คมนาคม จับมือ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกวางแผนป้องกัน หลังยอดเสียชีวิตเพิ่ม ชี้คนขี่รถจักรยานยนต์ทักษะตัดสินใจต่ำ ขบ.เล็งปรับเพิ่มเกณฑ์สอบปฏิบัติใบขับขี่ ด้าน ทล.แก้กายภาพจุดเสี่ยงอันตราย ปี 67 เทงบกว่า 1 พันล้านลุยติดการ์ดเรล ทล.4 และ ทล.41
วันที่ 13 มีนาคม 2567 นายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการประชุมด้านความปลอดภัยทางถนนครั้งที่ 1 (1st Thailand Road Traffic Safety Forum) หัวข้อ: การวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนเพื่อใช้ในการดำเนินการมาตรการที่เกี่ยวข้อง ที่จัดขึ้นโดยศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย Thailand Accident Research Center หรือ TARC โดยมีผู้บริหารกระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรสำคัญด้านอุบัติเหตุ ตลอดจนสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน
นายมนตรีกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคต ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนและแนวทางการดำเนินงาน การบังคับใช้กฎหมาย และการดำเนินการด้านนโยบายความปลอดภัยทางถนน เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีทิศทางการดำเนินงานและการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่เป็นรูปธรรมชัดเจน พร้อมทั้งเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สำหรับวางมาตรการและปรับแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนน เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุและอำนวยความปลอดภัยแก่ประชาชน
ที่ผ่านมาศูนย์วิจัยอุบัติเหตุฯ มีการสืบค้น วิเคราะห์ ประเมิน สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุเชิงลึก และถอดบทเรียน นำข้อมูล และความรู้ที่ได้มาช่วยวางแผนในการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุ และได้ขับเคลื่อนหลากหลายโครงการจนสำเร็จ เป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เช่น โครงการสืบสวนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ในเชิงลึก ปี พ.ศ. 2559-2566 โครงการตรวจสอบความปลอดภัยทางถนนในทางพิเศษกาญจนาภิเษกและทางพิเศษฉลองรัช (ช่วงรามอินทรา-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีบทความวิจัยที่ถูกนำไปตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติอีกด้วย
ปัจจุบันอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก และยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล เนื่องจากผู้ที่ประสบอุบัติเหตุส่วนใหญ่เป็นประชากรกลุ่มวัยทำงาน โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 40 รายต่อวัน และมีจำนวนมากที่ได้รับบาดเจ็บถึงขั้นทุพพลภาพ ซึ่งตามแผนแม่บทในการบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน มีเป้าหมายที่จะลดอัตราการเสียชีวิตทางถนนจากปัจจุบันที่ 26 คนต่อแสนประชากร ลงเหลือ 12 คนต่อแสนประชากร ภายในปี 2570 สอดคล้องกับทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนที่กำหนดโดยสหประชาชาติ
