xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.ปักหมุด พ.ค. 67 ประมูลอาคารตะวันออก 'สุวรรณภูมิ' ทุ่ม 9 พันล้านบาทขยายพื้นที่บริการ "ผู้โดยสาร-เชิงพาณิชย์"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทอท.เร่งปรับแบบขยายอาคารตะวันออก 'สุวรรณภูมิ' วงเงิน 9 พันล้านบาท จ่อเปิดประมูล พ.ค. 67 เพิ่มพื้นที่ผู้โดยสารและเชิงพาณิชย์ ลุยทบทวนแผนแม่บทขยายอาคารตะวันตก, ทิศเหนือ, ทิศใต้ รับ 150 ล้านคน กางแผนติดตั้ง "โซลาร์เซลล์" ทุกสนามบิน นำร่องสุวรรณภูมิผลิต 60 เมกะวัตต์ใน 4 ปี ประหยัดค่าไฟ 20 ล้านบาท/ปี

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) เปิดเผยว่า จากการเดินทางไปเยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ ณ ท่าอากาศยานนิวซิโตเสะ เมืองซิโตเสะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นท่าอากาศยานภูมิภาคติดอันดับ 1 ใน 3 ของญี่ปุ่น เทียบเคียงได้กับสนามบินภูเก็ตหรือสนามบินเชียงใหม่ของไทย ที่เป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยว และได้รับโหวตความนิยมมากที่สุดจากคนญี่ปุ่น เนื่องจากมีการผสมผสานเรื่องการพัฒนาเชิงพาณิชย์ การให้บริการอื่นๆ และมีบริการที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน ปัจจุบันมีผู้โดยสารรวม 55,000 คน/วัน (ในประเทศ 50,000 คน ระหว่างประเทศ 5,000 คน) ให้บริการตลอด 24 ชม.


จากข้อมูลพบว่าท่าอากาศยานนิวซิโตเสะ มี 500 เที่ยวบิน/วัน แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 100 เที่ยวบิน และภายในประเทศ 400 เที่ยวบิน ซึ่งคนญี่ปุ่นนิยมใช้เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ มี 2 อาคาร คือ อาคารในประเทศ และอาคารระหว่างประเทศ มีรันเวย์ 1 เส้น รองรับประมาณ 50 เที่ยวบิน/ชม. และมีพื้นที่ใช้สอย 320,000 ตารางเมตร โดยแบ่งเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ 70,000 ตารางเมตร มีทั้งโรงแรม ร้านอาหาร สปา มีโรงภาพยนตร์ เป็นต้น มีร้านอาหารที่เป็นพันธมิตรประมาณ 220 ร้าน รูปแบบการจัดการบรรยากาศจะเหมือนอยู่ในห้างสรรพสินค้า ถือเป็นข้อดี และยังนำ Safe Power ของญี่ปุ่นออกมาโชว์นักท่องเที่ยว เช่น แอนิเมชัน การ์ตูนโดเรมอน คิตตี้ นำร้านอาคารท้องถิ่น 20 ร้านมาให้บริการเป็นตัวอย่างหรือสินค้า หรือของอร่อยที่มีชื่อเสียง จำลองโรงงานช็อกโกแลตเพื่อดึงดูดให้ไปดูสถานที่จริง ถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่นำอัตลักษณ์ของประเทศออกมาโชว์นักท่องเที่ยวได้เห็นตั้งแต่อยู่ในเทอร์มินัล

โดยรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่นจะเป็นเจ้าของที่ดิน และอาคารผู้โดยสาร ส่วนการบริหาร ดำเนินการโดยบริษัทเอกชน 100% คือ บริษัท ฮอกไกโด แอร์พอร์ต จำกัด ซึ่งมีผู้ร่วมทุนกันรูปแบบ กิจการค้าร่วม ( Consortium ) มี 71 บริษัทที่เข้ามารับจ้างบริหาร ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี ถือเป็นรูปแบบที่คล่องตัวในการทำเชิงพาณิชย์


นายกีรติกล่าวว่า ท่าอากาศยานนิวซิโตเสะ มีการจัดการเรื่องการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่ผสมผสานการใช้งานและการสร้างรายได้ให้องค์กรได้อย่างลงตัว โดยไม่ได้สร้างเพื่อมุ่งเน้นกำไรอย่างเดียวแต่ ทำให้ผู้โดยสารได้มีส่วนร่วมในพื้นที่ ซึ่งทอท.จะนำแนวคิดไปดำเนินการที่สุวรรณภูมิ เช่น ด้านอาหาร จะทำเป็น "บางกอกสตรีทฟู้ด" ดึงเอาร้านดังมาเปิดที่สนามบิน

ท่าอากาศยานนิวซิโตเสะ
@เร่งปรับแบบอาคารตะวันออก "สุวรรณภูมิ" คาดประมูล พ.ค. 67 เปิดใช้ปี 70 เพิ่มพื้นที่ใช้สอย

สำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต้องยอมรับว่ามีปริมาณผู้โดยสารจำนวนมากในปี 2567 คาดการณ์ประมาณ 65 ล้านคน/ปี เมื่อเทียบกับขนาดพื้นที่ใช้สอยประมาณ 450,000 ตร.ม. ใช้เชิงพาณิชย์ 22,000 ตร.ม. หรือประมาณ 5% เปรียบเทียบกับท่าอากาศยานนิวซิโตเสะมีผู้โดยสารประมาณ 18-25 ล้านคน/ปี มีพื้นที่ใช้สอย 320,000 ตารางเมตร ใช้เชิงพาณิชย์ถึง 70,000 ตร.ม. หรือ 20% มีผู้โดยสารน้อยกว่าสุวรรณภูมิ 3 เท่า แต่พื้นที่น้อยกว่าเพียง 20% ส่วน ทอท. สิ่งที่ทำได้คือ การเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้ผู้โดยสารก่อน จากนั้นจึงจะดูในเรื่องพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นได้

