xs
xsm
sm
md
lg

มัดรวมทุกกลยุทธ์...สร้างธุรกิจแฟรนไชส์รายใหม่ให้สตรอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (B2B Franchise) รุ่นที่ 27พัฒนาแฟรนไชส์ไทยให้มีศักยภาพและมีความเข้มแข็ง เตรียมความพร้อมรองรับการแข่งขันก่อนขยายสู่ตลาดทุกระดับ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (B2B Franchise) รุ่นที่ 27” ว่า จากนโยบาย Quick Win ของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) ได้มอบแนวทางปฏิบัติให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินงานเพื่อสร้างความเข้มแข็ง เดินหน้าสร้างรายได้และขยายโอกาสทางธุรกิจด้วยการส่งเสริมและพัฒนา ‘ธุรกิจแฟรนไชส์’

ปัจจุบัน ธุรกิจแฟรนไชส์มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 3 แสนล้านบาท มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15-20 ต่อปี โดยประเภทธุรกิจแฟรนไชส์ที่สร้างมูลค่าสูงสุด 6 อันดับแรก ได้แก่ 1) เครื่องดื่ม 25.15% 2) อาหาร 24.09% 3) การศึกษา 15.45% 4) บริการ 9.09% 5) เบเกอรี่ 8.33% และ 6) ค้าปลีก 6.52% ซึ่งจากตัวเลขการเติบโตดังกล่าวส่งผลให้แฟรนไชส์เป็นธุรกิจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต รวมทั้งเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้ที่ทำธุรกิจอยู่แล้วและอยากเติบโตมากขึ้น สร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้

เพื่อยกระดับธุรกิจแฟรนไชส์ให้สามารถขยายธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มศักยภาพในการลงทุน ตลอดจนเป็นการสร้างรายได้และขยายโอกาสทางธุรกิจ กรมฯ จึงจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (B2B Franchise) รุ่นที่ 27 ระหว่างวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ถึง วันที่ 9 เมษายน 2567 เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจถึงขั้นตอนในการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ และยกระดับมาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง สามารถจัดทำแผนธุรกิจเชิงกลยุทธ์และสร้างคู่มือปฏิบัติงานในระบบแฟรนไชส์ (Franchise Operation Manual) พร้อมเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจแฟรนไชส์ และเจ้าของแฟรนไชส์ตัวจริงที่ประสบความสำเร็จแล้ว มาร่วมให้ความรู้และแชร์ประสบการณ์ อาทิ โค้ชโซอี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำตลาดออนไลน์, คุณกวิน นิทัศนจารุกุล เจ้าของแฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก Otteri Wash & Dry และคุณอมร อำไพรุ่งเรือง เจ้าของแฟรนไชส์น้ำเต้าหู้ DOU Soymilk เป็นต้น โดยก่อนจบหลักสูตรผู้เข้าร่วมอบรมจะต้องนำเสนอแผนธุรกิจ (Pitching) แก่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ความเป็นไปได้และแนวทางการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

ทั้งนี้ กรมฯ มีเป้าหมายต้องการยกระดับธุรกิจของคนไทย โดยใช้ระบบแฟรนไชส์เป็นกลยุทธ์ เพื่อขยายธุรกิจเป็นระบบสาขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพในการลงทุน และระบบการสร้างธุรกิจแฟรนไชส์มาตรฐาน ตลอดจนนำแนวทางระบบแฟรนไชส์ไปใช้ในการขยายธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาศักยภาพองค์กรให้สามารถขยายโอกาสทางการตลาดธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ได้อย่างกว้างขวาง ทำให้มีร้านสาขาและแฟรนไชส์ซีเพิ่มขึ้น

อธิบดี กล่าวทิ้งท้ายว่า แฟรนไชส์เป็นระบบที่ดีที่ช่วยทำให้ผู้ลงทุนประสบความสำเร็จและเป็นเจ้าของธุรกิจได้อย่างราบรื่น แต่ผู้ลงทุนหรือนักธุรกิจแฟรนไชส์จำเป็นต้องทำความเข้าใจและจัดแบ่งเวลาในการทำธุรกิจให้ดี เพราะการเตรียมความพร้อมที่ดีย่อมช่วยเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566) มีผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (B2B Franchise) จำนวน 1,172 ราย แบ่งเป็น ธุรกิจอาหาร 513 ราย (คิดเป็นร้อยละ 44) ธุรกิจบริการ จำนวน 191 ราย (คิดเป็นร้อยละ 16) ธุรกิจค้าปลีก จำนวน 168 ราย (คิดเป็นร้อยละ 14) ธุรกิจเครื่องดื่ม จำนวน 153 ราย (คิดเป็นร้อยละ 13) ธุรกิจความงาม/สปา จำนวน 82 ราย (คิดเป็นร้อยละ 7) และธุรกิจการศึกษา จำนวน 65 ราย (คิดเป็นร้อยละ 6)

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สายด่วน 1570, โทรศัพท์หมายเลข 0 2547 5953 และ www.dbd.go.th


กำลังโหลดความคิดเห็น