xs
xsm
sm
md
lg

“นภินทร” สั่งลุย 9 โรดแมป เพิ่มจีดีพี SMEs 3 แสนล้าน ปี 67

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“นภินทร” วางโรดแมปเพิ่มจีดีพีให้กับ SMEs ไทย มูลค่า 3 แสนล้านบาท ในปี 67 เตรียมลุย 9 แผนงาน ที่จะช่วยให้ SMEs ไปสู่เป้าหมาย ทั้งเพิ่มพูนความรู้ สร้างอาชีพด้วยแฟรนไชส์ นำสินค้าขายแรงงานต่างด้าว เพิ่มมูลค่าสินค้า GI บริหารสินค้าเกษตร พัฒนาร้านโชวห่วย ดัน SMEs เข้าร่วมจัดซื้อภาครัฐ ส่งเสริมอีคอมเมิร์ซ และดันนครอัญมณี

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทยว่า ที่ประชุมได้กำหนดโรดแมปในการส่งเสริมเพื่อเพิ่มสัดส่วนจีดีพีของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ของไทย ให้เพิ่มขึ้นจาก 6.3 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วน 35.2% ของจีดีพี เพิ่มเป็น 6.6 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วน 36% ของจีดีพี หรือเพิ่มขึ้น 3 แสนล้านบาทภายในปี 2567 และเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาทภายในปี 2570 หรือสัดส่วน 40% ของจีดีพี โดยมีแผนดำเนินการรวมทั้งสิ้น 9 แนวทาง เพื่อช่วยขับเคลื่อนและสร้างรายได้ให้แก่ SMEs

โดยแผนที่ 1 จะบูรณาการระหว่าง 3 หน่วยงาน คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อจัดหลักสูตรอบรมให้ความรู้เพิ่มเติมทักษะให้ SMEs 2. จะสร้างอาชีพด้วยแฟรนไชส์ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ผู้ว่างงาน ผู้สนใจประกอบธุรกิจ และครอบครัวผู้ประกันตนมาตรา 33 สามารถเลือกซื้อแฟรนไชส์ตามความถนัด โดยได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดหาทำเลในพื้นที่ตามการแบ่งเขตการเลือกตั้ง 400 เขต พื้นที่ละ 10 จุด รวม 4,000 จุด และให้เจรจาค่าเช่าราคาพิเศษ รวมทั้งประสานปั๊มน้ำมัน เปิดพื้นที่ให้เช่าราคาถูกหรือฟรีใน 1 ปีแรก และประสานสมาคมตลาดสดไทยที่มีสมาชิกกว่า 300 แห่ง ให้คัดเลือกทำเลการค้าหรือแจ้งความต้องการว่าในพื้นที่นั้นต้องการแฟรนไชส์ประเภทใดไปลงทุน จากนั้นจะช่วยประสานสถาบันการเงินให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ คิดดอกเบี้ยราคาพิเศษ และยังได้ตั้งคณะทำงาน มีอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพื่อติดตามในเรื่องนี้ด้วย

3. เพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศด้วยการนำสินค้าชุมชน หรือ SMEs หรือ OTOP มาเสนอขายแก่ผู้บริโภคในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยกว่า 2.5 ล้านคน ซึ่งได้ตั้งคณะทำงาน มีอธิบดีกรมการค้าภายในกำกับดูแล 4. เพิ่มมูลค่าสินค้า GI ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและนอกประเทศ และตั้งเป้าที่จะเพิ่มสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI อีก 20 รายการ จากเดิมที่มีอยู่ 193 รายการ และเพิ่มมูลค่าการค้าจาก 5.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 6.2 หมื่นล้านบาท 5. การบริหารจัดการสินค้าเกษตรเพื่อรักษาสมดุลราคาทั้งพืชไร่ พืชสวน และปศุสัตว์ เพื่อรองรับผลผลิตที่ออกสู่ตลาด เป้าหมาย 75,000 ตัน/ปี

6. พัฒนาร้านค้าโชวห่วยด้วยระบบการค้าสมัยใหม่ นำเทคโนโลยี POS มาช่วยบริหารจัดการร้านค้า พร้อมทั้งปรับภาพลักษณ์ร้านค้าให้สวยงาม เพิ่มช่องทางการขายผ่านออนไลน์ให้เข้าใกล้ลูกค้ามากขึ้น และส่งเสริมการแข่งขันให้เท่าเทียมกัน 7. ส่งเสริมการเติบโต SMEs ในท้องถิ่น ผ่านระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (THAI SME-GP) ให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดและเป็นคู่ค้ากับภาครัฐได้ 8. สนับสนุนและสร้างมาตรฐานธุรกิจ E-Commerce โดยส่งเสริมให้จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พร้อมรับเครื่องหมาย DBD Registered การันตีความมีตัวตน และเครื่องหมาย DBD Verified รับรองความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจ 9. ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นนครอัญมณีโลก เพื่อช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เพราะเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ SMEs เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดจัดกิจกรรม “มหกรรมรวมพลัง SMEs ไทย” ช่วงปลายเดือน มี.ค. 2567 ที่กรุงเทพฯ โดยจะเปิดพื้นที่ให้ SMEs เข้าร่วมแสดงและจำหน่ายสินค้า เช่น ธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจอาหาร ผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นต้น จำนวนไม่น้อยกว่า 100 คูหา จัดการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) จัดสัมมนาให้ความรู้ SMEs การจัดกิจกรรมจับคู่กู้เงิน เพื่อให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน และการให้คำปรึกษาการทำธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงพาณิชย์


กำลังโหลดความคิดเห็น