xs
xsm
sm
md
lg

“นภินทร” สั่งลุยแฟรนไชส์สร้างอาชีพ ดึงแรงงานเมียนมาซื้อสินค้าไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“นภินทร” ประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทย ครั้งที่ 2 เคาะ 2 มาตรการให้ดำเนินการทันที สร้างอาชีพผ่านแฟรนไชส์ มีทำเลทองให้เลือกทั่วประเทศ ทั้งในตลาด ห้าง ปั๊มน้ำมัน มีแฟรนไชส์ให้เลือก 525 แบรนด์ รวมถึงฟูดทรัก และการเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ กระตุ้นแรงงานต่างด้าวเมียนมา 2.5 ล้านคนที่ทำงานในไทย ซื้อสินค้าแล้วส่งกลับประเทศ

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทย ครั้งที่ 2/2567 ร่วมกับผู้แทนภาครัฐและเอกชน เช่น สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เครือข่ายธุรกิจบิสคลับประเทศไทย เป็นต้น ว่า ที่ประชุมได้มีการติดตามความคืบหน้ามาตรการส่งเสริมและแก้ปัญหาให้เอสเอ็มอีไทย 9 ด้าน ที่ได้มีมติไปเมื่อการประชุมครั้งที่แล้ว และมีการติดตามว่ามาตรการใดที่พร้อมจะดำเนินการได้ เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนโดยเร็วที่สุด ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติเคาะ 2 มาตรการเร่งด่วนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าทันที ประกอบด้วยการสร้างอาชีพผ่านระบบแฟรนไชส์ และการเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ

โดยมาตรการสร้างอาชีพผ่านระบบแฟรนไชส์ ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์การคัดเลือกพื้นที่จัดหาทำเลค้าขายราคาประหยัดสำหรับธุรกิจแฟรนไชส์และเอสเอ็มอีไทย 8 ข้อ ได้แก่ 1. ใกล้แหล่งชุมชน เข้าถึงง่าย สะดวกสบายในการมาใช้บริการ 2. มีความหนาแน่นของกลุ่มเป้าหมายที่จะมาเป็นลูกค้า 3. ผู้คนผ่านตลอดทั้งวัน 4. ต้นทุนทำเลเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ 5. ระยะเวลาสัญญาเช่าพื้นที่ที่เหมาะสม 6. มีที่จอดรถเพียงพอและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ 7. ความพร้อมของสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ และ 8. ไม่มีข้อจำกัดด้านกฎหมายและกฎระเบียบของพื้นที่ เช่น กฎหมายข้อบังคับการจัดพื้นที่สำหรับธุรกิจบางประเภท เช่น ร้านอาหารบางประเภทห้ามเปิดในบางพื้นที่ หรือการต้องเสียภาษีป้าย เป็นต้น

ทั้งนี้ ได้มอบให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเจรจากับภาคเอกชนและหน่วยงานพันธมิตร เพื่อขอจัดสรรพื้นที่ทำเลการค้าในกรุงเทพฯ ในราคาลดพิเศษสำหรับ SMEs และแฟรนไชส์ไทย เช่น สถานีบริการน้ำมัน ตลาดชุมชน ห้างสรรพสินค้า และห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ โดยเบื้องต้นได้เจรจากับพันธมิตรและได้พื้นที่ราคาลดพิเศษแล้วจำนวน 124 แห่ง ส่วนในต่างจังหวัด มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัด 76 จังหวัด เป็นผู้เจรจากับภาคเอกชน เช่น ตลาดนัด ตลาดชุมชน ห้างค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เกต สถานีบริการน้ำมัน และพื้นที่การค้าอื่นๆ โดยสามารถเจรจาได้พื้นที่แล้วจำนวน 3,977 แห่ง ประกอบด้วย ภาคเหนือ 17 จังหวัด 758 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด 1,435 แห่ง ภาคกลาง 25 จังหวัด 1,121 แห่ง และภาคใต้ 14 จังหวัด 663 แห่ง

