xs
xsm
sm
md
lg

”ภัยมืด” เกาต์กัดกินกระดูก! อันตรายที่มองไม่เห็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นพ.สุนทร ศรีสุวรรณ์ อาจารย์แพทย์ กลุ่มงานศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ. สงขลา กล่าวถึงอันตรายจากโรคเกาต์ โดยเผยเคสผู้ป่วยรายหนึ่ง ดังนี้ "ผู้ป่วยชาย อายุ 40 ปี มีประวัติเป็นโรคเกาต์ แต่ไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้กินยาใดๆ ผู้ป่วยมีอาการปวดข้อต่อบริเวณมือเรื้อรังมา 2 ปี ไม่สามารถใช้งานมือได้อย่างปกติ กำสิ่งของแน่นๆ ไม่ได้”

“ตรวจร่างกายพบก้อนผลึกเกาต์บริเวณหลังมือ บริเวณกระดูกฝ่ามือนิ้วกลาง และนิ้วก้อย เอกซเรย์กระดูกฝ่ามือตรวจพบก้อนผลึกเกาต์กัดทำลายหัวกระดูกฝ่ามือของนิ้วกลางและนิ้วก้อยอย่างรุนแรง จนหัวกระดูกฝ่ามือหายไปบางส่วน จึงเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเรื้อรังมาอย่างยาวนาน กำมือไม่ได้ และหากปล่อยไว้นานกว่านี้ อาจทำให้เกิดความพิการอย่างถาวรได้ในอนาคตได้"

นพ.สุนทร กล่าวว่า โรคเกาต์เป็นหนึ่งในโรคข้อที่พบบ่อย โดยเฉพาะในผู้ชาย อายุ 30 ปีขึ้นไป และในผู้หญิง โดยเฉพาะในวัยหมดประจำเดือน สาเหตุของโรคเกาต์เกิดจากการมีปริมาณกรดยูริคในเลือดเข้มข้นสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน เกิดเป็นผลึกสะสมในข้อ หรือเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อ กระตุ้นให้เกิดอาการอักเสบปวดบวมข้ออย่างรุนแรง ในผู้ป่วยบางรายอาจพบมีอาการไข้ร่วมด้วย

อาการอักเสบจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 24 ถึง 48 ชั่วโมง เกิดได้กับทุกข้อ มักตรวจพบที่โคนกระดูกนิ้วโป้งเท้า ข้อเท้า ข้อเข่า และข้อศอก ในผู้ป่วยบางรายที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะเกิดผลึกกรดยูริค สะสมในข้อต่อ เมื่อเวลาผ่านไปผลึกจะทำลายข้อต่อ และเนื้อเยื่อหุ้มข้อ ส่งผลให้เกิดข้อเสื่อม ข้อผิดรูปก่อนเวลาอันควร นอกจากนี้ ผลึกกรดยูริคยังสะสมในอวัยวะภายใน เช่น ทำให้เกิดนิ่วในไต และอาจทำให้เกิดภาวะไตวายได้ในอนาคต

ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ
1.การรับประทานอาหารที่มีกรดยูริคสูง เช่น สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ หน่อไม้ ยอดผักอ่อน และผักตระกูลแตงทุกชนิด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม ของหมักดอง ถั่วชนิดต่างๆ
2.การบาดเจ็บที่บริเวณข้อต่อ
3.การเจ็บป่วยที่กระตุ้นให้มีการสร้างเซลล์เพิ่มขึ้น เช่น โรคมะเร็ง โรคสะเก็ดเงิน การผ่าตัด
4.การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันในกลุ่มที่เพิ่มการขับออกของปัสสาวะ ยาฮอร์โมนเพศหญิง

การวินิจฉัยโรค
1.เจาะเลือดตรวจดูระดับกรดยูริค
2.เจาะน้ำในข้อที่มีการอักเสบ มาตรวจผลกรดยูริค
3.เอกซเรย์ข้อต่อ ค้นหาก้อนผลึกกรดยูริคที่ตกตะกอนอยู่บริเวณข้อ และตรวจหาการทำลายกระดูก

การรักษาโรคเกาต์
1.ควบคุมการรับประทานอาหารอย่างเคร่งครัด
2.กรณีที่มีอาการข้ออักเสบเฉียบพลัน แพทย์จะพิจารณาให้ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาแก้ปวด ประคบเย็น ดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อหวังผลช่วยขับกรดยูริคออกทางปัสสาวะ
3.พักการใช้งานข้อที่เกิดการอักเสบอย่างเต็มรูปแบบ บางกรณีแพทย์อาจพิจารณาใส่อุปกรณ์ประคองข้อ เพื่อลดการเคลื่อนไหวของข้อต่อนั้นๆ
4.พิจารณา ให้ยาลดกรดยูริคในเลือด เพื่อหวังผล โอกาสอักเสบเฉียบพลันอีกในอนาคต
5.เอกซเรย์ประเมินสภาพข้อต่อและกระดูก ตรวจหา การทำลายกระดูกจากก้อนผลึก กรดยูริค ในกรณีที่กรดยูริคทำลายข้อต่อและเนื้อเยื่อรอบข้อต่อมาก แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดนำก้อนผลึกเกาต์ออก ซ่อมแซมเนื้อเยื่อ เส้นเอ็นและกระดูกที่ถูกทำลาย
6.หมั่นตรวจติดตามระดับกรดยูริคในเลือด ตามที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญนัดทุกครั้ง และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด โดยหวังผลควบคุมระดับกรดยูริคปกติ

หาความรู้ได้เพิ่มเติมที่
www.thedoctorbone.com


กำลังโหลดความคิดเห็น