“สุรพงษ์” เข็นปิดดีล 2 สัญญารถไฟ 'ไทย-จีน' เผย เม.ย.นี้ส่งรายงาน HIA ให้ยูเนสโก พร้อมลุยสร้างช่วงอยุธยา ส่วนปมโครงสร้างร่วม 'บางซื่อ-ดอนเมือง' รอ พ.ค.นี้หมดเวลาบัตรบีโอไอ 'ซี.พี.' ไม่ไปต่อ รฟท.ก่อสร้างเอง ลั่นต้องเดินหน้าเร่งเปิดบริการปี 71
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กม. วงเงินลงทุน 179,412.21 ล้านบาท ว่า ปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธาทั้งหมดจำนวน 14 สัญญา ยังเหลืออีก 2 สัญญาที่ยังไม่ได้ลงนามก่อสร้าง คือสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ซึ่งรอการศึกษารายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก หรือ HIA ของสถานีอยุธยา โดยทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้มีหนังสือแจ้งไปยังยูเนสโกว่าจะจัดส่งรายงาน HIA ให้ภายในเดือน เม.ย. 2567 ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการ และคาดว่าหลังสงกรานต์นี้ รฟท.จะส่งเรื่องไปที่ สผ.เพื่อดำเนินการส่งรายงานผลการศึกษา HIA ไปที่ยูเนสโกอย่างเป็นทางการต่อไป
ทั้งนี้ ระหว่างดำเนินการศึกษารายงาน HIA ได้เชิญผู้แทนยูเนสโกมาเป็นที่ปรึกษา ดังนั้นเมื่อ สผ.จัดส่งรายงาน HIA ไปที่ยูเนสโกแล้ว เชื่อว่าหลังจากนี้จะชัดเจนและสามารถลงนามจ้างสัญญา 4-5 ได้ ซึ่งช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. วงเงิน 9,913 ล้านบาท ที่ผ่านมาคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ได้อนุมัติการสั่งจ้างบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ไว้แล้ว
“ประเด็นเรื่องมรดกโลก ยืนยันว่าแนวเส้นทางและสถานีอยุธยาไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่มรดกโลก แต่อยู่ใน Bubble Zone อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นการทำ HIA ฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งต่อไปนี้ต้องประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจว่าหากโครงการที่ต้องก่อสร้างผ่านสถานที่โบราณสถานจะต้องทำ EHIA ก่อนเพื่อไม่ให้เป็นประเด็นปัญหา” นายสุรพงษ์กล่าว
@พ.ค.นี้ “ซีพี” ไม่ไปต่อ ดึงโครงสร้างร่วม "บางซื่อ-ดอนเมือง" ทำเอง
นายสุรพงษ์กล่าวว่า อีกสัญญาที่ยังไม่ได้เริ่มต้นคือ สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. ซึ่งเป็นช่วงที่รถไฟไทย-จีนใช้โครงสร้างร่วมกับ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เรื่องนี้ ต้องรอกรณีที่ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (ซี.พี.) ต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอก่อน โดยมีการขยายไปถึงวันที่ 22 พ.ค. 2567 ตามที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ตอบฝ่ายค้านในการอภิปรายทั่วไปรัฐบาลแบบไม่ลงมติ ซึ่งหากครบกำหนดเดือน พ.ค.นี้แล้วไม่ได้บัตรส่งเสริมการลงทุนชัดเจนแล้ว ฝ่ายรัฐต้องเจรจาหาทางออก หากกรณีเอกชนไม่ไปต่อ หรือไม่ประสงค์จะทำโครงการต่อ รฟท.จะต้องนำโครงสร้างร่วมนี้มาดำเนินการเอง
โดยรถไฟไทย-จีน สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ตามกรอบเดิมมีวงเงิน 3,337 ล้านบาท กรณีทำโครงสร้างร่วมวงเงินรวมจะอยู่ที่ประมาณ 9,207 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณที่เพิ่มขึ้นในการก่อสร้างโครงสร้างร่วมมั่นใจว่ามีวิธีพิจารณาจัดหางบมาดำเนินการได้ไม่มีปัญหา
นายสุรพงษ์กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงคมนาคม พร้อมเดินหน้าผลักดันโครงการรถไฟไทย-จีน โดยเฉพาะงานโยธาที่เหลือ 2 สัญญา หากเดือน พ.ค.นี้กรณีรถไฟเชื่อม 3 สนามบินมีความชัดเจนว่ายังไม่สามารถทำโครงสร้างร่วมได้ รฟท.พร้อมลงมือทำส่วนนี้เอง ยืนยันตนจะทำให้โครงการรถไฟไทย-จีนเดินหน้าได้ก่อน โดยมีเป้าหมายเปิดบริการในปี 2571
“ตอนนี้ไม่อยากพูดอะไรไปก่อน เพราะเรื่องยังไม่ชัดเจนจะเกิดผลกระทบต่อหลายฝ่ายได้ และต้องเข้าใจว่าโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินอยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ส่วนรฟท.เป็นคู่สัญญาเท่านั้น เพราะมีคณะกรรมการอีอีซีและ พ.รบ..อีอีซีกำกับ ดังนั้น โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินทั้งหมดหลังจากเดือน พ.ค.ไปก็ต้องพิจารณาอีกว่าจะไปอย่างไร” รมช.คมนาคมกล่าว