมไปถึงการออกหุ้นกู้เอง ซึ่งปัจจุบันอินโนบิกแสวงหาโครงการที่น่าสนใจเพื่อร่วมทุน (JV) หรือการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) โดยสนใจธุรกิจเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Medical Technology) เพิ่มเติม ขณะที่ธุรกิจยา และธุรกิจโภชนาการ อินโนบิกมีฐานธุรกิจอยู่แล้ว


 จ่อตั้งโรงงานแบตฯ CTP

นอกเหนือจากธุรกิจ Life Science แล้ว ธุรกิจระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร (EV Value Chain Business) ภายใต้ "อรุณ พลัส" ในปีนี้มีความคืบหน้าโครงการต่างๆ ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ที่ได้จับมือกับพันธมิตรเจ้าของเทคโนโลยีหลายราย เริ่มจากบริษัท นูออโว พลัส จำกัด (การร่วมทุนระหว่างอรุณ พลัสถือหุ้น 51% กับ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ 49%) ร่วมทุนกับบริษัท โกชั่น ไฮเทค ประเทศจีน จัดตั้งบริษัทร่วมทุน “เอ็นวี โกชั่น” เพื่อดําเนินธุรกิจนําเข้า ประกอบ และจัดจําหน่ายโมดูลแบตเตอรี่และชุดแบตเตอรี่สําหรับระบบกักเก็บพลังงานและยานยนต์ไฟฟ้า โดยโรงงานประกอบชุดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนได้ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว มีกำลังการผลิตเฟสแรก 2 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี เพื่อป้อนแบตเตอรี่ให้ลูกค้าค่ายรถอีวี รวมถึงการผลิตแบตฯ สำหรับกักเก็บพลังงาน (ESS) ในอนาคต

ขณะเดียวกัน อรุณ พลัส ได้จับมือกับ Contemporary Amperex Technology Co., Ltd (CATL) เพื่อตั้งโรงงานแบตเตอรี่ Cell-To-Pack (CTP) กำลังผลิต 6 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีภายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ขณะนี้เตรียมวางแผนก่อสร้างโรงงานโดยนำเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ขั้นสูงที่นำเซลล์แบตเตอรี่มาประกอบกันเป็นแพกโดยตรง ไม่ต้องผ่านขั้นตอนการประกอบเป็นโมดูล ทำให้แบตเตอรี่มีประสิทธิภาพความจุพลังงานสูงขึ้น น้ำหนักเบาและมีความปลอดภัยสูง โดยโครงการนี้ทางอรุณ พลัสจะถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่


ชะลอโรงงานผลิตรถอีวี

ดร.บุรณินกล่าวถึงการแข่งขันตลาดยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทยว่า ขณะนี้ตลาดรถอีวีในไทยมีการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างรุนแรง ทำให้อรุณ พลัส หันไปเน้นด้านมาร์เกตติ้งก่อนแทนที่จะเร่งก่อสร้างโรงงานผลิตรถอีวี โดยอรุณ พลัสจับมือกับกลุ่มบริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) (MGC-ASIA) ตั้งบริษัทร่วมทุน นีโอ โมบิลิตี้ เอเชีย เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ XPENG และแบรนด์ ซีคเกอร์อย่างเป็นทางการในไทย หวังสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร พร้อมทำหน้าที่ให้บริการทั้งก่อนและหลังการขายให้แก่ลูกค้าแบบครบวงจร

ส่วนโรงงานผลิตรถอีวีภายใต้บริษัท ฮอริษอน พลัส ที่อรุณ พลัส ร่วมทุนกับ Honhai Precision Industry Co., Ltd หรือ FOXCONN เพื่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อ (รถยนต์นั่งส่วนบุคคล) รองรับความต้องการที่สูงขึ้นในไทยและในภูมิภาคอาเซียนนั้น คงไม่รีบเร่งโดยจะชะลอไปก่อนจากเดิมที่จะเดินสายผลิตในปีนี้ก็เลื่อนเป็นปี 2568 แทน จะเริ่มต้นผลิตที่ 50,000 คันต่อปี และจะเพิ่มเป็น 150,000 คันในอนาคต

ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาพูดคุยกับค่ายรถหลายราย หากไม่มีความชัดเจนเรื่องลูกค้ามากพอก็จะยังไม่เร่งรีบเพื่อไม่ให้เป็นภาระ โดยบริษัทหารือกับ Foxconn เพื่อวางแผนร่วมกันตลอด ระหว่างนี้ก็ทำความคุ้นเคยกับตลาดรถอีวีไปก่อน ยอมรับว่าตลาดการแข่งขันที่รุนแรงทำให้ราคารถอีวีที่ปรับลดลงเร็วเกินไป ทำให้เกิดความกังวลบ้าง แต่เชื่อว่าการแข่งขันตัดราคาจะค่อยๆ ดีขึ้น

พร้อมกับมั่นใจว่าในปี 2573 ปตท.จะมีกำไรมากกว่า 30% มาจากธุรกิจใหม่และธุรกิจพลังงานอนาคต ไม่น่าจะพลาดเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากทิศทางการลงทุนของ ปตท.ได้เดินตามวิสัยทัศน์ใหม่ที่ได้ประกาศไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น