นายมนตรีกล่าวว่า โครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคมทั่วประเทศมีประมาณ 100,000 กม. เป็นทางหลวงประมาณ 50,000 กม. ทางหลวงชนบทประมาณ 49,000 กม. ทางพิเศษประมาณ 225 กม. ส่วนอีกประมาณ 600,000 กม.เป็นถนนในความรับผิดชอบของหน่วยงานท้องถิ่น ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการลดการเกิดอุบัติเหตุ ในการตรวจสอบสภาพถนน อุปกรณ์ความปลอดภัย สภาพรถ และการเรียนรู้และสร้างวินัยจราจร โดยกรมทางหลวงได้ดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยง จุดอันตรายถนนทั่วประเทศ มีแผนปรับปรุงกายภาพทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ส่วนกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ดูแลเรื่องตรวจสอบสภาพรถ และอยู่ระหว่างพิจารณาเพิ่มมาตรฐานของอุปกรณ์ให้เป็นสากล เช่น หมวกกันน็อก ล้อรถ เป็นต้น
ศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย (TARC) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) กล่าวว่า วันนี้เป็นความร่วมมือทางวิชาการกับนโยบายเพื่อนำข้อมูลที่มีมาวิเคราะห์ และกำหนดมาตรการ โดยพบว่า สาเหตุอุบัติเหตุเกิดจากพฤติกรรมการขับขี่ มีการใช้ความเร็วสูง ไม่สวมหมวกกันน็อก เมาแล้วขับ (สัดส่วนกลางวัน 10% กลางคืน 30% และส่วนใหญ่เป็นเยาวชน) ส่วนกายภาพถนนมีปัญหาทั้งสายหลักและสายรอง
กรณี รถจักรยานยนต์ พบว่าเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น สาเหตุมาจากผู้ขับขี่มีความผิดพลาดในการคาดการณ์ความเสี่ยง และการตัดสินใจเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เป็นเรื่องของขับขี่การควบคุมรถ การเบรก ซึ่งได้นำเสนอกรมการขนส่งทางบก และได้พัฒนาเนื้อหาการอบรม ปรับข้อสอบใบขับขี่ ตอนนี้อยู่ในการพิจารณาปรับการสอบปฏิบัติ ที่จะมีการเพิ่มทักษะการคาดการณ์ด้านความเสี่ยง ที่ผ่านมาศูนย์วิจัยฯ มีข้อมูลการศึกษากว่า 1,400 กรณี และมีบริษัทผู้ผลิตรถต่างประเทศนำไปใช้วิเคราะห์ และทดสอบในการออกแบบรถจักรยานยนต์และรถยนต์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น
@ทล.แก้จุดเสี่ยงอันตราย เทงบปี 67 กว่า 1,000 ล้านติดการ์ดเรล ทล.4 และ ทล. 41
ด้าน ดร.ปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ทล.ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยซึ่งมีถนนรับผิดชอบกว่า 50,000 กม.ทั่วประเทศ ขณะที่การเกิดอุบัติเหตุมีดัชนีความรุนแรงขึ้น มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่ม จึงปรับรูปแบบการจัดงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาและป้องกันแบบเฉพาะมากขึ้น ซึ่ง ทล.ต้องบริหารงบประมาณให้เหมาะสม ปัจจุบันจัดสรรงบด้านความปลอดภัยประมาณ 8% จากอดีตมีประมาณ 4% จากงบรวม โดยปี 2567 ทล.ได้รับจัดสรรงบประมาณ 121,827 ล้านบาท มีงบด้านความปลอดภัยประมาณ 9,765 ล้านบาท
โดยเมื่อปี 2552 จัดงบสำหรับดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยง จุดอันตรายที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ หรือ Black Spot Location ต่อมาปี 2557 แก้ปัญหาทางแยกที่เป็นจุดเกิดอุบัติเหตุรุนแรง ปี 2559 ได้รับงบกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 1,500 ล้านบาท ใช้ในการติดตั้งราวเหล็กกั้นถนน หรือการ์ดเรล ทั่วประเทศ จุดที่มีความเสี่ยง เพื่อแก้ปัญหารถตกข้างทาง ซึ่งมีอุบัติเหตุลดลง ต่อมาปี 2560 แก้ปัญหาแบ่งทิศทางจราจร ปิดเกาะสี ที่เป็นจุดเสี่ยง ปี 2562-2563 แก้ปัญหาอุบัติเหตุหน้าโรงเรียน แก้อันตรายข้างทาง และจุดกลับรถที่อันตราย ปี 2564 แก้ปัญหาแยกวัดใจ โดยมีการตีเส้น ติดป้ายเตือนและใส่เกาะ เพื่อเป็นจุดสังเกต ส่วนปี 2567 ตั้งงบประมาณ 1,027 ล้านบาท จะมีการติดตั้งการ์ดเรลจำนวน 125 แห่ง ตามแผน Road Side โดยเน้นที่ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) และ ทล.41 (ชุมพร-พัทลุง)