ตามแผนงาน ทอท.จะเร่งเดินหน้าโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสาร (East Expansion) มูลค่า 9,000 ล้านบาท จะเพิ่มพื้นที่อีกไม่น้อยกว่า 60,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคน/ปี ทำให้ลดความหนาแน่นของอาคารผู้โดยสารหลัก ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงแบบก่อสร้างเพื่อให้สอดรับกับบริบทการบินที่เปลี่ยนแปลงไป จะแล้วเสร็จ และเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดเปิดประกวดราคาได้ในเดือนพ.ค. 2567 แล้วเสร็จปี 2570

“การมีอาคารใหม่ทำให้มีพื้นที่เพิ่ม เป้าหมายเพื่อรองรับผู้โดยสาร หลักๆ จะเป็นพื้นที่เช็กอิน พื้นที่ตรวจค้น และ ตม. มีพื้นที่เชิงพาณิชย์เพิ่ม เช่น ศูนย์อาหาร เป็นพื้นที่สำหรับเด็ก (kid Area) และพื้นที่บริการโรงแรมต่างๆ “

ท่าอากาศยานนิวซิโตเสะ
@ทบทวนแผนแม่บท ผุดอาคารหลังใหม่ เป้ารับผู้โดยสาร 150 ล้านคน/ปี

นอกจากนี้ ทอท.อยู่ระหว่างศึกษาส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตกของอาคารผู้โดยสาร (West Expansion) เบื้องต้นมีรองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 15 ล้านคน/ปีวงเงินลงทุนประมาณ 9,000 ล้านบาท และการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ ทั้งโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) และอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) เป้าหมายรองรับผู้โดยสารจากเดิม 120 ล้านคน/ปี เป็น 150 ล้านคน/ปี มีรันเวย์ 4 เส้น การรองรับเที่ยวบินจะเพิ่มขึ้น จึงต้องมีการศึกษาทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิใหม่

ท่าอากาศยานนิวซิโตเสะ
@กางแผนติดตั้ง "โซลาร์เซลล์" ทุกสนามบิน นำร่องสุวรรณภูมิผลิต 60 เมกะวัตต์ใน 4 ปี ประหยัดค่าไฟ 20 ล้านบาท/ปี

นอกจากนี้ ท่าอากาศยานนิวซิโตเสะยังมีการประหยัดพลังงาน เนื่องจากเกาะฮอกไกโดมีหิมะตกจำนวนมาก มีการจัดพื้นที่เก็บหิมะได้ 120,000 ลูกบาศก์เมตร และนำมาใช้ผลิตความเย็นให้กับอาคารผู้โดยสารในช่วงฤดูร้อน ช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ปีละ 20-30% ในส่วนของ ทอท. มีโมเดลในการประหยัดพลังงานและลดค่าใช้จ่ายเช่นกัน จากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้พื้นที่หลังคาอาคารผู้โดยสาร และอาคารต่างๆ รวมถึงพื้นที่บ่อน้ำ และพื้นที่อื่นๆ ด้านข้างรันเวย์ ติดตั้งโซลาเซลล์สร้างจุดกักเก็บพลังงานเป้าหมายที่ 60 เมกะวัตต์ ภายใน 4 ปี จะนำพลังงานจากแสงอาทิตย์ส่งเข้าสู่อาคารผู้โดยสารใช้งานในเวลากลางวัน โดยไม่ต้องซื้อไฟฟ้าอีกต่อไป

ทอท.ร่วมกับบริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด (DCAP) ดำเนินโครงการระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Solar Rooftop) เริ่มใช้งานได้ เมื่อ ต.ค. 2566 กำลังการผลิตเริ่มต้น 10 เมกะวัตต์ และจะขยายการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่หลังคาลานจอดรถ ทั้งลานจอดรถระยะยาว และลานจอดรถแท็กซี่ อนุมัติแบบแล้ว เริ่มก่อสร้างหลังคาลานจอดรถ คาดแล้วเสร็จไม่เกินเดือน เม.ย. 2567 เพิ่มกำลังผลิตรวมเป็น 12 เมกะวัตต์

“ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเพื่อทำพลังงานแสงอาทิตย์นั้นถูกกว่าซื้อไฟฟ้าประมาณ 20% ปัจจุบันสุวรรณภูมิมีค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าประมาณ 100 ล้านบาท/ปี เท่ากับประหยัดไปได้ 20 ล้านบาท ขณะที่ไม่ได้ลงทุนเลย โดย DCAP จะเป็นผู้ลงทุนติดตั้งทั้งหมด เป็นมาตรการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ส่วนสนามบินอื่นๆ ได้เริ่มสำรวจพื้นที่ ทั้งส่วนอาคาร ด้านข้างรันเวย์และพื้นที่บ่อน้ำ เพื่อดำเนินการติดตั้งโซลาร์เซลล์ โดยมีเป้าหมายเหมือนกันคือ ภายใน 4 ปีจะผลิตไฟฟ้าให้ได้เพียงพอต่อการใช้งานในเวลากลางวันของแต่ละสนามบินโดยจะไม่มีการซื้อไฟฟ้าอีกแล้ว เช่น สนามบินดอนเมืองมีความต้องการใช้ 20 เมกะวัตต์ สนามบินภูเก็ตต้องการที่ 30 เมกะวัตต์ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น