สำหรับแฟรนไชส์ที่ผ่านการพัฒนาศักยภาพและมาตรฐานการประกอบธุรกิจ มีจำนวน 525 ราย แบ่งเป็นธุรกิจอาหาร 234 แบรนด์ ธุรกิจเครื่องดื่ม 103 แบรนด์ ธุรกิจการศึกษา 68 แบรนด์ ธุรกิจบริการ 63 แบรนด์ ธุรกิจค้าปลีก 33 แบรนด์ ธุรกิจความงามและสปา 24 แบรนด์ และยังมีธุรกิจสินค้าชุมชน (Smart Local BCG) และธุรกิจในรูปแบบรถขายอาหารเคลื่อนที่ (ฟู้ดทรัค) ที่จะเป็นตัวเลือกให้ผู้ประกอบการพิจารณาเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ด้วย

ส่วนมาตรการเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ จะกระตุ้นและส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในไทยซื้อสินค้าในประเทศส่งกลับภูมิลำเนาแทนการส่งเงิน โดยระยะแรกจะเน้นที่แรงงานจากเมียนมาก่อน เนื่องจากมีจำนวนแรงงานที่เข้ามาประกอบอาชีพในประเทศไทยมากที่สุด จำนวน 2,513,856 คน กำหนดโครงการนำร่อง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มสินค้าที่เป็นที่รู้จักของแรงงานต่างด้าวอยู่แล้ว ผู้ผลิตเป็นผู้ส่งสินค้า หรือมีศูนย์กระจายสินค้า (DC) เอาท์เลต (Outlet) ในประเทศเมียนมา โดยรูปแบบแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ซื้อสินค้าผ่านผู้ผลิต ผ่านระบบสั่งซื้อ และผู้ผลิตจะเป็นผู้บริหารจัดการส่งสินค้าไปยัง DC / Outlet หรือเครือข่ายในประเทศเมียนมาเพื่อมารับสินค้า และ 2. กลุ่มสินค้า สินค้าชุมชน และ OTOP SME ที่ยังไม่มี Outlet ในประเทศเมียนมา โดยรูปแบบ แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยสั่งซื้อ สินค้าผ่านแพลตฟอร์มของโลจิสติกส์ และมีการจัดส่งผ่าน Logistics Platform ของไทยและเมียนมา นำส่งสินค้าตรงถึงครัวเรือนในเมียนมา ซึ่งต้องมีการส่งเสริมและนำเสนอสินค้าให้เป็นที่รู้จัก เช่น ให้ทดลองใช้ก่อน นำเสนอสินค้าให้มีความน่าสนใจในการตัดสินใจซื้อสินค้า เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ติดตามมาตรการส่งเสริมและแก้ปัญหาให้เอสเอ็มอีไทยอีก 7 ด้าน พร้อมกำชับให้เร่งดำเนินงานให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนในระยะเวลาอันใกล้ เพราะยิ่งดำเนินการให้เห็นผลเร็วขึ้นเท่าไร จะส่งผลดีต่อการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมีศักยภาพพร้อมแข่งขันได้ทุกตลาด เป็นการสร้างและเพิ่มความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งจะส่งผลให้ GDP SMEs เติบโตทะลุ 40% ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้กำหนดมาตรการส่งเสริมและแก้ปัญหาให้เอสเอ็มอีไทย 9 ด้าน ประกอบด้วย 1. บูรณาการหน่วยงานเติมความรู้ SME 2. เพิ่มมูลค่าสินค้า GI ให้เป็นที่รู้จัก 3. การบริหารจัดการสินค้าเกษตรเพื่อรักษาสมดุลราคา 4. พัฒนาร้านค้าโชวห่วยด้วยระบบการค้าสมัยใหม่ 5. ส่งเสริมการเติบโต SME ในท้องถิ่นผ่าน THAI SME-GP 6. สนับสนุนและสร้างมาตรฐานธุรกิจ e-Commerce 7. การส่งเสริม พัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับของไทย 8. สร้างอาชีพผ่านระบบแฟรนไชส์ และ 9. เพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น