สัตวแพทย์แนะผู้บริโภคเลือกรับประทาน เนื้อไก่ โปรตีนสูง ไขมันน้อย แคลอรีต่ำ ดีต่อสุขภาพ พร้อมย้ำการรับประทานเนื้อไก่อย่างพอดีไม่ได้ส่งผลให้เกิดโรคเกาต์
ผศ.สพ.ญ.ดร.นวลอนงค์ สินวัต อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เนื้อไก่เป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี ไขมันน้อย แคลอรีต่ำ โปรตีนสูง เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพเมื่อรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ได้รับความนิยมจากคนทั่วโลก สามารถรับประทานได้ทุกคน ทุกเพศวัย ทุกชนชาติ ศาสนา อีกทั้งราคาเข้าถึงได้ง่ายกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ
ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกเนื้อไก่ติดอันดับโลก ยืนยันได้ว่ามาตรฐานและความปลอดภัยในระบบการเลี้ยงและการผลิตสัตว์ปีกของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ภายใต้การควบคุมและกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์ สร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพและความปลอดภัย ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ในความปลอดภัยด้านอาหาร
ผศ.สพ.ญ.ดร.นวลอนงค์กล่าวว่า สำหรับความเชื่อว่าการรับประทานเนื้อไก่หรือสัตว์ปีก เป็นสาเหตุของการเกิดโรคเกาต์นั้น ยืนยันว่าการกินไก่ไม่ใช่สาเหตุของการเกิดโรคเกาต์
โรคเกาต์ เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมกรดยูริก (Uric Acid) ให้อยู่ในระดับสมดุลได้ ร่างกายไม่สามารถขับกรดยูริกออกไปได้เป็นปกติ จึงเกิดการสะสมของกรดยูริกในกระแสเลือดและตามข้อปริมาณมากจนเกิดการอักเสบ ทั้งนี้ กรดยูริกเป็นสารที่ร่างกายผลิตขึ้นได้เองและอาหารที่รับประทานเป็นอีกส่วนหนึ่ง
ขณะที่ผู้ที่มีสุขภาพดี ไม่ได้มีโรคประจำตัว ระบบการทำงานของร่างกายจะขับกรดยูริกออกมาทางปัสสาวะได้ตามปกติ ไม่เกิดการสะสมในร่างกายปริมาณมากเกินไป ร่างกายจึงอยู่ในภาวะปกติ
เนื้อไก่ มีสารทางชีวโมเลกุลที่เรียกว่า พิวรีน ที่ช่วยให้กระบวนการการทำงานของร่างกาย ระบบเซลล์ ทำงานได้ตามปกติ เมื่อพิวรีนเข้าสู่ร่างกาย จะผ่านกระบวนการเมตาบอลิซึม ถูกเปลี่ยนแปลง ย่อยให้ไปอยู่ในรูปกรดยูริก ทั้งนี้ พิวรีนไม่ได้มีอยู่ในเฉพาะเนื้อไก่ แต่มีอยู่ในอาหารหลายๆ ประเภท เช่น เนื้อสัตว์ชนิดอื่น หอย เครื่องในสัตว์ ผักบางชนิด รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งในอาหารแต่ละชนิดจะมีปริมาณพิวรีนที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ไม่ใช่เพียง เนื้อไก่ เท่านั้น ที่มีพิวรีน แต่อาหารชนิดอื่นๆ ก็มีพิวรีนด้วยเช่นกัน
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์ควรสังเกตอาการตนเองว่าเมื่อรับประทานเนื้อไก่แล้วมีอาการหรือไม่ หากไม่เกิดอาการก็สามารถรับประทานไก่ได้ แต่ควรรับประทานในปริมาณที่พอดี รวมถึงอาหารชนิดอื่นๆ ด้วย หากรับประทานอาหารใดแล้วทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดข้อกำเริบ ต้องหลีกเลี่ยง ควบคู่กับการดูแลสุขภาพและปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์